หมวดหมู่:แนวคิดธรรมาภิบาล

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:45, 9 มีนาคม 2554 โดย Ekkachais (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ธรรมาภิบาล''' ธรรมาภิบาล หรือ good governance ในภาษาอังกฤษ ...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ธรรมาภิบาล

  ธรรมาภิบาล หรือ good governance ในภาษาอังกฤษ หมายถึงหลักการบริหารจัดการที่ดี อันเกี่ยวข้องกับนโยบายของส่วนราชการและพฤติกรรมของบุคลากรในองค์การ สำหรับรัฐบาลไทย ได้วางหลักของการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีไว้ว่า ประกอบด้วยหลักการ 6 ประการ ได้แก่ 1) หลักนิติธรรม 2) หลักคุณธรรม 3) หลัก ความโปร่งใส 4) หลักการมีส่วนร่วม 5) หลักความรับผิดชอบ และ 6) หลักความคุ้มค่า 

หลักนิติธรรม หมายถึงการตรากฎหมาย กฎ กติกาที่ถูกต้องเป็นธรรม การบังคับใช้เป็นไปตามกฎ กติกาที่ตกลงกันไว้ คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรมของสมาชิก

หลักคุณธรรม หมายถึงการยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม ส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเอง เพื่อให้มีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริต

หลักความโปร่งใส หมายถึงสุจริตไม่คดโกง หรือมีความหมายตรงกันข้ามกับการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นความหมายในเชิงบวก

หลักการมีส่วนร่วม หมายถึงการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองและทางการบริหาร การตัดสินใจที่เกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากร การให้ข้อมูลแก่ประชาชน การแสดงความคิดเห็น การให้คำปรึกษา การร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมควบคุมงานสาธารณะ

หลักความรับผิดชอบ หมายถึงการตระหนักในสิทธิหน้าที่ สำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจต่อปัญหาสาธารณะ ความกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหาสาธารณะ การเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง และความกล้าหาญที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำของตน

หลักความคุ้มค่า หมายถึงการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม ใช้อย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ แข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน โดยมุ่งประโยชน์สูงสุด (สถาบันพระปกเกล้า 2547, 17-18)

ความแพร่หลายของคำดังกล่าวมีที่มาจากหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น United Nations Development Programme (UNDP), the Asian Development Bank (ADB), และธนาคารโลก หรือ the World Bank ได้มีส่วนช่วยกันผลักดันประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายที่ประสบความล้มเหลวในทางเศรษฐกิจ ให้บริหารจัดการเศรษฐกิจอย่างโปร่งใส ปลอดการทุจริต จึงเป็นที่มาของการใช้คำดังกล่าวกันอย่างแพร่หลายในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทยที่ประสบเศรษฐกิจล้มละลายในปี พ.ศ. 2540

รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต

หน้าในหมวดหมู่ "แนวคิดธรรมาภิบาล"

หมวดหมู่นี้มีอยู่เพียงหน้าต่อไปนี้