ธานินทร์ กรัยวิเชียร
บทความนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยโดยผู้ืทรงคุณวุฒิ
ผู้เรียบเรียง ธนินทร พูนศรีสวัสดิ์
ประวัติและการศึกษา
นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2470 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของนายแหกับนางผะอบ กรัยวิเชียร สมรสกับคุณหญิงคาเรน กรัยวิเชียร (นามเดิม นางสาวคาเรน แอนเดอเซ่น) นายธานินทร์ กรัยวิเชียร สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2484 และศึกษาวิชากฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ . 2490 จากนั้นจึงเดินทางไปศึกษาวิชากฎหมายต่อ ณ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิตเมื่อปี พ.ศ. 2496 และสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายของเนติบัณฑิตยสภา สำนักเกรยส์อินน์ ประเทศอังกฤษในปีต่อมา[1]
การทำงาน
เริ่มเข้ารับราชการเมื่อ พ.ศ. 2491 ประจำแผนกบัญชี สำนักงานเลขานุการกรมเกษตร กระทรวงเกษตร ในปี พ.ศ. 2498 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษากระทรวงยุติธรรม และเป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวงระหว่างปี พ.ศ. 2499-2501 เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ. 2506 ต่อมาได้เป็นหัวหน้ากองการคดี สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม และได้ลาออกจากตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เพื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2519[2] เมื่อพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการตุลาการ และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2520 จนถึงปัจจุบัน
นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายหลายสาขาวิชา โดยเป็นผู้บรรยายวิชานิติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นอาจารย์พิเศษอีกหลายสถาบัน เช่น สำนักอบรมเนติบัณฑิตยสภา มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ทำหน้าที่ผู้แทนไทยไปประชุมด้านกฎหมาย ณ ต่างประเทศหลายครั้ง [3] นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีคนที่ 14
นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ภายหลังจากที่คณะปฎิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยมีพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ อดีต ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารเรือเป็นหัวหน้า พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นเลขาธิการคณะปฏิรูปฯ และยังมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่สำคัญร่วมด้วย เช่น พลเอก เสริม ณ นคร พลเอก บุญชัย บำรุงพงษ์ เป็นต้น
การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นับว่าอยู่นอกเหนือความคาดหมาย ว่ากันว่าตั้งแต่การเตรียมการยึดอำนาจ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ มีบุคคลอยู่ในใจหลายคน เช่น นายประกอบ หุตะสิงห์ นายประภาศน์ อวยชัย นายเชาว์ ณ ศิลวันต์ แต่แล้วก็ตัดสินใจเลือกนายธานินทร์ในที่สุด[4] นอกจากนั้นก่อนที่นายธานินทร์ กรัยวิเชียร จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2519 ระบุให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นหนึ่งใน คณะที่ปรึกษาฝ่ายสาธารณสุข ศึกษาธิการ ยุติธรรม และมหาวิทยาลัย ซึ่งหน้าที่ของคณะที่ปรึกษาคณะ ดังกล่าวคือ เสนอความคิดริเริ่ม ให้ความเห็นในการแก้ไขปรับปรุง พิจารณาแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามที่หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมอบหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นายธานินทร์ กรัยวิเชียร มีความสัมพันธ์ที่ดีไม่น้อยกับพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ จนนำมาซึ่งการผลักดันให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี [5]
นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของประเทศ โดยมีประกาศ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2519 โดยมีพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ[6]
คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเมื่อแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว ในวันที่ 22 ตุลาคม 2519 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 ซึ่งมีสาระสำคัญเช่น กำหนดให้มี สภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่นายกรัฐมนตรีและสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ ตามลำดับ ให้อำนาจพิเศษแก่นายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 21 ในการลงโทษผู้กระทำการอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์และความสงบเรียบร้อยของประชาชน เช่นเดียวกับมาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 และพุทธศักราช 2515รวมทั้งให้มีแผนพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น[7]
และในวันที่ 22 ตุลาคม มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีชุดที่ 39 มีจำนวน 17 คน อาทิ พลเอก บุญชัย บำรุงพงศ์ และ นายอัมพร จันทรวิจิตร เป็นรองนายกรัฐมนตรี นายอุปดิศร์ ปาจรียางกูร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม [8] ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2519 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายรัฐบาล โดยการประกาศต่อที่ประชุมสภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่ง ทำหน้าที่สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศ รวมทั้งสิ้น 11 ข้อ[9] ตัวอย่างเช่น การให้ความสำคัญของ การกินดีอยู่ดีของประชาชนเป็นนโยบายหลัก คำนึงถึงเสถียรภาพทางการคลังและความมั่งคงของประเทศในการเสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างจริงจังและเด็ดขาด ปรับปรุงระบบและกระบวนการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท รวมถึงการจัดการศึกษาภาคบังคับให้อย่างเสมอภาค เป็นต้น
รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร มีสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ประกอบด้วยสมาชิก 340 คน ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติให้การสนับสนุน รัฐบาลชุดนี้ได้รับการเปรียบเทียบว่าเป็นรัฐบาลหอย ซึ่งอุปมาอุปมัยนี้เป็นของนายธานินทร์ กรัยวิเชียรที่กล่าวทางโทรทัศน์[10]ว่า “รัฐบาลเสมือนหอยที่อยู่ในเปลือก โดยมีนัยถึงเป็นรัฐบาลที่คณะนายทหารคอยให้ความคุ้มกัน”
คณะรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ดำเนินการตามแผนการพัฒนาประชาธิปไตยซึ่งกำหนดในรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ๆ ละ 4 ปี มีนโยบายที่เด่นที่สุดคือ การต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยมีการอบรมข้าราชการกรมกองต่างๆ ให้ตระหนักถึงภัยคอมมิวนิสต์ ในระดับระหว่างประเทศก็มี การต่อต้านลัทธิและการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์[11] ซึ่งการดำเนินงานของคณะรัฐบาลของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็ประสบกับปัญหา มากมาย ตลอดทั้งเหตุการณ์การก่อการร้ายโดยคอมมิวนิสต์ และปัญหาภายในของรัฐบาล[12] เช่น การร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นไปด้วยความล่าช้า แผนพัฒนาประชาธิปไตย 3 ขั้น ที่ไม่ทันการกับสถานการณ์ปัจจุบัน การเกิดเหตุการณ์กบฏ 26 มีนาคม 2520[13] การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ควบคุมเสรีภาพสื่อมวลชน สั่งปิดหนังสือพิมพ์ ซึ่งในระยะเวลา 1 ปี มีคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์ถึง 22 ครั้ง[14] รวมถึงมีนักศึกษา ปัญญาชนจำนวนมากที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาลต้องหลบหนีเข้าป่าเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) [15]
แม้ว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อคลี่คลายปัญหาแต่ก็ยังเกิดความเดือดร้อนวุ่นวายในบ้านเมือง ในที่สุดคณะนายทหารในสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินชุดเดิมที่นำโดยพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ จึงกระทำการรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ซึ่งนักประวัติศาสตร์ทางการเมือง บางท่านได้ให้ข้อคิดเชิงเปรียบเทียบไว้ว่าเป็นการปฏิวัติโดย “เปลือกหอย” คือสภาที่ปรึกษาฯเขี่ย “เนื้อหอย” คณะรัฐมนตรีออกไป หรือเปลือกหอยงับเนื้อหอย โดยคนอื่นๆ ไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยกับการปฎิวัติในครั้งนี้เลย[16]
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร จะเผชิญกับความกดดันต่างๆ รวมถึงการบริหารประเทศที่ไม่เป็นอิสระ แต่รัฐบาลก็ได้ดำเนินงานที่สำคัญ ๆ ตามนโยบายที่แถลงไว้และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4[17] ตัวอย่างเช่น จัดให้มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม จำนวนมากกว่า 1,000,000 ไร่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน การจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเพิ่มขึ้นอีก 102 สหกรณ์ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถช่วยตนเองให้มีฐานะพอกินพออยู่ การกำหนดโครงการปลูกป่าในฤดูฝนทดแทน ป่าไม้ที่ถูกลักลอบตัดและบุกรุกป่าสงวน โครงการอาสาพัฒนาท้องถิ่นของตนเองในฤดูแล้ง ในการสร้างความร่วมมือของรัฐบาลและประชาชนทั่วประเทศเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น เช่น การซ่อมสร้างถนน สะพาน ชลประทานขนาดเล็ก เป็นต้น การตรวจสอบ เร่งรัดการก่อสร้างและบูรณะทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงจังหวัด และเริ่มมีการก่อสร้างทางด่วนสายดินแดง ท่าเรือ การสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชในท้องถิ่นทุรกันดาร 20 แห่ง เพื่อทูลเกล้าฯถวาย เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงอภิเษกสมรส นอกจากนี้ในด้านการศึกษา มีการกำหนดแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2520 พร้อมปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอน และมีหน่วยงานที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนี้
ที่สำคัญๆ คือ องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นต้น[18] รวมทั้งการปรับปรุงระเบียบบริหารกรุงเทพมหานคร อันเป็นที่มาของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในเวลาต่อมา
นายธานินทร์ กรัยวิเชียรกับตำแหน่งสำคัญอื่นๆ
นอกจากงานองคมนตรี ซึ่งองคมนตรีแต่ละท่านจะได้รับมอบหมายราชกิจพิเศษ มีโครงการตามพระราชดำริต่างๆ[19] นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ยังดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ได้แก่ รองประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กรรมการมูลนิธิอานันทมหิดล ประธานกรรมการมูลนิธิศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียแปซิฟิค ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานที่ปรึกษาพิเศษ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) เป็นต้น
นายธานินทร์ กรัยวิเชียรได้ให้สัมภาษณ์ถึงงานที่ต้องรับผิดชอบในบทสัมภาษณ์พิเศษ วารสารเนชั่นสุดสัปดาห์ เกี่ยวกับบางตำแหน่งไว้เช่น รองประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยรับผิดชอบดูแลโครงการศิลปาชีพที่ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะต้องเข้าไปตรวจงานทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 วัน ปัจจุบันศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ มี 30 แผนก มีผู้ผ่านการฝึกอบรมแล้วมากกว่า 19,000 คน จำนวนหนึ่งได้กลับไปสร้างอาชีพที่บ้านเกิด ของตน บางคนเดินทางไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ดำรงชีพอยู่ในหลายจังหวัดของประเทศไทย[20] สำหรับตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษาพิเศษ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) เป็น ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศเป็นองค์กรมหาชน มีสามฝ่ายร่วมกัน คือภาครัฐบาล ภาคเอกชน โดย สภาหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ ซึ่งเหตุที่ต้องมี ศูนย์ดังกล่าว เพื่อต้องการส่งเสริมการผลิตในประเทศในแง่ปริมาณและคุณภาพ และขยายตลาดในเรื่องของศิลปาชีพไปทั่วโลก [21]
นายธานินทร์ กรัยวิเชียรกับงานเขียน
นายธานินทร์ กรัยวิเชียร สนใจงานเขียนและงานหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน เมื่อเข้ารับราชการ ก็ได้รับเลือกให้เป็นบรรณาธิการนิตยสารวิชากฎหมาย คือ “ดุลพาห” ของกระทรวงยุติธรรม และ “บทบัณฑิตย์” ของเนติบัณฑิตยสภา[22] นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ยังมีความสนใจในเรื่องภาษาของกฎหมายไทยเป็นพิเศษ และได้เรียบเรียงหนังสือ บทความเกี่ยวกับภาษากฎหมาย เผยแพร่มากมาย สำหรับหนังสือที่ได้รับการยกย่อง คือหนังสือ “ภาษากฎหมายไทย” ซึ่งได้รับรางวัลประเภทสารคดีดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2511 จากองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) และได้ใช้เป็นตำราในการศึกษาวิชานิติศาสตร์ของทุกสถาบันการศึกษา หนังสือ “การตีความกฎหมาย” ก็ได้นำไปใช้อ้างอิงอย่างกว้างขวางในด้านความหมายของถ้อยคำและข้อความในภาษากฎหมายไทย สำหรับงานเขียนด้านกฎหมายอื่นๆ ได้แก่ คำแนะนำนักศึกษากฎหมาย คำอธิบายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลกับพยานบุคคล การชี้สองสถาน กฎหมายเปรียบเทียบระหว่างกฎหมายไทยกับกฎหมายของประเทศแองโกลแซกซอน การปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น[23]
นอกจากงานเขียนด้านกฎหมาย นายธานินทร์ กรัยวิเชียรยังมีงานเขียนที่เกี่ยวกับด้านอื่นๆ ด้วย เช่น พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย ครูกับทางอยู่รอดของสังคมไทย ศาสนากับความมั่นคงของชาติ ลัทธิและวิธีการของคอมมิวนิสต์ เป็นต้น
ปัจจุบันนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรียังคงมีงานเขียน บทความเกี่ยวกับกฎหมาย คุณธรรม จริยธรรมด้านต่างๆ เช่น หนังสือคุณธรรม จริยธรรมกับปัญหาเยาวชนในสังคมไทย เป็นต้น
สรุป
จากนักกฎหมายผู้มีความสามารถและได้รับการยอมรับ นายธานินทร์ กรัยวิเชียรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 เพื่อเข้ามาบริหารบ้านเมืองจากการเกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของไทย และภายหลังการพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียรได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2520 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ยังคงมีภารกิจทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับงานกลั่นกรองพระราชกรณียกิจต่างๆ ในเบื้องต้นถวายแด่พระมหากษัตริย์ เพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย งานจัดการและดูแลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการหลวง มูลนิธิ ฯลฯ ต่างพระเนตรพระกรรณ และการปฏิบัติงานผู้แทนพระองค์หรือสนองพระราชกระแสเฉพาะเรื่องนั้นๆ เป็นการแบ่งเบาพระราชกรณียกิจ[24] รวมทั้งยังได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายหรือปาฐกถาพิเศษในโอกาสต่างๆ
ที่มา
คณะกรรมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธ.ค. 2550 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. ธ ทรงเป็นร่มฉัตรรัฐสภา. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์, 2550.
คณะองคมนตรี ภารกิจของคณะองคมนตรี [Online]. Access 20 กันยายน 2553. Available from http://www.ohmpps.go.th/privy/content.php?cg_name=%C0%D2%C3%A1%D4%A8%A2%CD%A7%A4%B3%D0%CD%A7%A4%C1%B9%B5%C3%D5.
คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์, 2548.
จีรวัฒน์ ครองแก้ว. องคมนตรี ศักดิ์ศรีแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ดี ฟอร์ ไลฟ์, 2550.
ธนากิต. ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : ปิรามิด, 2545.
ธานินทร์ กรัยวิเชียร. ภาษากฎหมายไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2538.
นรนิติ เศรษฐบุตรและสุรชัย ศิริไกร. เอกสารทางวิชาการ หมายเลข 32 ชีวประวัตินายกรัฐมนตรีไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2529. มปท.,2529.
วิกิพีเดีย สารนุกรมเสรี. รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519 [Online]. Access 25 สิงหาคม 2552.
วีรชาติ ชุ่มสนิท. 24 นายกรัฐมนตรีไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทออลบุ๊คส์พับลิชชิ่ง จำกัด, 2549.
สำนักนายกรัฐมนตรี. คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรี. กรุงเทพ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2521.
สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ. ผลงานของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2520. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ข่าวพาณิชย์, 2521.
สินีพร มฤคพิทักษ์, “สัมภาษณ์พิเศษ” เนชั่นสุดสัปดาห์ 18,902 (กันยายน 2552) : 28.
The Secretariat of the Cabinet, Thailand. คณะรัฐมนตรี คณะที่ 39 [Online]. Access 7 September 2009. Available from http://www.cabinetthaigov.go.th/cab_39.htm
ดูเพิ่มเติม
ประกอบ โชประการ สมบูรณ์ คนฉลาด และประยุทธ สิทธิพันธ์. ปฏิวัติสามสมัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ รวมการพิมพ์, 2522. นรนิติ เศรษฐบุตรและสุรชัย ศิริไกร. เอกสารทางวิชาการ หมายเลข 32 ชีวประวัตินายกรัฐมนตรีไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2529. มปท.,2529 ลิขิต ธีรเวคิน. วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541. วิกิพีเดีย สารนุกรมเสรี.รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519 [Online]. Access 25 สิงหาคม 2552. เสนีย์ ปราโมช. ชีวลิขิต. กรุงเทพฯ : บริษัทนานมีบุ๊คส์ จำกัด, 2548. สำนักนายกรัฐมนตรี. คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรี. กรุงเทพ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2521. สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ. ผลงานของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2520. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ข่าวพาณิชย์, 2521. สินีพร มฤคพิทักษ์. “สัมภาษณ์พิเศษ.” เนชั่นสุดสัปดาห์ 18, 109(11-17 กันยายน 2552 : 28-29.