คณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:59, 17 มีนาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ---- '''ผู้ทรงค...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


คณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

เป็นชื่อคณะบุคคลซึ่งก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงหัวค่ำคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะบุคคลคณะนี้ประกอบด้วยผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ (กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คือ

พลเอก สนธิ บุญรัตนกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้า คปค.

พลเอก เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานที่ปรึกษา คปค.

พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุก ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นรองหัวหน้า คปค. คนที่ 1

พลเรือเอกสถิรพันธ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นรองหัวหน้า คปค. คนที่ 2

พลตำรวจเอกโกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองหัวหน้า คปค. คนที่ 3

พลเอกวินัย ภัททิยะกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นเลขาธิการ คปค.

ชื่อคณะรัฐประหารคือ “คณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คปค.) ปรากฏต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในแถลงการณ์ยึดอำนาจที่ถูกอ่านทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่องในเวลา 23.00 น. ของวันที่ 19 กันยายน 2549

ต่อมาคณะบุคคลคณะนี้ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในเวลา 00.19 น. ของวันที่ 20 กันยายน 2549 ทั้งนี้ ภาพนิ่งและภาพถ่ายเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนในเวลาต่อมา แสดงให้เห็นว่ามี พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ร่วมในการเข้าเฝ้าฯ ครั้งนั้นด้วย ทว่าพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่สามารถรับฟังได้ชัดเจน

คปค. ปรากฏตัวทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการในเช้าวันที่ 20 กันยายน 2549 มี พล.อ. สนธิบุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. เป็นผู้อ่านแถลงการณ์พร้อมผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

คปค. มีชื่อภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการว่า “Council for Democratic Reform under Constitutional Monarchy” (CDRM) ช่วงแรกหลังการรัฐประหาร สื่อมวลชนต่างประเทศรายงานชื่อคณะรัฐประหารไปหลายลักษณะ อาทิ “Council of Administrative Reform” – คณะปฏิรูปการปกครอง (เดอะการ์เดี้ยน) “Council of Administrative Reform with king Bhumibol Adulyadej as head of state” - คณะปฏิรูปการปกครองอันมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็นประมุข (เอพี) “a ‘Council of Administrative Reform’ including the military and the police had siezed power in the name of the King Bhumibol Adulyadej.” – คณะปฏิรูปการปกครองอันประกอบด้วยกองทัพและตำรวจได้ยึดอำนาจในพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (อินเตอร์เนชั่นแนล เฮรัลด์ ทรีบูน)

ทำให้ต่อมา คปค. ตัดคำว่า “under Constitutional Monarchy” ในชื่อภาษาอังกฤษออกเพื่อไม่ให้สื่อมวลชนต่างประเทศตีความว่าการรัฐประหารครั้งนี้เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์โดยชื่อภาษาไทยยังคงใช้ตามเดิม

คปค. จัดส่วนการทำงานภายในองค์กรเป็น 8 ส่วน คือ

ส่วนบริหาร พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด มีผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นคณะบริหาร มีที่ทำการที่กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ออกคำสั่งและประกาศต่างๆ และควบคุมการบริหารงานของระบบราชการทั้งหมด

ส่วนที่สอง สำนักงานเลขาธิการ มี พล.อ. วินัย ภัททิยะกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ดำเนินงานด้านธุรการให้คณะผู้บริหาร คปค. กลั่นกรองคำสั่ง แถลงการณ์ต่างๆ นำเสนอกับหัวหน้า คปค. ก่อนนำไปประกาศต่อสาธารณชน

ส่วนที่สาม สำนักที่ปรึกษา มี พล.อ. เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน้าที่ให้คำปรึกษากับ คปค.

ส่วนที่สี่ ฝ่ายกิจการพิเศษ มีเลขาธิการฝ่ายกิจการพิเศษเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน้าที่อำนวยการ ประสานงาน ตามที่ คปค. สั่ง

ส่วนที่ห้า สำนักโฆษก มีหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารกับสื่อมวลชน มีคณะทำงานทั้งหมด 9 คน คือ

พลโทพลางกูร กล้าหาญ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร เป็น โฆษก คปค.

พลตรีทวีป เนตรนิยม เจ้ากรมสารนิเทศ กองบัญชาการทหารสูงสุด เป็นรองโฆษก คปค.

พันเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รองเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร เป็นรองโฆษกฝ่ายปฎิบัติการ

พันเอกอัคร ทิพยโรจน์ เป็นผู้ช่วยโฆษก คปค.

พันเอกหญิงศิริจันทร์ งาทอง เป็นผู้ช่วยโฆษก คปค.

พันโทศนิโรจน์ ธรรมยศ เป็นผู้ช่วยโฆษก คปค.

นาวาโทสุรสันต์ คงสิริ (รน.) เป็นผู้ช่วยโฆษก คปค.

เรือโทหญิงวรศุลี ทองดี (รน.) เป็นผู่ช่วยโฆษก คปค.

ร้อยเอกนายแพทย์ยงยุทธ มัยลาภ เป็นคณะทำงานโฆษก คปค.

พันเอกชาญชัย ร่มเย็น เป็นคณะทำงานโฆษก คปค.

ส่วนที่หก ทีมโฆษกผู้อ่านแถลงการณ์และคำสั่งต่างๆ ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุที่มีสถานีวิทยุกองทัพบกช่อง 5 เป็นแม่ข่าย มีคณะทำงานทั้งหมด 10 คน คือ

พลตรีประพาศ สกุนตนาค ที่ปรึกษาสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5

นางสาวทวินินท์ คงราญ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ททบ. 5

นายกันตชาติ เกษมสันต์ ณ อยุธยา ผู้ประกาศข่าว ททบ. 5

นายมันัส ตั้งสุข ผู้ประกาศข่าว ททบ. 5

พันตรีหญิงดวงกมล เทวพิทักษ์ ผู้ประกาศข่าว ททบ. 5

นายสิทธิชาติ บุญมานนท์ ผู้ประกาศข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

นายชาญชัย กายสิทธิ์ ผู้ประกาศข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

นางศศินา วิมุตตานนท์ ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7

นางสาวปานรพี ระพิพันธ์ ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7

นางสาวศศิวรรณ เลิศวิริยะประภา ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไอทีวี

ส่วนที่เจ็ด คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ให้คำปรึกษา คปค. เกี่ยวกับการออกประกาศและคำสั่งต่างๆ ตั้งแต่ช่วงดำเนินการยึดอำนาจในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะทำงานประกอบด้วย

นายมีชัย ฤชุพันธ์

นายวิษณุ เครืองาม

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

นายไพศาล พืชมงคล

นายบรรเจิด สิงคะเนติ

คปค. บริหารประเทศตั้งแต่คืนวันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ซึ่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ก็แปรสภาพเป็น “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.) หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Council of National Security (CNS)

ตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 คมช. มีหน้าที่

1. ประธาน คมช. เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและมีอำนาจในการปลดนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง

2.ประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อร่วมกันพิจารณาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติและการปรึกษาหารือในเรื่องอื่นๆ

3.ลงนามสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมาชิกสมัชชาแห่งชาติที่จะตั้งขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

4.ในกรณีสมาชิกสมัชชาแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ไม่แล้วเสร็จ (การเลือกกันเอง) ภายในกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ คมช. จะคัดเลือกสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ 100 คน เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

5.ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ประธาน คมช. แนะนำผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน เข้าเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

6. กรณีสภาร่างรัฐธรรมนูญหมดวาระลงโดยที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จในกำหนดเวลา หรือรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ คมช. จะประชุมร่วมกับ ครม. พิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่เคยประกาศใช้มาแล้วฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงให้แล้วเสร็จใน 30 วัน แล้วประกาศใช้

โดย คปค. ยังได้ออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 24 มารองรับด้วยการแต่งตั้ง ประธาน คปค. เป็น หัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ รองหัวหน้า คปค. เป็นรองหัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ สมาชิก คปค. เป็น สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการ คปค. เป็นเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ผู้ช่วยเลขาธิการ คปค. เป็น ผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ

คมช. จัดส่วนการบริหารงานเป็น 2 ส่วนย่อยนอกจากผู้บริหารคือ สำนักงานเลขาธิการ (สลธ.คมช.) และศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ (ศปศ.คมช.) หัวหน้า คมช. คือ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เมื่อมีคณะรัฐมนตรีแล้ว คมช. ทำหน้าที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงและดำเนินการเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนงานบริหารอื่นๆ นั้นเป็นของคณะรัฐมนตรีที่มี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่าง คปค. บริหารประเทศ มีการออกแถลงการณ์และคำสั่งทั้งหมด 37 ฉบับ (ลงหมายเลขทั้งหมด 36 ฉบับ ฉบับที่ประกาศแต่งตั้งหัวหน้า คปค. ไม่มีการลงหมายเลข) หลังจาก คปค. เปลี่ยนเป็น คมช. แล้ว ก็มีการประชุมและมีการแถลงข่าวหลังการประชุมทุกสัปดาห์เช่นเดียวกับการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล โดยช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคม 2550 ไม่นาน พล.อ. สนธิ ได้ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย ก่อนที่ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 จะลาออกจากประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเพื่อมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ โดย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก เข้ารักษาการณ์ในตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติแทน โดย คมช. ชุดสุดท้ายก่อนพ้นจากตำแหน่งนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลจำนวนหนึ่งอันเนื่องมาจากการเกษียณอายุราชการและการปรับเปลี่ยนตำแหน่งบางตำแหน่งในหน่วยงานคุมกำลัง โดย คมช. ชุดสุดท้ายประกอบไปด้วยบุคคลดังนี้

พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก เป็นรักษาการณ์ประธาน คมช.

พล.ร.อ. สถิรพันธ์ เกยานนท์ เป็นสมาชิก คมช.

พล.อ. บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นสมาชิก คมช.

พล.ต.อ. เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส เป็นสมาชิก คมช.

พล.อ. วินัย ภัททิยะกุล เป็นเลขาธิการ คมช.

พล.อ. สะพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ คมช.

พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ คมช.

คมช. สิ้นสภาพลงเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคม 2550 เสร็จสิ้น โดย พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุก แถลงผลการทำงานทั้งหมดในวัน ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 ขณะมีการจัดตั้งรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ซึ่งได้รับเสียงข้างมาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550

ในแง่รัฐศาสตร์ คปค. ยึดอำนาจสำเร็จจากการทำ “รัฐประหาร” ในคืนวันที่ 19 กันยายน จึงพ้นข้อหา “กบฏ” ซึ่งความเป็นจริงการกระทำนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 63 ที่ระบุว่า

“บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

“ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้รู้เห็นการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้”

ในเมืองไทย ในแง่นิติศาสตร์ ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร ถ้าคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้สำเร็จก็มักกลายเป็นผู้ถืออำนาจ (ภาษาทางรัฐศาสตร์เรียกว่า “รัฐาธิปัตย์”) ศาลฎีกาไทยได้รับรองการกระทำรัฐประหารไว้ตั้งแต่มีคำพิพากษาที่ 45/2496 ซึ่งกลายมาเป็นบรรทัดฐานต่อมาจนถึงยุคปัจจุบันความว่า

“...คณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศได้สำเร็จ ย่อมมีอำนาจออก และ ยกเลิก แก้ไข กฎหมายได้ รัฐมนตรีที่แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญซึ่งคณะรัฐประหารได้ประกาศใช้ จึงเป็นรัฐมนตรีโดยชอบ...”

ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย นักกฎหมายคนสำคัญ อธิบายในหมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ว่า “เป็นตัวอย่างอันดีที่จะพิจารณาว่า ศาลยุติธรรมจำต้องยอมรับผลของการปฏิวัติ หรือ รัฐประหารซึ่งได้ทำสำเร็จ และผู้กระทำได้กลายเป็นผู้มีอำนาแท้จริงในรัฐอย่างแน่นอน ... การปฏิวัติ หรือ รัฐประหารนั้น ในครั้งแรกเป็นการผิดกฎหมาย เมื่อใดผู้ทำการปฏิวัติ หรือ รัฐประหารจนสำเร็จบริบูรณ์ ... ก็เป็นรัฐาธิปัตย์มีอำนาจสูงสุดในรัฐ ฉะนั้น จึงอยู่ในฐานะที่จะให้รัฐธรรมนูญใหม่ และยกเลิกกฎหมายเดิม บัญญัติกฎหมายใหม่ตามชอบใจ ในคดีเรื่องนี้ ปรากฏว่า เมื่อมีการรัฐประหารสำเร็จแล้ว ก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2490 ขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวย่อมใช้ได้ในฐานะเป็นรัฐธรรมนูญอันแท้จริง”

อย่างไรก็ตามนักวิชาการทางด้านนิติศาสตร์หลายท่านก็วิพากษ์คำพิพากษานี้ว่า คำพิพากษาและ ศ.ดร.หยุด รับแนวคิดปราชญ์นักกฎหมายชื่อดังชาวอังกฤษชื่อ John Austin ที่ว่า “กฎหมาย คือ คำสั่งของรัฐาธิปัตย์ ที่กำหนดหน้าที่ (Obligation) ให้บุคคลต่าง ๆ ปฏิบัติตาม” แต่ยุคหลังนักกฎหมายฝ่ายเสรีประชาธิปไตยโต้แย้งว่าใช้หลักการเช่นนี้ก็เท่ากับนักกฎหมายยอมรับว่าคนถือ “อำนาจ” ถูกต้อง ไม่ได้ถือ “ความเป็นธรรม” และครรลองที่ถูกต้องเป็นตัวตัดสิน ทั้งนี้รัฐาธิปัตย์ยังมีความไม่แน่นอนใครมีอิทธิพลย่อมขึ้นสู่อำนาจและถืออำนาจได้ ย่อมจะถือเป็นบรรทัดฐานไม่ได้ และศาลก็มี “อำนาจ” ที่จะปฏิเสธอำนาจที่มีที่มาโดยไม่เป็นธรรมเช่นนี้

ที่มา

กองบรรณาธิการมติชน. รัฐประหาร 19 กันยา 49 เรียบแต่ลึก. กรุงเทพฯ : มติชน ,2550.

คำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช 2496. กรุงเทพฯ : เนติบัณฑิตยสภา , 2496.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน , 2545.

รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน , 2550.

นุชจรีย์ ชลคุป แปล ยีน ชาร์ป เขียน. ต้านรัฐประหาร. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง , 2536.

หนังสือแนะนำ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน , 2545.

อ้างอิง