นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:26, 7 มกราคม 2554 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: {{รอผู้ทรง}} '''ผู้เรียบเรียง''' อดิศร หมวกพิมาย ---- '''ผู้ทรงคุ...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

บทความนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยโดยผู้ืทรงคุณวุฒิ

ผู้เรียบเรียง อดิศร หมวกพิมาย


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า

ผลงานสำคัญของรัฐบาลในช่วงที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเข้ามาบริหารประเทศได้แก่ การดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอินโดจีน โดยการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า รวมทั้งดำเนินการประสานงานให้มีการเจรจาร่วม ระหว่างเขมร 4 ฝ่าย เพื่อยุติการสู้รบ และจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของสีหนุขึ้น โดยมีแนวคิดที่สำคัญคือ เรื่องการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เป็นการทูตแนวใหม่ในสมัยนั้น คือการส่งสัญญาณทางการทูตเพื่อทำให้ประเทศที่มีอุดมการณ์และระบอบการปกครองต่างกัน สามารถหันมาร่วมมือกันในด้านที่ไม่มีความขัดแย้งกันได้ นั่นก็คือ ทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ทุกประเทศในอินโดจีนหันมาเจรจาหารือกับไทยด้านการค้า การลงทุน นอกจากนี้แนวคิดดังกล่าวยังนำไปสู่การสร้างสันติภาพในภูมิภาค โดยพลเอกชาติชาย ได้เข้าไปช่วยเหลือในการเจรจา นำสันติภาพมาสู่กัมพูชาเป็นผลสำเร็จ

เดิมนโยบายของไทยถูกผลักให้เผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ตลอดเวลา เมื่อสถานการณ์โลกเริ่มผ่อนคลาย ได้กลายเป็นโอกาสให้ พลเอกชาติชายประกาศนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” เพื่อสร้างสันติภาพที่ถาวรให้เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และร่วมมือกันทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยไม่ถูกปิดกั้นโดยอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันในขณะนั้น โดยเฉพาะการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของเขมร 4 ฝ่าย เพื่อให้ปัญหาสงครามกลางเมืองในกัมพูชายุติลงให้ได้

ก่อนหน้านั้นกัมพูชาได้แบ่งออกเป็น 4 ฝ่าย ไทยมีความสัมพันธ์กับ 3 ฝ่ายเท่านั้น แต่ยังไม่มีความสัมพันธ์กับฝ่ายที่ 4 คือ ฝ่ายนายฮุนเซ็น ในเรื่องนี้พลเอกชาติชายได้แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยเปรียบเหมือนกับครอบครัวที่มีลูก 4 คนที่ทะเลาะกัน แล้วเราพูดอยู่กับ 3 คน แต่คนสุดท้ายที่มีความสำคัญที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่ง กลับเป็นคนที่เราไม่พูดด้วย เมื่อมีการสู้รบเกิดขึ้นในระหว่าง 4 ฝ่าย เกิดลูกหลงเข้ามา คนที่ขาขาดแขนขาดก็คือคนไทยที่อยู่ชายแดน

ด้วยความตั้งใจที่จะนำบรรยากาศแห่งสันติภาพมาสู่เพื่อนบ้าน พลเอกชาติชายจึงมีความคิดริเริ่มเจรจากับเขมรทุกฝ่ายเพื่อให้ยุติการสู้รบที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมาถึงคนไทยด้วย ด้วยการเชิญฝ่ายของนายฮุนเซ็น เข้ามาเจรจาสันติภาพกับฝ่ายสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุในเมืองไทยที่บ้านพิษณุโลก พลเอกชาติชาย ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกร่วมกันของสมเด็จเจ้านโรดมและนายฮุนเซ็นเป็นครั้งแรก และได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศมหาอำนาจ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในอินโดจีนด้วย ความพยายามดังกล่าวบรรลุความสำเร็จอย่างงดงาม โดยทุกฝ่ายหันมาเจรจากันและพัฒนาไปสู่ข้อตกลงสันติภาพที่กรุงปารีส ในเดือนเมษายน พ.ศ.2534 ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือในการสร้างสันติภาพในกัมพูชา การตัดสินใจทางการทูตแนวใหม่นี้ เป็นการตัดสินใจที่หลายๆ ฝ่ายคาดไม่ถึง

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จดังกล่าวก็ใช่ว่าจะได้มาโดยง่าย เพราะการริเริ่มและผลักดันนโยบายสันติภาพแห่งอินโดจีนได้รับการต่อต้านคัดค้านจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐบาลหลายส่วน เพราะองค์กรความมั่นคงของเราและต่างประเทศ ได้มีส่วนสำคัญและสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลของนายฮุนเซ็นที่มีเวียดนามหนุนหลังอยู่ แต่พลเอกชาติชาย ก็ได้ใช้เหตุผลความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นจุดสำคัญในการอธิบายเหตุผลนโยบายนี้ อันทำให้ เหตุผลทางด้านความมั่นคงไม่อาจคัดค้านได้

ไม่เพียงเท่านั้น นอกเหนือจากจะมีการต่อต้านคัดค้านจากหน่วยความมั่นคงภายในประเทศแล้ว ในต่างประเทศ พลเอกชาติชาย ก็พบอุปสรรคมากมายเช่นกัน เพราะ สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งอีก 120 กว่าประเทศในสหประชาชาติ ล้วนสนับสนุนรับรองเขมรแดงซึ่งเป็นรัฐบาลอย่างเป็นทางการในสหประชาชาตินั่นเอง

นโยบายสร้างสันติภาพในอินโดจีนจึงไม่ได้รับความไว้วางใจจากนานาชาติในเบื้องแรก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนหรือเพื่อนบ้านของไทยก็มีทีท่าไม่เห็นด้วยในขณะนั้น นอกจากนี้ในส่วนประเทศจีน พลเอกชาติชาย ก็ต้องเผชิญปัญหามากมายเพราะในระหว่างก่อร่างสร้างสันติภาพในอินโดจีน ผู้นำจีนบางคนไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุน โดยเฉพาะนายเติ้ง เสี่ยว ผิง ผู้นำจีนที่ใกล้ชิดกับพลเอกชาติชาย เป็นอย่างมาก ได้เคยตำหนิและต่อว่า หรือแม้กระทั่งถึงขนาดสั่งสอน พลเอกชาติชายระหว่างไปเยือนจีนว่า การที่ไทยไปสนับสนุนนายฮุนเซ็นเพื่อยุติสงครามในกัมพูชานั้น ระวังจะเป็นการทำให้จักรวรรดินิยมโซเวียตแข็งแกร่ง และจะทำให้เกิดอันตรายในภูมิภาคนี้ได้

แต่พลเอกชาติชาย ก็ได้ตอบโต้และยืนยันความคิดในนโยบายสร้างสรรค์แบบนี้กับนายเติ้ง เสี่ยว ผิง ว่า เป็นสิทธิของประเทศไทยที่มีอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองไทยและต่อสันติภาพของโลก นั่นจึงทำให้นายเติ้ง เสี่ยว ผิง หยุดสอนสั่งผู้นำไทยโดยปริยาย และสุดท้ายนโยบายสันติภาพอินโดจีนก็ได้รับการยอมรับจากนายเติ้ง เสี่ยว ผิง และผู้นำจีนในเวลาต่อมา เมื่อทุกอย่างคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีในภายหลัง

การที่ พลเอกชาติชาย ยืนหยัดแนวคิดนี้ เนื่องจากมองเห็นล่วงหน้าแล้วว่า นโยบายของกอร์บาชอพ ผู้นำโซเวียตขณะนั้น กำลังทำให้โซเวียตเดินไปสู่หนทางแห่งปัญหาในอนาคต การที่โซเวียตจะมีอิทธิพลในอินโดจีนมากไปกว่าปัจจุบันหรือในขณะนั้นย่อมเป็นไปได้ยาก โซเวียตมีแต่จะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ ซึ่งที่ปรากฏขึ้นในเวลาต่อมาได้พิสูจน์ว่า พลเอกชาติชาย ประเมินสถานการณ์ถูกต้อง วิสัยทัศน์ “เปลี่ยนสนามรบเป็นตลาดการค้า” จึงได้พิสูจน์แล้วว่าส่งผลดีต่อประเทศไทยมากกว่าผลเสีย และที่สำคัญได้ส่งผลดีต่อสันติภาพโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ภายหลังนโยบายสร้างสันติภาพในอินโดจีนได้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ และได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ สร้างชื่อเสียงและเกียรติยศให้ประเทศไทยและพลเอกชาติชาย เป็นอย่างสูง สันติภาพภายใต้นโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นตลาดการค้า ได้ส่งผลดีต่อการค้าชายแดนซึ่งปกปิดและลักลอบค้าขายกันมานานกว่า 8 ปี ให้กลายเป็นการค้าที่ถูกกฎหมายและสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล มูลค่าการค้ากับกลุ่มประเทศอินโดจีนเพิ่มสูงขึ้นจาก 300 ล้านบาทในปี พ.ศ.2531 เพิ่มเป็น 1,200 ล้านบาทในปี พ.ศ.2532 และเพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาทในปี พ.ศ.2533 ซึ่งเป็นบทพิสูจน์วิสัยทัศน์และการใช้นโยบายเศรษฐกิจนำความมั่นคง อันนำไปสู่บรรทัดฐานให้รัฐบาลชุดต่อมาต้องสานต่อสิ่งที่พลเอกชาติชาย ได้ริเริ่มไว้ จนสื่อมวลชนกล่าวขานยกย่อง พลเอกชาติชาย ว่าเป็น “มิสเตอร์อินโดจีน” อย่างแท้จริงหลังจากนั้น ประเทศต่างๆในอาเซียนรวมทั้ง จีน ญี่ปุ่น อเมริกา ต่างนำแนวคิดเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้านี้มาใช้ปฏิบัติในเวลาต่อมา นับเป็น Diplomatic Highlight ของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อย่างแท้จริง

ไม่ใช่เพียงสันติภาพอินโดจีนเท่านั้น ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ยังได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับมิตรประเทศทั้งในเวทีพหุภาคี และ ทวิภาคี โดยได้ร่วมมือใกล้ชิดกับมิตรประเทศโดยเฉพาะประเทศออสเตรเลีย ในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (APEC) รวมถึงการบรรลุข้อตกลงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรกในปี พ.ศ. 2532 โดยการสนับสนุนทางการเงินของประเทศออสเตรเลีย ที่นำไปสู่การสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว (FRIENDSHIP BRIDGE )เชื่อมนครเวียงจันทน์กับจังหวัดหนองคาย ซึ่งสะพานแห่งนี้คือสัญลักษณ์แห่งสันติภาพที่ถาวรในภูมิภาคนี้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางบกประจำภูมิภาคอีกด้วย และเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศในสมัย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชายได้เจรจากับญี่ปุ่น เพื่อขอสนับสนุนในการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 เชื่อมมุกดาหาร – สุวรรณเขต เป็นการส่งออกสินค้าไปอินโดจีน และเป็นทางออกสู่ทะเลที่ดานังให้กับภาคอีสานของไทยอีกด้วย

-ขอรับการสนับสนุนสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย – ลาว แห่งที่ 2 จากมุกดาหารไปสุวรรณเขต และ สร้างถนนจากสุวรรณเขตไปท่าเรือน้ำลึกดานัง ในประเทศเวียดนาม การก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 2 มีขึ้นภายหลังจากความสำเร็จในการเปิดสะพานมิตรภาพ ที่หนองคาย - เวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2537 ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้การคมนาคมขนส่ง ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความสะดวกมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้เชื่อมความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย จึงได้มีความคิดที่จะก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 2 ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง บริเวณจังหวัดมุกดาหารของไทย และแขวงสะหวันนะเขตของลาว เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบโครงข่ายถนนเชื่อมระหว่าง 4 ประเทศ คือ สหภาพพม่า ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเข้าด้วยกัน ตามแผนพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก อันจะเป็นการเปิดการพัฒนาเส้นทางคมนาคมสู่ประเทศอื่น ๆ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุน บังกลาเทศ และอินเดียต่อไป

ปัญหาระหว่างประเทศอีกปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลของ พลเอกชาติชาย เผชิญคือ ปัญหาการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาที่จะขอเปิดตลาดการค้าในไทยให้สินค้าสหรัฐ และการขอให้เพิ่มการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มเติม เช่น การขอความคุ้มครองคอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ในระบบลิขสิทธิ์ การคุ้มครองสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ยา เป็นต้น เพื่อแลกกับการให้สิทธิพิเศษทางการค้าหรือ GSP ของสินค้าไทยที่ไปสหรัฐ

พลเอกชาติชาย ใช้วิธีการเจรจาแบบ Package Benefit คือ มองความสัมพันธ์โดยองค์รวม ทั้งความร่วมมือทางการเมือง เช่น กระบวนการสันติภาพในกัมพูชา ซึ่งร่วมมือหารือกับสหรัฐอย่างใกล้ชิด ความร่วมมือด้านการลงทุนด้านต่างๆ ตลอดจนการต่อสายตรงระหว่างทีมงานจากทำเนียบรัฐบาลไทยและทีมงานของประธานาธิบดีสหรัฐที่ทำเนียบขาว ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกัน และเป็นผลให้ปัญหาการกีดกันทางการค้าของสหรัฐต่อไทยยุติลง และสหรัฐไม่เคยใช้มาตรา 301 ของกฎหมายการค้ามาตอบโต้ไทยเลย ตลอดเวลา 2 ปีครึ่งที่ พลเอกชาติชาย เป็นนายกรัฐมนตรี จากนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศซึ่งสอดคล้องกัน ทำให้ไทยสามารถขยายตลาดส่งออกในสหรัฐอเมริกา อียูและญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก นิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งถูกจับจองจนเต็มแทบทุกโครงการ การประชุมเพื่อส่งเสริมการลงทุนของ BOI ต้องเร่งประชุมทุกสัปดาห์

นอกจากนั้นยังมีผลงานด้านการต่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมากมายโดยได้ดำเนินงานและริเริ่มโครงการต่างๆ อาทิ

-ริเริ่มให้มีการถอนทหารสหรัฐอเมริกาออกจากประเทศไทย

-เปิดสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆทั่วโลก เช่น ยุโรปตะวันออก และหมู่ประเทศในอินโดจีน

-ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้ออกไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต และผลักดันให้มีการปรับเงินเดือนใช้จ่ายให้เหมาะกับฐานะของนักการทูต และความเป็นอยู่ในต่างประเทศ

-เจรจากับประเทศลาวในกรณีเรื่อง หน่วยปฏิบัติการลำน้ำโขงในแม่น้ำโขง

-ได้ไปเจรจาชักชวนนักลงทุนชาวญี่ปุ่นให้มาลงทุนในไทย

-ขอความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นยกระดับผู้ใช้แรงงานไทยให้สูงขึ้น เพื่อรับเครื่องจักรผลิตสินค้าไฮเทค

-ให้ญี่ปุ่นซื้อสินค้าจากไทย ร้อยละ 10 ของราคาเครื่องจักรที่ไทยซื้อจากญี่ปุ่น

-ให้บริษัทของญี่ปุ่นในประเทศไทย เข้าตลาดหุ้นของไทย

-เสนอแนวคิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศในมหาสมุทรอินเดีย เพื่อเป็นตลาดการส่งออกและการลงทุนใหม่ของไทย ฯลฯ

ด้านเศรษฐกิจ

-ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสูงที่สุดในโลกถึง 2 ปีซ้อน คือปี 2531 สูงถึง ร้อยละ 13.2 และปี 2532 สูงถึงร้อยละ 11.2 ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของโลกโดยรวมซบเซา

-การรับพันธะข้อ 8 ของกองทุนเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อเปิดเสรีด้านการเงิน

-การรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ด้วยการควบคุมหนี้สาธารณะภาครัฐ ภายใต้เพดานเงินกู้ไม่เกิน 1000 เหรียญสหรัฐ และเป็นรัฐบาลแรกในระบอบประชาธิปไตยที่มีเงินคงคลังมากที่สุดในรอบ 60 ปี คือสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท

-ใช้มาตรการด้านการคลังมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการลดอากรเครื่องจักร อากรเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก วัสดุก่อสร้าง เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเครื่องมือการแพทย์ เครื่องกีฬา ปุ๋ยเคมีและเคมีภัณฑ์เกษตร

-การลดอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษ (Surcharge)แก่วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ลดต้นทุนอาหารสัตว์

-การลดภาระด้านงบประมาณของรัฐ ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยนโยบาย Privatization ให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการสาธารณะขนาดใหญ่ เช่น ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบขนส่งสาธารณะ การบริหารและการจัดการท่าเรือ ฯลฯ อันเป็นต้นแบบของการร่วมลงทุนของเอกชนในปัจจุบัน

-เปิดตลาดการค้าและการลงทุนใหม่ โดยเปิดตลาดอินโดจีนและตลาดจีนตอนใต้เพื่อเป็นการรองรับสินค้าส่งออกของไทยและกำหนดให้ประเทศไทยเป็นสปริงบอร์ด สู่ตลาดอินโดจีนและจีนตอนใต้ของนักลงทุนนานาชาติ

-เปิดโครงการพัฒนาพิเศษ เพื่อรองรับการลงทุนจากนานาชาติ ในโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 5 จังหวัดภาคเหนือ โครงการเมืองแฝดทางอุตสาหกรรมขอนแก่น – นครราชสีมา โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้

-แก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมปักษ์ใต้ และพายุเกย์ปี 2531 – 2532 ให้พ้นเหตุการณ์

-พัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ฯลฯ

ด้านอุตสาหกรรม

-ได้เร่งขุดเจาะสำรวจหาก๊าซและน้ำมัน ทั้งบนบกและอ่าวไทย และได้พบก๊าซที่จังหวัดขอนแก่น พบน้ำมันที่จังหวัดกำแพงเพชร

-เปิดสำรวจเหมืองเกลือโปแตส ที่จังหวัดชัยภูมิ

-เปิดนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และแหลมฉบัง

-เร่งรัดผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมยางเพิ่มขึ้น

-กระจายอุตสาหกรรมสู่ชนบท ฯลฯ

ด้านการปรับปรุงระบบราชการและการเมือง

ได้ดำเนินการปรับปรุง พัฒนาระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ

-จัดตั้งวิทยาลัยนักบริหารขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางฝึกอบรมนักบริหารฝ่ายพลเรือนให้มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติสูงขึ้น พร้อมที่จะบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

-ป้องกันการสูญเสียกำลังคนระดับสมองในราชการพลเรือน

-ปรับปรุงองค์กรให้ขยายตำแหน่งสูงขึ้น

-กำหนดวงเงินงบประมาณจำนวนหนึ่ง (ร้อยละ 5 ของงบประมาณรายจ่ายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2534 เป็นต้นไป) เพื่อนำมาบูรณะระบบโครงสร้างองค์กร และค่าตอบแทนบุคลากรภาคราชการ

-ปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการทุกระดับ รวม 2 ครั้ง

-กำหนดเงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่ง

-ปรับปรุงระบบสวัสดิการข้าราชการ ทำให้ข้าราชการได้รับผลประโยชน์และมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน โดยไม่ต้องพะวงเกี่ยวกับรายได้ และสวัสดิการซึ่งจะส่งผลไปสู่ประชาชนในที่สุด ฯลฯ


ที่มา

ไพโรจน์ อยู่มณเทียร. คารมคมคาย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ. กรุงเทพฯ : สร้อยทอง, 2537.

เป็นการรวบรวมคำคมในวาระต่างๆของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ปรากฎเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เปรียบเสมือนเป็นบันทึกเรื่องราวบางส่วนของประวัติบุคคล – ประวัติศาสตร์ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคม

หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ 7 พฤศจิกายน 2541.

รวบรวมประวัติ ผลงานในด้านต่างๆ รวมถึงคำไว้อาลัยจากบุคคลต่างๆ

เสถียร จันทิมาธร. ชาติชาย ชุณหะวัณ ทหาร ‘นัก’ ประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2541.

เป็นการศึกษาประวัติบุคคล เน้นที่การก้าวเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

ชาน สีทอง. อำลาอาลัย “น้าชาติ” ถึงตัวจากไปใจเรายังนึกถึง. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, 2541

นฤมิต พระนาศรี. ชีวิตหลากสีนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ. กรุงเทพฯ : น้ำฝน, 2541.