พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2511
ผู้เรียบเรียง อลิศรา พรหมโชติชัย
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2511
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2511[1] เป็นกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลฉบับที่ประกาศใช้ก่อนหน้า อันได้แก่ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2496 และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2501 ซึ่งมีสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติม สามารถพิจารณาได้ดังต่อไปนี้
การแก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2511 ได้แก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กล่าวคือ สำหรับบุคคลที่มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือเป็นผู้ที่ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ กฎหมายฉบับใหม่ได้แก้ไขคุณสมบัติโดยละเอียดเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าวจะมีสิทธิเลือกตั้งได้นั้น จะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(1) เดิมกำหนดไว้ว่าจะต้องสอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น แต่กฎหมายฉบับใหม่ได้ขยายการศึกษาขั้นต่ำในการที่จะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ โดยจะต้องสอบไล่ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือมัธยมศึกษาปีที่ 3
(2) จะต้องรับหรือเคยรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ซึ่งกฎหมายฉบับก่อนหน้ากำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าวจะต้องได้รับราชการทหารเท่านั้น
(3) ต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการเมืองดังเช่นกฎหมายฉบับเดิมกำหนดไว้ และเพิ่มเติมตำแหน่งที่อาจเคยรับราชการการเมืองจากเดิมไว้ ดังนี้ สมาชิกพฤฒสภา สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
(4) กฎหมายฉบับนี้ได้ให้สิทธิแก่คนตาบอดให้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้
การแก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2511 ได้แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ดังนี้
(1) กรณีผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย เดิมกฎหมายฉบับก่อนหน้าได้กำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง[2] ในกฎหมายฉบับใหม่ได้กำหนดว่าผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง[3]
(2) กฎหมายฉบับใหม่ได้กำหนดมาตรฐานการศึกษาของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดยจะต้องมีความรู้ไม่ต่ำกว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หรือประโยคประถมศึกษาตอนต้น ซึ่งในกฎหมายฉบับเดิมไม่ได้กำหนดมาตรฐานการศึกษาขั้นต่ำไว้ในกรณีผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด แต่ได้กำหนดมาตรฐานการศึกษาขั้นต่ำไว้ในเฉพาะกรณีผู้มีสัญชาติไทยที่บิดาเป็นคนต่างด้าวซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น[4]
(3) กฎหมายฉบับเดิมได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะต้องเป็นผู้เสียภาษีโรงเรือนตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือภาษีเงินได้ หรือภาษีบำรุงท้องที่หรือเป็นเจ้าบ้านในเขตเทศบาลตามประมวลรัษฎากร แต่ในพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ได้กำหนดเพิ่มเติมว่า นอกจากจะเป็นผู้เสียภาษีตามที่กฎหมายฉบับเดิมกำหนดไว้แล้วในปีที่สมัครหรือปีก่อนที่สมัคร 1 ปี แต่ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล อาจมีภูมิลำเนาในเขตเทศบาลเป็นเวลาติดต่อกันจนถึงวันสมัครไม่น้อยกว่า 6 เดือนด้วย[5]
(4) เฉพาะในกรณีบุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าว และบุคคลผู้ที่ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติจะเป็นผู้สมัครได้จะต้องมีความรู้ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือมัธยมศึกษาปีที่ 3 นับเป็นการขยายสิทธิให้แก่บุคคลที่มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าวที่มีความรู้ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งกฎหมายเดิมได้กำหนดให้เฉพาะว่าต้องเป็นที่มีความรู้ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น และจะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ด้วย[6]
- • รับหรือเคยรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
- • เคยเป็นข้าราชการหรือข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ชั้นโทขึ้นไป หรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่าชั้นโทขึ้นไป
- • เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทน สมาชิกพฤฒสภา สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
(5) สำหรับลักษณะต้องห้ามซึ่งไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2501 สามารถพิจารณาได้จากตารางเปรียบเทียบ ดังนี้
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 4)
พ.ศ.2501 |
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5)
พ.ศ.2511 [7] |
---|---|
1.ไม่เป็นบุคคลที่วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ | -ยกเลิก- |
2.ไม่เป็นบุคคลหูหนวกทั้งสองข้างและเป็นใบ้ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือไทยหรือตาบอดทั้งสองข้าง | 2.ไม่เป็นบุคคลตาบอดทั้งสองข้าง |
3.ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช หรือผู้อยู่ในระหว่างถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง | -ยกเลิก- |
4.ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ | 4.ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ |
5.ไม่เป็นบุคคลผู้ล้มละลายที่ศาลยังไม่สั่งให้พ้นคดี | 5.ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี |
6.ไม่เป็นบุคคลซึ่งเป็นโรคเรื้อนและวัณโรคระยะอันตราย หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง | 6.ไม่เป็นโรคเรื้อน วัณโรคระยะอันตราย หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง |
7.ไม่เป็นผู้ถูกจำคุกหรือเคยถูกจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และพ้นโทษไปถึงวันสมัครรับเลือกตั้งยังไม่ครบ 10 ปี หรือผู้ถูกจำคุกหรือเคยถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป ทั้งนี้ยกเว้นกรณีความผิดลหุโทษหรือความผิดที่มีกำหนดโทษชั้นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท | 7.ไม่เป็นบุคคลเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี ในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความความผิดอันได้กระทำโดยประมาท |
8.ไม่เป็นข้าราชการที่ถูกไล่ออกหรือปลดออกจากตำแหน่งเพราะทุจริตต่อหน้าที่ราชการ โดยมิได้รับเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ หรือพนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาล หรือพนักงานองค์การของรัฐ ซึ่งถูกไล่ออก ปลดออกหรือเลิกจ้าง เพราะทุจริตต่อหน้าที่ นับแต่วันที่ออกจากตำแหน่งถึงวันสมัครรับเลือกตั้งยังไม่ครบ 5 ปี | 8.ไม่เป็นข้าราชการที่ถูกไล่ออกหรือปลดออก เพราะทุจริตต่อหน้าที่ราชการโดยมิได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญ หรือพนักงานเทศบาล พนักงานสุขาภิบาล หรือพนักงานองค์การของรัฐ ซึ่งถูกไล่ออก ปลดออก หรือเลิกจ้าง เพราะทุจริตต่อหน้าที่ นับแต่วันถูกไล่ออก ปลดออก หรือเลิกจ้างแล้วแต่กรณี ถึงวันที่สมัครรับเลือกตั้งนั้นยังไม่ครบ 5 ปี |
9.ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานเทศบาล หรือพนักงานสุขาภิบาล ยกเว้นจะเคยเป็นข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกเทศมนตรี หรือเทศมนตรี หรือออกจากตำแหน่งข้าราชการนานเกินกว่า 6 เดือนนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง | -ยกเลิก- |
10.ไม่เป็นข้าราชการทหารหรือตำรวจที่ต้องรับราชการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร หรือกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร | -ยกเลิก- |
การรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2511 ได้เปลี่ยนแปลงใบสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล โดยไม่ต้องมีคำรับรองว่า “ผู้สมัครมีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ” ซึ่งได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 และกำหนดให้ยื่นใบสมัครพร้อมด้วยเงินประกันค่าสมัคร 3,000 บาทสำหรับเทศบาลนคร เงินประกันค่าสมัคร 2,000 บาทสำหรับเทศบาลเมือง และเงินประกันค่าสมัคร 1,000 บาทสำหรับเทศบาลตำบล และเมื่อเสร็จการเลือกตั้งแล้ว ให้เทศบาลคืนเงินประกันให้แก่ผู้สมัคร เว้นแต่ผู้สมัครไม่ได้รับการเลือกตั้งและไม่ได้คะแนนเลือกตั้งถึงร้อยละสิบของจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือถ้าผู้สมัครถอนการสมัครเสียเอง ให้ถือว่าผู้สมัครนั้นได้ยินยอมให้เงินประกันตกเป็นของเทศบาล [8]
การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล
เดิมพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2582 ได้กำหนดให้กรณีที่เขตเลือกตั้งใดมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกินกว่า 1,500 คน ให้จัดแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นออกเป็นหน่วยลงคะแนน โดยให้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละหน่วยไม่เกิน 1,500 คน พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2511 ได้เปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยกำหนดให้หน่วยเลือกตั้งหนึ่งมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เกินกว่า 1,000 คน แต่หากการแยกเป็นอีกหน่วยลงคะแนนหนึ่ง จะก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการไปลงคะแนนเลือกตั้ง แม้ว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเกิดกว่า 1,000 คน แต่ไม่เกิน 2,000 คน ก็ให้รวมเป็นหน่วยลงคะแนนเดียวกันได้[9]
บัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล
พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2511 ได้ยกเลิกการจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากเดิมที่เคยจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2501 ได้กำหนดให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งในขณะนั้นได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2499 ดังนั้น เมื่อพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2511 ได้ยกเลิกการจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2501 และกำหนดให้เทศบาลจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยอนุโลมตามทะเบียนผู้เลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน[10] ซึ่งในระหว่างนั้นได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน พ.ศ.2511
นอกจากนั้น ในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล ยังได้กำหนดไว้ว่า หากเทศบาลใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลก่อนวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลฉบับนี้ ให้ใช้พระราชบัญญัติการเลือกสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 ตามที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมในฉบับก่อนหน้า ซึ่งประกอบด้วย พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2499 และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2500 ในการใช้บังคับดำเนินการเลือกตั้งดังกล่าว อีกทั้งในมาตรา 17 ยังให้บรรดาสมาชิกสภาเทศบาลที่ได้รับการเลือกตั้งก่อนวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้พระราชการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลฉบับนี้ เป็นสมาชิกสภาเทศบาลจนกว่าจะออกตามวาระ หรือพ้นจากสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่น[11]
ส่วนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลที่ได้ดำเนินการเลือกตั้งก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ใช้กฎหมายที่ประกาศใช้ก่อนหน้า ได้แก่ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลผู้แทนราษฎร (ฉบับที่2) พ.ศ.2499 และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2500[12]
อ้างอิง
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2511, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 85 ตอนที่ 108 วันที่ 19 พฤศจิกายน 2511, หน้า 833 – 845.
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2499, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 73 ตอนที่ 21, วันที่ 13 มีนาคม 2499
- ↑ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2511, อ้างแล้ว, หน้า 838, มาตรา 9.
- ↑ เพิ่งอ้าง.
- ↑ เพิ่งอ้าง.
- ↑ เพิ่งอ้าง.
- ↑ เพิ่งอ้าง, หน้า 840, มาตรา 12
- ↑ เพิ่งอ้าง, หน้า 841-842, มาตรา 13
- ↑ เพิ่งอ้าง, หน้า 842-843, มาตรา 14
- ↑ เพิ่งอ้าง, หน้า 843, มาตรา 15
- ↑ เพิ่งอ้าง,หน้า 843-844, มาตรา 16-17
- ↑ เพิ่งอ้าง, หน้า 844 – 845, มาตรา 18