โครงการท่อส่งก๊าซไทย-พม่า
ผู้เรียบเรียง นิตยาภรณ์ พรมปัญญา
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
โครงการท่อส่งก๊าซไทย-พม่า
โครงการท่อส่งก๊าซไทย-พม่า เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมด้านชายฝั่งตะวันตก โดยได้เริ่มในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ทางรัฐบาล เริ่มจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ได้รับมติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2536 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้เร่งรัดการจัดหาก๊าซธรรมชาติโดยเจรจารับซื้อก๊าซจากแหล่งยาดานาและเยตากุนของสหภาพพม่า เพื่อให้ทันกับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จังหวัดราชบุรี มีขนาดกําลังการผลิต 4,600 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2541 ซึ่งสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ทั่วประเทศ และตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2537 ให้ ปตท. เร่งจัดหาก๊าซใหผู้ผลิตไฟฟ้าอื่นที่จะเกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงภายใต้เงื่อนไขเดียวกับ กฟผ. เพื่อให้มีพลังงานจากก๊าซธรรมชาติเพียงพอต่อการใช้งานซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันชในปี 2543และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากรัฐบาลทหารพม่าเป็นระยะเวลา 30 ปี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 โดยกำหนดจุดรับก๊าซที่บ้าน อีต่อง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และวางท่อส่งก๊าซเชื่อมไปยังโรงฟ้าราชบุรี มีกำหนดให้การก่อสร้างเสร็จสิ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 โครงการนี้ถูกคัดค้านอย่างมาก เนื่องจากมีปัญหาใน 2 ประเด็นที่สำคัญ คือ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการด้านประเทศสหภาพพม่า และปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการวางท่อก๊าซผ่านผืนป่าอนุรักษ์ และป่าลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ที่เป็นป่าต้นน้ำในฝั่งไทย[1]
โครงการนี้เป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง บริษัทโทเทลของฝรั่งเศส (ร้อยละ 31.24) บริษัทยูโนแคลของสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 28.26) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตเลี่ยม (ปตท. สผ.) (ร้อยละ 25.5) และบริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งสหภาพพม่า (ร้อยละ 15) มูลค่าการลงทุนประมาณ 1,400 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ปริมาณก๊าซที่ขุดเจาะได้ร้อยละ 80 เป็นส่วนที่ทาง ปตท. รับซื้อ ที่เหลือร้อยละ 20 เป็นส่วนที่ทางสหภาพพม่าเก็บไว้ใช้ในประเทศ โดยก๊าซจะถูกส่งมาจากแหล่งดายานาที่อยู่ในอ่าวเมาะตะมะของประเทศสหภาพพม่า ผ่านมาทางท่อส่งใต้ทะเล ไทยจะทำการรับซื้อก๊าซ ณ จุดรับก๊าซที่บ้านอีต่อง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมี ปตท. (การปิโตเลียมแห่งประเทศไทย ในเวลานั้น) เป็นผู้ทำสัญญารับซื้อเป็นระยะเวลา 30 ปี จากนั้นจึงนำมาขายต่อให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีสัญญาซื้อขายมูลค่าราว 3 แสนล้านบาท[2]
ประเด็นปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของการลงทุนในครั้งนี้ ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายนับตั้งแต่บริษัทโทเทลได้ทำการจ่ายเงินค่าสัมปทานสำหรับการขุดเจาะก๊าซเป็นจำนวน 15 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ให้กับรัฐบาลทหารของพม่าในปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992 ) แล้วตามมาด้วยข่าวการสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของรัฐบาลทหารพม่าหลังจากได้รับเงินก้อนดังกล่าว ฝ่ายที่คัดค้านการให้สัมปทานในการขุดเจาะและขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา เชื่อว่าโครงการนี้จะทำรายได้ให้กับรัฐบาลทหารพม่า ปีละ 400 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นคิดเป็นร้อยละ 65 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ ซึ่งฝ่ายที่คัดค้านเชื่อว่ารายได้ของการลงทุนของต่างชาติในพม่า จะถูกนำไปใช้เป็นงบประมาณสำหรับกองทัพมากกว่า การกระจายรายได้ออกไปสู่คนส่วนใหญ่ของประเทศ[3] การเรียกร้องในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่มีต่อรัฐบาลทหารพม่าได้กลายมาเป็นข้อเรียกร้องที่มีต่อรับบาลไทยด้วยจากฝ่ายที่คัดค้าน แต่ท่าทีของรัฐบาลไทยต่อการเรียกร้อง คือการมองว่าเป็นปัญหาภายในประเทศของสหภาพพม่าที่ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว[4]
แต่สำหรับขบวนการเคลื่อไหวในที่ต่าง ๆ ทั่วโลกประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะพื้นที่สำหรับการวางท่อก๊าซ มายังจุดรับก๊าซที่บ้านอีต่องในประเทศไทยนั้น เป็นพื้นที่ ๆ รัฐบาลทหารพม่าเรียกว่าพื้นที่สีดำ ( Black Area) หมายถึงพื้นที่ ๆ รัฐบาลทหารพม่าไม่สามารถควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เนื่องจากเป็นที่ซ่องสุมกำลังของชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม ได้แก่ กองกำลังกระเหรี่ยง มอญ และทวาย ที่รัฐบาลพยายามปราบปรามมานานกว่า 40 ปี แต่ยังไม่สำเร็จ การสร้างท่อก๊าซเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว กลายเป็นแผนยุทธศาสตร์ในการกวาดล้างกองกำลังชนกลุ่มน้อย กองกำลังทหารที่เข้าไปดูแลท่อก๊าซ บีบคับชาวบ้านให้มีการย้ายถิ่นฐานเพื่อการวางท่อก๊าซ และได้ทำการเกณฑ์แรงงานมาเพื่อสร้างทางรถไฟขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้าง สร้างค่ายทหารและค่ายพักสำหรับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างท่อก๊าซ และยังมีข้อมูลแสดงถึงการกระทำทารุณกรรมต่าง ๆ ต่อชาวบ้านตามแนวท่อนั้น[5] ทำให้มีการฟ้องร้องบริษัทยูโนแคล หนึ่งในผู้ร่วมทุน เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 ยังศาลแขวงเมืองลอสแองเจลลิส ในสหรัฐอเมริกา ในขณะนั้นได้มีการออกกฎหมายใหม่ให้มีการบอยคอตบริษัทธุรกิจอเมริกันที่ไปลงทุนในประเทศสหภาพพม่า ซึ่งคดีถึงที่สิ้นสุดด้วยการที่ศาล
ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งในการสร้างท่อก๊าซโดยเฉพาะในส่วนของท่อที่วางในประเทศไทยมีส่วนที่ต้องผ่านเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยคเป็นระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร โดยผ่านพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม 44 กิโลเมตร(ตามคำชี้แจงของ ปตท.) และพื้นที่ป่าสงวนห้วยเขย่ง ที่กรมป่าไม้กำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้น 1 เอ ที่กำลังจะยกฐานะเป็นอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิอีก 6 กิโลเมตร[6] มูลค่าการลงทุนของการวางท่อก๊าซในฝั่งไทยมีมูลค่าราว 16,500 ล้านบาท ประเด็นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมนี้ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยมี “กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์” ที่เป็นกลุ่มชาวบ้านในจังหวัดกาญจนบุรีเป็นหัวขบวน กลุ่มนี้เคยรณงค์คัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจน การฝังกลบสารเคมีจากคลองเตยในจังหวัดกาญจนบุรีมาก่อน[7] ร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ เช่น กลุ่มนักศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุยชน ที่ใช้มาตรการปิดป่าโดยเข้ามาพักแรมในป่าขวางทางแนววางท่อก๊าซตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2540 คนสำคัญคนหนึ่งที่ต่อมาได้เข้ามาร่วมปิดป่าได้แก่ ส.ศิวรักษ์ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์) นักเคลื่อนไหวคนสำคัญ การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ นี้ มีการให้ข้อมูลกับสังคมถึงอีกความจริงอีกด้านหนึ่งของโครงการ เช่น โครงการท่อก๊าซผ่านการอนุมัติแบบลัดขั้นตอน ผิดพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มีการอนุมัติโครงการไปก่อนแล้วศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามหลัง, การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ใช้เวลาน้อยเกินไป, จะเกิดผลกระทบต่อสัตว์หายากเช่น ค้างคาวกิตติ ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกและมีที่เดียวอยู่ในแนวท่อก๊าซ ปูราชินีที่พบแห่งเดียวในโลกและมีถิ่นอาศัยในบริเวณแนวท่อก๊าซ เป็นต้น[8] เมื่อต้องเผชิญหน้ากับแรงต้านที่มีมากขึ้นทำให้รัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ได้สั่งระงับการวางท่อเป็นเวลา 10 วัน และให้ฝ่ายที่คัดค้านถอยออกจากแนววางท่อ ก่อนจะทำการแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งท่อก๊าซ มารับฟังข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่าย และสรุปเรื่องทั้งหมดนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อทำการตัดสินใจว่าจะดำเนินโครงการนี้ต่อไปอย่างไร ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2541 คณะกรรมการชุดนี้มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และยังประกอบไปด้วยผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในสังคมอีกหลายคน[9] โดยใช้เวลารับฟังตั้งแต่วันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ หลังจากใช้เวลา 5 วันในการรับฟัง คณะกรรมการฯ สรุปว่า โครงการมีความไม่โปร่งใส ประชาชนมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูล และมีสิทธิในการคัดค้านอย่างสงบสันติ ผู้รับผิดชอบโครงการไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาต่าง ๆ อย่างรอบด้าน[10] อย่างไรก็ดี นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทำการวางท่อก๊าซต่อไปได้ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 ทำให้ ส.ศิวรักษ์ เดินทางเข้าไปนอนขวางทางท่อก๊าซอีกครั้ง ก่อนจะถูกจับกุมในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2541[11] เหตุผลสำคัญของ ปตท. ในการไม่ยอมเปลี่ยนแนวท่อจากในป่าออกไปวางตามแนวถนน คือข้ออ้างเรื่องการลงทุนที่ต้องลงทุนเพิ่มอีกราว 2,800 ล้านบาท[12] และเหตุผลสำคัญที่ไม่สามารถยกเลิกโครงการได้ มาจากข้ออ้างในเรื่องความต้องการพลังงานของประเทศที่มีการพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าถึงความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่ปรากฏว่าไม่เป็นจริงทั้งเรื่องความต้องการพลังงานและการก่อสร้างโรงไฟฟ้าราชบุรีที่เสร็จไม่ทันตามกำหนด 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 กำหนดการรับซื้อก๊าซ
อ้างอิง
- ↑ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สัมภาษณ์, “แม่ค้าผู้นำการปิดป่าขวางโครงการท่อส่งก๊าซไทย-พม่า” สัมภาษณ์, สารคดี ฉบับที่ 156 ปีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 หน้า84 (84-94)
- ↑ กุลิดา สามะพุทธิ, “โครงการท่อส่งก๊าซไทย-พม่า : 700 กิโลเมตรบนความขัดแย้ง”, สารคดี ฉบับที่ 156 ปีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 หน้า 72 (62-82)
- ↑ กุลธิดา สามะพุทธิ, “โครงการท่อส่งก๊าซไทย-พม่า : 700 กิโลเมตรบนความขัดแย้ง”, สารคดี ฉบับที่ 156 ปีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 หน้า 72-73.
- ↑ กุลธิดา สามะพุทธิ, “โครงการท่อส่งก๊าซไทย-พม่า : 700 กิโลเมตรบนความขัดแย้ง”, สารคดี ฉบับที่ 156 ปีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 หน้า 73.
- ↑ เรื่องเดียวกัน, หน้า 73-74.
- ↑ ทีมงานอาทิตย์รายสัปดาห์, “ท่อก๊าซไทย-พม่า กรรมสนองกรรม,” อาทิตย์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 1044 วันที่ 13-19 มิถุนายน 2540, หน้า 16 (14-20)
- ↑ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สัมภาษณ์, “แม่ค้าผู้นำการปิดป่าขวางโครงการท่อส่งก๊าซไทย-พม่า” สัมภาษณ์, สารคดี ฉบับที่ 156 ปีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 หน้า84-88.
- ↑ กุลธิดา สามะพุทธิ, “โครงการท่อส่งก๊าซไทย-พม่า : 700 กิโลเมตรบนความขัดแย้ง”, สารคดี ฉบับที่ 156 ปีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 หน้า 76-78.
- ↑ มติชนสุดสัปดาห์, ปีที่ 18 ฉบับที่ 913 (17 กุมภาพันธ์ 2541), หน้า 7.
- ↑ ศาศวัต เพ่งแพ, “ ความขัดแย้งและการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทย :ศึกษากรณีโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซยาดานา,” วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2543, หน้า 6.
- ↑ “ไพ่โง่ ปชป. จับ ส.ศิวรักษ์ (กักขังฉันเถิด กักขังไป)”, มติชนสุดสัปดาห์, ปีที่ 18 ฉบับที่ 916 ( 10 มีนาคม 2541), หน้า 10.
- ↑ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สัมภาษณ์, “แม่ค้าผู้นำการปิดป่าขวางโครงการท่อส่งก๊าซไทย-พม่า” สัมภาษณ์, สารคดี ฉบับที่ 156 ปีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551, หน้า89-90.