หนังสือต้องห้าม
ผู้เรียบเรียง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
หนังสือต้องห้าม
การห้ามอ่านหนังสือบางเล่มเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของของมนุษย์ที่อยู่ในสังคมแห่งการปกครองแบบหนึ่งมาตั้งแต่อดีต โดยในสังคมไทยนั้นเรียกว่า หนังสือต้องห้าม มีความหมายว่าคือแผ่นกระดาษที่มีอักขระกำกับ หรือความรู้ ที่ถูกสงวนไว้, ไม่ให้แตะต้อง
มีการบันทึกไว้ว่า ผลงานของโปรตากอรัส นักปรัชญาชาวกรีก ถูกเผากลางกรุงเอเธนส์ ในจีนรัชสมัยของจกรพรรดิ์ จิ๋นซีฮ่องเต้ ทรงสั่งเผาหนังสือทุกเล่มในราชอาณาจักร รวมทั้งทรงบัญชาให้สังหารนักปราชญ์จำนวนมากที่ทรงเห็นว่าเป็นศัตรู แต่การทำลายหนังสือครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 495 เมื่อ จูเลียส ซีซาร์ ได้กรีธาทัพเข้าสู่เมืองอเล็กซานเดรีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอียิปต์) พร้อม ๆ กับการสั่งเผาหอสมุดอเล็กซานเดรีย หอสมุดที่ดีที่สุดของโลกยุคโบราณ ที่บรรจุม้วนปาปิรัสซึ่งมีสรรพวิชาความรู้ต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 4 แสนม้วน
ในยุคกลางซึ่งคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกมีอิทธิพลอย่างมาก บรรดาพระผู้ใหญ่ที่มาประชุมกันในปี พ.ศ. 2102 มีความเห็นร่วมกันให้จัดทำ “รายนามหนังสือต้องห้าม (Index Librorum Prohibitorum ; Index of Forbidden Books) ประกาศรายชื่อหนังสือที่เห็นว่าเป็นภัยต่อศรัทธาของชาวโรมันคาทอลิก โดยมีการปรับปรุงเพิ่มเติมรายชื่อหนังสือและนักเขียนต้องห้ามอยู่ตลอดเวลา จนถึงปี พ.ศ. 2491 มีการปรับปรุง 32 ครั้ง มีรายชื่อหนังสือต้องห้ามบรรจุไว้กว่า 4,000 เล่ม
ในสังคมไทยนั้นแม้การอ่าน-เขียนจะไม่เป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายของสังคมสยามในสมัยโบราณ แต่คนไทยมีความเคารพหนังสือ แม้จะอ่านไม่ออกก็ตาม เพราะเชื่อว่าหนังสือมีความศักดิ์สิทธิ์ เห็นได้จากเรื่องเล่าถึงการค้นพบ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ ที่ว่า หลวงประเสริฐอักษรนิติ์เดินไปพบยายแก่คนหนึ่งกำลังเอาสมุดข่อยมาเผา จึงได้เข้าไปขอดูและได้ค้นพบเอกสารชิ้นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การเผาหนังสือดังกล่าวไม่ได้เกิดจากเจตนาที่จะทำลายหนังสือ หากแต่ยายแก่คนนั้นต้องการจะนำขี้เถ้าจากการเผาไปผสมทำยาเพราะเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของหนังสือ
แต่การทำลายหนังสือก็มิใช่ไม่เคยมีในสังคมสยาม ใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้ปรากฏเหตุการณ์ “คนตื่นเอาตำราคุณไสยทิ้งน้ำ” ในปี พ.ศ. 2178 เมื่อพระเจ้าปราสาททองเสด็จฯ ไปพระราชทานเพลิงศพพระเจ้าลูกเธอฝ่ายใน ณ วัดไชยวัฒนาราม พบเนื้อในท้องเผาไม่ไหม้ ทำให้สงสัยว่าโดนคุณไสย จึงเกิดข่าวลือว่าจะมีการค้นตำรับตำราตามบ้านเรือน ทำให้ผู้แก่ผู้เฒ่าที่มีตำราคุณไสยต่างเอาหนังสือไปทิ้งน้ำเสียเนื่องจากกลัวความผิด
กว่าที่การห้ามหนังสือจะเกิดขึ้นในสยามก็ต้องรอจนถึงปีสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อนายโหมด อมาตยกุล ต้องขึ้นศาลในคดีมรดก นายโหมดได้แอบจ้างคัดลอกกฎหมายที่โรงอาลักษณ์เป็นเงิน 100 บาท จนได้ต้นฉบับนำมาพิมพ์เผยแพร่โดยหวังว่าจะได้ช่วยคนที่ไม่รู้กฎหมายและนำเงินมาหักลบต้นทุนที่ลงไป นายโหมดได้นำต้นฉบับดังกล่าวไปว่าจ้างให้หมอ บรัดเลย์พิมพ์เป็น หนังสือกฎหมายไทย จำนวน 200 ชุด ชุดละ 2 เล่ม เป็นเงิน 500 บาท ในระหว่างปี พ.ศ.2390 – 2393 ทันทีที่หนังสือเล่มแรกออกมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกริ้ว มีรับสั่งว่า “เอากฎหมายบ้านเมืองไปพิมพ์โฆษณาเช่นนั้นจะทำให้พวกมดต่อหมอความทำให้ยุ่งยากแก่บ้านเมือง” จึงรับสั่งให้นำตัวนายโหมดและพวกลูกจ้างของหมอ บรัดเลย์ไปสอบ นายโหมดให้การไว้ในคดีนี้ไว้ว่า
“ข้าฯ จ้างเขาเขียนกฎหมายที่โรงอาลักษณ์เป็นเงิน 100 บาท เอามาอ่านดูแล้วจึงคิดเห็นว่าคนที่เป็นความไม่รู้กฎหมายแล้วลำบากนัก ประการหนึ่งก็ทุนซื้อกฎหมายไว้ด้วย ถ้าตีพิมพ์ขายเห็นจะดี จะได้คืนทุนได้ด้วย”
หลังการสอบสวนมีรับสั่งให้ริบหนังสือกฎหมายนั้น แต่ก็มิได้มีรับสั่งให้นำไปเผาหรือทำลายเพราะความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของหนังสือ เพียงรับสั่งว่าเมื่อพระเจดีย์ที่วัดสระเกศสร้างแล้วเสร็จให้นำหนังสือที่ริบมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์ทั้งหมด
การ (ลักลอบ) พิมพ์ หนังสือกฎหมายไทย ออกมาเผยแพร่ของนายโหมดมีความสำคัญยิ่ง ถึงแม้แรกพิมพ์เผยแพร่ หนังสือเล่มนี้จะถูก “สั่งริบ” ก็ตาม เพราะเป็นการทำลายทำนบการศึกษากฎหมายที่หวงห้ามไว้เฉพาะชนชั้นนำ หนังสือกฎหมายไทย ที่นายโหมดจ้างหมอบรัดเลย์พิมพ์ มีเฉพาะเล่ม 1 เพียง 200 เล่มเท่านั้น ปัจจุบันหาต้นฉบับไม่ได้แล้ว แต่ต่อมาหมอบรัดเลย์ได้นำมาพิมพ์ซ้ำจนรู้จักกันในชื่อ กฎหมายฉบับหมอบรัดเลย์ ปี พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนมพรรษาเพียง ๑๖ พรรษา โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพียงต้นรัชกาล ก็ได้มีประกาศห้าม นิราศหนองคาย ของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) มูลเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองสมัยนั้น ระหว่างสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าสายตระกูลบุนนาคซึ่งกุมอำนาจไว้ทั้งหมด กับเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเกิดสงครามปราบฮ่อ ทั้งสองได้ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในการจัดทัพ ทำให้นายทิมซึ่งเป็นคนของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ฯ ต้องออกมา “เถียงแทนนาย” ผ่าน นิราศหนองคาย โดยหาว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ สั่งเดินทัพในฤดูฝนเป็นการไม่สมควร ทั้งยังเป็นการขาดเมตตาจิตต่อไพร่พล สมเด็จเจ้าพระยาฯ โกรธมากมีบันทึกในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 5 นำเบอร์ 153 วันอาทิตย์เดือน 9 แรม 5 ค่ำ ปีขาล ว่า
“ให้เอาตัวอ้ายทิมขุนพิพิธภักดี ในกรมพระสุรัสวดี เป็นคนคิดนิราศหนองคาย ถ้อยคำฟุ้งซ่านร่านระเหลือเกินมากนัก ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน 50 จำคุกไว้ และหนังสือนิราศหนองคายที่ตีพิมพ์เย็บเป็นเล่มไว้นั้น ใครได้ซื้อมาอ่านมาฟัง ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเก็บเอามาเผาไฟเสียให้สิ้น อย่าให้มีแบบฉบับเหลืออยู่ได้”
นิราศหนองคาย คงเหลือแต่ฉบับที่ถูกตัดทอนแก้ไขโดยกรมศิลปากรในปี 2498 แม้กระนั้นเมื่อมีการพิมพ์ นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในนามปากกา สิทธิ ศรีสยาม หนังสือเล่มนี้ก็ถูกห้ามอีกครั้งหลัง 6 ตุลาคม 2519
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เองที่สามัญชน 2 ท่าน คือ ก.ศ.ร. กุหลาบ (กุหลาบ ตฤษณานนท์) และ เทียนวรรณ (เทียน วัณณาโภ) ก.ศ.ร. กุหลาบ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการทำลายการผูกขาดความรู้ของชนชั้นนำในยุคนั้น โดยเริ่มจากการออกอุบายขอยืมหนังสือจากหอหลวงมาอ่าน แล้วจ้างอาลักษณ์คัดลอก การทำเช่นนี้ดำเนินต่อเนื่องมานานนับปีจึงทำให้ท่านมีต้นฉบับจากหอหลวงเป็นจำนวนมาก ต่อมาท่านจึงนำความรู้ที่ได้มาพิมพ์เผยแพร่ ทั้งที่เป็นหนังสือเล่ม เช่น คำให้การของขุนหลวงหาวัด และที่นำลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ สยามประเภท โดยกล่าวว่าที่จัดทำขึ้นเพื่อ “บำรุงปัญญาประชาชน” แต่ด้วยความที่ท่านทราบดีว่าการนำความรู้ที่หวงห้ามไว้มาเผยแพร่มีความผิด ท่านจึง “ดัดแปลง” บางข้อความเสีย ทว่าการกระทำดังกล่าวกลับนำโทษมาสู่ตัวเอง เมื่อท่านเขียนชีวประวัติของสมเด็จพระสังฆราช (สา) พระอุปัชฌาย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคลาดเคลื่อน จนมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ และได้ข้อสรุปว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ “เปนผู้แสดงความเท็จอวดอ้างตนให้คนเชื่อถือ เปนผู้ปั้นความที่ไม่จริงขึ้นลวงให้คนเชื่อผิด ๆ” หลังจากนั้น “กุ” จึงกลายเป็นคำที่หมายถึงการสร้างเรื่องขึ้นมาโดยไม่มีมูล ทั้ง ๆ ที่ความจริงมูลเหตุที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ ต้อง “กุ” นั้นมาจากการหวงห้ามความรู้นั่นเอง ก.ศ.ร. กุหลาบจึงถูกทำให้กลายเป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้
ส่วนเทียนวรรณรียกได้ว่าเป็นตัวแทนความคิดสมัยใหม่ที่มาพร้อมการเปลี่ยนแปลงของสยามภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง ที่ส่งผลให้การค้าถือเป็นมาตรวัดความเจริญของประเทศ ท่านพยายามเปลี่ยนทัศนคติให้ชาวสยามหันมาทำการค้ามากกว่าจะมุ่งแต่เป็นข้าราชการ ท่านได้เห็นทั้งการเอารัดเอาเปรียบของพ่อค้าคนกลางและการคอร์รัปชันในระบบราชการ พอ ๆ กับการทราบถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก จึงเป็นที่มาของความกระตือรือร้นในการเปลี่ยนแปลงสยามสู่ความ “ศิวิไลซ์” ด้วยการเรียกร้อง “ปาลิเมนต์”, การเลิกทาส, ห้ามสูบฝิ่น ฯลฯ เทียนวรรณได้ก้าวสู่การเป็นนักหนังสือพิมพ์โดยการออกหนังสือ ตุลวิภาคพจนกิจ และเปิดสำนักงานทนายความ “ออฟฟิศอรรศนานุกูล” อันเป็นเหตุให้ท่านถูกกลั่นแกล้งจนตกเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นตราราชสีห์ จากการที่มีผู้มาหลอกลวงให้เขียนใบฎีกา ส่งผลให้ท่านถูกโบย 50 ที และถูกขังลืมเกือบ 17 ปี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการห้ามหนังสือ ทรัพย์ศาสตร์ ของพระยาสุริยานุวัตร ก่อนที่จะเขียนหนังสือเล่มดังกล่าวพระยาสุริยานุวัตร เสนอให้โอนกิจการฝิ่นจากเจ้าภาษีนายอากรมาสู่รัฐบาลเพื่อขจัดการรั่วไหลของรายได้ และจะได้นำเงินมาพัฒนาประเทศ แต่เมื่อนโยบายถูกต่อต้านจนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีพระราชหัตถเลขาแนะนำให้ท่านลาออก หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว พระยาสุริยานุวัตร ก็ได้เขียนทรัพย์ศาสตร์ เนื้อหาในเล่มนอกจากการวิจารณ์การดำเนินนโยบายที่ไม่ส่งเสริมการสะสมทุน จนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศล้าหลังแล้ว ท่านยังชี้ให้เห็นการขูดรีดส่วนเกินทางเศรษฐกิจของชาวนาไปให้แก่พ่อค้าคนกลางและพ่อค้าส่งออกในรูปแบบของการปล่อยกู้ดอกเบี้ยสูงและการกดราคาข้าวเปลือกอีกต่อหนึ่ง พระยาสุริยานุวัตร กว่าไว้ในบทนำของทรัพศาสตร์ว่า
“หนังสือเล่มนี้ (เขียน) ขึ้นโดยความหวังว่าเศรษฐวิทยาของข้าพเจ้านี้จะตั้งต้นชักชวนให้ท่านผู้อื่นที่มีความรู้ดีกว่า ริอ่านแต่งหนังสือและหาเรื่องมาแนะนำสั่งสอนและเพิ่มเติมข้อความบางข้อที่ข้าพเจ้าละเลยเสียนั้นให้ดียิ่งขึ้นไปในภายหน้า เพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่สยามยิ่งขึ้นเสมอไป”
ซึ่งได้รับความนิยมในทันทีและทันทีที่ ทรัพย์ศาสตร์เล่ม 2 ตีพิมพ์ออกมาในปี พ.ศ. 2454 (จากที่วางแผนไว้ว่าจะมีทั้งหมด ๓ เล่ม) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีรับสั่งให้พระยาสุริยานุวัตรยุติการเขียน หลังจากนั้นทรงเขียนบทวิจารณ์ “ทรัพย์ศาสตร์ (เล่ม 1) ในนามปากกา “อัศวพาหุ” ลงในวารสาร สมุทรสาร ทรงเห็นว่า ทรัพย์ศาสตร์ จะทำให้คนไทยแตกแยกเป็นชนชั้น เพราะในสยามประเทศนั้น เว้นแต่พระเจ้าแผ่นดินแล้ว “ใคร ๆ ก็เสมอกันหมด” ทรงเห็นว่าผู้เขียน “ตั้งใจยุแหย่ให้คนไทยเกิดฤศยาแก่กันและแตกความสามัคคีกัน” เพราะเขียนเรื่องความต่างทางรายได้
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการแก้ไขกฎหมายอาญากำหนดความผิดของการสอนลัทธิเศรษฐกิจ โดยมีโทษสูงสุด 10 ปี และให้ปรับไม่เกิน 5,000 บาท ทรัพย์ศาสตร์ จึงกลายเป็นหนังสือต้องห้ามไปโดยปริยาย กระทั่งเมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ใน พ.ศ. 2477 วิชา “ลัทธิเศรษฐกิจ” ได้รับการบรรจุเป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต และพระยาสุริยานุวัตรก็ได้เขียนทรัพย์ศาสตร์ เล่ม 3 ออกมาในชื่อ เศรษฐศาสตร์และการเมือง
การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 หนังสือ เค้าโครงการณ์เศรษฐกิจ หรือที่รู้จักกันในนาม “สมุดปกเหลือง” ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2475 (ปีปฏิทินเก่า) ได้ก่อให้เกิดความเห็นแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่านี่จะเป็นหนทางนำความผาสุกมาสู่สยาม ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่านี่เป็นโครงการของคอมมิวนิสต์ ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นจนพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ต้องทำการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ โดยการปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 และในวันรุ่งขึ้นก็ได้มีการประกาศใช้กฎหมายคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีไว้เล่นงานนายปรีดีเป็นการเฉพาะ จนมีการประกาศห้ามหนังสือสมุดปกเหลืองด้วยเหตุว่า “แสลงไปในทางการเมือง...เหลื่อมไปในทางลัทธิคอมมูนิสม์” และ “โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ หรือหลวงประดิษฐ์จะเอาอย่างสตาลิน”
พ.ศ. 2481 สังคมไทยภายใต้การปกครองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มต้นด้วยการจับกุมศัตรูทางการเมืองและตั้งศาลพิเศษพิพากษาประหารนักโทษการเมืองรวม 18 คน พร้อมกันนั้นรัฐบาลก็ได้ดำเนินนโยบายชาตินิยมทางการทหารและต่อต้านคนจีน ในยุคสมัยนี้เองได้มีการบัญญัติ พระราชบัญญัติ การพิมพ์ พ.ศ. 2484 ในมาตรา 9 ที่ระบุว่า
“เมื่อเห็นว่าสิ่งพิมพ์ใด “อาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ก็สามารถ “ห้ามการขายหรือจ่ายแจก และให้ยึดสิ่งพิมพ์นั้น”
ด้วยเหตุผลที่ว่า “ถ้าเสรีภาพในการเขียนหนังสือพิมพ์ที่ปล่อยนี้ภายหลังเกิดปรากฏว่าอาจเป็นภัยต่อชาติอย่างร้ายแรงขึ้นได้แล้ว ข้าพเจ้าจำต้องเสนอลดเสรีภาพลงให้เหมาะแก่กรณีที่จะนำความร่มเย็นมาสู่พี่น้องทั้งมวลอีก” หนังสือชุดแรกที่ถูกสั่งห้ามคือหนังสือภาษาจีน เช่น เลียกลือท้วน ตงกกชุดโล่ว ฯลฯ 2เดือนต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลของจอมพล ป. ประกาศร่วมสงครามโลกกับญี่ปุ่น รัฐบาลถือโอกาสนี้เข้าควบคุมหนังสือพิมพ์ทุกประเภทหนักยิ่งขึ้น ข่าวการเมืองทุกชิ้นต้องส่งให้รัฐบาลพิจารณาก่อนตีพิมพ์ รวมทั้งมีการบังคับให้หนังสือพิมพ์ลงข้อความโฆษณารัฐบาลที่หน้าปกทุกฉบับ เช่น “เชื่อผู้นำทำให้ชาติพ้นภัย” “ความปลอดภัยของชาติอยู่ที่เชื่อผู้นำ” ฯลฯ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลหลังสงครามได้เปิดเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น มีการยกเลิก พ.ร.บ. คอมมิวนิสต์ 2476 รวมทั้งอนุญาตให้ตั้งพรรคการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้ทำคือยกเลิก พ.ร.บ. การพิมพ์ กระทั่งรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารได้ตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ หุ่นเชิดจนถึงพ.ศ. 2491 ต่อมาจอมพล ป. ก็กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และเหตุการณ์ก็ไม่ต่างจากช่วงแรกคือจอมพล ป. เริ่มต้นด้วยการสังหารนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม แต่ครั้งนี้การต่อต้านมีมากขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มนักหนังสือพิมพ์ที่มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะทำการต่อต้านในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนแล้ว นักหนังสือพิมพ์เหล่านี้ยังได้จัดตั้งคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย จนเป็นเหตุให้มีการจับกุมกบฏสันติภาพในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 และนำพ.ร.บ. คอมมิวนิสต์ มาประกาศใช้อีกครั้ง
ในเวลาเดียวกันนี้เองเกิดสงครามเย็น ซึ่งรัฐบาลไทยมีจุดยืนเคียงข้างสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในเวลาดังกล่าวนี้มีการประกาศหนังสือต้องห้ามกว่า 250 รายการส่วนใหญ่มาจากสหภาพโซเวียต เช่น รวมเรื่องสั้นของกอร์กี้ โดย แมกซิม กอร์กี้ ลัทธิมาร์คซ์และการปฏิวัติ โดย เลนิน ความหมายสากลแห่งการปฏิวัติเดือน 10 โดย สตาลิน เป็นต้น ในฝากของประชาชนผู้ถูกปกครองแนวคิดสังคมนิยมกลายเป็นทางเลือกของสังคมผ่านนักคิดนักเขียนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเรียกรวม ๆ ว่า ฝ่ายก้าวหน้า เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ อัศนี พลจันทร์ จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ
ต่อมา การ “รัฐประหารตัวเอง” ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ก็ได้นำมาสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญ รัฐสภา และพรรคการเมือง พร้อม ๆ ไปกับการจำกัดเสรีภาพทางการเมืองแทบทุกด้าน สฤษดิ์สั่งจับกุมนักคิดนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าจำนวนมาก คนที่เหลือถ้าไม่ลี้ภัยทางการเมืองก็ต้องยุติบทบาททางการเขียนลง หรือหากจะอยู่บนเส้นทางวรรณกรรมต่อไปก็ต้องเปลี่ยนไปเขียนเรื่องแนวโรแมนติก เช่นกรณีของ “รพีพร” หรือ สุวัฒน์ วรดิลก ก็ใช่ว่างานเขียนของฝ่ายก้าวหน้าจะสูญหายไปจากสังคมไทย เพราะนักคิดนักเขียนจำนวนมากยังคงผลิตงานของตนอยู่อย่างเงียบ ๆ ในคุกลาดยาว
กระทั่ง พ.ศ. 2516 ตลาดหนังสือหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา มีความเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่อง ปริมาณที่มีการเกิดขึ้นของสำนักพิมพ์อิสระ ที่มุ่งขายความคิดมากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้มีหนังสือออกมาเป็นจำนวนมาก งานเขียนในทศวรรษ 2490 ที่ถือเป็นงานต้องห้าม เช่น โฉมหน้าศักดินาไทย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ได้รับการตีพิมพ์นับหมื่นเล่มในเวลาไม่กี่เดือน จนต้องมีการจัดสัมมนาว่าด้วยหนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะ
ทว่าในเวลาดังกล่าวก็ไม่สามารถให้สร้างความกระจ่างให้กับกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ช่วงกลางปีพ.ศ. 2517 วิวาทะว่าด้วยกรณีสวรรคตก็เริ่มขึ้น เมื่อหนังสือ กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489 โดย สรรใจ แสงวิเชียร วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ได้ตั้งข้อสงสัยต่อบทบาทการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายปรีดี พนมยงค์ ในกรณีสวรรคตว่า
“ใครพูดว่านายปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต ทำไมถึงร้อนตัวกันนัก ดิฉันและนายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร เพียงแต่ตั้งคำถามว่า ในฐานะท่านเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นทำไมไม่รับผิดชอบด้วยการทำความจริงให้ปรากฏ ทั้ง ๆ ที่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้ชี้ชัดว่าไม่ได้เป็นการปลงพระชนม์เองตามแถลงการณ์ของรัฐบาล
หลังจากนั้นเพียงสัปดาห์เดียว ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ของ สุพจน์ ด่านตระกูล ก็ออกมาโต้อย่างทันควัน สุพจน์นอกจากเสนอว่าปรีดีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว ยังขยับไปอีกขั้นว่าใครน่าจะมีส่วนบ้างดังนี้
“กรณีสวรรคตเป็นเรื่องทางการเมืองที่สร้างขึ้นมาเพื่อทำลาย อ. ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ตามความเห็นแย้งของหลวงปริพนธ์พจนพิสุทธ์ ได้ชี้ว่าปืน หัวกระสุน ปลอกกระสุน รวมทั้งลูกปรายที่อยู่ในหมอน เป็นของชุดเดียวกัน และในวันนั้นก็ไม่มีผู้ร้ายเข้ามาในห้องบรรทม” ... “หนังสือของ เรย์น ครูเกอร์ เขียนออกมาในปี ๒๕๐๗ โดยไม่ได้พบ อ. ปรีดี พนมยงค์ เพราะตอนนั้นท่านอยู่เมืองจีน อ. ปรีดีบอกผมเองว่าอย่าเพิ่งอ้าง เพราะผู้เขียนกำลังแก้ไขอยู่ แต่หนังสือเล่มนี้มีคุณูปการที่ชี้ให้เห็นว่า นายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศริน ที่ถูกประหารชีวิต รวมทั้ง เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช อ. ปรีดี เป็นผู้บริสุทธิ์ และยังชี้ว่ามีความเป็นไปได้อะไรบ้างที่เกิดขึ้น เหตุผลที่ห้ามหนังสือเล่มนี้คือคนที่ต้องการให้ อ. ปรีดี เสียหาย”
หนังสือทั้งสองเล่มนี้ได้รับการพิมพ์ซ้ำอย่างรวดเร็วและตามมาด้วยหนังสือที่เกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตอีกจำนวนมาก และในบรรดาหนังสือว่าด้วยกรณีสวรรคต เล่มที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดก็คือ กงจักรปีศาจ แปลโดย เรือเอก ชลิต ชัยสิทธิเวช ร.น. ซึ่งแปลมาจาก The Devil’s Discus ของ เรย์น ครูเกอร์ (Rayne Kruger) ที่ฉบับภาษาอังกฤษถูกจัดเป็นสิ่งพิมพ์ที่ห้ามเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรแทบจะทันทีที่หนังสือเล่มนี้ออกวางจำหน่าย เพียงแต่ครั้งนั้นหนังสือเล่มนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเนื่องจากเป็นภาษาอังกฤษและช่วงเวลานั้นยังอยู่ในยุคเผด็จการ
การห้ามหนังสือในเวลาดังกล่าวมีเรื่องน่าประหลาดใจเนื่องด้วยในยุคนี้ เนื่องจากจากจำนวนหนังสือต้องห้ามทั้งหมดกว่า 350 รายการ (ระหว่างปี 2501 - 2516) กลับมีหนังสือของนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าถูกห้ามเพียง 2 เรื่องเท่านั้น คือ แลไปข้างหน้า ของ ศรีบูรพา และงานแปล ประวัติจริงของอาQ แต่งโดย หลู่ซิ่น ที่เหลือถ้าไม่ใช่หนังสือโป๊ซึ่งมีทั้งไทยและเทศ ก็เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับประเทศคอมมิวนิสต์ ถ้าไม่เป็นภาษาจีนก็เป็นภาษาอังกฤษ การห้ามหนังสือในยุคนี้จึงมิได้เกิดจากผลทางกฎหมายเท่านั้น แต่มาจากความหวาดกลัวต่ออำนาจที่มีอย่างล้นเหลือของจอมพล สฤษดิ์ จนกลายเป็นวัฒนธรรมเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งไม่เพียงแต่นักเขียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ ร้านหนังสือด้วย
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ได้สั่งปิดหนังสือพิมพ์รายวันทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ และตั้งคณะกรรมการซึ่งมีนายประหยัด ศ. นาคะนาท เป็นประธาน เพื่อพิจารณาคำร้องว่ามีหนังสือพิมพ์ฉบับไหนที่ควรได้ดำเนินการต่อไป ผลปรากฏว่า ประชาชาติรายวัน ประชาธิปไตย อธิปัตย์ ฯลฯ ถูกลบออกจากสารบบหนังสือพิมพ์ไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนฉบับที่เหลือก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองทุกครั้งที่ตีพิมพ์ในคำสั่งเดียวกัน คณะปฏิรูปฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่ริบหรือทำลายหนังสือที่เห็นว่าจะก่อให้เกิดความแตกสามัคคีในชาติและทำให้ประชาชนเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์
ในระหว่างปี พ.ศ. 2520 - 2523 ได้มีการออกประกาศ 4 ฉบับ ระบุรายชื่อสิ่งพิมพ์ต้องห้ามรวมแล้ว 217 รายการ ซึ่งนับเป็นการห้ามหนังสือครั้งใหญ่ที่สุดในสังคมไทย เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้มีอำนาจสมัยนั้นมิได้มีความรู้ในการห้ามเสียด้วยซ้ำ หลายเล่มก็ดูเพียงชื่อผู้เขียน เช่น จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม โดย ปรีดี พนมยงค์ หลายเล่มก็ดูเพียงชื่อหนังสือ เช่น ชาวนาไทยกับการเปลี่ยนแปลง ของ สุเทพ สุนทรเภสัช กระบวนการห้ามหนังสืออย่างบ้าคลั่งนี้ทำให้ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ถึงกับทิ้งงานวิชาการโดยสิ้นเชิง รังสรรค์กล่าวว่า
“ทำไมถึงห้าม ? ผมคิดว่ามาจากชื่อหนังสือ เพราะเขามีสมมุติฐานว่าหนังสือที่มีชื่อ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี กลยุทธ์ หรือว่ามวลชน เป็นหนังสือที่ถูกบงการโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เขาเลยเข้าใจว่าผมถูกบงการด้วย .... มันก็เหมือนกับการได้รับรางวัลโนเบลทางการเมือง (หัวเราะ) เนื้อหาหนังสือมันไม่มีอะไรเลย ไม่มีตรงไหนที่บอกว่าให้ไปปฏิวัติล้มล้างรัฐบาล ผมคิดว่าบรรดาข้อศึกษาเกี่ยวกับความยากจนในปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐ การเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษี ก็เป็นข้อเสนออย่างเดียวกับผม”
เมื่อ กลยุทธในการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศไทย ของเขาได้กลายเป็นหนังสือต้องห้าม เอกสารราชการจำนวนมากที่เก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือหน่วยงานราชการอื่น ที่เคยเปิดให้ใช้ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็ถูก ห้ามเช่นเดียวกัน ทั้งที่เอกสารเหล่านั้นกล่าวถึงเหตุการณ์ในอดีต เช่น การเจรจาเขตแดนกับอังกฤษและฝรั่งเศสในสมัย ร. 5 รายชื่อหนังสือต้องห้ามที่ถูกประกาศโดยกระทรวงมหาดไทยจำนวน 100 เล่ม เฉพาะใน พ.ศ. 2540 ที่ ณ ปัจจุบันยังไม่ได้ประกาศยกเลิกแต่อย่างใด มีดังนี้
ประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่อง กำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามผู้ใดมีไว้ครอบครอง
ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเอกสารสิ่งพิมพ์ต่อไปนี้ เป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ซึ่งเสนอข่าวสาร บทความ และข้อเขียนแสดงความคิดเห็นอันส่อไปในทางก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีในชาติ หรือชี้นำผู้อ่านให้เกิดความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน คือ
1. การเมืองเรื่องของประชาชน เขียนโดย แนวร่วมประชาชาติกันทรารมย์
2. เก้าอี้ป่า เขียนโดย เก้าอี้ป่า
3. การ์ตูนปฏิวัติจากจีนใหม่ หญิงแดง จดหมาย ขนไก่ กองทหาร เขียนโดย หวาซาน หลิวจี้อิ่ว
4. การปฏิวัติของจีน เขียนโดย กองบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์
5. การศึกษาปฏิวัติประชาชนลาว เขียนโดย ไกรสร พรหมวิหาร
6. ก่อนไปสู่ภูเขา แปลโดย สถาพร ศรีสัจจัง
7. กาพย์กลอนเหมาเจ๋อตุง แปลโดย ประไพ วิเศษธานี
8. เข้าโรงเรียน เขียนโดย กวั่นหวา
9. ข้อขัดแย้งระหว่างสหภาพโซเวียต กับ จีน เขียนโดย กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เหยินหมิน ยึเป้า และกองบรรณาธิการนิตยสารหงฉี
10. คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตุง ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่สำนักพิมพ์ต่างประเทศ ปักกิ่ง และสุนทรการพิมพ์ หจก.จรัลสนิทวงศ์ บางพลัด กรุงเทพมหานคร
11. คัมภีร์นักปฏิวัติ เขียนโดย กลุ่มอิสานปฏิวัติ
12. คาร์ลมาร์กซ์ ผู้สร้างทฤษฎีนิรันดร เขียนโดย วิตาลี ไวกอดสกี
13. ความชัดเจนทางประวัติศาสตร์ของเผด็จการ ชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ปรากฏผู้เขียน แต่พิมพ์ที่สุวิทย์การพิมพ์ ซอยอรรถสิทธ์ สาธรใต้ กรุงเทพฯ
14. เคียงข้างกันสร้างสรรค์โลก เขียนโดย แสงเสรี
15. ความคิดของเหมาเจ๋อตุง เขียนโดย สุรัฐ โรจนวรรณ
16. โจวเอินไหล ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่วัชรินทร์การพิมพ์ 364 ถนนพระสุเมรุ กรุงเทพฯ
17. จะวิเคราะห์ชนชั้นในชนบทอย่างไร เขียนโดย กลุ่มเยาวชนรับใช้ชาติ
18. จากโฮจิมินห์ ถึง เปลื้อง วรรณศรี เขียนโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
19. จรยุทธ-ใต้ดิน เขียนโดย ตะวันฉาย
20. จีนคอมมิวนิสต์ เขียนโดย สนอง วิริยะผล
21. จิตใจปฏิวัติ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
22. จีนแผ่นดินแห่งการปฏิวัติตลอดกาล เขียนโดย Jan Myrdal & Gun Kessle
23. ลัทธิสังคมนิยมแบบเพ้อฝันและแบบวิทยาศาสตร์ แปลโดย อุทิศและโยธิน
24. ลัทธิวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ เขียนโดย ตะวันฉาย
25. ลัทธิเลนิน กับลัทธิแก้สมัยใหม่ เขียนโดย ชมรม 13
26. ลัทธิเลนินจงเจริญ เขียนโดย กองบรรณาธิการนิตยสารหงฉี
27. ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ว่าด้วยทฤษฎีสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ แปลโดย ศูทร ศรีประชา
28. ว่าด้วยรากฐานทางสังคมกลุ่มหลินเปียวที่ค้านพรรค เขียนโดย เหยาเหวินหยวน
29. วิจารณ์คำแถลงของพรรคคอมมิวนิสต์อเมริกา กระจกส่องพวกลัทธิแก้ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่ธเนศ วรการพิมพ์ 489 ถนนบำรุงเมือง กรุงเทพฯ
30. วิพากษ์ลัทธิแก้ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่ สมชายการพิมพ์ 270/77 ซอยวิมลสรกิจ บางยี่ขัน กรุงเทพมหานคร
31. วิวัฒนาการความคิดสังคมนิยม เขียนโดย ชาญ กรัสนัยปุระ
32. ว่าด้วยรัฐบาลรวม เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง 33. วิเคราะห์การต่อสู้ของพรรคลาวด๋อง เขียนโดย ธีรยุทธ บุญมี
34. วิวัฒนาการของมาร์กซิสม์ เขียนโดย น.ชญานุตม์
35. วัฒนธรรมจีนใหม่ เขียนโดย ไจ๋เปียน
36. วี.ไอ.เลนิน-รัฐ เขียนโดย ชมรมหนังสือแสงดาว
37. วีรบุรุษสู้รบ เขียนโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาอีสานแห่งประเทศไทย
38. ว่าด้วยประชาธิปไตยรวมศูนย์ แปลโดย เศรษฐวัฒน์ ผดุงรัฐ
39. ลัทธิวัตถุนิยมวิภาษ และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ เขียนโดย โจเซพ สตาลิน ประกาย สุชีวิน แปล
40. ภาวะของศิลปะใต้ระบอบเผด็จการฟาสซีสม์ เขียนโดย จิตติน ธรรมชาติ
41. หลักลัทธิเลนิน เขียนโดย บำรุง ไพรัชวาที
42. หนทางการปฏิวัติไทย ไม่ปรากฏผู้แต่ง และไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์
43. 50 ปี พรรคคอมมิวนิสต์คิวบา 50 ปี สหพันธ์สตรีคิวบา ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง แต่พิมพ์ที่ ประจักษ์การพิมพ์ กรุงเทพฯ
44. เดินทางทัพทางไกลไปกับประธานเหมา เขียนโดย เฉินชางเฟิ่ง
45. เดินทางไกลครั้งที่ 2 เขียนโดย เหยิน จางหลิน
46. หยางกึนซือวีรชนอมตะ เขียนโดย ว่างเฮา
47. เหมาเจ๋อตุง ผู้นำจีนใหม่ เขียนโดย เทิด ประชาธรรม
48. นอร์แมน เบทูน แปลโดย ศรีนรา
49. บนเส้นทางไปสู่สังคมนิยมจีน เขียนโดย ธีรยุทธ บุญมี
50. บทกวีเพื่อผู้ถูกกดขี่ เขียนโดย วิทยากร เชียงกูล
51. คาร์ลมาร์กซ์ ค่าจ้าง ราคา และกำไร แปลโดย ประสาท ลีลาเธียร
52. บันทึกของไพ่ฉวิน ม่านเทียนเสื่อ แปลโดย แจ่ม จรัสแสง
53. ประวัติศาสตร์ 30 ปี ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขียนโดย หูเฉียวมุ เจอดจำรัสแปล
54. ถังเหล่ยเวียดนาม เขียนโดย อุดร ทองน้อย
55. ทหารน้อยจางก่า เขียนโดย สีกวงเย่า
56. แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ เขียนโดย คาร์ล มาร์กซ์ เฟรเดอริค เองเกลส์
57. บทวิเคราะห์วรรณกรรมยุคศักดินา เขียนโดย จิตร ภูมิศักดิ์
58. ปัญหาลัทธิเลนินในยุคของเรา เขียนโดย ชมรม ดาวรุ่ง
59. แนวร่วมปลดแอกของโฮจิมินห์ เขียนโดย บัณฑูร เวชสาร
60. นิพนธ์ปรัชญา 4 เรื่องของประธานเหมาเจ๋อตุง แปลโดย ชมรมหนังสือรวงข้าว
61. แนวทางแห่งการต่อสู้ แนวทางแห่งชัยชนะ เขียนโดย กลุ่มพลังชน
62. นักศึกษาจีนแนวหน้าของขบวนการปฏิวัติสังคม แปลโดย เทิด ธงธรรม วรรณา พรประเสริฐ
63. ด้วยเลือดและชีวิต เขียนโดย จิตร ภูมิศักดิ์
64. แนวร่วมเอกภาพเพื่อการปลดแอกแห่งชาติ เขียนโดย ชมรมหนังสืออิสรภาพ
65. ทฤษฎีการเมืองว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การเมือง สำหรับชนชั้นกรรมาชีพ แปลโดย เมธี เอี่ยมเจริญ
66. ชีวทัศน์หนุ่มสาว ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ที่บริษัทบพิธการพิมพ์ 70 ถนนราชบพิธ กรุงเทพมหานคร
67. ชีวทัศน์เยาวชน ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน และไม่ปรากฏที่พิมพ์
68. ชาวนาไทยกับการเปลี่ยนแปลง แปลโดย สุเทพ สุนทรเภสัช
69. เช กูวารา นายแพทย์นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ เขียนโดย ศรีอุบล
70. ชีวิตในคอมมูน เขียนโดย สันติสุข
71. ชนกรรมาชีพทั่วโลก จงสามัคคีกันคัดค้านศัตรูร่วมกับเรา เขียนโดย สำนักพิมพ์เข็มทิศ
72. ซ้ายทารก เขียนโดย วี.ไอ.เลนิน
73. สืบทอดภารกิจปฏิวัติ เขียนโดย ชมรมดาวรุ่ง
74. สุนทรพจน์ของประธานเหมาเจ๋อตุง ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง แต่พิมพ์ที่ศรีเพ็ชรการพิมพ์ 169/120 ตรอกวัดดีดวด บางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
75. สงครามปฏิวัติ เขียนโดย ชมรมดาวรุ่ง
76. สงครามกองโจรของ เช กูวารา แปลโดย ฤตินันทน์
77. สรรนิพนธ์ โฮจิมินห์ แปลโดย วารินทร์ สินสูงสุด ปารวดี วรุณจิต
78. เสียงร้องของประชาชน แปลโดย จิรนันท์ พิตรปรีชา
79. สงครามยืดเยื้อ เขียนโดย เหมาเจ๋อตุง
80. สรรนิพนธ์เลนิน คอมมิวนิสต์ปีกซ้าย โรคไร้เดียงสา แปลโดย นพคุณ ศิริประเสริฐ
81. สรรนิพนธ์เลนิน เพื่อคนจนในชนบท แปลโดย พัลลภา ปั้นงาม
82. สงครามอุโมงค์ เขียนโดย เจ๋อเหมย ปี้เหลย
83. สตรีกับภารกิจแห่งการปฏิวัติ เขียนโดย จินดา ไชยโยทยาน
84. ยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่ ต่อสู้กับคลื่นลม ไม่ปรากฏผู้เขียน และไม่ปรากฏที่พิมพ์
85. ระลึกคอมมูนปารีสครบร้อยปี เขียนโดย ชมรมหนังสือตะวันแดง
86. ศัพทานุกรมปรัชญา เขียนโดย เมธี เอี่ยมเจริญ
87. สาธารณรัฐประชาชนจีน แปลโดย ถ่องแท้ รจนาสัณห์
88. เมาเซตุง เขียนโดย ศิรวิทย์
89. ยูโกสลาเวีย เป็นสังคมนิยมจริงหรือ ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน แต่พิมพ์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน
90. ปัญหาปฏิวัติประเทศไทย เขียนโดย กลุ่มชนภูเขา
91. เอกสารสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 10 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เขียนโดย กลุ่มเยาวชนรักชาติ
92. โฉมหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ไทย เขียนโดย สายใย เทอดชูธรรม
93. พระเจ้าอยู่ที่ไหน เขียนโดย นายผี
94. พระสงฆ์ลาวกับการปฏิวัติ เขียนโดย คำตัน
95. แล้วเราก็ปฏิวัติ ไม่ปรากฏผู้เขียน แต่พิมพ์ที่ เจริญวิทย์การพิมพ์ บ้านพานถม กรุงเทพมหานคร
96. รัฐกับการปฏิวัติ เขียนโดย วี.ไอ.เลนิน
97. เลนินจักรวรรดินิยมชั้นสูงสุดของทุนนิยม แปลโดย ประสาท ลีลาเธียร
98. ว่าด้วยปัญหาที่ดินและชาวนาของประธานเหมาเจ๋อตุง ไม่ปรากฏผู้เขียน และไม่ปรากฏที่พิมพ์
99. วีรสตรีจีนปฏิวัติหลิวหูหลาน แปลโดย วีรจิตร
100. อัลเยนเด้วีรปฏิวัติ เขียนโดย สูรย์ พลังไทย
อาศัยอำนาจตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 43 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2519 ข้อ 2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่าเอกสารสิ่งพิมพ์ รวม 100 ฉบับ ตามรายชื่อข้างต้นซึ่งต้องห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ครอบครอง
ประกาศ ณ วันที่ 3 มีนาคม 2520
สมัคร สุนทรเวช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ต่อมาเมื่อขบวนการคอมมิวนิสต์ล่มสลายลงทั้งในระดับประเทศและสากลในต้นทศวรรษ 2530 หนังสือต้องห้ามหลายเล่มก็ได้ออกมาวางจำหน่ายอีกครั้งแต่กลับไม่คึกคักเหมือนเคย เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่มีอารมณ์ร่วมในการอ่านหนังสือเหล่านี้อีกต่อไปจึงไม่คุ้มที่จะพิมพ์ออกมาในเชิงธุรกิจ มันจึงปรากฏอยู่เพียงตามร้านหนังสือเก่าทั้งที่รัฐเองก็อนุญาตอยู่กลาย ๆ เพราะใน พ.ศ. นี้ คอมมิวนิสต์มิใช่ภัยของรัฐอีกต่อไป
เมื่อคอมมิวนิสต์ไม่เป็นภัยคุกคามแล้ว การห้ามหนังสือก็ดูเหมือนจะคลี่คลายลง แต่จู่ ๆ ก็เกิดปรากฏการณ์การห้ามโดยประชาชนมูลเหตุเกิดจากข้อความสั้น ๆ ที่ปรากฏอยู่บนปกหลังหนังสือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ของ สายพิน แก้วงามประเสริฐ ว่า “วีรกรรมนี้เกิดขึ้นจริงหรือ ?” นี่มิใช่คำถามใหม่ แม้แต่ปราชญ์สยามอย่างสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็เคยทูลถามสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “เรื่องท่านผู้หญิงโม้นี้ดูก็ประหลาด ...ไม่เห็นว่าแสดงแผลงอิทธิฤทธิ์อะไร เป็นแต่ว่าคุมพวกผู้หญิงเป็นกองหลังเท่านั้น ทำไมยกย่องกันหนักหนาไม่ทราบ” แต่สายพินไปไกลกว่านั้นด้วยคำถามใหม่ ๆ เช่น ทำไมจึงต้องเร่งสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีขึ้นในปี 2477, ทำไมต้องเร่งเปิดอนุสาวรีย์ทั้งที่เป็นเพียงรูปปูนปลาสเตอร์ปั้นแล้วทาสีทองทับ เท่านั้น, เหตุใดต้องเปลี่ยนท่าทางของท้าวสุรนารี ฯลฯจากคำถามเหล่านี้ สายพินได้เริ่มค้นหาคำตอบด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์จนพบว่า วีรกรรมของท้าวสุรนารีถูกนำมาใช้เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองในทศวรรษ 2470 และนั่นก็คือที่มาที่ทำให้ท้าวสุรนารีเป็นสามัญชนคนแรกที่ทางการสร้างอนุสาวรีย์ให้ สายพินสรุปว่าเรื่องของท้าวสุรนารียังคงถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน และชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของวิชาประวัติศาสตร์ ที่ไม่ช่วยให้คนในสังคมแก้ปัญหาด้วยการค้นหา “ความจริง” มาโต้แย้ง “ความจริง” ที่ไม่เป็นที่พึงประสงค์
งานวิจัยชิ้นนี้ได้เป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2536 และอีก 2 ปีต่อมา สำนักพิมพ์มติชนก็ได้นำมาปรับปรุงเรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 ก็มีชาวโคราช ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชน ออกมาประท้วงผู้เขียนและสำนักพิมพ์ว่าลบหลู่สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่เคารพ ก่อให้เกิดการแตกแยกในสังคม เช่น รักเกียรติ ศุภรัตน์พงศ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เทิดไท ผู้นำในการต่อต้านหนังสือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีกล่าวว่า
“เขียนได้อย่างไรว่าย่าโมไม่มีตัวตน อนุสาวรีย์สร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในยุคนั้น ใครมาโคราชก็ต้องกราบไหว้ ในหลวงมาปี 2524 ท่านก็ยังมาเคารพเลย ...ผมคิดว่าไม่ใช่เฉพาะผม แต่ชาวโคราชทั้งหมดถ้าผิดไปจากที่เราเคารพเราถือว่าเป็นการดูหมิ่น การจะทำหนังสือหรือเขียนวิทยานิพนธ์ก็ต้องรู้ว่าจะไปดูหมิ่นคนอื่นไม่ได้”
พร้อมทั้งข่มขู่ว่า หากย่างเท้าเข้ามาเมืองโคราชจะถูกต้อนรับอย่างสาสม มีการรวมพลังคนนับหมื่นที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ทำให้สำนักพิมพ์มติชนต้องเก็บหนังสือออกจากท้องตลาด ขณะที่ผู้เขียนก็ถูกย้ายจากโรงเรียนสะแกราชธวัชศึกษา อำเภอปักธงชัย นครราชสีมา ซึ่งสายพิณเองได้กล่าวว้าว่า
“เพียงคำถามว่า วีรกรรมนี้เกิดขึ้นจริงหรือ ? ที่อยู่บนปกหลังหนังสือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ได้ก่อให้เกิดการปลุกกระแสให้เกลียดชังผู้เขียน ถึงขั้นข่มขู่เอาชีวิต ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดขนบบางอย่างในการทำงานวิชาการว่า เรื่องบางอย่าง ไม่เชื่อก็อย่าตั้งคำถาม”
ในพ.ศ. 2542 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดทำ สารานุกรมแนะนำหนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน ขึ้น โดยหลักเกณฑ์หนึ่งในการคัดเลือกคือ จะต้องเป็นหนังสือที่โดดเด่น มีอิทธิพลต่อความคิด อารมณ์ความรู้สึก ของผู้อ่านจำนวนมากในยุคหนึ่ง ๆ และมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีถึง 7 เล่มที่เคยเป็นหนังสือต้องห้ามในวาระต่าง ๆ กัน คือ นิราศหนองคาย โดยนายทิม สุขยางค์ ทรัพย์ศาสตร์ โดยพระยาสุริยานุวัตร แลไปข้างหน้า โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ กบฏ ร.ศ.130 โดย เหรียญ ศรีจันทร์ และ เนตร พูนวิวัฒน์ โฉมหน้าศักดินาไทย และ กวีการเมือง ของ จิตร ภูมิศักดิ์ พิราบแดง ของ สุวัฒน์ วรดิลก
ทว่า พ.ศ. 2544 "เดอะเรวอลูเชินแนรีคิง" (The Revolutionary King; “กษัตริย์นักปฏิวัติ”) เขียนโดยชาวแคนาดาชื่อ วิลเลียม สตีเวนสัน (William Stevenson) ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาให้เผยแพร่ในประเทศไทย และพ.ศ. 2549 หนังสือ เดอะคิงเนเวอร์สไมส์ (The King Never Smiles; “กษัตริย์ไม่เคยยิ้ม”) เป็นหนังสือว่าด้วยพระราชประวัติอย่างไม่เป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและราชวงศ์จักรี เขียนโดย พอล แฮนด์ลีย์ (Paul Handley) นักเขียนชาวอเมริกัน ถูกทางการไทยจัดให้เป็น หนังสือต้องห้ามอย่างไม่เป็นทางการ ตั้งแต่ก่อนตีพิมพ์ โดยมิได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการในกฎหมายว่าด้วยการจดแจ้งการพิมพ์ โดยหนังสือกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ ตช 0016.146/289 ลงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2551 อ้างว่าหนังสือเล่มนี้เป็น “หนังสือต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร” และในเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 ทางการไทยยังได้ปิดกั้นเว็บไซต์ที่โฆษณาหรือให้บริการสั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ด้วย ผลกระทบจากหนังสือเล่มนี้ทำให้ อะคูปฟอร์เดอะริช (A Coup for the Rich; รัฐประหารเพื่อคนรวย) เป็นหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ที่เขียนโดย รศ. ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกรองผู้จัดการของศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสั่งระงับการขายหนังสือเล่มนี้ ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะหนังสือดังกล่าวมีการอ้างอิงงานเขียนของ พอล แฮนด์ลีย์ ซึ่งเป็นหนังสือที่ถูกห้ามเผยแพร่ในประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ต่อมา กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ออกหนังสือที่ ตช.0016.146/289 ลงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2551 เรื่อง "ขอความร่วมมือให้งดจำหน่าย หนังสือ A Coup for the Rich" ส่งมายังอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหยุดจำหน่ายหนังสือดังกล่าว โดยคำสั่งดังกล่าวอ้างว่า “เนื้อหาในหนังสือมีข้อความดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ... อาจทำให้ปวงชนชาวไทยเข้าใจพระมหากษัตริย์ผิด” เอกสารลงนามโดย พล.ต.ต.จุตติ ธรรมมโนวานิช รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งมีตำแหน่งหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนหนังสือเล่มนี้อีกตำแหน่งหนึ่ง ใน พ.ศ. 2549 วารสารฟ้าเดียวกันฉบับ สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย ที่มุ่งประเด็นการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย โดยการมองสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง ได้ถูกเจ้าพนักงานการพิมพ์สำหรับกรุงเทพมหานคร ลงชื่อโดย พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ห้ามการขายหรือจ่ายแจกและให้ยึดสิ่งพิมพ์ดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ด้วยสาเหตุว่าได้ลงโฆษณาอันอาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หนังสือลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งในเวลาต่อมา ร้านนายอินทร์ก็เก็บวารสารฟ้าเดียวกันออกจากทุกสาขา ในพ.ศ. 2552 ก็มีข้อพิพาทที่เวทีวิชาการอย่างเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทยครั้งที่ 5 ณ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ยอมให้นิตยสารฟ้าเดียวกันมาวางขายจนกลายเป็นข้อพิพาทในโลกอินเตอร์เนต
ที่มา
"ใจ อึ๊งภากรณ์" ได้รับหมายเรียก ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” http://www.prachatai.com/journal/2009/01/19660
“ตำรวจนครบาลสั่งห้ามขายหนังสือ A Coup for the Rich” http://www.prachatai.com/journal/2008/01/15589
“บทคัดย่อจากอเมซอนดอทคอม” http://www.prachatai.com/journal/2006/02/7272
“ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ไม่ยอมขายหนังสืออ.ใจ เพราะอ้างอิงผู้เขียน TKNS” http://www.prachatai.com/journal/2007/02/11592
“หนังสือต้องห้าม” http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=611
“หนังสือต้องห้ามเล่มล่าสุด” http://biolawcom.de/blog/466/
ธนาพล อิ๋วสกุล. “สารคดีพิเศษ : หนังสือต้องห้าม ความรู้ที่ถูกจองจำ” http://www.weopenmind.com/board/index.php?topic=3484.0;wap2
“บ.ก. ฟ้าเดียวกันถูกแจ้งข้อหา หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” http://www.prachatai.com/journal/2006/04/8010
“ฟ้าเดียวกันโต้ : ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อสถาบันฯ เพื่อปรับปรุง ดีกว่าบางเว็บไซต์ดึงสถาบันฯเป็นเครื่องมือ” http://www.siamintelligence.com/sameskybooks-to-explain-why-it-should-not-be-banned/
“สงสัยร้านนายอินทร์ไม่วางขาย "ฟ้าเดียวกัน" ผจก.ร้านแจงขายหมดแล้ว” http://www.prachatai.com/journal/2008/06/17103
“เวทีมนุษยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์-จุฬาเป็นพื้นที่ไร้เสรีภาพจริงๆ” http://sameskyboard.com/index.php?showtopic=40309&st=0
พจนานุกรมฉบับมติชน, 2547