มารุต บุนนาค
ผู้เรียบเรียง ปิยะวรรณ ปานโต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค หรือเป็นที่รู้จักกันในนามทางการเมืองว่า “คุณปู่มารุต” อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองของท่านไว้อย่างชัดเจนในบทสัมภาษณ์ คือ “การเป็นนักการเมืองทุกคน แต่อาจอยู่กันคนละพรรคถึงแม้แต่ละพรรคจะมีนโยบายต่างกัน แต่อุดมการณ์ของเรามันเหมือนกัน คือ เพื่อธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง เพื่อให้บ้านเมืองพัฒนาทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพราะฉะนั้นเราจะต้องช่วยกัน เราต่อสู้กันในทางการเมืองจริง แต่อุดมการณ์อันเดียวกัน คือ พัฒนาบ้านเมืองเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทาง...” [1]
ประวัติส่วนตัว
ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2467 เป็นบุตรของพระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ บุนนาค) กับนางผ่องศรี บุนนาค สกุลเดิม เวภาระ มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน ศาสตราจารย์มารุตเป็นบุตรชายคนสุดท้อง ด้วยวันที่เกิดนั้นมีลมมรสุมอย่างแรง การตั้งชื่อมารุตจึงมีความหมายว่า “Lord of the Wind” หรือเจ้าแห่งพายุ และเมื่อวัยเด็กท่านได้รับการเลี้ยงดูปลูกฝังให้รักความยุติธรรมจากบิดา และมีคุณตาคือขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ไปเรียนกฎหมายในประเทศอังกฤษ สำเร็จเป็นเนติบัณฑิต จากสำนักมิดเดิลเทมเปิลแห่งกรุงลอนดอน เมื่อ ปี พ.ศ. 2430 และกลับมาเมืองไทยได้เข้ารับราชการเป็นที่ปรึกษากฎหมายในกรมท่า ซึ่งเป็นกรมว่าการต่างประเทศ ครั้นต่อมาเมื่อท่านทั้งสองได้มารับราชการที่กระทรวงยุติธรรม ในฐานะเป็นนักกฎหมาย จึงเป็นแรงผลักดันให้ศาสตราจารย์มารุตมีความสนใจที่จะศึกษาวิชากฎหมาย ประกอบกับความคิดที่ว่าเมื่อมีโอกาสข้างหน้าจะรับใช้คนในสังคมทำประโยชน์เพื่อส่วนร่วมในด้านความยุติธรรมต่อไป
เมื่อวัยอันสมควรศาสตราจารย์มารุต ได้สมรสกับคุณหญิงพันทิพา บุนนาค (สกุลเดิม “พันธุ์มณี”) เป็นบุตรของพันตำรวจเอกพิเศษสุนทร กับคุณแม่เครือแก้ว พันธุ์มณี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 ที่จังหวัดลำปาง และมีบุตร 2 คน คือ นางมฤทุ บุนนาค มอริ และนายรุจิระ บุนนาค
ประวัติการศึกษา
- โรงเรียนมาเรียลัย จ.กรุงเทพฯ
- โรงเรียนพญาไทวิทยากร จ.กรุงเทพฯ
- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนศรีสุนทร
- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสีตะบุตร
- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทพศิรินทร์ จ.กรุงเทพฯ
- เตรียมปริญญา (รุ่น 5) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง จ.กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2485 – 2486)
- ปริญญาตรีธรรมศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง จ.กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2490) และเรียนต่อปริญญาโทคณะนิติศาสตร์ เป็นหัวหน้าคณะปริญญาโทและปริญญาเอก
ประวัติการทำงาน
สมัยที่เป็นเด็กชายมารุต บุนนาค ใฝ่ฝันโตขึ้นอยากจะเป็นนายทหาร แต่มีญาติผู้ใหญ่ดูลายมือให้ว่าเติบโตจะเป็น “นักกฎหมาย” ที่มีชื่อเสียงมาก จึงหันมาสนใจด้านภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และตั้งเป้าหมายจะเรียนวิชากฎหมาย เป็นผู้พิพากษาเจริญรอยตามบรรพบุรุษ ซึ่งระหว่างศึกษาหลักสูตรเตรียมปริญญาก็รับราชการเป็นข้าราชการชั้นจัตวา ในกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมาสอบเข้ารับราชการในกระทรวงยุติธรรม ตำแหน่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองบังคับคดีล้มละลาย พร้อมเรียนต่อปริญญาโทคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาเกิดเหตุการณ์ผันผวนทางการเมือง จึงลาออกจากราชการและมาเริ่มต้นทำงานเป็นทนายความที่สำนักงานมณีรัตน์ ต่อมาได้เปิดสำนักงานทนายความเป็นของตัวเอง (มารุต บุนนาค) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2504 – 2520 ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โดยได้ริเริ่มโครงการช่วยเหลือประชาชน และให้คำปรึกษาตลอดจนเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายแก่ประชาชน ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในการทำงานว่าความตลอดระยะเวลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 จนถึงปี พ.ศ. 2524 เป็นเวลาถึง 29 ปี จึงหยุดว่าความ และเริ่มเข้าสู่เส้นทางวงการเมือง
เส้นทางสู่การเมือง
การเริ่มต้นใช้ชีวิตทางการเมืองของศาสตราจารย์มารุต บุนนาค เริ่มแรกเป็นสมาชิกประเภทแต่งตั้งในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อปลายปี พ.ศ. 2516 มีวิกฤติการณ์ทางการเมือง มีการยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนั้น และแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้นจำนวน 2,000 คน คัดเลือกเองให้เหลือ 299 คน และท่านได้รับการคัดเลือกเป็นอันดับที่ 11 ของการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นสมาชิกรัฐสภาชุดแรกที่ได้เข้าใช้อาคารใหม่คือ อาคารรัฐสภาปัจจุบัน ทำหน้าที่อยู่ปีเศษ และปี พ.ศ. 2518 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ทำหน้าที่จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ก็เกิดปฏิรูปการปกครอง จึงได้เข้าสู่เส้นทางทางการเมืองในนามของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี พ.ศ. 2522 และลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรุงเทพมหานคร เขต 2 คือ เขตพญาไท และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาปี พ.ศ. 2526 เส้นทางสู่ประวัติทางการเมืองก็ได้ฉายแววของนักการเมืองอย่างแท้จริง ท่านได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง และครั้งนี้ท่านประสบความสำเร็จได้รับการเลือกตั้งและได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตกรุงเทพมหานคร นับแต่นั้นเป็นต้นมาประสบการทางการเมืองได้ทำให้ท่านมีบทบาทมากขึ้น เช่น ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ สมัย พ.อ. (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (พ.ศ. 2522 – พ.ศ. 2524) ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญที่ผ่านมา ได้แก่
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2524 – พ.ศ. 2526
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (2 สมัย) พ.ศ. 2526 – พ.ศ. 2529 และ พ.ศ. 2532 – พ.ศ. 2533
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2529 – พ.ศ. 2531 เป็นต้น
บทบาทสำคัญทางการเมืองกับตำแหน่งทางการเมือง
ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค กับบทบาททางการเมืองที่สำคัญสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งสุดท้ายในการเลือกตั้งปี 2535 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 และสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้สิ้นสุดลง เพราะมีการยุบสภาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2535 และต่อมาได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 นับเป็นชุดของรัฐสภา ชุดที่ 26 ซึ่งมี 2 สภาคือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยมีสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 360 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วไป และสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 270 คน เป็นสมาชิกชุดเดิม และเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2535 ได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา” ซึ่งเป็นบทบาทแรกของการทำหน้าที่ที่สำคัญก็คือ เป็นผู้นำรายชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี สำหรับในการทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ท่านกล่าวว่าต้องทำตนให้เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่เพราะนักการเมืองไม่ใช่ข้าราชการ หรือบริษัทห้างร้าน ที่จะปกครองในระบบผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องปกครองด้วยเสียงข้างมาก[2] สำหรับในการทำหน้าที่และบทบาทที่สำคัญขณะที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวของศาสตราจารย์มารุตก็คือ การประสานงานร่วมกับท่านประธานวุฒิสภา คือท่านมีชัย ฤชุพันธ์ เกี่ยวกับประเด็นที่ต้องการพัฒนาประชาธิปไตย คือการจัดตั้งสถาบันพระปกเกล้าขึ้น โดยเป็นสถาบันที่มีวัตถุประสงค์หลักก็คือการเผยแพร่ประชาธิปไตย โดยได้ขอพระราชทานนามนี้ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชานุมัติให้ และได้ทดลองทำในปี พ.ศ. 2535 – 2536 และ 2537 ในรูปของคณะกรรมการเผยแพร่ประชาธิปไตยในวิทยาลัยครูทั่วราชอาณาจักร ขณะเดียวกันช่วงดังกล่าวสถานการณ์บ้านเมืองกำลังตึงเครียด ได้พยายามแก้ไขสถานการณ์โดยการตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยขึ้น มีท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ และได้วางรูปแบบแผนงานต่าง ๆ พร้อมส่งให้หัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคนำไปศึกษา เพราะด้วยเหตุผลที่ว่าได้เห็นหลาย ๆ ประเทศได้จัดทำนับเป็นบทบาทและหน้าที่สำคัญในการช่วยเหลือและเป็นการพัฒนาประชาธิปไตย รวมถึงดำเนินการในเรื่องของสวัสดิการแก่ข้าราชการชั้นผู้น้อยในรัฐสภาให้มีที่อยู่อาศัย ตลอดจนมีแนวความคิดริเริ่มในการจัดหาสถานที่สร้างรัฐสภาแห่งใหม่อีกด้วย
การทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรของศาสตราจารย์มารุต บุนนาค เริ่มตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2535 และสิ้นสุดลงด้วยเหตุที่มีการยุบสภาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ในประเด็นปัญหาความไม่ชอบธรรมในการแจกเอกสิทธิ์ ส.ป.ก. 4-01 ทำให้พรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้การนำของนายบรรหาร ศิลปอาชา ยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในการนำเอกสารดังกล่าวไปแจกจ่ายให้กับญาติพี่น้อง และพวกพ้องมิใช่เกษตรกรผู้ยากไร้อันเป็นการขัดต่อกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ส่อไปในทางทุจริต[3] ทำให้ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงได้กำหนดวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ เมื่อวันที่ 17-18 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 แต่เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค เกิดความแตกแยกทางการเมืองในพรรคระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล จนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ในทางการเมืองอย่างมีเอกภาพ จากผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา และการลาออกของพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน สงผลให้นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีต้องประกาศยุบสภาในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 โดยไม่มีการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเหตุให้บทบาทของการทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 18 [4] ของศาสตราจารย์มารุต บุนนาค สิ้นสุดลงทันทีในวันดังกล่าว รวมระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาเป็นเวลา 2 ปี 7 เดือน กับ 27 วัน และเมื่อวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 กับบทบาทประธานชั่วคราวอีกครั้งในการคัดเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เรียนเชิญศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้มีอายุสูงสุดในที่ประชุมทำหน้าที่ประธานชั่วคราวในการกล่าวเปิดการประชุมฯ เพื่อให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เรียนเชิญประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ตามพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งดังกล่าว นับเป็นบทบาทสำคัญอีกครั้งของศาสตราจารย์มารุต บุนนาค จึงขอนำข้อคิดของประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ที่กล่าวไว้ว่า “ประธานรัฐสภาจะต้องกล้าตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาชอบตีรวน หากไม่มีการตัดสินใจขั้นเด็ดขาดอาจทำให้ปัญหาเกิดขึ้นไม่จบสิ้น ดังนั้น สติจึงเป็นเรื่องสำคัญ”[5] และยกตัวอย่างให้เห็นประสบการณ์ในการทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรของท่านที่ผ่านมา เช่น กรณีมีประชุมสภาผู้แทนราษฎร และมีการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมีการใช้ถ้อยคำที่หยาบคายสามหาว หรือพูดจาไม่เรียบร้อย ซึ่งก็ไม่ได้มีทุกคน และบางคนก็ไม่ได้เป็นทุกเวลา มักจะเป็นเวลายับยั้งโทสะไม่ได้ แสดงอะไรมาได้ทุกอย่าง ซึ่งท่านได้ถูกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพูดจารุนแรงขอในสิ่งที่ท่านให้ไม่ได้ และว่าท่านเสียหายมากในที่ประชุมสภา แต่ท่านก็ไม่ได้โต้ตอบอะไร และดำเนินการประชุมต่อไป ซึ่งวันนั้นมีการถ่ายทอดทั้งวิทยุและโทรทัศน์ตามปกติ ช่วงพักท่านลงมาข้างล่าง ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้อภิปรายเดินตามมาที่ห้องพัก พร้อมกล่าวว่า “ท่านประธานครับ ที่ผมทำไปเมื่อกี้ทำไปเพราะโมโห ผมขอประทานโทษด้วย” แต่ท่านได้กล่าวตอบไปว่าผมไม่ได้ถือสาหรอก พร้อมท่านกล่าวตักเตือนว่าต่อไปต้องระมัดระวังก็แล้วกัน จะทำอะไรก็ต้องนึกถึง เพราะเป็นภาพพจน์ของสภา ไม่ใช่ระหว่างคุณกับผมเท่านั้น แต่ผมขอฝากสังเกตไว้ว่า “เวลาคุณว่าผมคนเห็นทั้งประเทศนะ แต่เวลาคุณลงมาขอโทษผม เรารู้กัน 2 คนเท่านั้นน่ะ ก็ฝากไว้แค่นี้"[6] ประสบการณ์ทางการเมือง
ประสบการณ์ทางการเมืองที่ประทับใจของศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ก็คือตอนดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีการเลือกตั้งซ่อมกรุงเทพมหานครได้ไปช่วยพลเอกหาญ ลีลานนท์ หาเสียงเมื่อปี พ.ศ. 2528 ที่เขตบางซื่อ ขณะที่กำลังพูดปราศรัยหาเสียงอยู่บนเวทีอยู่นั้น เกิดฝนตกหนักมาก คนที่มาฟังปราศรัยการหาเสียงก็ไม่ยอมหลบหนีฝน สิ่งนี้เป็นความประทับใจอย่างมากที่เขาให้เกียรติเราอยู่ฟังเราปราศรัย และที่ประทับใจอีกครั้งเมื่อไปหาเสียงแบบเข้าถึงตัว และเป็นต้นแบบที่ไม่มีใครเหมือนก็คือ การเดินเคาะถึงประตูบ้านทุกบ้านในการหาเสียง จึงเป็นจุดเริ่มต้นตามสไตล์การหาเสียงของท่านที่ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในครั้งนั้น
การสนับสนุนนักการเมืองรุ่นใหม่
ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค (คุณปู่มารุต) อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ท่านกล่าวเปิดใจว่าจะขอสนับสนุนนักการเมืองรุ่นใหม่วัยหนุ่มของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าเป็นนักกิจกรรม ที่มีผลงาน และที่สำคัญก็คือมีความซื่อสัตย์สุจริตตรงไปตรงมา สำหรับท่านเองด้วยวัย 84 กว่า ๆ ขอมีเวลาพักผ่อนบ้าง แต่ขอสนับสนุนให้คนอีกรุ่นหนึ่งเข้ามาทำงาน โดยได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “จะไม่ทิ้งพรรคประชาธิปัตย์พร้อมช่วยพรรคทุกกรณี”
ที่ีมา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สัมภาษณ์อดีตประธานรัฐสภาฯ, กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2552) “77 ปี รัฐสภาไทย”, กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, กลุ่มงานทะเบียนประวัติและสถิติ, เอกสารหลักฐานการแสดงตนยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548.
http://www.rut a.com/s/refb/171365 ประวัติย่อ นายมารุต บุนนาค/ สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2552.
www.Coj.go.th/museum/SpPerson/marool/html มารุต บุนนาค/ สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2552.
Mp.parliament.go.th/InPar Org/…Marut/20Boonnat.ht ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค/ สืบค้นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2552.
http://www.thaipolitics government.or/wiki ประธานสภาผู้แทนราษฎร/ สืบค้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552
www.tu.ac.th/org/ofrector/tn-council/record/mard.htm. นายมารุต บุนนาค/ สืบค้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552
http://www.panyathai.ar.th/wiki/index.php ประธานรัฐสภา/ สืบค้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552
http://www.rgt a.com/politics/tay. Share This /สืบค้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552
http://www.parliament.go.th/news/news_detail.php;gtment.Freeforums.org/topic-t1461.htm “คุณปู่” วางมือ แต่ไม่ทิ้งมาร์ค /สืบค้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สรุปผลงานผู้นำฝ่ายค้าในสภาผู้แทนราษฎร, กรุงเทพมหานคร : กลุ่มงานผู้นำฝ่ายค้าในสภาผู้แทนราษฎร, 2550 หน้า 4 – 10.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2552) “77 ปี รัฐสภาไทย”, กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หน้า 36.
ดูเพิ่มเติม
• ประธานสภาผู้แทนราษฎร
• รายนามประธานสภาผู้แทนราษฎร
อ้างอิง
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สัมภาษณ์อดีตประธานรัฐสภาฯ, กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หน้า 57.
- ↑ เรื่องเดียวกัน หน้า 51.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2550) “สรุปผลงานผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”, กรุงเทพมหานคร : กลุ่มงานผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. หน้า 4 – 10.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (2552)”77 ปี รัฐสภาไทย” ”, กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หน้า 36.
- ↑ www.surochate.com/index.php?topic=66.0;wap2 หน้า 2.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, “สัมภาษณ์อดีตประธานรัฐสภาฯ”, กรุงเทพมหานคร : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, หน้า 54 – 55.