การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานไทย
ผู้เรียบเรียง สุมาลี พันธุ์ยุรา
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
สมาคมคนงานในระยะแรก (ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 จนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง)
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2475 มีการขยายตัวของการประท้วง การนัดหยุดงานและการถวายฎีกาในหมู่คนงานรถราง รถไฟมักกะสัน ปูนซีเมนต์ โรงสี โรงเลื่อย กรรมกรรถลาก คนขับรถแท็กซี่ คนถีบสามล้อ คนแจวเรือจ้าง ช่างตัดผม คนงานโรงพิมพ์ ตลอดจนคนว่างงาน การขยายตัวนี้มีสาเหตุมาจากการเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ราวพ.ศ.2471 และส่งผลให้มีการปลดคนงานออก ลดค่าจ้างหรือลดสวัสดิการบางอย่างลง ตลอดจนเกิดการว่างงานขึ้นอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้เสรีภาพทางการเมืองที่มีเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยซึ่งนำโดยคณะราษฎร รัฐบาลใหม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนรวมตัวกันในที่สาธารณะเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และแสดงท่าทีเป็นมิตรต่อคนยากจน โดยมีการประกาศหลัก 6 ประการ ซึ่งข้อหนึ่งระบุว่ารัฐบาลจะหางานให้ประชาชนทำ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการสนับสนุนช่วยเหลือของปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์ต่อการเคลื่อนไหวของคนงาน
เงื่อนไขดังกล่าวส่งผลให้คนงานรถรางภายใต้การนำของนายถวัติ ฤทธิเดช ทำการจดทะเบียนก่อตั้งเป็น “สมาคมคนงานรถรางแห่งสยาม” ขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ.2475 โดยมีนาย ถวัติเป็นนายกสมาคม สมาคมดังกล่าวมีลักษณะเป็นสมาคมเพื่อความสมานฉันท์ในหมู่คนงาน เพื่อบรรเทาทุกข์ในยามเจ็บป่วยชราภาพ และเพื่อการหย่อนใจ ตลอดจนการฝึกให้สมาชิกรู้จักมัธยัสถ์ จากวัตถุประสงค์เหล่านี้ สมาคมฯได้พยายามเป็นตัวแทนของคนงานในการยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทให้ปรับปรุงเงื่อนไขการทำงานและค่าจ้าง นอกจากนี้สมาคมฯยังมีอิทธิพลในหมู่คนงานในขณะนั้นด้วย กล่าวคือ ได้กระตุ้นในคนงานโรงพิมพ์ คนแจวเรือจ้าง ช่างตัดผม คนขับแท็กซี่ ตลอดจนคนงานโรงสี และคนว่างงานเกิดความสนใจที่จะรวมตัวกันอย่างเป็นทางการมากขึ้น
มีการนัดหยุดงานครั้งสำคัญหลายหนในช่วงเวลานี้ เช่น การหยุดงานของคนงานรถไฟมักกะสัน และการร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากฝ่ายบริหาร การหยุดงานเกือบสองเดือนของคนงานโรงสีทั่วทั้งบริเวณท้องแม่น้ำเจ้าพระยา การหยุดงานและการถวายฎีกาของคนงานบริษัทปูนซีเมนต์ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของคนงานในอันที่จะปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของตนให้ดีขึ้น
การเคลื่อนไหวเหล่านี้ คนงานที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวมาจากภาคบริการและการค้าเป็นหลัก และมาจากภาคการผลิตเพียงเล็กน้อย ผู้นำของการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่เป็นบุคคลนอกวงการแรงงาน ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์ และมีนักการเมืองพยายามเข้ามาอาศัยประโยชน์จากการรวมตัวของคนงานบ้าง แต่มักไม่ประสบความสำเร็จ คณะกรรมกรเป็นผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของคนงานหลายกลุ่ม
รูปแบบการเคลื่อนไหวเป็นลักษณะกระจัดกระจายตามโรงงานหรือแหล่งสถานประกอบการ ยังไม่มีการรวมตัวตามสาขาอาชีพหรือในระดับชาติ นอกจากนั้นการหยุดงานมีระยะเวลาสั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง ยกเว้นในหมู่คนงานจีนที่มีการหยุดงานยืดเยื้อ รูปแบบสำคัญที่คนงานไทยใช้เคลื่อนไหว คือ มีการลงชื่อในบัญชีหางว่าวเป็นหนังสือฎีกาต่อรัฐบาล เนื้อหาของฎีกาตลอดจนถ้อยคำที่ใช้สะท้อนให้เห็นถึงจิตสำนึกของคนงานบางกลุ่ม คนงานหลายส่วนยอมรับในระบบนายกับบ่าว คือ ยอมรับว่านายจ้างมีอำนาจและสิทธิต่างๆ ในการจ้างงานเหนือกว่าฝ่ายลูกจ้าง สิ่งที่คนงานที่เขียนฎีการต้องการก็คือ ขอให้นายจ้างมีเมตตา มีคุณธรรมในการจ้าง คือ เป็นนายที่ดีตามค่านิยมดั้งเดิมในสังคม จิตสำนึกอีกประการหนึ่งที่สะท้อนออกมาจากฎีกา คือ การที่คนงานยอมรับรัฐบาลว่าเป็นที่พึ่งสุดท้ายของพวกเขา
การต่อสู้ของคนงานภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองถึงพ.ศ.2500
ในช่วงนี้การเคลื่อนไหวของคนงานขยายวงกว้างขึ้น กล่าวคือ มีคนงานภาคการผลิตเข้าร่วมขบวนการมากขึ้น ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรมขยายตัวขึ้น ในหมู่คนงานที่มีการจัดตั้งก็ยกระดับองค์การขึ้นเป็นองค์กรในระดับชาติ ภายใต้การนำของสหอาชีวะกรรมกรและกรรมกร 16 หน่วย นอกจากนั้นการต่อสู้ยังมีเนื้อหาทางการเมืองมากขึ้น มีการเผยแพร่อุดมการณ์ทางชนชั้น คนงานบางส่วนพยายามจัดตั้งพรรคการเมืองหรือเข้าทำแนวร่วมกับผู้นำทางการเมือง บางคนสมัครรับเลือกตั้งในนามคนงาน เป็นต้น
เงื่อนไขประการสำคัญที่ทำให้การเคลื่อนไหวในช่วงนี้มีลักษณะดังกล่าว คือ อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและการขยายตัวของลัทธิสังคมนิยมในระหว่างประเทศ กล่าวคือ พรรคคอมมิวนิสต์ได้ส่งผู้ปฏิบัติงานเข้าจัดตั้งคนงานตามโรงงานต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ของพรรค ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ปฎิบัติงานของพรรคคอมมิวนิสต์บางคนอาศัยรูปแบบที่ถูกกฎหมายของสหอาชีวะกรรมกรเป็นเกราะในการเคลื่อนไหว ในหมู่คนจีน การเคลื่อนไหวค่อนข้างได้ผล ส่วนในหมู่คนงานไทยตามบริษัทรถราง (ซึ่งได้เปลี่ยนมาเป็นของรัฐบาล) และในโรงงานมักกะสันนั้น อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์มไม่ค่อยชัดเจนเท่ากับในหมู่คนจีนซึ่งคุ้นกับการเคลื่อนไหวแบบลับ ๆ มานานแล้ว
แม้ว่าการขยายอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จะส่งผลให้คนงานมีการจัดตั้งเป็นปึกแผ่นมากขึ้น และมีจังหวะก้าวในการเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้น ตลอจนมียุทธวิธีในการต่อสู้ที่พลิกแพลงมากขึ้นก็ตาม แต่ทำให้รัฐบาลเพ็งเล็งและตั้งข้อสงสัยว่าคนงานหลายกลุ่มตกอยู่ภายใต้การชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์โดยสิ้นเชิง การโต้ตอบจากรัฐบาลจึงรุนแรงขึ้น มีการตั้งสมาคมกรรมกรไทยเพื่อแทรกแซงขบวนการคนงานและดึงเอาคนงานบางส่วนไปเป็นพวก โดยอาศัยอุดมการณ์ชาตินิยม ปลุกเร้าให้คนงานไทยรู้สึกว่าคนจีนแย่งงานพวกตนและเป็นศัตรูของชาติ นอกจากนั้นรัฐบาลยังใช้วัฒนธรรมดั้งเดิมมาเป็นเครื่องมือดึงความจงรักภักดีของคนงาน ทำให้คนงานเห็นว่าการต่อสู้เพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างงานโดยอาศัยการจัดตั้งและอาศัยพลังงานของคนงานเองดูเหมือนเป็นสิ่งไม่จำเป็น นอกจากนั้น การจัดตั้งของคนงานบางส่วนยังถูกนายตำรวจบางคนเข้ามาใช้สร้างผลประโยชน์ส่วนตัว เช่น การจัดตั้งสมาคมเสรีแรงงานโดยพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเผยแพร่หลายในหมู่พ่อค้า แม้ค้ารายย่อย คนขับสามล้อและแท็กซี่ เป็นต้น ขบวนการแรงงานในช่วงนี้จึงเริ่มเกิดความแตกแยกทั้งในด้านทิศทางและยุทธิวิธีในการต่อสู้
การเคลื่อนไหวเด่น ๆ ในระยะก่อน พ.ศ.2500 ที่ปรากฎเช่น การเรียกร้องกฎหมายแรงงานซึ่งนำโดยสหอาชีวะกรรมกรและกรรมกร 16 หน่วย การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีนัยสำคัญ คือ เป็นการที่คนงานพยายามใช้อำนาจของกฎหมายเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และในการแบ่งปันผลประโยชน์อันเกิดจากการทำงาน มีการต่อสู้ให้สหภาพแรงงานเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนงานพยายามสร้างหลักประกันให้ตนเองมีอำนาจในการเจรจาต่อรอง เพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างงาน และเป็นเสมือนเส้นแบ่งความแตกต่างระหว่างการเคลื่อนไหวในช่วงนี้กับช่วงก่อนหน้านี้ กล่าวคือ ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง คนงานยังต่อสู้เพื่อปากท้องภายในกรอบของระบบความสัมพันธ์ระหว่างนายกับบ่าว อันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนทำงานภายในครัวเรือนการเกษตร คนงานยังหวังความเมตตาจากนายจ้าง หวังจะให้นายจ้างสมัยใหม่ยอมรับเอาคุณธรรมของนายแบบสังคมเกษตรมาเป็นเกณฑ์ในการสร้างงาน แต่ภายใต้การนำของสหอาชีวะกรรมกร คนงานเริ่มมีจิตสำนึกแบบคนงานสมัยใหม่มากขึ้น คือ เห็นว่าควรจะมีกฎหมายที่มาจำกัดอำนาจของนายจ้างลงเสียบ้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นลักษณะที่ก้าวหน้าของคนงานที่เริ่มเปลี่ยนแปลงมาจาก “ผู้ถูกกระทำ” มาเป็น “ฝ่ายกระทำ” มากขึ้น การเรียกร้องให้มีกฎหมายแรงงานแสดงให้เห็นอีกว่า คนงานแม้ว่าจะยังมีจำนวนน้อยมากในสังคมไทยขณะนั้น แต่เริ่มมองเห็นว่าตนเองมีผลประโยชน์ที่แตกต่างจากกลุ่มอาชีพอื่นแล้ว
อย่างไรก็ตาม คนงานไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาขบวนการของตนมากนัก เพราะหลังจากที่กฎหมายแรงฉบับ พ.ศ. 2499 ประกาศใช้ได้ไม่นาน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็ทำการปฏิวัติ และล้มเลิกกฎหมายแรงงานฉบับดังกล่าว ตลอดจนจับกุมผู้นำคนงานอันเป็นผลให้ขบวนการแรงงานไทยลดบทบาทลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง[1]
การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกรรมกร
กรรมกรรถรางโดยการนำของนายถวัติ ฤทธิเดช นายกสมาคม ได้ยื่นฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในคดีอาญา แต่กลับถูกฟ้องในข้อหาเป็นกบฎและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในภายหลังนายถวัติและกรรมกรได้ขอขมาและถวายฎีการขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งรัชกาลที่ 7 มิได้เอาโทษแต่ประการใด ต่อมาในพ.ศ.2476 สมาคมกรรมกรรถรางรวมกับกรรมกรรถไฟมักกะสัน กรรมกรว่างงานและกรรมกรอื่น ๆ ไปชุมนุมหน้าวังปารุสกวัน เพื่อแสดงความอาลัยต่อพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช พันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์ พันโทประศาส์นพิทยายุทธ ที่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีและลาออกจากราชการทหาร และได้ส่งโทรเลขกราบบังคับทูลรัชกาลที่ 7 ที่พระราชวังไกลกังวล ขอให้สอบสวนถึงการลาออกของนายทหารทั้ง 4 คน
ในระยะต่อสมาคมกรรมกรรถรางได้ยื่นกล่าวหารัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาว่าปฏิบัติไม่ชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญในการปิดสภาผู้แทนราษฎร เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี กรรมกรรถรางและกรรมกรอื่น ๆ ได้ไปร่วมแสดงความยินดี ต่อมาได้ร่วมกับบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอความเห็นถึงรัฐบาลว่า นายพันตรีหลวงกาจสงครามสร้างบุญคุณให้แก่ชาติในการปราบปรามกบฎบวรเดช เพราะฉะนั้นควรที่จะได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีด้วยผู้หนึ่ง แม้แต่บรรดากรรรมกรว่างงานโดยการนำของนายพัน น้อยประไพได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาให้งดการประหารชีวิตนักโทษกบฎ 3 คน ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้แทนกรรมกรและราษฎรคณะต่าง ๆ ในพ.ศ.2477 ต่อมาเมื่อกรรมกรโรงสีนัดหยุดงานและรัฐบาลได้เนรเทศหัวหน้ากรรมกรถึง 7 คน ร้อยโททองคำ คล้ายโอภาส นายกสมาคมอนุกูลกรรมกร ยื่นเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีขอให้ยกเลิกการเนรเทศ และพ.ศ.2480 กรรมกรได้ส่งสมาชิกจำนวน 13 คน ลงเลือกตั้งทั่วไป แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
สรุปได้ว่า ในระหว่างพ.ศ.2475-2480 กรรมกรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองมากที่สุดยุคหนึ่ง โดยเฉพาะสมาคมกรรมกรรถรางซึ่งเป็นสมาคมที่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนั้นก็มีกรรมกรประเภทอื่น ๆ ด้วย อันเนื่องมาจากประเทศไทยเพิ่งจะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เป็นเหตุให้กรรมกรคิดว่าตนเองมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น [2]
ที่มา
ฉลอง สุนทราวาณิชย์ และคณะ (บรรณาธิการ). ประวัติศาสตร์แรงงานไทย ฉบับกู้ศักดิ์ศรีกรรมกร.กรุงเทพฯ: เอดิสัน เพรส โพรดักส์, 2541.
ดำริ เรืองสุธรรม. ขบวนการแรงงานไทยในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองกรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2544.
พรรณี บัวเล็ก. กุลีลากรถกับประวัติศาสตร์แรงงานไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2542.
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. แรงงานวิจารณ์เจ้า. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2547.
สังศิต พิริยะรังสรรค์. ประวัติการต่อสู้ของกรรมกรไทย. กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์, 2529.
อ้างอิง
- ↑ กรรณชฎา พูนพนิช, “ประวัติศาสตร์ขบวนการสหภาพแรงงานไทยยุคเริ่มต้นถึงพ.ศ.2500,”ใน ฉลอง สุนทราวาณิชย์ และคณะ (บรรณาธิการ), ประวัติศาสตร์แรงงานไทย ฉบับกู้ศักดิ์ศรีกรรมกร(กรุงเทพฯ: เอดิสัน เพรส โพรดักส์, 2541), หน้า 120-125.
- ↑ จงใจรัก ปกพัฒนกุล, “นโยบายของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับกรรมกรระหว่างพ.ศ.2475-2499,” ใน ฉลอง สุนทราวาณิชย์ และคณะ (บรรณาธิการ), ประวัติศาสตร์แรงงานไทย ฉบับกู้ศักดิ์ศรีกรรมกร, หน้า 142-143.