หะริน หงสกุล
ผู้เรียบเรียง อัญชลี จวงจันทร์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
พลอากาศเอกหะริน หงสกุล ประธานวุฒิสภาและประธานรัฐสภา
ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา บทบาทของวุฒิสภามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการนิติบัญญัติ ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ กำหนดให้วุฒิสภาทำหน้าที่สำคัญ คือ การเป็นองค์กรกลั่นกรองกฎหมาย ดังนั้น การทำงานของสมาชิกวุฒิสภาในกระบวนการนิติบัญญัติ จึงมีความสำคัญโดยมีประธานวุฒิสภาเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนการปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภา ให้เป็นไปตามขอบเขตอำนาจที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งประธานวุฒิสภาทุกท่านต่างทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างยิ่ง และประธานวุฒิสภาอีกท่านที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง ทางการทหาร และงานเขียนของท่านได้สร้างประโยชน์ต่อวงการหนังสือของไทย คือ ท่านพลอากาศเอกหะริน หงสกุล
ประวัติ
พลอากาศเอกหะริน หงสกุล เกิดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2457 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรของหลวงอานุภาณดิสยานสวรรค์ (เชื่อ หงสกุล) อดีตธรรมการมณฑลพายัพ และพระพี่เลี้ยง หวน (สุรนินทน์) อดีตพระพี่เลี้ยงในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ด้านครอบครัว สมรสกับคุณหญิงสว่างจิตต์ หงสกุล (คฤหานนท์) มีบุตร – ธิดา 3 คน คือ[1] พล.อ.ท.หญิง สหัทยา ประภาวัต คุณหญิงสทนา โสณกุล ณ อยุธยา และพลอากาศโทชวิน หงสกุล
ประวัติการศึกษา
- การศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์
- การศึกษาระดับปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- โรงเรียนนายร้อยทหารบก
- โรงเรียนการบินรุ่น น.4
- โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 26
- วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ชุดที่ 3
- ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในสาขารัฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และพุทธศาสนา
ประวัติการทำงานด้านการทหาร
- ผู้ช่วยทูตทหารอากาศประจำกรุงลอนดอน
- ดำรงตำแหน่งทูตฝ่ายทหารอากาศประจำประเทศอังกฤษ
- รองผู้บัญชาการทหารอากาศ
- ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศ
- เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารอากาศ
- รองเสนาธิการทหารอากาศ
- ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ
- ราชองครักษ์พิเศษ
- นายทหารพิเศษประจำกองพันทหารอากาศโยธินที่ 1 รักษาพระองค์
นอกจากนั้น ยังดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง
บทบาททางการเมือง
- สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (27 สิงหาคม 2505 – 20 มิถุนายน 2511)
- สมาชิกวุฒิสภา (4 กรกฎาคม 2511 – 17 พฤศจิกายน 2514)
- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (16 ธันวาคม 2515 – 11 ธันวาคม 2516)
- สมาชิกวุฒิสภา (26 มกราคม 2518 – 6 ตุลาคม 2519)
- สมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (20 พฤศจิกายน 2519 – 20 ตุลาคม 2520)
- สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (15 พฤศจิกายน 2520 – 22 เมษายน 2522)
- สมาชิกวุฒิสภา (22 เมษายน 2522 – 22 เมษายน 2526)
- ประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และประธานรัฐสภา (28 พฤศจิกายน 2519 – 20 ตุลาคม 2520)
- ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานรัฐสภา (25 พฤศจิกายน 2520 – 22 เมษายน 2522)
- ประธานวุฒิสภาและประธานรัฐสภา (9 พฤษภาคม 2522 – 19 มีนาคม 2526)
ผลงานสำคัญ
การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ประดิษฐานอยู่ที่หน้าอาคารรัฐสภา 1 และยังเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 ภายหลังเหตุการณ์การปฏิรูปการปกครอง สมัย พล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่ อดีตหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519[2]
ผลงานและเกียรติประวัติ
พลอากาศเอกหะริน หงสกุล เป็นนักเขียนที่สนใจการเขียนมาตั้งแต่เป็นนักเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ มีผลงานลงพิมพ์ในแถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์ หนังสือชื่นชุมชนประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ในพระบรมราชูปถัมภ์อย่างต่อเนื่อง หนังสือของกองทัพอากาศ เช่น เสนาสาร, ยุทธโกษ, เสนาศึกษา, ข่าวทหารอากาศ, สารชาวฟ้า, ผู้นำ นอกจากนั้นยังเขียนหนังสืออื่น ๆ เช่น เดลิเมล์วันจันทร์ ต่วยตูน ฯลฯ
หนังสือรวมเล่มได้แก่ พล.อ.อ.หะริน หงสกุล เขียน, พล.อ.อ.หะริน พูด, หนังสือแจกงานศพ, โรงเรียนเตรียมนายก, ข้างรั้วสีเทา, เรื่องสบายใจ 100 เรื่อง, ฯลฯ และยังมีตำราวิชาการทหารอีกหลายเล่ม จนได้รับการยกย่องให้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรตินักเขียนอาวุโส รางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2546
พลอากาศเอกหะริน หงสกุล ได้สร้างเกียรติประวัติที่สำคัญ คือ การดำรงตำแหน่งทูตฝ่ายทหารอากาศประจำประเทศอังกฤษ และยังดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการทหาร คือเป็นรองผู้บัญชาการทหารอากาศ นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อการเมืองของไทย คือ การได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และประธานวุฒิสภาหลายสมัย และยังเป็นประธานสภาระหว่าง พ.ศ. 2519 – 2526 นับว่าผลงานและเกียรติประวัติของพลอากาศเอกหะริน หงสกุล ได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง
พลอากาศเอกหะริน หงสกุล ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา ในช่วงเช้าของวันที่ 10 มีนาคม 2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ หม่อมราชวงศ์เทพกมล เทวกุล องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในการบำเพ็ญกุศล 7 วัน ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพฯ รวมสิริอายุได้ 93 ปี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมและมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก เป็นบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
ศิษย์เก่านายเรืออากาศ, (2529) “หนังสือที่ระลึกฉลองอายุครบ 6 รอบ พลอากาศเอกหะริน หงสกุล ป.จ., ม.ป.ช.,ม.ว.ม. : ราชองครักพิเศษ นายทหารพิเศษประจำกรม”. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมสารบรรณทหารอากาศ.
ศิษย์เก่านายเรืออากาศ, (2529) “หนังสือที่ระลึกฉลองอายุครบ 6 รอบ พลอากาศเอกหะริน หงสกุล 29 สิงหาคม 2529”. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ข่าวทหารอากาศ.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2551) “ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา”. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
ที่มา
ศิษย์เก่านายเรืออากาศ, (2529) “หนังสือที่ระลึกฉลองอายุครบ 6 รอบ พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ป.จ., ม.ป.ช.,ม.ว.ม. : ราชองครักพิเศษ นายทหารพิเศษประจำกรม”. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมสารบรรณทหารอากาศ.
ศิษย์เก่านายเรืออากาศ, (2529) “หนังสือที่ระลึกฉลองอายุครบ 6 รอบ พลอากาศเอก หะริน หงสกุล 29 สิงหาคม 2529”. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ข่าวทหารอากาศ.
สปายหมายเลขหก, (2549) “รัฐธรรมนูญมาตรา 10 กับพระเจ้าอยู่หัว”. บันทึกของพล.อ.อ.หะริน หงสกุล (Homepage). สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, (ค.ศ. 1980) “แม่เล่าให้ฟัง”. สำนักพิมพ์ Silk worm Books, กรุงเทพฯ.