ดารานพรัตน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:37, 6 ตุลาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


ลักษณะ

ผ้าปักดิ้นเงิน มีพลอยประดับ

เส้นผ่าศูนย์กลาง 12.0 เซนติเมตร

เป็นรูปดาราแปดแฉกปักด้วยดิ้นเงิน ตรงกลางเป็นดอกประจำยามฝังพลอย 8 อย่าง ได้แก่ทับทิม 1 มรกต 1 บุษราคัม 1 โกเมน 1 นิล 1 มุกดา 1 เพทาย 1 ไพฑูรย์ 1 ใจกลางเป็นเพชรรวมเป็น 9 อย่าง

ประวัติความเป็นมา

เป็นดาราในเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ใช้ประดับฉลองพระองค์ครุยนพรัตนราชวราภรณ์ สำหรับฝ่ายหน้า โดยติดดาราไว้ทางเบื้องซ้ายของฉลองพระองค์ครุย จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน เรียกย่อว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ มีชั้นเดียวทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน มีทั้งหมดจำนวน 27 สำรับ ประกอบด้วย

- สำหรับพระมหากษัตริย์ 1 สำรับ

- สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ 26 สำรับ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ได้มีการสืบทอดมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าใครสร้างและสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลใด แต่เดิมคงมีเพียงสายสร้อยพระสังวาลประดับนพรัตน เรียกว่า “สังวาลพระนพ” เป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับพระพิชัยสงคราม หรือสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงเมื่อเวลาบรมราชาภิเษก โดยพราหมณ์เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงสวมก่อน แล้วจึงทรงรับเครื่องราชอิสริยยศอย่างอื่นเป็นประเพณีสืบมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ พระสังวาลนี้เป็นสร้อยอ่อน ทำด้วยทองคำล้วน มี 3 เส้น เส้นหนึ่งยาวประมาณ 124 เซนติเมตร มีดอกประจำยามทำด้วยทองประดับนพ รัตนดอกหนึ่ง

ต่อมาใน พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างดารานพรัตนขึ้นเป็นเครื่องต้น สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ จึงถือได้ว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าวได้มีขึ้นในรัชกาลนี้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มีข้อบัญญัติเป็นพิเศษอยู่ว่า ผู้รับพระราชทานจะต้องเป็นพุทธมามกะ การพระราชทานให้มีประกาศนียบัตร ทรงลงพระปรมาภิไธยประทับพระราชลัญจกรมอบแก่ผู้รับพระราชทานด้วย[1]

อ้างอิง

  1. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย, (กรุงเทพฯ : ศิริมิตรการพิมพ์, 2523), หน้า 54-55.