การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยพระราชกฤษฎีกา

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:41, 12 เมษายน 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' สุวัสดี โภชน์พันธุ์ ---- '''ผู้ทรงคุ...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง สุวัสดี โภชน์พันธุ์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยพระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน พ.ศ.2476

การเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก่อให้เกิดความแตกแยกในคณะรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ความพยายามของพระยาพหลพลพยุหเสนาที่เข้ามาไกล่เกลี่ยปัญหาทำให้ดูเหมือนว่าปัญหาความขัดแย้งเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจจะยุติลงได้ชั่วคราว แต่ในระหว่างวันที่ 30 และ 31 มีนาคม พ.ศ.2475 สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองกลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อมีข่าวลือเกี่ยวกับการพกพาอาวุธเข้ามาประชุมสภาผู้แทนราษฎรของสมาชิกบางท่าน ส่งผลให้ฝ่ายรัฐบาลนำทหารเข้ามาตรวจค้นอาวุธและควบคุมสมาชิกสภาฯ การที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาและพระยาทรงสุรเดช นำทหารประมาณ 1 กองร้อยเข้ามาในบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม ทำให้เกิดการต่อว่าต่อขานและโจมตีความเป็น “ดิ๊กเตเตอร์” ของนายกรัฐมนตรี[1] และในท้ายที่สุดรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 ซึ่งในเวลานั้นเป็นวันขึ้นปีใหม่

รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผลของการประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ คือ

เกิดความแตกแยกในคณะรัฐมนตรีออกเป็น 2 ฝ่าย ด้วยเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยต้องการวางนโยบายเศรษฐกิจใหม่ตามแนวทางอันเป็นคอมมิวนิสต์ แต่อีกฝ่ายซึ่งมีเสียงส่วนมากไม่ปรารถนาจะให้เป็นเช่นนั้น เพราะจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศชาติและความสงบสุขของประชาชน การที่สภาผู้แทนราษฎรพยายามดำเนินการวางนโยบายเศรษฐกิจใหม่โดยมีลักษณะประดุจการพลิกแผ่นดินเช่นนี้ เป็นการผิดต่อบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ และดูเสมือนมีความเลื่อมใสในรัฐมนตรีผู้มีเสียงส่วนน้อยโดยตรง เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้นเป็นสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญไม่มีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ เมื่อสภาและคณะรัฐมนตรีมีความเห็นแตกแยกกันเช่นนี้ ย่อมเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศชาติ จึงไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์เป็นดังนี้ต่อไป ด้วยรัฐบาลถือว่าความปลอดภัยของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด ฉะนั้นจำเป็นต้องปิดสภา ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเป็นการชั่วคราว[2]

พร้อมกันนี้ได้มีประกาศตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยให้บุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ทั้ง 7 กระทรวงในรัฐบาลชุดเก่ายังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมในรัฐบาลชุดใหม่ แต่ให้รัฐมนตรีลอยอื่นๆ จำนวน 13 คน พ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งรัฐมนตรีลอยชุดใหม่ โดยคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้จะเป็นผู้ใช้อำนาจทั้ง “บริหาร” และ “นิติบัญญัติ” คือสามารถตราพระราชบัญญัติบังคับใช้เองหรือเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนสภาผู้แทนราษฎร แต่การใช้อำนาจใดๆ ยังคงอ้างอิงพระบรมเดชานุภาพและพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์[3]

การที่อำนาจด้านการบริหารและนิติบัญญัติถูกโอนมาไว้ที่คณะรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจของพระมหากษัตริย์ในรูปของพระราชกฤษฎีกาเช่นนี้ เป็นผลให้มีข้อเขียนบางชิ้นวิเคราะห์และให้ความหมายยุคสมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาว่าเป็นยุค “มโนเครซี” หรือเป็น “นักเผด็จการคนแรกแห่งประเทศไทย”[4] เหตุการณ์นี้ยังถูกมองว่าเป็น “รัฐประหาร” ในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งข้ออ้างในการยึดอำนาจและการใช้อำนาจใหม่นั้นดูจะคล้ายกับที่สิ่งปรากฏเป็นวัฏจักรในการเมืองไทยชั้นหลังลงมา[5]

การประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา หรือรัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกาทำให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาและกลุ่มอนุรักษ์นิยมสามารถครอบครองอำนาจเด็ดขาดในคณะรัฐบาลไว้ได้ เห็นได้จากการที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดายังคงกลุ่มอนุรักษ์นิยมของตนไว้ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทุกกระทรวง รัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกายังเป็นการขจัดบทบาทและอิทธิพลของคณะราษฎรสายพลเรือนที่มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นแกนนำออกไปจากวงการเมือง นั่นคือนอกจากหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะถูกบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศแล้ว คณะราษฎรสายพลเรือนคนอื่นๆ ที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีลอยในรัฐบาลชุดก่อนต่างไม่ได้รับแต่งตั้งให้กลับเข้ารับตำแหน่งอีกครั้ง ส่วนผู้ที่เป็นข้าราชการก็ถูกโยกย้ายให้ไปรับตำแหน่งหน้าที่ที่สำคัญน้อยลง<ref.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ, หน้า 306–307.</ref>

ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้อาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาให้ปิดสภาผู้แทนราษฎรและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ตรา “พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476” เพื่อมุ่งห้ามปรามการเคลื่อนไหวของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนอกสภา วันเดียวกันนั้นเองพระยามโนปกรณ์นิติธาดายังได้ออกพระราชบัญญัติห้ามจัดตั้งสมาคมการเมือง ทำให้สมาคมคณะราษฎรซึ่งมุ่งหวังส่งสมาชิกเข้าสมัครรับการเลือกตั้งต้องเปลี่ยนเป็น “สโมสรคณะราษฎร” ซึ่งเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ไม่เกี่ยวกับการเมือง

ความพยายามในการขจัดบทบาทของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมซึ่งเป็นแกนนำของคณะราษฎรสายพลเรือนยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2476 ก็มีการเผยแพร่หนังสือชื่อ “บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ส่งผลให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมซึ่งเคยกล่าวว่าตนเองจะประกาศและเผยแพร่เค้าโครงเศรษฐกิจในนามตนเองตามลำพังไม่อาจกระทำเช่นนั้นได้ และจำเป็นต้องยอมรับคำสั่งของฝ่ายรัฐบาลที่ขอให้เดินทางออกนอกประเทศในวันเดียวกันกับที่มีการเผยแพร่หนังสือบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ[6]

พระยามโนปกรณ์นิติธาดาและกลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่เพียงต้องการขจัดบทบาทของคณะราษฎรสายพลเรือนเท่านั้น แต่มีความพยายามที่จะลดบทบาทและอิทธิพลของคณะราษฎรสายทหารอีกด้วย แม้ว่ารัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดายังคงต้องพึ่งพาทหารซึ่งเป็นผู้คุมอำนาจในกองทัพอย่างแท้จริงและสมาชิกคณะราษฎรสายทหารยังคงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แต่การดำเนินความพยายามขจัดบทบาทของคณะราษฎรสายทหารยังคงดำเนินต่อไปและไปสู่ความขัดแย้งและเหตุการณ์การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ.2476


อ้างอิง

  1. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทย 2475 – 2500 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2538), หน้า 125.
  2. “คำแถลงการณ์ของรัฐบาล”, เสถียร ลายลักษณ์ (รวบรวม), ประชุมกฎหมายประจำศก เล่มที่ 46 (พระนคร: โรงพิมพ์นิติเวชช์, 2476), หน้า 5–6.
  3. ตามมาตรา 4 ของพระราชกฤษฎีกาให้ปิดสภาผู้แทนราษฎรและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (เสถียร ลายลักษณ์ (รวบรวม), ประชุมกฎหมายประจำศก เล่มที่ 46, หน้า 3.) และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543), หน้า 289.
  4. วิเทศกรณีย์, ความเป็นมาแห่งระบอบประชาธิปไตยไทย (พระนคร: ผ่านฟ้าพิทยา, 2511), หน้า 48.
  5. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทย 2475 – 2500, หน้า 126 .
  6. ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526), หน้า 274.