สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในเวทีนานาชาติ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:00, 5 ตุลาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง วัชรา ไชยสาร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ พรรณราย ขันธกิจ


ลักษณะพิเศษของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

องค์ประกอบของสภาเศรษฐกิจและสังคมของฝรั่งเศสก็คล้ายกับของไทย คือ มาจากภาคเศรษฐกิจ ภาคสังคม และผู้ทรงคุณวุฒิ ต่างกันที่สภาที่ปรึกษาฯ ของไทยให้องค์กรประชาสังคมด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านเศรษฐกิจภาคบริการ ด้านสังคม ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มาสมัครแล้วเลือกกันเอง ส่วนของฝรั่งเศสนั้น สหภาพแรงงาน องค์กรนายจ้าง สหกรณ์ และสมาคมที่ทำงานทางสังคม มีการรวมกลุ่มเป็นสหพันธ์ และเป็นสมาพันธ์ในระดับชาติ เช่น สมาพันธ์แรงงานในระดับชาติมีอยู่ 6 สมาพันธ์ จึงเป็นการง่ายที่จะกำหนดในกฎหมายให้สมาพันธ์แรงงาน สมาพันธ์นายจ้าง และสมาพันธ์อื่น ๆ ส่งผู้แทนในจำนวนที่กำหนดมาอยู่ในสภาที่ปรึกษาฯ อีกทั้งรัฐบาลก็แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก

สภาที่ปรึกษาฯ มีลักษณะพิเศษสำคัญ ๆ 3 ประการ คือ

(1) สภาที่ปรึกษาฯ ตามเจตนารมณ์ของการมีสภาที่ปรึกษาฯ คือ การเป็นตัวแทนเชิงสถาบันขององค์กรประชาสังคม หรือสภาวะนอกระบบราชการ

(2) ความเป็นอิสระทางความคิดและการเสนอข้อคิดเห็น โดยยึดประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ของราชการหรือของรัฐบาลหรือขององค์กรอันเป็นที่มาของสมาชิก และ

(3) การมีกฎหมายรองรับ ทำให้เป็นองค์กรระดับชาติซึ่งมีความชอบธรรมที่จะเสนอความเห็นต่อรัฐบาลหรือบางครั้งก็ต่อรัฐสภา

โดยทั่วไป กฎหมายจะบัญญัติให้มีการสื่อสารสองทาง คือ เมื่อสภาที่ปรึกษาฯ เสนอความเห็นไปยังรัฐบาล รัฐบาลต้องตอบรับเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ และถ้าเห็นด้วยจะดำเนินการอย่างไรต่อไป อีกทั้งรัฐบาลสามารถขอให้สภาที่ปรึกษาฯ เสนอความเห็นในบางเรื่อง ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯ จะทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่เสนอความเห็นไม่ได้

ลักษณะพิเศษดังกล่าวข้างต้น เป็นอัตลักษณ์ของสภาที่ปรึกษาฯ แต่ชื่อเรียกอาจมีต่าง ๆ กันออกไป เช่น เกาหลีใต้ใช้ชื่อว่า “คณะกรรมาธิการไตรภาคี” สหพันธ์รัสเซียใช้ชื่อว่า “สภาสาธารณะ” (Public Chamber) ของแอฟริกาใต้ใช้ชื่อว่า “สภาที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและแรงงานแห่งชาติ” เป็นต้น ปัจจุบันมีองค์กรที่เข้าข่ายเป็นสภาที่ปรึกษาฯ ประมาณ 60 สภา และประมาณ 50 สภาเป็นสมาชิกของ “สมาคมระหว่างประเทศของสภาเศรษฐกิจและสังคมและสถาบันในลักษณะเดียวกัน” (International Association of Economic and Social Councils and Similar Institutions : IAESCSI หรือ AICESIS) ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯ ของไทยได้สมัครเป็นสมาชิกของสมาคมระหว่างประเทศฯ นี้ เมื่อ ปี พ.ศ. 2549[1]

บทบาทต่อการพัฒนาของ IAESCSI

บทบาท IAESCSI อยู่ที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และสภาเศรษฐกิจและสังคมขององค์การสหประชาชาติ (ECOSOC) เป็นสำคัญ เพื่อเตรียมเรื่องที่จะเสนอต่อองค์กรทั้งสอง IAESCSI จะทำการศึกษาเรื่องนั้นก่อน จึงได้ตั้งคณะทำงานคณะหนึ่งทำหน้าที่ศึกษาเรื่อง “การมีงานทำที่เหมาะสมสำหรับทุกคน” รายงานของคณะทำงานนี้ได้นำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ ILO และการประชุมระดับสูงของ ECOSOC นอกจากนี้ IAESCSI ได้ตั้งคณะทำงานทำหน้าที่ศึกษาเรื่อง “แหล่งทุนระหว่างประเทศแหล่งใหม่เพื่อการพัฒนาและต่อสู้ความยากจน” รายงานของคณะทำงานนี้ได้นำเสนอต่อ ECOSOC เช่นกัน

เมื่อปี ค.ศ. 2000 ประมุขประเทศทั้งปวงได้ร่วมกันประกาศ เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDG) ใน 8 เรื่องด้วยกันคือ

(1) กำจัดความยากจนและหิวโหย

(2) การประถมศึกษาสำหรับทุกคน

(3) ส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย

(4) ลดการตายของทารกแรกเกิด

(5) สุขภาพที่ดีของมารดา

(6) ต่อสู้โรคเอดส์ มาเลเรีย ฯลฯ

(7) มีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และ

(8) มีความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนา

ดังนั้น เพื่อช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDG) IAESCSI จึงได้ดำเนินการดังนี้

(1) ได้จัดประชุมโต๊ะกลม 4 ครั้ง ในปี ค.ศ. 2005 และ 2006 ที่กรุงปารีสในเรื่อง MDG ที่กรุงอัลเจียร์ในเรื่องการสร้างองค์ความรู้ที่กรุงบราซีเลียในเรื่องการระดมพลังทางสังคมเพื่อ MDG และที่กรุงปักกิ่งในเรื่องการศึกษาและการอบรม ผลการประชุมได้นำเสนอต่อ ECOSOC และ

(2) IAESCSI จะทำพิธีมอบรางวัลแก่องค์กรประชาสังคมที่มีบทบาทดีเด่นในการผลักดัน MDG ในการประชุมใหญ่ของ IAESCSI ในเดือน กรกฎาคม 2550 ที่กรุงปักกิ่ง

สำหรับการประชุมใหญ่ IAESCSI ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อปี 2009 นั้น ได้กำหนดแนวเรื่องของการประชุมดังนี้ “เพิ่มความเข้มแข็งแก่ความร่วมมือระหว่างประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาร่วมกัน และสร้างโลกแห่งความสมานฉันท์” โดย เมื่อปี 2009 ได้มอบหมายให้สมาชิกจากประเทศจีน บราซิล อัลจีเรีย เซเนกาล อิตาลีและฝรั่งเศส ร่วมกันศึกษาแนวเรื่องดังกล่าวเพื่อเสนอในการประชุม

ภารกิจด้านวิเทศสัมพันธ์ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 2 นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการก้าวไปสู่เวทีนานาชาติ นับตั้งแต่การเดินทางไปปฏิบัติภารกิจด้านวิเทศสัมพันธ์และศึกษาดูงาน ณ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 11-20 พฤษภาคม 2549 การเดินทางไปปฏิบัติภารกิจด้านวิเทศสัมพันธ์และศึกษาดูงานเพื่อ เชื่อมสัมพันธภาพกับสภาที่ปรึกษาประชาชนแห่งชาติของจีน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 18-23 มิถุนายน 2549 ซึ่งในปี 2549 นี้เอง IAESCSI ได้รับสภาที่ปรึกษาฯ เป็นสมาชิกสามัญของสมาคมระหว่างประเทศของสภาเศรษฐกิจและสังคมและสถาบันในลักษณะเดียวกัน” (International Association of Economic and Social Councils and Similar Institutions : IAESCSI หรือ AICESIS)

นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 2 ในเวทีนานาชาติ

บทบาทของสภาที่ปรึกษาฯ ไทยในเวทีระหว่างประเทศนั้น สอดคล้องกับยุคสมัยโลกาภิวัตน์ ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของนานาประเทศนั้นเกี่ยวโยงกันไปหมด ทำให้เห็นว่าบทบาทในเวทีระหว่างประเทศไม่ควรเป็นของรัฐบาลอย่างเดียว หากควรเป็นของภาคประชาสังคมด้วย ในเวทีระดับภูมิภาคก็เช่นกัน ปัจจุบันมีคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมของสหภาพยุโรปทำหน้าที่เป็น “สะพาน” เชื่อมระหว่างภาคประชาสังคมกับรัฐบาล ส่วนตลาดร่วมของลาตินอเมริกา หรือ MERCOSUR ก็ตั้งสภาที่ปรึกษาฯ ในประเทศอาร์เจนตินา บราซิล และอุรุกกวัย จึงหวังว่าในอนาคตอาจจะมีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมของอาเซียนก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าอาเซียนจะเอาจริงเรื่องการสร้างประชาคมอาเซียนมากน้อยเพียงใด และประเทศไทยพร้อมนำเสนอในเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือไม่อย่างไร

เมื่อวันที่ 19 - 20 กันยายน 2549 กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดการสัมมนา “Building ASEAN+3 Community by Strengthening the Roles of Civil Society” เพื่อรับฟังความเห็นจากภาคประชาสังคมของอาเซียนต่อการจัดตั้ง[2]

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมอาเซียน (ASEAN Economic and Social Advisory Council -AESAC) และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีการสร้างเครือข่ายของภาคประชาสังคมในประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนแนวทางในการดำเนินการจัดตั้งสภาดังกล่าว อันจะเป็นช่องทางสำหรับความร่วมมือระหว่างกันต่อไป โดยการหารือจะเน้น 3 หัวข้อสำคัญๆ ได้แก่ การเสริมสร้างประชาคมแห่งความเอื้ออาทร การเสริมสร้างองค์กรภาคประชาสังคมระดับชาติ และการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประชาชน และการพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมในระดับภูมิภาค ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้แทนจากภาคประชาสังคมของประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสาธารณเกาหลี สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนจากองค์กรอิสระของไทย และผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทยประมาณ 100 คน[3]

แต่น่าเสียดายที่หลังจากเปิดการสัมมนาในวันที่ 19 กันยายน 2549 คืนวันนั้นเองประเทศไทยได้เกิดรัฐประหาร ทำให้การสัมมนาดังกล่าวดำเนินการได้เพียงเท่านั้น

ในปี พ.ศ. 2550 การเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (สถาบันเพื่อปกป้องปิตุภูมิ (The Central Committee of Vietnam Fatherland Front)) ระหว่างวันที่ 10 - 11 กันยายน 2550 เพื่อหารือแนวทางในการจัดตั้งองค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมอาเซียน รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันในการสร้างความร่วมมือและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนั้น สภาที่ปรึกษาฯ ยังได้สร้างความสัมพันธ์กับสภาที่ปรึกษาฯ ในประเทศอื่น ๆ อีก เช่น ประเทศอิตาลี ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

จากนั้น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 3 ก็ยังคงให้ความสำคํยต่อเครือข่ายสภาที่ปรึกษาฯ ในต่างประเทศ โดยนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ และนางภรณี ลีตนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ คนที่สอง และคณะ ได้เข้าร่วมประชุม Conference 2010,21st Century Forum (6-8 September 2010, Beijing)[4] สภาที่ปรึกษาฯ กับบทบาทในเวทีนานาชาติจึงเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สภาที่ปรึกษาฯ ให้ความสำคัญ แต่ความพร้อมของสภาที่ปรึกษาฯ และทิศทางที่จะมีผลต่อการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาประเทศมากน้อยเพียงใด เป็นประเด็นที่สภาที่ปรึกษาฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องในวงงานสภาที่ปรึกษาฯ ต้องร่วมกันพิจารณาในทุกมิติต่าง ๆ อย่างรอบด้าน

อ้างอิง

  1. โคทม อารียา. สภาที่ปรึกษาฯ ในเวทีนานาชาติ. วารสารสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม – กันยายน 2549.
  2. เพิ่งอ้าง
  3. กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ 19 กันยายน 2551 ใน http://www.mfa.go.th/web/2662.php?id=17714, กันยายน 2553.
  4. http://www.aicesis.org/spip.php?article922&lang=en, กันยายน 2553.

ที่มา

วัชรา ไชยสาร. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส และสมาคมที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และสังคม และสถาบันในลักษณะเดียวกัน (AICESIS) พร้อมด้วยองค์กรสภาที่ปรึกษา ในประเทศเบลเยี่ยม. วารสารสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม – กันยายน 2549.

สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจด้านวิเทศสัมพันธ์และศึกษาดูงาน ณ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 11-20 พฤษภาคม 2549.

สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานการปฏิบัติภารกิจด้านวิเทศสัมพันธ์และศึกษาดูงาน ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ของคณะผู้แทนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 18 – 23 มิถุนายน 2549.

สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รายงานการปฏิบัติภารกิจด้านวิเทศสัมพันธ์และศึกษาดูงาน ณ ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามของคณะผู้แทนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 10 – 21 กันยายน 2550.

ดูเพิ่มเติม

http://www.nesac.go.th/document/show11.php?did=07080001

http://www.conseil-economique-et-social.fr/

http://www.eesc.europa.eu/

http://www.cppcc.sourceforge.net/

http://www.china.com.cn/english/chuangye/55437.htm