ภาคประชาสังคมกลไกเสริมสร้างสภาที่ปรึกษาฯ ให้เข้มแข็ง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:26, 3 มีนาคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' วัชรา ไชยสาร ---- '''ผู้ทรงคุณวุฒิปร...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง วัชรา ไชยสาร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ พรรณราย ขันธกิจ


ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างภาคประชาสังคม สภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรี

สภาที่ปรึกษาฯ ถือเป็นองค์กรสะท้อนปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมจากภาคประชาชนสู่ภาครัฐ เป็นช่องทางการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจ ดำเนินนโยบายของรัฐ ที่ถือเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เลือกผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตนไปแล้วนั้น ได้เข้าไปร่วมกำหนดนโยบาย การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการ และตรวจสอบการทำงานของผู้แทนที่ตนเลือกเข้าไปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งตามระบอบประชาธิปไตยแบบโดยตรง แบบกึ่งโดยตรง แบบผู้แทน แบบมีส่วนร่วม และแบบโดยอ้อม ผสมผสานกัน ดังนั้น ประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฯ ดังกล่าว จึงเป็นประชาธิปไตยพหุอำนาจ มีความเป็นพหุการเมือง สอดคล้องกับการมีสภาที่ปรึกษาฯ

นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 258 ยังคงให้มีสภาที่ปรึกษาฯ แต่เพิ่มหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ และปรับสถานะของสำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น และได้ย้ายมาอยู่ในหมวดขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในส่วนขององค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ

แม้ว่าการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีของสภาที่ปรึกษาฯ ถือเป็นเพียงการมีส่วนร่วม ไม่มีสภาพบังคับให้คณะรัฐมนตรีจะต้องปฏิบัติตามความเห็นของสภาที่ปรึกษาฯ จึงมีการกล่าวกันว่า สภาที่ปรึกษาฯ เป็นเพียงเสือกระดาษ หรือยักษ์ไม่มีกระบอง ไม่มีอำนาจแต่อย่างใด

แต่คณะรัฐมนตรีก็ต้องเอาใจใส่ต่อความเห็นของสภาที่ปรึกษาฯ หากสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งเป็นผู้แทนขององค์กรประชาสังคมมีความเชื่อมโยงและมีการสื่อสารสองทางกับองค์กรประชาสังคมที่เสนอชื่อตนเองเข้าเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ รวมทั้งสภาที่ปรึกษาฯ มีการดำเนินงานร่วมกับองค์กรประชาสังคมนั้น ๆ อย่างต่อเนื่อง สร้างเครือข่ายการจัดทำความเห็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวงกว้างให้เสมือนเป็นองคาพยพเดียวกัน ใช้ประโยชน์จากเครือข่าย (network utilizing) โดยใช้เครือข่ายเพื่อเป็นเวทีกลางประสานงานร่วมกัน ใช้เครือข่ายเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนสารสนเทศและความรู้ ใช้เครือข่ายเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและระดมทรัพยากร ใช้เครือข่ายเพื่อเป็นเวทีร่วมสร้างสรรค์และพัฒนาความรู้ใหม่ๆ และใช้เครือข่ายเพื่อเป็นเวทีสร้างกระแสผลักดันประเด็นใหม่ๆ ก็จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ มีพลังผลักดันให้คณะรัฐมนตรีรับฟังความเห็นของสภาที่ปรึกษาฯ โดยปริยาย เพราะหากคณะรัฐมนตรีไม่รับฟังความเห็นของสภาที่ปรึกษาฯ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และคะแนนเสียงของรัฐบาลในอนาคตได้

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดประชุมสัมมนา เรื่อง การปฏิรูปประเทศ
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง ที่จังหวัดภูเก็ต (28 สิงหาคม 2553)

การได้มาซึ่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งเป็นผู้แทนขององค์กรประชาสังคมที่แท้จริง และทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างสภาที่ปรึกษาฯ กับองค์กรประชาสังคมที่เสนอชื่อตนเองเข้าเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จขององค์กรและขณะเดียวกันสภาที่ปรึกษาฯ ก็จะต้องสื่อสารสองทางกับประชาสังคมและประชาชนให้รับรู้กันในวงกว้างว่า สภาที่ปรึกษาฯ กำลังทำอะไรอยู่มีผลต่อประโยชน์ของประเทศอย่างไร และประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างไร รวมทั้งรัฐบาลดำเนินการอย่างไรต่อความเห็นของสภาที่ปรึกษาฯ เหล่านี้จะทำให้ความเห็นของสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งไม่มีลักษณะเชิงบังคับให้คณะรัฐมนตรีต้องรับฟังหรือดำเนินการตามความเห็นของสภาที่ปรึกษาฯ กลายเป็นความเห็นที่คณะรัฐมนตรีต้องเอาใจใส่ เพราะสภาที่ปรึกษาฯ เป็นองค์รวมของประชาสังคม ที่มีเครือข่ายประชาสังคมทั่วประเทศทุกภาคส่วน เป็นพลังยิ่งใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีได้ จึงอาจไม่จำเป็นที่จะต้องมีบทบัญญัติที่กำหนดให้ความเห็นของสภาที่ปรึกษาฯ มีผลผูกพันต่อการดำเนินงานของคณะรัฐมนตรี

แต่สภาที่ปรึกษาฯ ต้องประสาน สร้าง และรวมพลังเครือข่ายประชาสังคม เพื่อเป็นกลไกให้การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาฯ มีศักยภาพ และเป็นอำนาจแฝงที่มีอยู่ภายในสภาที่ปรึกษาฯ โดยธรรมชาติ หากเป็นเช่นนี้ สภาที่ปรึกษาฯ ก็ไม่ใช่เสือกระดาษ หรือยักษ์ไม่มีกระบองอีกต่อไป

ดังนั้น สภาที่ปรึกษาฯ จะมีบทบาทในการพัฒนาประเทศอย่างไร และมากน้อยเพียงใด จึงขึ้นอยู่สภาที่ปรึกษาฯ และเครือข่ายประชาสังคมของสภาที่ปรึกษาฯ ที่จะร่วมกันสร้างประชาสังคมเข้มแข็ง สภาที่ปรึกษาฯ ที่มีพลังร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย[1]

แนวทางการเสริมสร้างสภาที่ปรึกษาฯ ให้เข้มแข็ง

นอกจากนั้น สภาที่ปรึกษาฯ ต้องมุ่งมั่นสร้างประชาสังคมเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างพลังให้กับสภาที่ปรึกษาฯ และเพิ่มแนวร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการกินดีอยู่ของคนไทย ดังนี้

(1) สร้างระบบการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ที่เป็นธรรมต่อประชาสังคมทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาสังคมนั้น ๆ อย่างแท้จริง

(2) สร้างระบบการทำงานของสภาที่ปรึกษาฯ ที่ให้ความสำคัญต่อการรับเรียนรู้และการรับรู้ของเครือข่ายประชาสังคม เพื่อสร้างประชาสังคมที่มีคุณภาพและมีความเข้มแข็ง สร้างประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อกำหนดนโยบายหลักของชาติร่วมกันของสภาที่ปรึกษาฯ กับเครือข่ายประชาสังคม และการสร้างระบบสื่อสารสองทางกับเครือข่ายประชาสังคมในกระบวนงานสภาที่ปรึกษาฯ ก็จะเป็นการเสริมสร้างอำนาจให้สภาที่ปรึกษาฯ โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจกับสภาที่ปรึกษาฯ

(3) สร้างระบบความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงกับภาครัฐและองค์กรที่มีอำนาจทางปกครอง ในวิถีที่เหมาะสม มีวัฒนธรรมหรือวิถีปฏิบัติเฉพาะของสภาที่ปรึกษาฯ เพื่อ “ถ่วงดุล” ระหว่างอำนาจรัฐกับอำนาจประชาสังคม ที่จะนำไปสู่ “ภาวะดุลยภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม” ตามความต้องการของประชาชน และผลักดันให้มีการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน

ที่มา

พรรณราย ขันธกิจ. บทบาทและหน้าที่ขององค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2548

วัชรา ไชยสาร. การพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รัฐสภาสาร. ปีที่ 56 ฉบับที่ 6 มิถุนายน 2551 หน้า 64 – 91.

ดูเพิ่มเติม

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. 2546. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ. รัฐสภาสาร ปีที่ 51 ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน 2546 : 1 – 16.

ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ชุดโครงการวิจัย การติดตามและประเมินผลบังคับใช้รัฐธรรมนูญ เรื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540. กรุงเทพมหานคร : สถาบันพระปกเกล้า., 2546

อ้างอิง

  1. วัชรา ไชยสาร. การพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. รัฐสภาสาร. ปีที่ 56 ฉบับที่ 6 มิถุนายน 2551 หน้า 64 – 91.