สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:41, 4 มีนาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' วัชรา ไชยสาร ---- '''ผู้ทรงคุณวุฒิปร...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง วัชรา ไชยสาร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ พรรณราย ขันธกิจ


สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ถือเป็นองค์กรในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยตรง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน และเมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและองค์ประกอบของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 แล้วจะเห็นได้ว่า “รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่จะให้คณะรัฐมนตรีได้มีข้อมูลที่กว้างขวางจากทุกภาคส่วน เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจ ในการดำเนินนโยบายสาธารณะ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนให้มากที่สุด”

จากที่กล่าวมานั้น สอดคล้องกับคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ในช่วงระยะเริ่มแรก เคยกล่าวไว้ว่า “…การมีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะมาช่วยเสริมในเรื่องการให้ความเห็นอีกด้านหนึ่ง เพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐบาล โดยไม่เกี่ยวกับการบังคับบัญชาและไม่ใช่เรื่องของภาครัฐทำกันอย่าง ที่เคยทำ...”


สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับหลักการ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา”

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ในการบรรยายพิเศษ เรื่อง “บทบาทสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับแนวทางการพัฒนานโยบายสาธารณะ” ในการประชุมของสภา ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ได้กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีความบกพร่องและอ่อนแอเชิงนโยบายสาธารณะ จนถือเป็นโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งการจะมีนโยบายสาธารณะที่ดี และขับเคลื่อนอย่างสัมฤทธิผลจำเป็นต้องอาศัยหลักการที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” หมายถึง ต้องพึ่งพาส่วนประกอบของ 3 มุม คือ ความรู้ การมีส่วนร่วม และอำนาจทางการเมือง “หากขาดมุมหนึ่งมุมใดไปการดำเนินนโยบายจะไม่สามารถเขยื้อนไปได้ ตอนร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ได้คำนึงถึงส่วนนี้แล้วโดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้ดูแลด้านความรู้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดูในด้านสังคม ส่วนรัฐบาลดูอำนาจทางการเมือง...”


การเสริมสร้างเครือข่ายภาคประชาชนของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ดังนั้น ในการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เชิงนโยบายสาธารณะในประเด็นที่สำคัญด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เสนอต่อคณะรัฐมนตรี การให้ความเห็นต่อร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือแผนอื่นตามที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นบทบาทสำคัญของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาประเทศภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่มีประสิทธิภาพ เว้นแต่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งด้อยประสิทธิภาพ หรือมิได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของการมีสภาที่ปรึกษาฯ อย่างแท้จริง

อ้างอิง