อำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:05, 5 ตุลาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง วัชรา ไชยสาร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ พรรณราย ขันธกิจ


สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และแผนอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ การให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนั้น สภาที่ปรึกษาฯ สามารถดำเนินการได้ 2 กรณี ดังนี้

กรณีการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี

การให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี สภาที่ปรึกษาฯ พิจารณาดำเนินการได้ดังนี้

1.1 การพิจารณาให้คำปรึกษาเพื่อเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่คณะรัฐมนตรีขอคำปรึกษา

ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่า การกำหนดนโยบายในเรื่องใดอาจกระทบถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมเป็นส่วนรวม สมควรได้รับฟังความคิดเห็น เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายในเรื่องนั้น ให้คณะรัฐมนตรีส่งเรื่องให้สภาที่ปรึกษาฯ พิจารณาให้คำปรึกษาเพื่อเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี[1]

1.2 การพิจารณาศึกษาเรื่องที่เห็นว่าสมควรกำหนดเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ และสังคม (รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง)

สภาที่ปรึกษาฯ อาจพิจารณาศึกษา เรื่องที่เห็นว่าสมควรกำหนดเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง) เพื่อจัดทำรายงาน เป็นข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีได้[2] และในกรณีที่เห็นสมควร สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอาจพิจารณาศึกษาเพื่อจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไปก็ได้[3]

1.3 การพิจารณาศึกษาเพื่อจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป

ในกรณีที่เห็นสมควร สภาที่ปรึกษาฯ อาจพิจารณาศึกษาเพื่อจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไปก็ได้

อำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


กรณีการให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนอื่นตามที่กฎหมายกำหนด

ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีจะดำเนินการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ความเห็นก่อนการประกาศใช้[4] และเมื่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดส่งความเห็นมาให้คณะรัฐมนตรีแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีนำความเห็นดังกล่าวประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อให้เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ[5] ซึ่งใช้บังคับกับแผนอื่นที่มีกฎหมายกำหนดให้เสนอแผนนั้นต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนอื่นที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรขอความเห็นจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย

เมื่อสภาที่ปรึกษาฯ ได้จัดส่งความเห็นมาให้คณะรัฐมนตรีแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีนำความเห็นดังกล่าวประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯ พิจารณาโดยเร็ว ในการนี้ คณะรัฐมนตรีอาจขอให้สภาที่ปรึกษาฯ พิจารณาให้ความเห็นภายในเวลาที่กำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวันก็ได้ และถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว สภาที่ปรึกษาฯ ยังมิได้จัดส่งความเห็นกลับคืนมายังคณะรัฐมนตรีให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไปตามที่เห็นสมควรได้[6]

ทั้งนี้ การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาฯ ทั้ง 2 กรณีดังกล่าวนั้น กฎหมายกำหนดให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยสมาชิกหรือบุคคลใด เพื่อทำการศึกษาหรือดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ[7]

ดูเพิ่มเติม

พรรณราย ขันธกิจ. บทบาทและหน้าที่ขององค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2548.

สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 1 ทศวรรษ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : บริษัท ที.เค. พริ้นติ้ง จำกัด, 2553.

อ้างอิง

  1. พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 มาตรา 12.
  2. พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง.
  3. พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 มาตรา 13 วรรคสอง.
  4. พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง.
  5. พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 มาตรา 14 วรรคสอง.
  6. พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 มาตรา 15.
  7. พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 มาตรา 11.