การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 24 วันที่ 2 เมษายน 2549

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:23, 2 สิงหาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ---- '''ผู้ทรงค...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 24 วันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2549

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 24 วันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ภายหลังจากที่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 อันเนื่องมาจากปัญหา ด้านการคอรัปชั่นเชิงนโยบายผนวกกับผลประโยชน์ทับซ้อนของรัฐบาลที่สั่งสมมานานตั้งแต่เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ามาบริหารประเทศในสมัยแรก (9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544-8 มีนาคม พ.ศ.2548) จนนำมาสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อวันที่ 27-28 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ต่อจากนั้นความไม่พอใจถึงได้พัฒนามาเป็นความไม่ไว้วางใจของประชาชนคนชั้นกลางถึงจุดระเบิด เมื่อพบว่า บริษัท ชิน คอเปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ขายหุ้นให้กองทุนเทมาเส็กของรัฐบาลสิงคโปร์เป็นเงิน 73,300 ล้านบาทในเดือนมกราคม พ.ศ. 2529 โดยเสียภาษีและมีเงื่อนงำอันฉ้อฉลหลายอย่าง เป็นเชื้อเพลิงแห่งความโกรธแค้นจนเกิดมีการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2549 นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549

ภายหลังการการยุบสภาผู้แทนราษฎร พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมซึ่งประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ได้ทำหนังสือถึงพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เพื่อขอให้ลงนามในสัตยาบันร่วมกันว่า หลังการเลือกตั้งจะจัดให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 313 โดยกำหนดให้มีคณะบุคคลที่เป็นกลางเป็นผู้ดำเนินการในการยกร่างรัฐธรรมนูญแต่พรรคไทยรักไทยแสดงจุดยืนว่า ไม่ต้องการลงสัตยาบันแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน และดำเนินการเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคมาหารือร่วมกัน ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ที่อาคารวุฒิสภา และเสนอให้ทุกพรรคทำสัญญาประชาคมแก้ไขรัฐธรรมนูญในระหว่างการเลือกตั้ง จากนั้นค่อยมาตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางชุดหนึ่งขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคฝ่ายค้านทั้ง 3 พรรคเห็นว่าท่าทีของพรรคไทยรักไทย มีเจตนาที่จะถ่วงเวลา จึงประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยไม่ส่งผู้สมัคร

หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2549 นายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ ผู้สมัครในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 93 ของพรรคไทยรักไทยได้ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคพรรคไทยรักไทย อย่างกะทันหัน และเข้าพิธีอุปสมบท การลาออกของนายแพทย์เปรมศักดิ์ ส่งผลให้พรรคไทยรักไทยมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ เหลือเพียง 99 คน (คาดการณ์ว่า จะไม่มีพรรคใดได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ถึง 5% ทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้ง 100 คน จะมาจากพรรคไทยรักไทยทั้งหมด) เมื่อรวมกับ ส.ส.ระบบเขตอีก 400 คน เป็น 499 คน ไม่ครบตามที่ระบุไว้ในมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญว่า สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคนโดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา 99 จำนวนหนึ่งร้อยคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตามมาตรา 102 จำนวนสี่ร้อยคน และส่งผลให้จำนวน ส.ส.ไม่ครบที่จะเป็นองค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถ เปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร และไม่สามารถประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อคัดเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรีได้

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 24 วันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 พบว่า มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 29,088,209 คน (64.77%) คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 44,909,562 คน มีบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน (โนโหวต) 9,051,706 คน (คิดเป็น 31.12%) มีบัตรเสีย จำนวน 1,680,101 ใบ (คิดเป็น 5.78%) บัตร และมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแบบสัดส่วนจำนวน 28,998,364 คน (64.76%) คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 44,778,628 คน มีบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน (โนโหวต) 9,610,874 คน (คิดเป็น 33.14 %) มีบัตรเสีย จำนวน 3,778,981 ใบ (คิดเป็น 5.78%) บัตร

จำนวนคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองจากการเลือกตั้งทั่วไป 2 เมษายน พ.ศ.2549 ระบบบัญชีรายชื่อ [1]
พรรคการเมือง จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต (คน)
ไทยรักไทย 16,420,755
เกษตรกรไทย 675,662
พลังประชาชน 305,015
ประชากรไทย 292,895
ธัมมาธิปไตย 255,853
ไทยช่วยไทย 146,680
พัฒนาชาติไทย 134,534
แผ่นดินไทย 125,008
รวม 18,356,402

เหตุการณ์ในช่วงการเลือกตั้ง 2 เมษายน พ.ศ.2549

• 3 พรรคฝ่ายค้าน ประชาธิปัตย์,ชาติไทย,มหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงแข่งขัน

• รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉีกบัตรเลือกตั้งต่อหน้าสื่อมวลชน แสดงแนวทางอารยะขัดขืน

• ยศศักดิ์ โกศัยกานนท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ใช้ไม้จิ้มฟันแทงที่นิ้วหลายครั้งและนำเลือดมาใช้ในการ กาบัตรเลือกตั้งและยืนยันว่าเป็นการผิดกฎหมาย ในเขตลาดพร้าว เพื่อเป็นการแสดงแนวทางอารยะขัดขืน แบบหนึ่ง

ปัญหาในการเลือกตั้ง 2 เมษายน พ.ศ.2549

• ผู้สมัครจำนวนหลายสิบเขต ได้คะแนนน้อยกว่าคะแนนไม่เลือกใคร แต่ได้รับเลือกด้วยเกณฑ์ร้อยละยี่สิบ และเกณฑ์กรณีมีผู้สมัครมากกว่าหนึ่งคน

• คูหาเลือกตั้งหันหลังออก ทำให้เกรงว่าอาจจะทำให้สามารถมองเห็นการลงคะแนนได้โดยง่าย

• มีการร้องเรียนว่า ที่หน่วยเลือกตั้งไม่มีปากกาเพียงพอ และบางหน่วยเตรียมไว้ให้เพียงตรายางสำหรับประทับ

  • เดิม กกต. ให้ใช้เฉพาะตรายาง ต่อมาได้มีการร้องเรียนไปยังศาลปกครองเป็นกรณีเร่งด่วน และศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวให้สามารถใช้ได้ทั้งปากกา และตรายางประทับ คำสั่งศาลปกครอง

• มีการนำรายชื่อผู้สมัครไปติดไว้ในคูหาเลือกตั้ง

• มีบัตรเสียจำนวนเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วอย่างผิดปกติ โดยเฉพาะบัตรเสียในบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต

ข้อวิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

• การประชุมกำหนดการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 น่าจะไม่ชอบ เกี่ยวกับองค์ประชุม ที่กำหนดในพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง 2540 มาตรา 8 ระบุเรื่องการประชุมให้มีไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 ของเท่าที่มีอยู่ แต่ในวันที่ประกาศพระราชกฤษฎีกา นั้น กรรมการ กกต. มีจำนวนเพียง 3 คน จากที่มีอยู่ 4 คน (กกต. จะต้องมี 5 คนตามรัฐธรรมนูญ แต่ มีกรรมการ 1 คนเสียชีวิตเมื่อ พย.2548 ยังไม่มีการสรรหาเพิ่ม, และขณะนั้น 1 คนเดินทางไปต่างประเทศ)

• กำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ใน 40 เขตในวันที่ 23 เมษายน 2549 โดยเปิดรับผู้สมัครใหม่เมื่อวันที่ 8-9 เมษายน แต่ให้ผู้ที่เคยสมัครในการเลือกตั้งรอบแรก ใช้หมายเลขเดิม

• เปิดโอกาสให้ผู้สมัครเวียนเทียนสมัคร โดยผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติในเขตการเลือกตั้งหนึ่ง และแพ้การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน และทาง กกต.ยังไม่ได้รับรองการเลือกตั้ง สามารถย้ายไปลงสมัครที่เขตอื่น จังหวัดอื่นได้ ทั้งนี้ผู้อำนวยการเขตเลือกตั้งได้ตัดสิทธิ์ของผู้สมัครเหล่านี้ แต่กลับมีหนังสือเวียนโดยนายวาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. แจ้งให้รับสมัครได้

• เปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติในการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน เนื่องจากไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งก่อนหน้า ลงสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 23 เมษายน ได้ โดยอ้างว่าได้รับสิทธิ์คืนมา เนื่องจากไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน แล้ว

• เปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติในการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน เนื่องจากเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ครบ 90 วัน นับถึงวันรับสมัครรอบแรก ลงสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 23 เมษายนได้ เนื่องจากเป็นสมาชิกพรรคการเมืองครบ 90 วัน ในวันรับสมัครรอบที่สอง วันที่ 8-9 เมษายน แล้ว

ภายหลังจากการเลือกตั้ง 2 เมษายน พ.ศ.2549 พบว่ายังมีผู้สมัครบางเขตที่มีคะแนนเสียงไม่เกินร้อยละ 20 ตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2549 จำนวน 40 เขตเลือกตั้ง ใน 17 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดตรัง จังหวัดปัตตานี จังหวัดพังงา จังหวัดสตูล จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา จังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดกระบี่

เหตุการณ์ในช่วงการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2549

• ผู้อำนวยการ กกต.เขต จังหวัดสงขลา ประกาศลาออกจากตำแหน่งทั้ง 7 เขต เนื่องจากไม่พอใจการทำงานของ กกต. กลาง

• กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 7 หน่วยเลือกตั้ง ประท้วงการเลือกตั้ง โดยบางหน่วยไม่ไปรับบัตรเลือกตั้งที่ กกต.จังหวัด และบางหน่วยไปรับบัตรเลือกตั้ง แต่ไม่เปิดทำการ

• มีผู้ฉีกบัตรเลือกตั้ง เพื่อประท้วงการเลือกตั้ง ในจังหวัดสงขลา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดยะลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี

• มีผู้ประท้วงการเลือกตั้ง โดยลงชื่อและรับบัตรเลือกตั้ง แล้วส่งบัตรเลือกตั้งคืนให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง โดยไม่มีการกาเครื่องหมายใดๆ ที่จังหวัดพัทลุง

การเพิกถอนการเลือกตั้ง และการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

การเลือกตั้งในครั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัย ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 198 กรณีการดำเนินการของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เกี่ยวกับ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 จนถึงการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2549 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ เพิกถอนการเลือกตั้ง เพื่อจะได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดย ศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดการพิจารณาวินิจฉัย ในวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2549

ผลการพิจารณา กรณีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก จำนวน 8 ท่าน วินิจฉัยว่า การดำเนินการของ กกต. ดังกล่าว มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างน้อย จำนวน 6 ท่าน วินิจฉัยว่า การดำเนินการของ กกต. ดังกล่าว ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ในส่วนของการพิจารณา เพิกถอนการเลือกตั้ง และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 ท่าน วินิจฉัยว่า ให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้ง และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ซึ่งได้ถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2549

แต่อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2549 ก็มีอันต้องถูกล้มเลิกไปเนื่องจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ และจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และส่งผลให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 25 ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของกฎกติการทางการเมืองใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 (ดูรายละเอียดต่อได้ใน สารานุกรมการเมืองไทย หมวดพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง ในหัวข้อกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 25 วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2550)

ที่มา

ธีรยุทธ บุญมี, ความคิดสองทศวรรษ (กรุงเทพมหานคร: มติชน, 2550)

ต.คนหลังข่าว, “ผมไม่ใช่วีรบุรุษ แค่รักษาสิทธิของผม”, เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 723 ปีที่ 14 วันที่ 7-13 เมษายน

คำวินิจฉัยกลางศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549, เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 728 ปีที่ 14 วันที่ 12-18 พฤษภาคม

อ้างอิง

  1. ต.คนหลังข่าว, “ผมไม่ใช่วีรบุรุษ แค่รักษาสิทธิของผม”, เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 723 ปีที่ 14 วันที่ 7-13 เมษายน, น.19-22.