เกษตรกรไทย (พ.ศ.2535)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:16, 4 ตุลาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคเกษตรกรไทย พ.ศ.2535

พรรคเกษตรกรไทยได้รับจดทะเบียนจากนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อให้เป็นพรรคการเมืองตามความในพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2524 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2535 โดยมีนายทวนทอง อิสสระวงศ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

พรรคเกษตรกรไทยมีอุดมการณ์ของพรรคที่จะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะยึดถือบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ในการบริหารประเทศอันจะก่อให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง และประชาชนทุกหมู่เหล่าอยู่ดีกินดี


นโยบายหลักของพรรค ถูกแบ่งออกเป็น 6 ด้านหลักด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย

นโยบายการเมืองการปกครอง มุ่งธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งพรรคเกษตรกรไทยมีความเห็นว่าเป็นระบอบที่เหมาะสมกับสังคมและวัฒนธรรมของประเทศ มีการส่งเสริมเสรีภาพและสิทธิของประชาชนในด้านต่างๆ ต่อต้านเผด็จการและความขัดแย้งต่างๆทางการเมืองด้วยสันติวิธี และปฏิรูประบบราชการโดยอาศัยวิธีการแบบประชาธิปไตย

ส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจและการอุตสาหกรรมนั้น พรรคเกษตรกรไทยจะเร่งรัดปรับปรุงทางเศรษฐกิจและการอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับรายได้ของประชาชนทั้งในเมืองและชนบท โดยจะส่งเสริมการท่องเที่ยว การธนาคาร การพลังงาน การอุตสาหกรรม และการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการเพิ่มผลผลิตการเกษตรโดยการปฏิรูปที่ดิน พัฒนาระบบชลประทาน และระบบสหกรณ์เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกร นอกจากนี้ พรรคจะดำเนินการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด แลที่สำคัญคือ จะมีการเร่งรัดออกกฎหมายว่าด้วยการตั้งสภาเกษตรแห่งชาติ เพื่อการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆในการพัฒนาด้านการเกษตรให้สามารถดำเนินการไปได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

สำหรับนโยบายด้านการศึกษา การสังคม และการสาธารณสุขนั้น พรรคเกษตรกรไทยจะแก้ไขปัญหาต่างๆในสังคม เช่น ปัญหาคนว่างงาน ปัญหาอาชญากรรม เป็นต้น ผ่านการแก้ไขปัญหาทางการเมืองและปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยจะส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ การศึกษา การนับถือศาสนา และการรับบริการต่างๆจากรัฐ

นโยบายด้านการทหารและการดูแลป้องกันประเทศนั้น พรรคเกษตรกรไทยจะพัฒนาทั้งกำลังกองทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้มีความทันสมัยและเข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการใช้นโยบายการทูตนำการทหารเพื่อป้องกันการรุกรานจากภายนอก นอกจากนี้จะให้สวัสดิการแก่ทหารชั้นผู้น้อยเพื่อให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นโยบายด้านสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน จะมีการปฏิรูประบบงานของหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และจะเร่งรัดให้มีการจัดตั้งกระทรวงสวัสดิการและความปลอดภัย เพื่อสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชน

และสำหรับนโยบายการต่างประเทศนั้น พรรคเกษตรกรไทยจะยึดถือนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ สร้างมิตรภาพและให้ความร่วมมือกับทุกประเทศโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจ สนับสนุนการทำงานของกลุ่มอาเซียน และขยายความสัมพันธ์ไปยังประเทศใหม่ๆให้มากยิ่งขึ้น เพื่อขยายสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศให้ได้อย่างทั่วถึง

แม้ว่าพรรคเกษตรกรไทยจะได้รับการจดทะเบียนจากนายทะเบียนพรรคการเมืองอย่างถูกต้องตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2524 แต่อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่าพรรคเกษตรกรไทยได้มีการดำเนินกิจกรรมใดๆทางการเมืองนับตั้งแต่ได้ดำเนินการจดทะเบียนพรรคการเมือง จนกระทั่งพรรคได้เลิกการดำเนินงานไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 ในที่สุด และชื่อพรรคเกษตรกรไทยได้ถูกนำไปใช้ในการจดทะเบียนพรรคการเมืองอีกครั้งใน พ.ศ.2546

ที่มา

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 80 หน้า 7-15

สิงห์ทอง บัวชุม,การเกิดขึ้นและการล่มสลายของพรรคการเมืองไทย พ.ศ.2475-2547, ดุษฎีนิพนธ์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ปีการศึกษา 2550