โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา
ผู้เรียบเรียง พรชัย และ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา (จคม.)
โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) เป็นชื่อเรียกกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา หรือ พคม. (The Communist Party of Malaya - CPM) ที่หลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลมาเลเซียเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการและเคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไทย – มาเลเซีย และเนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธิ์จีนจึงทำให้มีชื่อเรียกและรู้จักกันในนามว่า “จีนคอมมิวนิสต์มลายา” หรือ “โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา” หรือ เรียกสั้นๆ จคม. [1]
กำเนิดและพัฒนาการของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาและโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.)
ความรู้สึกชาตินิยมของชาวจีนที่อาศัยอยู่ในมลายูเกิดขึ้นเนื่องจากกระแสการปลดแอกจากลัทธิอาณานิคม และความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ประกอบกับชาวจีนในมาลายาคิดว่าอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เหมาะสมที่สุดที่สามารถนำมาใช้ต่อต้านการกดขี่ของนายทุนตะวันตก
แนวคิดลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แพร่ขยายเข้ามายังชุมชนชาวจีนในมลายูโดยผ่านตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนก๊กมินตั๋ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2467[2] ซึ่งเข้ามาเผยแพร่อุดมการณ์ปฏิวัติและปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่อ ความรู้สึกชาตินิยมในหมู่คนจีนในมลายา ทั้งในหมู่นักศึกษาตามโรงเรียนจีน สมาคมแซ่ต่างๆ และกรรมกรในองค์กร ตลอดจนคนรับใช้ตามบ้านเรือนหรือกุลีสวนยาง นำไปสู่การก่อตั้งสมาคมชาวจีนโพ้นทะเลและก่อตั้งสหภาพแรงงานนานาชาติ จนกระทั่งใน พ.ศ. 2469 จึงมีการจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า “สหภาพแรงงานนานยาง” (Nan yang General Labor Union - NGLU) ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลและการกำกับควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน[3] ต่อมาใน พ.ศ. 2470 พรรคคอมมิวนิสต์จีนพิจารณาเห็นว่าเพื่อให้สามารถดำเนินงานและกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและคลอบคลุม จึงได้จัดส่งตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกจำนวนหนึ่งเข้ามาในมลายาเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ จัดหาและขยายสมาชิกในหมู่คนจีน พร้อมกับจัดตั้งองค์กรใหม่มีชื่อว่า “พรรคคอมมิวนิสต์นานยางแห่งมลายา” (Nan yang Communist Party of Malaya – NCPM)[4]
ใน พ.ศ. 2473 ได้มีการประชุมให้ปรับองค์กรใหม่เพื่อความเป็นปึกแผ่นของพรรค และเพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลกิจการของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการยุบรวมสหภาพแรงงานนานยางและพรรคคอมมิวนิสต์นานยางแห่งมลายาเป็นองค์กรเดียว มีชื่อว่า “พรรคคอมมิวนิสต์มลายา” (Malaya Communist Party - MCP) และมีนโยบายที่สำคัญว่า จะใช้กรรมกรเป็นกลจักรขับเคลื่อนสำคัญในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายและผลประโยชน์ของพรรคฯ ด้วยเหตุนี้ จึงจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า “สหภาพกรรมกรทั่วไปแห่งมาลายา” (Malaya General Labor Union - MGLU) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการปฏิบัติการต่างๆ ควบคู่กับการดำเนินกิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา[5]
การดำเนินกิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาในการเคลื่อนไหวระยะแรกได้รับการสนับสนุนจากชาวจีนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งกรรมกร พ่อค้า และสมาคมชาวจีนอื่นๆ เช่น สมาคมชาวจีนกวางตุ้งสมาคมชาวจีนแคะ สมาคมชาวจีนไหหลำ เป็นต้น แต่ในแง่ของชนชาติอื่นกลับไม่ได้รับการตอบสนองมากนัก ด้วยเหตุนี้ ฐานมวลชนของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาจึงจำกัดอยู่เฉพาะคนจีนและเปรียบเสมือนพรรคของชาวจีนเท่านั้น[6] ในขณะที่การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลต่อความสงบเรียบร้อยเป็นไปตามแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์สากลที่มอสโกเป็นหลัก เช่น การประท้วงนัดหยุดงานและการก่อวินาศกรรม เป็นต้น [7]
บทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาปรากฏเด่นชัดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อได้ให้ร่วมมือกับอังกฤษในการต่อต้านญี่ปุ่น และจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า “กองทัพมาลายาต่อต้านญี่ปุ่น (The Malayan People’s Anti-Japanese Army -MPALA)[8] เพื่อทำหน้าที่ต่อต้านและทำลายล้างญี่ปุ่น และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 ด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผลให้อังกฤษกลับมามีอิทธิเหนือมลายูตามเดิมพร้อมกับได้ให้การรับรองว่าพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาเป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องกฎหมาย[9] แต่เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์มลายาไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐบาลสหพันธมลายากำหนด เช่น การไม่ยอมยุติการแทรกซึมระบบคอมมิวนิสต์และไม่ยอมคืนอาวุธทั้งหมดให้กับอังกฤษ [10] ด้วยเหตุนี้ พรรคคอมมิวนิสต์มลายาจึงเกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลอังกฤษและดำเนินนโยบายต่อต้านอังกฤษ พร้อมกับการออกแถลงการณ์ รณรงค์ ต่อต้านอังกฤษด้วยวิธีการก่อการร้ายและวิธีการรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อจีนเป็ง (Chin Peng) เข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เมื่อ พ.ศ. 2490 ได้อาศัยแนวทางการต่อสู้ตามแนวทางของเหมา เจ๋อ ตุง ที่เชื่อว่าอำนาจเติบใหญ่จากปากกระบอกปืนในลักษณะของสงครามแบบกองโจร[11] การดำเนินการเพื่อต่อต้านอังกฤษในลักษณะต่างๆ เช่น การโจมตีและสังหารเจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษ การประท้วงนัดหยุดงาน การคุกคามผู้ประกอบอาชีพและเจ้าของกิจการชาวต่างประเทศ เป็นต้น[12] การดำเนินการของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาในลักษณะดังกล่าวได้นำไปสู่การประกาศภาวะฉุกเฉิน (Emergency) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2491 ในเขตภาคกลางกับภาคตะวันตก และต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 ได้ประกาศขยายการบังคับใช้ภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธซึ่งแปรสภาพจากกองกำลังที่เคยปฏิบัติการเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นกองกำลังเพื่อต่อต้านอังกฤษมีชื่อเรียกว่า “กองทัพประชาชนมลายาต่อต้านจักรภพอังกฤษ” และใน พ.ศ. 2492 ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองจึงได้ยุบเลิกและเรียกชื่อกองกำลังดังกล่าวเป็น “กองทัพปลดแอกประชาชาติมาลายา” (Malayan National Liberation Army - MNLA)
การประกาศภาวะฉุกเฉินและการปรามปรามพรรคคอมมิวนิสต์มาลายที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2491 มีผลให้พรรคคอมมิวนิสต์มลายาโต้ตอบด้วยการขยายการเคลื่อนไหวที่ใช้กำลังและวิธีการที่รุนแรง พร้อมกับการจัดแบ่งกองกำลังและเขตความรับผิดชอบเพื่อปฏิบัติการในพื้นที่ต่างๆ ออกเป็น 12 กรม[13] คือ
กรมที่ 1 เคลื่อนไหวและปฏิบัติการในพื้นที่รัฐสลังงอ
กรมที่ 2 เคลื่อนไหวและปฏิบัติการในพื้นที่รัฐเนกริ เซมบัลัน
กรมที่ 3 เคลื่อนไหวและปฏิบัติการในพื้นที่ทางตอนของรัฐยะโฮร์
กรมที่ 4 เคลื่อนไหวและปฏิบัติการในพื้นที่ทางใต้ของรัฐยะโฮร์
กรมที่ 5 เคลื่อนไหวและปฏิบัติการในพื้นที่รัฐเปรัค
กรมที่ 6 เคลื่อนไหวและปฏิบัติการในพื้นที่ทางตะวันตกของรัฐปาหัง
กรมที่ 7 เคลื่อนไหวและปฏิบัติการในพื้นที่ทางตะวันออกของรัฐปาหัง
กรมที่ 8 เคลื่อนไหวและปฏิบัติการในพื้นที่รัฐเกดะห์
กรมที่ 9 เคลื่อนไหวและปฏิบัติการในพื้นที่รัฐตรังกานู
กรมที่ 10 เคลื่อนไหวและปฏิบัติการในพื้นที่รัฐปาหัง
กรมที่ 11 เคลื่อนไหวและปฏิบัติการในพื้นที่รัฐกลันตัน
กรมที่ 12 เคลื่อนไหวและปฏิบัติการในพื้นที่ระหว่างพื้นที่รัฐกลันตันกับรัฐเปรัค
ผลจากการประกาศภาวะฉุกเฉิน (พ.ศ. 2491 - 2503) และการดำเนินการปรามปรามของรัฐบาลสหพันธ์มลายา ส่งผลให้สมาชิกและแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาสูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมาก รายละเอียดดังตารางต่อไปนี้

ผลจากการปราบปรามและการดำเนินนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพของรัฐบาลสหพันธรัฐ มลายาส่งผลให้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาลดลงตามลำดับ จนนำไปสู่ “การเจรจาบาลิ่ง” (Baling Talk) เมื่อวันที่ 28 – 29 ธันวาคม 2498 ระหว่างตนกูอับดุลราห์หมาน นายกรัฐมนตรี กับ จีนเป็ง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เพื่อให้พรรคคอมมิวนิสต์มลายายุติการก่อร้ายและยุติความรุนแรง ซึ่งผลการเจรจาประสบความล้มเหลวเนื่องจากรัฐบาลปฏิเสธการรับรองให้พรรคคอมมิวนิสต์มลายาเป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย[15] และภายหลัง“การเจรจาบาลิ่ง” พรรคคอมมิวนิสต์มลายายืนยันการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ แต่เนื่องจากการปราบปรามอย่างหนักและต่อเนื่อง ส่งผลให้กองกำลังของกองทัพปลดแอกประชาชาติมาลายาอีกจำนวนหนึ่งต้องถอยร่นและหลบหนีการปราบปรามและเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการตามแนวชายแดนประเทศไทย – มาเลเซีย[16] ขณะเดียวกัน ภายหลังมลายาได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ฐานะของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาตกอยู่ในฐานะคลอนแคลน กองกำลังของกองทัพปลดแอกประชาชาติมลายาเคยขยายกำลังสูงสุดถึงจำนวน 12,000 คน ใน พ.ศ. 2496 เหลือเพียง 1,800 คน[17] จนในที่สุดรัฐบาลจึงยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2503
การฐานปฏิบัติการของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาในประเทศไทยและผลที่มีต่อประเทศไทย
การปราบปรามอย่างหนักของรัฐบาลที่เกิดขึ้นในช่วงการประกาศภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. 2491 - 2503 ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์มลายาหรือโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาตกอยู่ในฐานะของฝ่ายเสียเปรียบ จนต้องถอยร่นและหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย ตามหลักฐานที่ปรากฏโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาบางส่วนปรากฏตัวครั้งแรกในประเทศไทยเขตพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อ พ.ศ. 2492 [18] ประกอบกับกำลังพลที่ลดน้อยลงจึงจำเป็นต้องปรับกองกำลังและจัดการบริหารรูปแบบขององค์กรพร้อมแบ่งเขตความรับผิดชอบใหม่ดังนี้ [19]
คณะกรรมการพรรค ประกอบด้วยสมาชิก 10 - 13 คน ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และประกาศขยายเขตปฏิบัติการ ถือเป็นหน่วยงานสูงสุดของพรรคฯ
คณะกรมการเมือง ประกอบด้วยสมาชิก 7 – 9 คน มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานตามนโยบายของพรรค ถือเป็นหัวใจของพรรคในการปฏิบัติงาน
สำนักงานเลขาธิการ มีเลขาธิการพรรคเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของพรรคมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการพรรค คือ จีนเป๋ง (CHAN PING หรือ CH’IN P’ENG ทำหน้าที่เลขาธิการพรรค
กองกำลังติดอาวุธ จากเดิมมี 12 กรมและปฏิบัติการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งประเทศยุบเหลือเพียง 3 กรม ประกอบด้วย กรมที่ 8 กรมที่ 10 และ กรมที่ 12
การจัดรูปแบบองค์กรข้างต้น แบ่งลักษณะการปฏิบัติออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนการบังคับบัญชา มีสำนักงานเลขาธิการเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด กับ ส่วนการปฏิบัติการกองกำลังรบ มีกองทัพปลดแอกประชาชาติมลายาแบ่งออกเป็น 3 กรม คือ กรมที่ 8 กรมที่ 10 และ กรมที่ 12 เป็นหน่วยปฏิบัติการทางการทหาร
สำหรับ ส่วนการปฏิบัติการกองกำลังรบ หรือ กองทัพปลดแอกประชาชาติมาลายาที่ถอยร่นหลบหนีการปราบปรามและเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการตามแนวชายแดนประเทศไทย – มาเลเซีย ได้จัดแบ่งเขตพื้นที่ความรับผิดชอบและกองกำลังเพื่อปฏิบัติการในพื้นที่ต่างๆ คือ [20]
1. กรมที่ 8 ใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการผสมรัฐเกดะห์ – เปอร์ลิส” ปฏิบัติงานอยู่ภายใต้การอำนวยการของคณะกรรมการผสมรัฐเกดะห์ – ปีนัง ตั้งฐานปฏิบัติการในพื้นที่อำเภอสะเดา อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการและเขตพื้นที่ความรับผิดชอบในรัฐปะลิสและรัฐเกดะห์ (ไทรบุรี) กองกำลังหลักของกรมนี้ประกอบด้วยชนเชื้อสายจีนประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นเป็นชนมุสลิมและอื่นๆ โดยภายใต้การบังคับบัญชาของนายอีเจียง แซ่อึ้ง มีกองกำลังประมาณ 500 – 600 คน
2. กรมที่ 10 ใช้ชื่อว่า “หน่วยปฏิบัติงานกลางชาวมาลายา” ปฏิบัติงานอยู่ภายใต้การอำนวยการของหน่วยปฏิบัติงานกลางชาวมาเลย์ ตั้งฐานปฏิบัติการในพื้นที่อำเภอแว้ง อำเภอสุคีริน อำเภอรือเสาะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการและเขตพื้นที่ความรับผิดชอบในรัฐกลันตัน กองกำลังหลักของกรมนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นชนเชื้อสายจีนและอื่นๆ โดยภายใต้การบังคับบัญชาของนายอับดุลลาซีดี มีกองกำลังประมาณ 350 คน
3. กรมที่ 12 ปฏิบัติงานอยู่ภายใต้การอำนวยการของคณะกรรมการชายแดนรัฐกลันตัน - เปรัค ตั้งฐานปฏิบัติการในพื้นที่อำเภอเบตง อำเภอยะหา และอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการและเขตพื้นที่ความรับผิดชอบตอนกลางของรัฐเกดะห์ กลันตันและตอนเหนือของรัฐเปรัค กองกำลังหลักของกรมนี้ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยชนเชื้อสายจีน ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นคนมุสลิมและอื่นๆ โดยภายใต้การบังคับบัญชาของนายอาซี หรือ อาเซอะ มีกองกำลังประมาณ 650 คน
การจัดองค์กร และการเคลื่อนไหวปฏิบัติการทั้งทางการเมืองและกำลังทหารของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายามีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและขยายอิทธิพลในการควบคุมสร้างฐานสัมพันธ์กับมวลชนที่ยังคงเหลือจากการปราบปรามและการข่มขู่คุกคามฝ่ายตรงข้าม [21] ตามแนวทางที่ว่า “กองกำลังคือปลา ประชาเปรียบเสมือนน้ำ”[22] ด้วยเหตุนี้ กองกำลังโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาจึงได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติการและพื้นที่อิทธิพลให้การสนับสนุน โดยใช้กลวิธีการโฆษณาชวนเชื่อกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน กลุ่มชาวไทยมุสลิมและกลุ่มชาวไทยพุทธ พร้อมกับจัดตั้งองค์กรแนวร่วมเพื่อทำหน้าที่ในการปฏิบัติงานและสนับสนุนการทำงานของกรมที่ 8 กรมที่ 10 และ กรมที่ 12 ตามแนวทางที่สอดคล้องกับแนวทางหลักของพรรคคอมมิวนิสต์ องค์กรแนวร่วมที่สำคัญ ได้แก่ สันนิบาติเยาวชนคอมมิวนิสต์มลายา (สยคม./Malayan Communist Youth League - MCYL) สันนิบาติเยาวชนประชาธิปไตยใหม่มลายา (สยคม.ปม./Malayan New Democratic Youth League - MNDYL) พรรคภราดรอิสลามมิกชน (Party Persaudaraan Lslam - PAPERI) องค์กรเยาวชนพิทักษ์ สมาคมหมู่บ้าน สหพันธ์กรรมกรสวนยาง สหพันธ์กรรมกรเหมืองแร่ เป็นต้น[23]
อย่างไรก็ตาม ช่วงประมาณ พ.ศ. 2513 ได้เกิดความขัดแย้งทางอุดมการณ์และแนวทางในการดำเนินงานภายในพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของค่ายโลกคอมมิวนิสต์ที่แตกออกเป็น 2 สาย คือ สายโซเวียดรัสเซียผู้ฝักใฝ่ในลัทธิมาร์ก – เลนิน กับ สายจีนผู้ฝักใฝ่ในแนวทางของเหมา เจ๋อ ตุง ลักษณะดังกล่าว มีผลให้โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาแตกออกเป็น 2 กลุ่มด้วย [24]กล่าวคือ
1) กลุ่มเก่า ยึดแนวทางของลัทธิมาร์ก – เลนิน ประกอบด้วยสมาชิกและกองกำลังของกรมที่ 8 และ กรมที่ 12 เขต 2 ซึ่งเคลื่อนไหวและแบ่งพื้นที่ปฏิบัติการดังนี้
- 1.1) กรมที่ 8 เคลื่อนไหวในพื้นที่และปฏิบัติการครอมพรมแดนไทย – มาเลเซียในบริเวณอำเภอนาทวี อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล
- 1.2) กรมที่ 12 เขต 2 เคลื่อนไหวในพื้นที่และปฏิบัติการครอมพรมแดนไทย – มาเลเซียในพื้นที่ทางทิศตะวันตกถนนสายยะลา – เบตง ตั้งแต่อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และตลอดแนวชายแดนติดกับรัฐเกดะห์
2) กลุ่มใหม่ ยึดแนวทางของเหมา เจ๋อ ตุง มีกองกำลังประมาณ 850 – 900 คน ประกอบด้วยสมาชิกและกองกำลังของกรมที่ 10 และ กรมที่ 12 ซึ่งเคลื่อนไหวและแบ่งพื้นที่ปฏิบัติการดังนี้
- 2.1) บก. กองพิเศษเขตผสม เคลื่อนไหวในพื้นที่และปฏิบัติการครอมพรมแดนไทย – มาเลเซียในพื้นที่บริเวณอำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต จังหวัดยะลา และรอยต่อกำอำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
- 2.2) กรมที่ 10 เคลื่อนไหวในพื้นที่และปฏิบัติการครอมพรมแดนไทย – มาเลเซียในบริเวณอำเภอศรีสาคร อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
- 2.3) กรมที่ 12 เขต 1 เคลื่อนไหวในพื้นที่และปฏิบัติการครอมพรมแดนไทย – มาเลเซียในพื้นที่ตำบลธารน้ำทิพย์ ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
- 2.4) กรมที่ 12 เขต 4 หรือ เขตพิเศษ เคลื่อนไหวในพื้นที่และปฏิบัติการครอมพรมแดนไทย – มาเลเซียในพื้นที่อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
การเคลื่อนไหวและปฏิบัติการทั้งทางการเมืองโดยการแทรกซึมเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าไปในกลุ่มกรรมกรสวยยางที่เป็นคนไทยและเชื้อสายจีน[25] และกำลังทหารยึดที่ดิน ข่มขู่ วางระเบิด และซุ้มโจมตี[26] ของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ตลอดจนสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)[27] และความช่วยเหลือซึ่งกันและกันกับขบวนการโจรแบ่งแยกดินแดน[28] ได้ก่อให้เกิดผลและผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านต่างๆ ดังนี้
1. ด้านการเมือง การปกครอง และความมั่นของของชาติ
2. ด้านเศรษฐกิจ
3. ด้านสังคมและวัฒนธรรม
4. ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ผลที่มีต่อประเทศไทยด้านการเมือง การปกครอง และความมั่นคงของชาติ
การปฏิบัติการของขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยได้ส่งผลและผลกระทบต่อประเทศไทย ด้านการเมือง การปกครอง และความมั่นคงของชาติ ได้แก่
1. การปฏิบัติการทางการเมือง โดยทำการโฆษณาเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์มีการเปิดโรงเรียนการเมือง (Party School) ขึ้นในอำเภอธารโต จังหวัดยะลา ยุยงให้เกิดความเข้าใจผิดต่อระบบการปกครองของไทย โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลกดขี่ข่มเหงคนไทยเชื้อสายจีน และคนจีน นอกจากนั้นยังมีการโฆษณาชวนเชื่อว่าตนเองเป็นพวกเหมาเซตุง ต้องการยึดครองประเทศไทย พม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย โดยให้คำมั่นสัญญาว่าถ้าหากทำสำเร็จคนไทยเชื้อสายจีน, คนจีน จะได้รับความเป็นธรรม และไม่ต้องเป็นคนต่างด้าวอีกต่อไป ขณะเดียวกันทำการชวนเชื่อโดยเน้นว่าไทยมุสลิมเป็นมลายู พวกโจรจีนกำลังดำเนินงานเพื่อปลดปล่อย ลักษณะเหล่านี้นับว่าเป็นการช่วยกระตุ้นความแตกต่างที่มีอยู่ในจังหวัดชายแดนใต้ให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาให้กับฝ่ายปกครองของรัฐบาลไทย[29]
2. การมีสัมพันธ์ไมตรีกับกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ในภาคใต้ เช่น กลุ่มผู้ก่อการร้าย กลุ่มขบวนการโจรแบ่งแยกดินแดน และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อย่างเช่น กรณีมีความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กล่าวคือ กรรมการในระดับสูงของขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ได้ช่วยโฆษณาชวนเชื่อกิจกรรมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และประกาศชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในการใช้กำลังที่มีต่อรัฐบาลไทย ส่วนระดับผู้ปฏิบัติงานนั้นโจรจีนคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ซึ่งเป็นกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยได้ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการเดินทาง ที่พักพิง รวมถึงให้ความช่วยเลหือในด้านเสบียงอาหารแก่กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย และต่อมากำลังทั้งสองได้ตกลงแบ่งเขตปฏิบัติการ โดยฝ่ายโจรจีนคอมมิวนิสต์ได้ดำเนินการเคลื่อนไหวในหมู่ชาวไทยพุทธ ตลอดจนได้จัดตั้งสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์มลายา (สยคม.) ขึ้น โดยให้สันนิบาตเยาวชนมาลายาเป็นองค์การเยาวชนทางทหารภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยตรง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ใช้สมาชิกสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ไปฝึกอบรมและปลูกฝังอุดมการณ์ปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ให้แก่เยาวชนมุสลิมและเยาวชนเชื้อสายจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้การเคลื่อนไหวของขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์มีฐานรองรับและขยายตัวได้อย่างมั่นคง หรือการมีความสัมพันธ์กับขบวนการโจรก่อการร้าย โดยการช่วยเหลือกันและกัน เช่น ขบวนการโจรก่อการร้ายจะได้รับการฝึกอาวุธจากโจรจีนคอมมิวนิสต์ และโจรจีนคอมมิวนิสต์คอมมิวนิสต์ก็จะได้รับความช่วยเหลือด้านการข่าวเหล่านี้ เป็นต้น [30]
ผลที่มีต่อประเทศไทยด้านเศรษฐกิจ
การเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาในประเทศไทยส่งผลให้ได้รับเงินสนับสนุนจากจีนและรัสเซียน้อยลง ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานต่อไปมีประสิทธิภาพ โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาจึงหารายได้ด้วยการเรียกเก็บภาษี (เถื่อน) และเรียกเก็บค่าคุ้มครองจากราษฎรไทยในพื้นที่ลักษณะต่างๆ เป็นต้นว่า [31]
1. ภาษีสวนยางรายเดือน จัดเก็บเป็นอัตราเดือนจากเจ้าของสวนยางต่อสวนยางพันธุ์เก่า เรียกเก็บเงินเอเคอร์ (2.5 ไร่) ละ 2.50 บาทต่อเดือน สวนยางพันธุ์ใหม่เรียกเก็บเอเคอร์ละ 5 บาทต่อเดือน
2. ภาษีสวนยางรายปี จัดเก็บเงินพิเศษจากเจ้าของสวนยางซ้ำอีกปีละ 2 ครั้ง ในอัตราส่วน 1 ครั้ง ต่อรายได้ที่เจ้าของสวนยางพึงได้รับจากสวนยางของตน 1 วัน
3. ภาษีซื้อขายสวนยาง จัดเก็บจากเจ้าของเดิม ในอัตรา 5 เปอร์เซ็นต์ของราคาขาย
4. ภาษีจากทุนสงเคราะห์สวนยาง จัดเก็บจากเจ้าของสวนยางที่จะปรับปรุงสวนยางเพราะได้รับทุนสงเคราะห์จากรัฐบาล เรียกเก็บอัตราไร่ละ 40 บาท และเรียกเก็บจากผู้รับเหมาโค่นต้นยางในสวนยางที่ได้รับทุนสงเคราะห์ โดยเรียกเก็บในอัตราส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาที่รับเหมาะ
5. เงินบริจาคพิเศษ จัดเก็บจากบรรดาครอบครัวในชนบทสวนยาง จัดเก็บจากบรรดาผู้ประกอบธุรกิจการค้าในตัวเมือง และจัดเก็บจากมวลชนในรูปเงินอุทิศรายได้จะเรียกจัดเก็บในวันสำคัญต่างๆ ที่ขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์กำหนดขึ้น
6. เงินค่าคุ้มครอง จัดเก็บจากบรรดาผู้ประกอบการค้าสินค้าของหนีภาษีบริเวณพรมแดน
นอกจากเรียกเก็บจากประชาชนในพื้นที่อิทธิพลแล้วนั้น ยังมีการเรียกเก็บค่าคุ้มครองและภาษีเถื่อนถึงหาดใหญ่ – กรุงเทพฯ ปีหนึ่งเก็บภาษีเถื่อนคิดเป็นเงินประมาณร้อยล้านบาท
เมื่อดูจากรายการเหล่านี้จะเห็นได้ว่าประชาชนในพื้นที่เสียรายจ่ายโดยเปล่าประโยชน์ และจากการเรียกเก็บค่าคุ้มครองและภาษีเถื่อนเหล่านี้ทำให้ไม่มีการลงทุนธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปพัฒนาทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถเข้าไปใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ
ส่วนของการปราบปรามรัฐบาลต้องเสียงงบประมาณในการปราบปรามเป็นจำนวนมาก อีกทรัพย์สินของประชาชนที่เสียหายจากการปราบปรามตลอดจนรายได้ที่ต้องสูญเสียไปในช่วงการประกาศห้ามออกนอกบ้านในตอนกลางคืน (เคอร์ฟิวส์) ขณะปฏิบัติการทำรายได้ลดลงเพราะรายได้ส่วนมากมาจากการกรีดยาง เหล่านี้เป็นต้น
ผลที่มีต่อประเทศไทยด้านสังคม
จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีสภาพทางสังคมมีความหลากหลายในด้านต่างๆ เช่น ด้านเชื้อชาติ ผู้อาศัยในจังหวัดชายแดนมีทั้งเชื้อสายจีน ไทยมุสลิม ไทยพุทธ ด้านศาสนาขนบธรรมเนียมประเพณี ด้านภาษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการพูดภาษามาลายาท้องถิ่น เป็นต้น จากความแตกต่างเหล่านี้ ทำให้ขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ใช้มาเป็นข้ออ้างยุยงส่งเสริมให้เกิดความสำนึกในเรื่องความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติโฆษณาชักจูงให้ชาวไทยมุสลิมหลงเข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นคนมลายู[32] จากการทำการโฆษณาชวนเชื่อของขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์โดยนำความแตกต่างทางด้านศาสนา และภาษามาเป็นเงื่อนไข บางครั้งจึงทำให้เกิดความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจต่อกันในวงกว้างได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการกล่าวถึงหรือมีการกระทำตอบโต้กันนำไปสู่ความแตกแยกทางสังคมในที่สุด[33]
การเข้ามาตั้งฐานและปฏิบัติการในประเทศไทยของขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ได้ส่งผลกระทบทางสังคมในเรื่องความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ โดยการปฏิบัติการทางการทหารใช้กำลังเข้ายึดที่ดิน และขับไล่ราษฎรที่ไม่ให้ความร่วมมือออกจากพื้นที่หรือการข่มขู่ ขูดรีด บีบบังคับเอาเสบียงอาหารและเงินทอง ปล้น ฆ่าผู้ที่ขัดขืนต่อต้าน เช่น เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2522 นายเอี่ยวเจียง แซ่หลี หรือประสิทธิ์ เด่นศรีเสรีกุล ตาย เนื่องจากถูกขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์เรียกค่าไถ่ กรอกปากด้วยน้ำกรด เนื่องจากแค้นที่ไม่ยอมจ่ายค่าคุ้มครอง โดยอ้างว่าเป็นการพิจารณาโทษ เป็นต้น[34]
นอกจากนี้แล้วการสร้างอิทธิพลของขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ทำให้อำนาจรัฐไม่สามารถเข้าไปพัฒนาด้านสาธารณูปโภค ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ เช่น การสร้างถนน ไฟฟ้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิต เมื่อไม่มีการพัฒนาก็ยิ่งทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างชุมชน นำไปสู่ความแตกแยกของสังคมระหว่างชุมชนที่ได้รับการพัฒนากับไม่ได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะหากเป็นชุมชนชาวไทยพุทธกับชาวไทยมุสลิม ก็จะทำให้เกิดความแตกต่างและแตกแยกยิ่งขึ้น
ผลที่มีต่อประเทศไทยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
หลังจากสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาหรือโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาได้หลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลมาเลเซียและได้ตั้งฐานปฏิบัติการในประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย กล่าวคือ เกิดปัญหาจากความหวาดระแวงระหว่างกันอันเนื่องมาจากการที่ทั้งไทยและมาเลเซียต่างพยายามรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ทำให้การเจรจาแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ระหว่างกันไม่สามารถลุล่วงไปได้ ความหวาดระแวงที่เกิดจากโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายามาเลเซียหวาดระแวงว่ารัฐบาลไทยให้การสนับสนุนอย่างลับๆ แก่โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา พร้อมกับตั้งฐานที่มั่นในประเทศไทยเพื่อให้ปฏิบัติการในมาเลเซีย และเมื่อโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาเข้ามอบตัวสมาชิกจำนวนหนึ่งยังคงอยู่ในประเทศไทย[35]
นโยบายและการดำเนินการของรัฐบาลไทยต่อโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา
การเคลื่อนไหวปฏิบัติการและการตั้งฐานที่มั่นของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ก่อให้เกิดผลและผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเมือง การปกครอง และความมั่นของของชาติ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายในการป้องกันและปราบปราม ด้วยการทำความตกลงร่วมมือกับมาเลเซีย นับตั้งแต่การประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อ พ.ศ. 2491 ได้จัดตั้ง “กองปราบปรามผสม” มีกรรมการ 2 คณะ คือ คณะกรรมการรักษาการณ์กลาง และคณะกรรมการรักษาการณ์ทักษิณ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย[36] ต่อจากนั้นได้ทำความตกลงร่วมมือกันอีกหลายครั้งและปรากฏในรูปของการทำความตกลงร่วมมือในการปฏิบัติการร่วมตามแนวพรมแดนไทย – มาเลเซีย สรุปได้ดังนี้ [37]
ระยะที่ 1 พ.ศ. 2492 – 2495 เป็นการทำความตกลงรวมมือในระดับผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 9 ที่ได้รับมอบอำนาจจากกรมตำรวจ กับผู้บังคับการตำรวจมลายูสาระสำคัญของข้อตกลง คือ ต่างฝ่ายต่างทำการปราบปรามในเขตแดนของตน แต่ให้มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารซึ่งกันและกัน การปราบปรามได้ผลดีอยู่ระยะหนึ่งแต่เมื่อโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาคุ้นเคยกับภูมิประเทศตามพรมแดนมากขึ้นการปราบปรามจึงไม่ค่อยได้ผล
ระยะที่ 2 พ.ศ. 2496 เป็นการตกลงระดับกรมตำรวจมาเลเซียกับกรมตำรวจไทย เพื่อปรับปรุงการหาข่าวเกี่ยวกับโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น โดยมีการจัดตั้งหน่วยสันติบาลผสมขึ้นที่จังหวัดสงขลา
ระยะที่ 3 พ.ศ. 2498 เป็นการตกลงในระดับรัฐบาลเพื่อดำเนินการปราบปรามร่วมกัน เนื่องจากโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาตามบริเวณแนวพรมแดนได้ทวีการคุกคามรุนแรงยิ่งขึ้น โดยฝ่ายไทยตั้งกองบังคับการไว้ที่อำเภอเบตงและฝ่ายมาเลเซียตั้งกองบังคับการไว้ที่โกระ
ระยะที่ 4 พ.ศ. 2502 รัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียได้มีการเจรจาการทางการทูตพิจารณาจัดตั้งหน่วยปราบปรามร่วมขึ้นใหม่โดยฝ่ายไทยได้จัดตั้ง กองอำนวยการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ภาคใต้ขึ้น และแต่งตั้งกรรมการขึ้น 2 ระดับ เพื่อพิจารณาปัญหาร่วมกันกับฝ่ายมาเลเซีย คือ คณะกรรมการฝ่ายอำนวยการชั้นสูง มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกับคณะกรรมการปฏิบัติการที่ชายแดน มีรองผู้บัญชาการตำรวจภูธร (ฝ่ายชายแดน) เป็นประธาน
ระยะที่ 5 พ.ศ. 2506 การดำเนินการปราบปรามในความรับผิดชอบของกองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง) หลังจากรัฐบาลไทยได้สั่งยุบเลิก กองอำนวยการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ภาคใต้ และโอนความรับผิดชอบในการปราบปรามขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ให้แก่กองอำนวยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง) เมื่อ 1 ตุลาคม 2506 การรับโอนงานปราบปรามครั้งนี้ กรป.กลาง ได้พิจารณาเห็นว่าควรจะเน้นหนักในการป้องกันมากกว่าการปราบปราม โดยดำเนินการให้ราษฎรมีความรู้สึกซาบซึ้งในเจตนาดีของรัฐบาลและพยายามช่วงชิงมวลชนจากฝ่ายโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาให้ได้ ส่วนการปราบปรามให้ใช้เป็นวิธีสุดท้าย
จากแนวคิดดังกล่าวรัฐบาลไทยจึงได้ขอยกเลิกความตกลงฉบับเดิมทั้งหมด และได้ทำความตกลงใหม่กับรัฐบาลมาเลเซียอีก 3 ครั้ง [38] คือ
1) ความตกลงเมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ. 2508 ได้กำหนดกรรมการขึ้น 2 คณะ คือ คณะกรรมการชายแดนทั่วไป และ คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค
2) ความตกลงฉบับที่แก้ไขใหม่เมื่อ 7 มีนาคม พ.ศ. 2513
3) ความตกลงฉบับแก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2520 โดยมีสาระสำคัญ คือ การร่วมมือกันปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา
หลังจากที่รัฐบาลไทยและมาเลเซียได้ลงนามในความร่วมมือในการปฏิบัติการร่วมตามแนวพรมแดนไทย – มาเลเซีย เป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้ดำเนินการปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา โดยใช้กำลังทหารระหว่างไทย – มาเลเซีย พอสรุปได้ดังนี้
ในช่วง พ.ศ. 2510 – 2519 มีการปฏิบัติการที่สำคัญ 4 ครั้ง คือ ยุทธการสวัสดี, ยุทธการซาลาม, ยุทธการสวัสดี – ซาลาม และยุทธการไชโย ทั้งหมดมีพื้นที่ปฏิบัติการในประเทศไทย บริเวณอำเภอเบตง อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ในพื้นที่ปฏิบัติการของ จคม. กรมที่ 12 อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ในพื้นที่ปฏิบัติการของ จคม. กรมที่ 8 และอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ในพื้นที่ปฏิบัติการของ จคม. กรมที่ 10[39]
ในสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีปฏิบัติการร่วมที่สำคัญ 4 ครั้ง[40] คือ
ครั้งแรก แผนดาวใหญ่ มุสน่าห์ 1 เริ่มกลางเดือน มกราคม ถึง 5 กุมภาพันธ์ 2520 เป็นปฏิบัติการในการแถบอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
ครั้งที่สอง แผนดาวใหญ่มุสน่าห์ 2 เริ่ม 15 มีนาคม ถึง 20 เมษายน 2520 เป็นปฏิบัติการในแถบอำเภอสะเดา อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา
ครั้งที่สาม แผนซาฮาย่า เบน่า 1 แสงอาญาสิทธิ์สู่เบตง) เริ่มวันที่ 4 กรกฎาคม ถึง 10 สิงหาคม 2520 เป็นเวลา 31 วัน เป็นปฏิบัติการในแถบอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
ครั้งสุดท้าย แผนซาฮ่ายา เบน่า 2 (แสงอาญาสิทธิ์สู่เบตง) เริ่ม 7 – 28 กรกฎาคม 2520 ในแถบอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
ในสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีการปฏิบัติร่วม[41] คือ
ครั้งแรก แผนรายวัน ใช้เวลา 1 สัปดาห์ ในเดือน มกราคม 2521 โดยมุ่งพัฒนามาตรฐานของกระบวนการปฏิวัติการสำหรับกองทัพทั้งสองประเทศในการติดต่อประสานงานร่วม ทั้งการสื่อสารการใช้ภาษา
ครั้งที่สอง แผนซาลามัติ – สวัสดี 1 เริ่ม 24 เมษายน ถึง 30 กันยายน 2521 เป็นปฏิบัติการในเขตอำเภอเบตง กิ่งอำเภอธารโต และอำเภอบันนังสตาร์ จังหวัดยะลา
ครั้งที่สาม แผนซาลามัติ – สวัสดี 2 หรือยุทธการ 791 เริ่ม 1 ตุลาคม 2521 ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2522 พื้นที่ปฏิบัติการเช่นเดียวกับแผนยุทธการซาละมัต – สวัสดี
ครั้งที่สี่ คือ ยุทธการ 792 อัลฟ่า เริ่มวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2522 โดยมุ่งหมายถล่มโจรจีนคอมมิวนิสต์ กรมที่ 8 ที่เขาน้ำค้าง ตำบลสำนักแต้ว อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
นอกจากนั้นได้มีปฏิบัติการอีกหลายครั้ง เช่น ยุทธการ 792 บราโว่, ยุทธการ 792 ซาร์ลี, ยุทธการ 801 อัลฟ่า เหล่านี้ เป็นต้น
ในพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/ 2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ หรือ นโยบายการเมืองนำการทหาร ที่รู้จักกันในนาม “นโยบาย 66/23” พร้อมกับจัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 43 (พตท. 43)[42] เพื่อทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายทุกรูปแบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการปราบปรามโจรจีนคอมมิวนิสต์ด้วย
จากการดำเนินการปราบปรามขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ทั้งทางการเมืองการทหารอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ดำเนินนโยบาย 66/2523 ยุคพลโทหาญ ลีลานนท์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ใช้นโยบายใต้ร่มเย็นกดดันโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาปฏิบัติการจิตวิทยาและการทหารตามแผนยุทธการใต้ร่มเย็น 11 และ ยุทธการใต้ร่มเย็น 15[43] จนสามารถยึดกองกำลังของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาได้หลายพื้นที่ ต่อมาในสมัยพลโทวันชัย จิตต์จำนง และพลโทวิศิษย์ อาจคุ้มวงษ์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 และพลตรีกิตติ รัตนฉายา (ยศขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังผสมเฉพาะกิจฝ่ายไทยได้มีการเจรจากับโจรจีนคอมมิวนิสต์เพื่อยุติปัญหาในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
การดำเนินตามแนวนโยบาย 66/2523 และนโยบายใต้ร่มเย็นของกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 ภายใต้การบังคับบัญชากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่งผลให้ขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ กรมที่ 8 และกรมที่ 10 เข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เมื่อ 1 มีนาคม 2530 และ 28 เมษายน 2530[44] หลังจากนั้นได้มีการเจรจากับผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อยุติปัญหาอีก 5 ครั้งที่จังหวัดภูเก็ต คือ
1. การเจรจาสันติภาพไตรภาคี ครั้งที่ 1 ระหว่างมาเลเซีย – ไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ มลายา ในวันที่ 2 – 4 กุมภาพันธ์ 2532 [45]
2. การเจรจาสันติภาพไตรภาคี ครั้งที่ 2 ระหว่างมาเลเซีย – ไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ มลายา ในวันที่ 15 – 17 มีนาคม 2532 [46]
3. การเจรจาสันติภาพไตรภาคี ครั้งที่ 3 ระหว่างมาเลเซีย – ไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ มลายา ในวันที่ 11 – 13 พฤษภาคม 2532 [47]
4. การเจรจาสันติภาพไตรภาคี ครั้งที่ 4 ระหว่างมาเลเซีย – ไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ มลายา ในวันที่ 2 – 3 ตุลาคม 2532 [48]
5. การเจรจาสันติภาพไตรภาคี ครั้งที่ 5 ระหว่างมาเลเซีย – ไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ มลายา ในวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายน 2532 [49]
ภายหลังการเจรจาทั้ง 5 ครั้ง จึงได้มีการลงนามในความตกลงเพื่อยุติสถานการณ์การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีจีนเป็ง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มาลายาเป็นผู้ลงนามฝ่ายคอมมิวนิสต์ ดาโต๊ะ ฮาจี วันซีเดท ปลัดกระทรวงมหาดไทยมาเลเซียเป็นผู้ลงนามฝ่ายมาเลเซีย และ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการทั่วไปและรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเป็นประธานผู้ไทยในฐานะพยาน ถือเป็นการยุติบทบาทของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา
นโยบายของรัฐบาลไทยและการดำเนินการกับสมาชิกโจรจีนคอมมิวนิสต์มลาลยาในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย นโยบายของรัฐบาลไทยที่มีต่อโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาที่เข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เมื่อ 1 มีนาคม พ.ศ. 2530 และเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2530 รัฐบาลไทยได้เสนอแนวทางให้เลือก 2 แนวทาง คือ
1). ส่งกลับประเทศมาเลเซีย
2). เข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย ซึ่งรัฐบาลก็ได้ยื่นข้อเสนอให้ที่ดินทำกินครอบครัวละ 15 ไร่ และให้สัญชาติไทยเมื่ออยู่ครบ 5 ปี
การดำเนินการกับโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายาที่เข้าร่วมเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย รัฐได้ดำเนินการดังนี้[50]
ขั้นที่ 1 นำผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เข้าอำเนินกรรมวิธีขั้นต้นที่ศูนย์ใต้ร่มเย็นสัมพันธ์ กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 43 (พตท 43) ค่ายสิรินทร จังหวัดยะลา จัดทำประวัติ ถ่ายรูป อบรมฟื้นฟูจิตใจ และให้ความรู้พื้นฐานทางสังคมในการปรับตัวกับสังคมภายนอก
ขั้นที่ 2 ดำเนินการสร้างที่พักชั่วคราว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณที่จัดให้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้พัฒนาชาติไทย
ขั้นที่ 3 ดำเนินการปรับพื้นที่ และสร้างบ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น
ขั้นที่ 4 – 5 ส่งมอบหมู่บ้าน ให้ฝ่ายบ้านเมืองในลักษณะหมู่บ้าน อพป. และพิจารณาให้ใบต่างด้าวผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยตามขั้นตอนกฎหมาย โดยอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 4 ในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
จุดที่ 1 บ้านปิยะมิตร วนคาม 1 อยู่ในพื้นที่ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่พิกัด คิว.จี. 2542
จุดที่ 2 บ้านปิยะมิตร วนคาม 2 อยู่ในพื้นที่ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา พิกัด คิว.จี. 2449 อยู่หางจากจุดที่ 1 ประมาณ 12 กิโลเมตร
จุดที่ 3 บ้านปิยะมิตร วนคาม 3 อยู่ในพื้นที่ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา พิกัด คิว.จี. 3355
จุดที่ 4 บ้านปิยะมิตร วนคาม 4 อยู่ในพื้นที่ตำบลถ้ำทะลุ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา พิกัด คิว.จี. 3689
จุดที่ 5 บ้านปิยะมิตร วนคาม 5 อยู่ในพื้นที่ตำบลคลองกวาง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา พิกัด พี.เอช 7427
สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาหรือโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา ภายหลังจากเข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยก็ได้อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาจวบจนปัจจุบันนี้
หนังสือแนะนำให้อ่านประกอบ
กิตติ รัตนฉายา,พลเอก.(2538).ดับไฟใต้กับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา. กรุงเทพฯ: สหธรรมมิก.
นันทิวัฒน์ สามารถ. (2522). พรรคคอมมิวนิสต์มาลายัน: ศึกษาความล้มเหลวในการปฏิวัติ. วิทยานิพนธ์ (รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาการปกครอง). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
มานพ จิตต์ภูษา. (2525).รายงานผลการวิจัยความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียในการปราบปรามกองกำลังที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลไทยและมาเลเซีย. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นันทวรรณ ยอดพิจิตร. (2543). ความร่วมมือของไทยต่อมาเลเซีย : ศึกษากรณีการแก้ปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พ.ศ. 2520 - 2532). วิทยานิพนธ์ (รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ).กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ที่มา
กวีรัตน์ คุณาภัทร. (2533, มกราคม) “จคม. ดาวแดงอีกดาวที่ร่วงจากฟ้า,” ใน นิตรสารพบโลก. 3(7) : 32 – 36.
กองบรรณาธิการ วารสารรูสมิแล. (2530,พฤษภาคม – สิงหาคม). “เยี่ยมหมู่บ้านปิยะมิตร วนคาม 1 ; จคม. ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย,” ใน วารสาร รูสมิแล. 10(3) : 15 – 23.
กองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ. (2523). ครบรอบ 18 ปี กรป. กลาง. กรุงเทพฯ: อักษรไทย.
กองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ. (2535). ครบรอบ 20 ปี กรป. กลาง. กรุงเทพฯ: อักษรไทย.
กิตติ รัตนฉายา, พลโท. (2533). ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้. เอกสารวิจัยส่วนบุคคล. กรุงเทพฯ: วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร. อัดสำเนา.
กิตติ รัตนฉายา,พลเอก. (2538). ดับไฟใต้กับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา. กรุงเทพฯ: สหธรรมมิก.
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. (2526). ชนกลุ่มน้อยในไทยกับความมั่นคงของชาติ.กรุงเทพฯ: แพร่วิทยา.
ฉายฉาน ให้ศิริกุล. (2527, กรฏฏาคม). “พฤติกรรมของโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา,” ใน อนุสารคนใต้. 4(7) : 10 – 12.
เชิญชัย พินิจสุทธาโภชน์, พลตรี. (2535). ความมั่นคงชายแดนภาคใต้ : ศึกษาเฉพาะกรณีบทบาทของคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-มาเลเซีย. เอกสารวิจัยส่วนบุคคล. กรุงเทพฯ: วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร. อัดสำเนา.
ธานินทร์ ผะเอม. (2527). นโยบายการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้. สารนิพนธ์ (รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
นิสิต จันทร์สมวงศ์. (2530). บทบาทของกองทัพบกไทยในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ตามนโยบายใต้ร่มเย็นของกองทัพภาคที่ 4. วิทยานิพนธ์ (รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาการปกครอง). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นันทวรรณ ยอดพิจิตร. (2543). ความร่วมมือของไทยต่อมาเลเซีย : ศึกษากรณีการแก้ปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พ.ศ. 2520 - 2532). วิทยานิพนธ์ (รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ).กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นันทิวัฒน์ สามารถ. (2522). พรรคคอมมิวนิสต์มาลายัน: ศึกษาความล้มเหลวในการปฏิวัติ. วิทยานิพนธ์ (รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาการปกครอง). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
บุญศักดิ์ แสงระวี. (2551). คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตุง. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ.
บาร์บารา วัตสัน อันดายา, โอนาร์ด วายอันดาย. (2549). ประวัติศาสตร์มาเลเซีย = A History of Malaysia. แปลโดย มนัส เกียรติธารัย, พรรณี ฉัตรพลรักษ์. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
“ประวัติอุโมงค์สามชั้น - ประวัติของกรมที่ 8,” ใน เอกสารนำชมอุโมงค์เขาน้ำค้าง. (ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์)
ประพต เศรษฐกานนท์. (2549) สรรนิพนธ์การทหารเหมาเจ๋อตุง. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา.
ประสงค์ สุ่นศิริ, น.ต.. (2532). 726 วันใต้บัลลังก์ “เปรม”. กรุงเทพฯ : พิฆเณศ.
ประสิทธ์ รุ่งเรืองรัตนกุล. (2522). ภาคใต้ของไทยหรือมาเลเซีย. กรุงเทพฯ : ปะการัง.
ภัคคินี เปรมโยธิน. (2519). กระบวนการบริหารราชการส่วนภูมิภาคกับปัญหาชนกลุ่มน้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้. วิทยานิพนธ์ (รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาการปกครอง). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
มานพ จิตต์ภูษา. (2524, มิถุนายน – กรกฎาคม). “จคม. กับการปฏิบัติของทหารมาเลเซียในแดนไทย,” ใน วารสารรูสมิแล. 5(3) : มานพ จิตต์ภูษา. (2525). รายงานผลการวิจัยความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียในการปราบปรามกองกำลังที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลไทยและมาเลเซีย. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
รอเบอร์ต ทอมป์สัน. (2509). ปราบกบฏคอมมิวนิสต์ = Defeating Communist insutgency. กรุงเทพฯ : องค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.
เรืองยศ จันทรคีรี. (2523). สถานการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้. กรุงเทพฯ : วงค์ปาล.
ไรอัน, เอน. เจ., (2526). การสร้างชาติมาเลเซียและสิงคโปร์ = The making of modern Malaysia and Singapore. แปลโดย ประกายทอง สิริสุข, ม.ร.ว., ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ลินพิชญ์ สัจจพันธ์, พล.ต.ต. . (2525). มาตรการป้องกันและปราบปรามผู้ก่อการร้ายพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้. เอกสารวิจัยส่วนบุคคล. กรุงเทพฯ: วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร. อัดสำเนา. วันชัย จิตต์จำนงค์, พลโท. (2529, พฤษภาคม). “โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา : ทำไมต้องปราบปราม,” ใน อนุสารคนใต้. 6(5) : 32- 36.
วิศิษย์ อาจคุ้มวงษ์, พลโท . (2530). ปัญหา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้. เอกสารวิจัยส่วนบุคคล. กรุงเทพฯ: วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร. อัดสำเนา.
วิจิตรา สมานญาติ. (2523, 11 กันยายน). ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา.
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้. (2534). สู่ชายแดนใต้สันติ. ยะลา : ศูนย์อำนวยการฯ.
สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง. (2540?). แนวทางการปฏิบัติการจิตวิทยาและประชาสัมพันธ์เพื่อแก้ปัญหาชายแดนไทย – มาเลเซีย. กรุงเทพฯ : สถาบันฯ.
ส่งเสริม วายโสภา, พลตรี. (2529). แนวความคิดในการต่อสู้เพื่อเอาชนะการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้. เอกสารวิจัยส่วนบุคคล. กรุงเทพฯ: วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร. อัดสำเนา.
สำนักงานจังหวัดยะลา. (2529). บรรยายสรุปจังหวัดยะลา 2529. ยะลา : สำนักงานฯ.
เสรี กลีบจีนทร์, พลตรี. (2534). ปัญหาความมั่นคงแห่งชาติใน 5จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง. เอกสารวิจัยส่วนบุคคล. กรุงเทพฯ: วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร. อัดสำเนา.
อุษณีย์ กรรณสูต และ พัชรี สิโรรส. (2516). พื้นฐานการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.
Antony Short. (1975). The Communist Insurrection in Malaya 1946 – 1960. London : Frederick Muller.
Babara Watson Andaya and Leonard Y. Andaya, (2001). A History of Malaysia. Basingstoke /England: Palgrave.
อ้างอิง
- ↑ มานพ จิตต์ภูษา. (2525). รายงานผลการวิจัยความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียในการปราบปรามกองกำลังที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลไทยและมาเลเซีย. หน้า 111.
- ↑ อุษณีย์ กรรณสูต และ พัชรี สิโรรส. (2516). พื้นฐานการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. หน้า 99 -100
- ↑ กิตติ รัตนฉายา. (2538). ดับไฟใต้กับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา. หน้า 2. และ มานพ จิตต์ภูษา. (2525). เล่มเดิม. หน้า 90.
- ↑ นันทวรรณ ยอดพิจิตร. (2543). ความร่วมมือของไทยต่อมาเลเซีย : ศึกษากรณีการแก้ปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พ.ศ. 2520 - 2532). หน้า 16.
- ↑ นันทิวัฒน์ สามารถ. (2522). พรรคคอมมิวนิสต์มาลายัน: ศึกษาความล้มเหลวในการปฏิวัติ. หน้า 23.
- ↑ นันทิวัฒน์ สามารถ. (2522). เล่มเดิม. หน้า 121.
- ↑ Victor Purcell. (1965) The Chinese in Southeast Asia. p. 301. อ้างใน นันทิวัฒน์ สามารถ. (2522). พรรคคอมมิวนิสต์มาลายัน: ศึกษาความล้มเหลวในการปฏิวัติ. หน้า 24
- ↑ บาร์บารา วัตสัน อันดายา, โอนาร์ด วายอันดาย. (2549). ประวัติศาสตร์มาเลเซีย= A History of Malaysia. หน้า 429 - 441
- ↑ Antony Short. (1975). The Communist Insurrection in Malaya 1946 – 1960. p. 39.
- ↑ วันชัย จิตต์จำนง, พลโท. (2529, พฤษภาคม). “โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา : ทำไมต้องปราบปราม,” ใน อนุสารคนใต้. 6(5) : 33.
- ↑ รอเบอร์ต ทอมป์สัน. (2509). ปราบกบฏคอมมิวนิสต์ = Defeating Communist insutgency. หน้า 16. หรือ ดูรายละเอียดใน ประพต เศรษฐกานนท์. (2549). สรรนิพนธ์การทหารเหมาเจ๋อตุง. (กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา). หรือ บุญศักดิ์ แสงระวี. (2551). คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตุง. (กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ).
- ↑ บาร์บารา วัตสัน อันดายา, โอนาร์ด วายอันดาย. (2549). เล่มเดิม. หน้า 451 - 452 และ นันทวรรณ ยอดพิจิตร. (2543). เล่มเดิม. หน้า 19 – 21
- ↑ นันทวรรณ ยอดพิจิตร. (2543). เล่มเดิม. หน้า 21.
- ↑ Antony Short. (1975). The Communist Insurrection in Malaya 1946 – 1960. p. 507.
- ↑ ไรอัน, เอน. เจ., (2526). การสร้างชาติมาเลเซียและสิงคโปร์ = The making of modern Malaysia and Singapore. หน้า 245 – 248.
- ↑ ลินพิชญ์ สัจจพันธ์, พล.ต.ต. . (2525). มาตรการป้องกันและปราบปรามผู้ก่อการร้ายพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้. หน้า 12. และ เสรี กลีบจีนทร์, พลตรี. (2534). ปัญหาความมั่นคงแห่งชาติใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง. หน้า 32. และ เชิญชัย พินิจสุทธาโภชน์, พลตรี. (2535). ความมั่นคงชายแดนภาคใต้ : ศึกษาเฉพาะกรณีบทบาทของคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-มาเลเซีย. หน้า 26 – 27.
- ↑ เชิญชัย พินิจสุทธาโภชน์, พลตรี. (2535). เล่มเดิม. หน้า 27.
- ↑ เชิญชัย พินิจสุทธาโภชน์, พลตรี. (2535). เล่มเดิม. หน้า 27.
- ↑ มานพ จิตต์ภูษา. (2525). เล่มเดิม. หน้า 111 - 114
- ↑ เชิญชัย พินิจสุทธาโภชน์, พลตรี. (2535). เล่มเดิม. หน้า 27. และ ภัคคินี เปรมโยธิน. (2519). กระบวนการบริหารราชการส่วนภูมิภาคกับปัญหาชนกลุ่มน้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้. หน้า 132. และ วิศิษย์ อาจคุ้มวงษ์, พลโท . (2530). ปัญหา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้. หน้า 54 - 60. และ ส่งเสริม วายโสภา, พลตรี. (2529). แนวความคิดในการต่อสู้เพื่อเอาชนะการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้. หน้า 60 - 72.
- ↑ Babara Watson Andaya and Leonard Y. Andaya. (2001). A History of Malaysia. p. 262.
- ↑ รายละเอียดใน ประพต เศรษฐกานนท์. (2549) สรรนิพนธ์การทหารเหมาเจ๋อตุง. (กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา). หรือ บุญศักดิ์ แสงระวี. (2551). คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตุง. (กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ).
- ↑ นันทวรรณ ยอดพิจิตร. (2543). เล่มเดิม. หน้า 45 – 49. และ ลินพิชญ์ สัจจพันธ์, พล.ต.ต. . (2525). เล่มเดิม. หน้า 23 – 24.
- ↑ ลินพิชญ์ สัจจพันธ์, พล.ต.ต. . (2525). เล่มเดิม. หน้า 16 - 17. และ วิศิษย์ อาจคุ้มวงษ์, พลโท . (2530). เล่มเดิม. หน้า 54 – 60.
- ↑ วันชัย จิตต์จำนงค์. (2529, พฤษภาคม). “โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา : ทำไมต้องปราบปราม,” ใน อนุสารคนใต้. 6(5) : 34.
- ↑ สำนักงานจังหวัดยะลา. (2529). บรรยายสรุปจังหวัดยะลา 2529. หน้า 42.
- ↑ เรืองยศ จันทรคีรี. (2523). สถานการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้. หน้า 179 - 180.
- ↑ มานพ จิตต์ภูษา. (2525). เล่มเดิม. หน้า 128.
- ↑ ลินพิชญ์ สัจจพันธ์, พล.ต.ต. . (2525). เล่มเดิม. หน้า 25 – 32.
- ↑ ส่งเสริม วายโสภา, พลตรี. (2529). เล่มเดิม. หน้า 97 - 98.
- ↑ มานพ จิตต์ภูษา. (2525). เล่มเดิม. หน้า 126. และ เชิญชัย พินิจสุทธาโภชน์, พลตรี. (2535). เล่มเดิม. หน้า 29 – 30.
- ↑ ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. (2526). ชนกลุ่มน้อยในไทยกับความมั่นคงของชาติ. หน้า 175.
- ↑ กิตติ รัตนฉายา. (2523). ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้. หน้า 38 และ หน้า 43.
- ↑ วิจิตรา สมานญาติ. (2523, 11 กันยายน). ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้. หน้า 43.
- ↑ ธานินทร์ ผะเอม. (2527). นโยบายการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้. หน้า 65 – 71. และ สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง. (2540?). แนวทางการปฏิบัติการจิตวิทยาและประชาสัมพันธ์เพื่อแก้ปัญหาชายแดนไทย – มาเลเซีย. หน้า 102 – 103.
- ↑ กองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ. (2535). “กรป.กลางกับงานชายแดนไทย-มาเลเซีย,” ใน ครบรอบ 20 ปี กรป. กลาง. หน้า 104.
- ↑ กองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ. (2523). ครบรอบ18 ปี กรป. กลาง. หน้า 140 - 146
- ↑ เชิญชัย พินิจสุทธาโภชน์, พลตรี. (2535). เล่มเดิม. หน้า 34. สงเสริม วายโสภา, พลตรี. (2529). เล่มเดิม. หน้า 108 -109. และ วิศิษย์ อาจคุ้มวงษ์, พลโท . (2530). เล่มเดิม. หน้า 66 – 67.
- ↑ มานพ จิตต์ภูษา. (2525). เล่มเดิม. หน้า 154.
- ↑ ประสิทธ์ รุ่งเรืองรัตนกุล. (2522). ภาคใต้ของไทยหรือมาเลเซีย. หน้า 114.
- ↑ มานพ จิตต์ภูษา. (2524, มิถุนายน – กรกฎาคม). “จคม. กับการปฏิบัติของทหารมาเลเซียในแดนไทย,” ในวารสารรูสมิแล. 5(3) : 94 -95.
- ↑ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้. (2534). สู่ชายแดนใต้สันติ. หน้า 93.
- ↑ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมใน นิสิต จันทร์สมวงศ์. (2530). บทบาทของกองทัพบกไทยในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ตามนโยบายใต้ร่มเย็นของกองทัพภาคที่ 4. วิทยานิพนธ์ (รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาการปกครอง). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- ↑ “ประวัติอุโมงค์สามชั้น - ประวัติของกรมที่ 8,” ใน เอกสารนำชมอุโมงค์เขาน้ำค้าง (ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์) และ กองบรรณาธิการ วารสารรูสมิแล. (2530,พฤษภาคม – สิงหาคม). “เยี่ยมหมู่บ้านปิยะมิตร วนคาม1 ; จคม. ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย,” ใน วารสารรูสมิแล. 10(3) : 17.
- ↑ กิตติ รัตนฉายา. (2538). เล่มเดิม. หน้า 67.
- ↑ แหล่งเดิม. หน้า 115.
- ↑ แหล่งเดิม. หน้า 189.
- ↑ แหล่งเดิม. หน้า 232.
- ↑ แหล่งเดิม. หน้า 267.
- ↑ กองบรรณาธิการ วารสารรูสมิแล. (2530,พฤษภาคม – สิงหาคม). “เยี่ยมหมู่บ้านปิยะมิตร วนคาม 1 ; จคม. ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย,” ใน วารสารรูสมิแล. 10(3) : 17 - 18.