ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:24, 9 พฤษภาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' สุมาลี พันธุ์ยุรา ---- '''ผู้ทรงคุณว...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง สุมาลี พันธุ์ยุรา


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย (พ.ศ.2501-2519)

“ประชาธิปไตยแบบไทย” ในที่นี้เป็นแนวคิดที่หมายถึง รูปการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งเหมาะสมกับวัฒนธรรมประเพณีของชาติไทยและสอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย (แต่อย่างไรก็ตามความหมายของ “ประชาธิปไตยแบบไทย” โดยทั่วไปมีขอบเขตอันกว้างขวาง ซึ่งไม่จำกัดทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหาเป้าหมาย ทั้งนี้เพื่อความยืดหยุ่นเหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ)

ประชาธิปไตยแบบไทยในช่วงพ.ศ.2501-2519 มีลักษณะคร่าว ๆ ปรากฏ ดังนี้

1) ลักษณะประการที่หนึ่งของแนวคิดประชาธิปไตยแบบไทย คือ ในทัศนะของรัฐบาลหรือนายทหารจะเห็นว่าประชาธิปไตยอาจมีความหมายในแง่เนื้อหาสาระเป้าหมาย (เช่น การเป็นอุดมการณ์ ความเหมาะสมกับลักษณะพิเศษของชาติไทย และการสนองความต้องการของประชาชน หรือใช้การได้ผล) หรืออาจรวมความหมายในลักษณะที่เป็นสากลในแง่รูปแบบวิธีการเข้าไปด้วย (คือมีรัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง การเลือกตั้ง ระบบรัฐสภา เป็นต้น)

ตัวอย่างเช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และคณะทหารทำรัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 ได้กล่าวเน้นย้ำถึงจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสิรมประชาธิปไตยแบบไทยว่า “คณะปฏิวัติ มีความมุ่งหมายที่จะทำประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย มีความมุ่งหมายจะสร้างประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทยให้เป็นผลสำเร็จ และเห็นว่าจะบรรลุผลตามความมุ่งหมายนี้ให้ได้ จะต้องแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีตนั้นเสีย จึงได้ทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 ยกเลิกระบอบประชาธิปไตยที่นำมาจากต่างประเทศทั้งดุ้นเสีย และเสนอว่าจะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับลักษณะพิเศษและสภาวการณ์ของไทย จะสร้างประชาธิปไตยของไทย ประชาธิปไตยแบบไทย”

ในทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกและไม่นิยมรัฐธรรมนูญแบบตะวันตก แต่ในส่วนของรัฐธรรมนูญจอมพลสฤษดิ์กลับเล็งเห็นและยอมรับถึงความสำคัญของการมีรัฐธรรมนูญแบบไทย โดยที่จอมพลสฤษดิ์มีทัศนะว่า รัฐธรรมนูญตามแบบตะวันตกมักจะให้อำนาจแก่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนมากเกินไป ซึ่งจอมพลสฤษดิ์พิจารณาว่าไม่เหมาะกับประเทศไทยเลย และได้เสนอว่ารูปแบบของการปกครองที่เหมาะสมของประเทศไทยควรจะเป็นไปในรูปแบบที่รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายรัฐบาลจะต้องมีอำนาจสูงสุด เป็นรัฐบาลของชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นรัฐบาลของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดโดยเฉพาะ และรัฐบาลจะต้องเป็นสถาบันที่จะสามารถกำหนดได้ว่าอะไรคือเจตนารมณ์ของชาวไทยทั้งประเทศ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญอยู่ที่ความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมือง ดังนั้นพรรคการเมืองและการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนจึงไม่ใช่สิ่งที่มีความจำเป็นต่อระบบการเมืองไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าจอมพลสฤษดิ์ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยในแง่เนื้อหาสาระเป้าหมาย เช่น ความเหมาะสมกับลักษณะพิเศษของชาติไทย และการสนองความต้องการของประชาชนมากกว่าการให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยในความหมายที่เป็นสากลในแง่รูปแบบวิธีการ

2) ลักษณะประการที่สองของแนวคิดประชาธิปไตยแบบไทย คือ มีความสอดคล้องเหมาะสมกับวัฒนธรรมประเพณีไทย โดยมีลักษณะที่เด่นชัดดังนี้

ลักษณะที่เด่นชัดประการที่หนึ่ง คือ การมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติ โดยที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการยอมรับว่าดำรงอยู่ในฐานะอันสูงสุดของชาติ ซึ่งผู้ใดจะละเมิดมิได้ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยที่เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ.2501-2519 ซึ่งแม้ว่าฐานะของสถาบันพระมหากษัตริย์จะสั่นคลอนมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและเหตุการณ์กบฎ ร.ศ.130 จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ.2475 และสมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม แต่ระบอบสฤษดิ์หรือสมัยพ่อขุนอุปถัมภ์ก็สนับสนุนให้สถาบันนี้กลับมาดำรงฐานะอันสูงสุดของชาติได้อย่างดั้งเดิม และถ้อยคำที่ว่า“ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เริ่มปรากฎอยู่อย่างเป็นทางการในรัฐธรรมนูญพ.ศ.2511 โดยในคำปรารภระบุว่า “ตามวิวัฒนาการปรากฏว่าระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของปวงชนชาวไทยเป็นการถาวรมั่นคงตลอดมา...สภาร่างรัฐธรรมนูญลงมติกำหนดหลักสารสำคัญเป็นการทั่วไปว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” และในช่วงที่การเมืองเปิดของมวลชนในพ.ศ.2516-2519 สถาบันกษัตริย์ได้ถูกใช้เป็นสัญญลักษณ์หยิบยกขึ้นต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสตร์หรือ “ฝ่ายซ้าย” ในฐานะที่เป็นสัญญลักษณ์ของ “ความเป็นไทย” หลังจากนั้นคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้อ้างความมั่นคงของสถาบันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งในการยึดอำนาจในพ.ศ.2519 และรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียรได้อ้างว่าประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตย เนื่องจากยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ และโหมประโคมคำขวัญว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัติรย์” โดยเน้นการสร้างความจงรักภักดีและได้มีการจัดงานวัน 5 ธันวามหาราชอย่างยิ่งใหญ่ในพ.ศ.2519 เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมีและเน้นถึงความเป็นศูนย์รวมจิตใจ

ลักษณะที่เด่นชัดประการที่สอง คือ การถือว่าประเทศชาติบ้านเมืองหรือรัฐชาติเป็นสิ่งสูงสุดที่เคียงคู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะเห็นว่าแนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติและการพิทักษ์ชาติบ้านเมืองเป็นภารกิจที่สำคัญ และความสำคัญของชาติย่อมควบคู่ไปกับการจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย สะท้อนให้เห็นได้จากเหตุผลของการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในพ.ศ.2501 ที่ชี้ให้เห็นว่าการปฏิวัติเป็นวิธีการเดียวที่จะช่วยพิทักษ์ปกป้องบ้านเมือง ซึ่งการพิทักษ์ปกป้องบ้านเมืองเป็นภารกิจที่สำคัญของคณะปฏิวัติ ดังที่กล่าวไว้ “พรรคการเมืองหลายพรรคได้หลอกใช้รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยด้วยวิธีการอันเห็นแก่ตัวของพรรค การใช้อภิสิทธิ์และเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ไปในทางที่ผิดของพรรรคการเมืองเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าของชาติ ได้สร้างความแตกแยกภายในชาติและทำให้ประชาชนเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน พฤติการณ์นี้จะนำไปสู่ความแตกแยกและความเสื่อมของชาติในที่สุด ความเลวร้ายต่าง ๆ ภายในชาติเหล่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนตัวบุคคล หรือเพียงแต่แก้ระบบบางอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างนับเป็นความผิดพลาดมาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งการปฏิวัติเป็นวิธีเดียวที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้”

สำหรับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และคณะปฏิวัติแล้ว การจัดระเบียบการเมืองการปกครองของชาติในประการที่สำคัญที่สุด คือ การเมืองจะต้องอาศัยหลักการของไทย โดยละทิ้งอุดมการณ์ของต่างชาติ ฟื้นฟูอุดมการณ์แบบไทย ๆ ให้เป็นอุดมการณ์หลักของชาติ และหลักการทางการเมืองของไทยที่แท้จริง คือ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง ความสงบเรียบร้อย และความเป็นผู้นำในด้านการบริหารที่เข้มแข็งของรัฐบาลซึ่งจะทำหน้าที่แทนเจตนารมณ์ของประชาชนและการพัฒนาของชาติ และภายหลังจากการรัฐประหารจอมพลสฤษดิ์ยังได้ทูลเกล้าถวายสาส์นแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันสะท้อนให้เห็นถึงความคิดเรื่องความสำคัญของชาติย่อมควบคู่ไปกับการจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยสาส์นฉบับดังกล่าวมีเนื้อความว่า “ในการปฏิวัติครั้งนี้ ถึงหากจำเป็นต้องเปลี่ยนสถาบันแห่งชาติในทางหนึ่งทางใด แต่สิ่งหนึ่งซึ่งคณะปฏิวัติจะไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงคือ ระบอบที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ คณะปฏิวัติจะยืนหยัดดำรงรักษาระบอบนี้ต่อไป คณะปฏิวัติได้ให้คำมั่นสัญญาในเรื่องนี้แก่ประชาชนในประกาศหลายแห่งหลายตอนที่ได้ประกาศไปแล้ว และขอถวายคำมั่นสัญญานี้เป็นส่วนหนึ่งของพระองค์ครั้งหนึ่ง รัฐธรรมนูญที่จะจัดทำขึ้นใหม่ก็คงจะรักษาระบอบนี้ไว้อย่างมั่นคงอีก”

ลักษณะที่เด่นชัดประการที่สาม คือ แนวความคิดแบบลัทธิผู้นำ กล่าวคือ เป็นแนวคิดที่ว่าผู้นำของรัฐไทยควรเป็นทหาร ผู้นำกองทัพเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้ดูแลปกครองประเทศ โดยเบื้องหลังของตัวผู้นำมีการใช้ระบบอุปถัมถ์เป็นลักษณะประการสำคัญ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการอ้างเหตุผลของการเป็นผู้นำตามแบบวัฒนธรรมประเพณีไทยซึ่งปรากฎให้เห็นได้อย่างชัดเจนในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ การอ้างเหตุผลผู้นำตามประเพณีแบบ “พ่อปกครองลูก” แนวความคิดดังกล่าวของจอมพลสฤษดิ์สะท้อนให้เห็นได้จากคำกล่าวเปิดการประชุมในการอบรมกำนัน 4 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนี้ “...แม้ในสมัยนี้จะได้มีระบบการปกครองเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น ไม่เรียกว่า “พ่อ” เหมือนแต่ก่อน ข้าพเจ้ายังยึดมั่นนับถือคติและประเพณีโบราณของไทยเราในเรื่องพ่อปกครองลูกเสมอ ข้าพเจ้าเคยพูดบ่อย ๆ ว่าชาติเป็นเสมือนครอบครัวใหญ่ ผู้ปกครองไม่ใช่อื่นไกล คือหัวหน้าครอบครัวใหญ่นั่นเอง...ต้องถือว่าราษฎรทุกคนเป็นลูกหลาน ต้องมีความอารีไมตรีจิต เอาใจใส่ในทุกข์สุขของราษฎรเท่ากับเป็นบุตรหลานในครอบครัวของตัวเอง ตัวข้าพเจ้าเองไดัยึดมั่นในหลักการนี้เป็นที่สุดไม่ว่าจะเกิดทุกข์ภัยหรือเหตุการณ์สำคัญขึ้นที่ไหน ข้าพเจ้าพยายามไปถึงที่นั่น ดูแลอำนวยการบำบัดทุกข์ภัยด้วยตนเอง ข้าพเจ้าพยายามเข้าถึงราษฎรและเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ของราษฎร เหมือนหนึ่งว่าเป็นครอบครัวของข้าพเจ้าเองเสมอ...” นั่นก็คือผู้ปกครองหรือพ่อขุนมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง โดยที่ข้าราชการและประชาชนมีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายและรับเอาสิ่งที่เป็นความอุปถัมภ์จากรัฐบาลหรือผู้นำรัฐบาล ซึ่งฐานะของผู้นำประเทศเปรียบเสมือนสถาบันอันละเมิดมิได้ โดยใช้วิธีการป้องกันและปราบปรามผู้ล่วงละเมิดเหล่านั้น ซึ่งสามารถใช้อำนาจเด็ดขาดหากประชาชนคนใดไม่เชื่อฟัง

3) ลักษณะประการที่สามของแนวคิดประชาธิปไตยแบบไทย คือ มีลักษณะที่สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ กล่าวคือ ผู้นำหรือคณะทหารได้ใช้ข้ออ้างเหตุผลเรื่องสถานการณ์บ่อยครั้งเมื่อเข้าร่วมเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเมือง เช่น ใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้งและในการกำหนดนโยบายสำคัญ ซึ่งกล่าวได้ว่าสถานการณ์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จุดมุ่งหมายสูงสุด คือ เพื่อดำรงสถานะความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อถือว่ารัฐชาติเป็นสิ่งสำคัญยิ่งและรัฐบาลคือสถาบันตัวแทนที่ทำหน้าที่ดูแลปกครอง ความมั่นคงหรือเสถียรภาพของรัฐบาลจึงถูกนับรวมเป็นสถานการณ์ที่สำคัญด้วย นอกเหนือจากฝ่ายปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล เช่น กลุ่มผู้นิยมในระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้ว ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรก็อาจถูกมองในแง่ลบด้วย การต่อสู้เพื่อดำรงสถานะของรัฐบาลทั้งกับฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายค้านในสภา จึงเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในแต่ละขณะ ซึ่งการต่อสู่ระหว่างฝ่ายตรงกันข้ามในทางการเมืองเพื่อการดำรงอำนาจหรือฐานะผู้ปกครองนั้น ได้อาศัยสถานการณ์เป็นเครื่องมือสำคัญทั้งสิ้นและใช้เป็นข้ออ้างสำหรับสาธารณชน ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ คำประกาศของคณะปฏวัติฉบับที่ 4 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กล่าวถึงเหตุผลประการหนึ่งในการปฎิวัติว่า การคุกคามของคอมมิวนิสต์เป็นภัยใหญ่หลวงภายในประเทศที่พยายามสร้างอิทธิพลเหนือจิตใจของประชาชน การแทรกแซงของตัวแทนลัทธิคอมมิวนิสต์มีอยู่ทุกกระแสในทางการเมือง เศรษกิจและสังคม โดยใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อและแผนการที่ชาญฉลาด ดำเนินการทั้งในทางลับและเปิดเผย ด้วยการพยายามทุกวิถีทางที่จะให้“เกิดความเสื่อมโทรมระส่ำระสายในประเทศ ขุดโค่นราชบัลลังก์ ล้มล้างพระพุทธศาสนา และทำลายสถาบันทุกอย่างที่ชาติไทยได้ผดุงรักษามา”

ที่มา

เฉลิมเกียรติ ผิวนวล. ความคิดทางการเมืองของทหารไทย 2519-2535. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ผู้จัดการ, 2535.

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548.

ประชาธิปไตยแบบไทยและข้อคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ. พระนคร: สำนักพิมพ์โชคชัยเทเวศร์, 2508.

ประมวลประกาศและคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ใช้เป็นกฎหมาย พร้อมทั้งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2502. พระนคร: สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2503.

ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502 – 2504. พระนคร: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2507.


อ้างอิง