ที่มาสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:51, 4 กรกฎาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ที่มาสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550

รัฐธรรมนูญฯ ได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 150 คน โดยมีที่มา 2 ประเภท (มาตรา 111) ได้แก่

1) สมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง โดยตรงจากประชาชนในแต่ละจังหวัด ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 112 กำหนดให้เลือกตั้งจากผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดละหนึ่งคน จำนวนทั้งหมด 76 คนโดยกำหนดให้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และในแต่ละจังหวัดจะมีสมาชิกวุฒิสภาได้จังหวัดละ 1 คน โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้หนึ่งเสียงและให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ซึ่งเงื่อนไขในการลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น ผู้ลงสมัครสามารถหาเสียงได้เฉพาะที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาเท่านั้นเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา

2) สมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหา จำนวน 74 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่กำหนดให้เท่ากับจำนวนของสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งหักด้วยจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีที่มาจากคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ประกอบไปด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมายจำนวน 1 คน ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมอบหมายจำนวน 1 คนเป็นกรรมการ (มาตรา 113)

คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา

คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งวุฒิสภาหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยมีเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้ (มาตรา 115 )

1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์ในวันสมัครรับเลือกตั้งหรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ

3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

4.1) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
4.2) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
4.3) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา เคยรับราชการหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี
4.4) ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
4.5) ไม่เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองหรือเคยเป็นสมาชิกหรือเคยดำรงตำแหน่งและพ้นจากการเป็นสมาชิกหรือการดำรงตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมืองมาแล้วยังไม่เกิน 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ
4.6) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วไม่เกิน 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 102 (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) (9) (11) (12) (13) หรือ (14) [1]
4.7) ไม่เป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือเคยเป็นแต่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วยังไม่เกิน 5 ปี
4.8) สมาชิกวุฒิสภาจะเป็นรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมิได้ และผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกิน 2 ปีจะเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้เช่นกัน(มาตรา 116)

เจตนารมณ์ของการกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภา

การกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาให้มีความเข้มข้นขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 2 ประการ ดังนี้

(1) เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภามีความผูกพันกับท้องที่ลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างแท้จริง จึงได้บัญญัติให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดดังกล่าวติดต่อกันเป็นระยะ เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งหรือเคยศึกษาในสถาน ศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษาหรือเคยรับราชการหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี

(2) เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภามีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่ถูกการเมืองครอบงำ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาผู้แทนราษฎรดังที่เคยเป็นมา จึงได้กำหนดให้ผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งหรือได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือเป็นบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและต้องไม่เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนผู้ที่เคยเป็นสมาชิกหรือเคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วแต่พ้นจากตำแหน่งยังไม่เกิน 5 ปีจนถึงวันสมัครรับเลือกตั้งหรือวันที่ได้รับการเสนอชื่อ ก็ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา

การนับคะแนนเลือกตั้ง

ในการนับคะแนนเลือกตั้งทั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาให้ดำเนินการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งและให้ส่งผลการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งนั้นไปรวมที่เขตเลือกตั้งเพื่อนับคะแนนรวม แล้วให้ประกาศผลการนับคะแนนโดยเปิดเผย ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งแต่เพียงแห่งเดียวในเขตเลือกตั้งนั้นตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด เว้นแต่เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเฉพาะท้องที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะกำหนดให้นับคะแนน รวมผลการนับคะแนน และประกาศผลการนับคะแนนเป็นอย่างอื่นก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

ตารางเปรียบเทียบบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 กับ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ในประเด็นเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
จำนวน ส.ว. 200 คน 150 คน
ที่มาของ ส.ว.

• จากการเลือกตั้งโดยตรงในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ตามสัดส่วนจำนวนประชากร

• จากการเลือกตั้งโดยตรงทั่วประเทศจังหวัดละ 1 คนจำนวน 76 คน

• จากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา 74 คน

วาระการดำรงตำแหน่ง ส.ว.

• จากการเลือกตั้ง วาระ 6 ปี

• จากการเลือกตั้ง วาระ 6 ปี

• จากการสรรหา วาระ 3 ปี

คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.

• อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

• วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป

• ไม่เป็นข้าราชการประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ

• ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เขตที่ลงรับสมัครเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเกิด หรือเคยศึกษาในจังหวัดที่ลงสมัครไม่น้อยกว่า 5 ปีหรือเคยรับราชการหรือเคยมีชื่ออยู่ในจังหวัดที่ลงสมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี อย่างใดอย่างหนึ่ง

ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.

• เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมือง

• เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วยังไม่เกินหนึ่งปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

• เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ในอายุของวุฒิสภาคราวก่อนการสมัครรับเลือกตั้ง

• เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

• ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

• ไม่เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองหรือเคยเป็นสมาชิกหรือเคยดำรงตำแหน่งและ พ้นตำแหน่งมาแล้วยังไม่เกิน 5 ปี

• ไม่เป็น ส.ส. หรือเคยเป็น ส.ส.และพ้นจากการเป็น ส.ส.มาแล้วไม่เกิน 5 ปี

สถิติที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550

ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2550 มีสถิติเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งที่น่าสนใจ ได้แก่

(1) ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวน 24,981,247 คน ( 55.62%) มีบัตรเสีย 914,479 (3.66) บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 2,079,826 บัตร (8.33%)

(2) จำนวนผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง แบ่งเป็นรายภาคและเพศ

ลำดับที่ ภาค จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้ง
ชาย หญิง รวม
1 กลาง 163 27 190
2 ตะวันออกเฉียงเหนือ 133 17 150
3 ใต้ 51 5 56
4 เหนือ 94 15 109
รวมทั้งหมด 441 64 505
ร้อยละ 87.33 12.67 100.00

ที่มา

“การแบ่งเขตการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”, Retrieved from URL http://www.matichon.co.th/ news-photo/matichon/2007/10/p0106171050p2.jpg (10 ธันวาคม 2550).

“ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วน” Retrieved from URLhttp://www.ect.go.th/thai/mp50/ballot3.jpg

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ.ตารางความแตกต่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กับ พุทธศักราช 2550 พร้อมเหตุผลโดยสังเขป Retrieved from URL http://www.parliament.go.th/parcy/sapa_db/committee0-upload/0-200802060 85205_compare.pdf .

สรุปข้อมูลสถิติการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. 23 ธันวาคม 2550 Retrieved from URL http://www.ect.go.th/ newweb/upload/cms07/download/401-5753-0.rar

สรุปข้อมูลสถิติการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว. 2 มีนาคม 2551 Retrieved from URL http://www.ect.go.th/

newweb/upload/cms07/download/408-7796-0.pdf

อ้างอิง

  1. มาตรา 102 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
    (1) ติดยาเสพติดให้โทษ
    (2) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
    (3) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 100 (1) (2) หรือ (4)
    (4) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
    (5) เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
    (6) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
    (7) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
    (8) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
    (9) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
    (11) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
    (12) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
    (13)อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 263
    (14)เคยถูกวุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง