ยุบพรรค

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:26, 13 กันยายน 2553 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ


การยุบพรรคการเมือง

การยุบพรรคการเมือง เป็นขั้นตอนในกระบวนการทางการเมืองของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ตามหลักการที่กำหนดให้บุคคลมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมือง และเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้นร่วมกัน

การจัดตั้งพรรคการเมืองจึงเป็นเสรีภาพของบุคคลตามระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองจะต้องไม่ขัดกับกฎหมายของบ้านเมือง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 47 บัญญัติให้เสรีภาพของบุคคลในการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองได้ แต่การจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ และข้อบังคับของพรรคการเมืองจะต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ถ้ามีการละเมิดกฎหมายอาจถูกยุบพรรคได้ มาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า “พรรคการเมืองย่อมเลิกหรือยุบด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1)มีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมือง

(2)มีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึงสิบห้าคน

(3)มีการยุบพรรคการเมืองไปรวมกับพรรคการเมืองอื่น ตามหมวด 5

(4)มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมือง

(5)ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 29 มาตรา 35 หรือมาตรา 62 ...”

นอกจากนี้ มาตรา 66 บัญญัติว่า “เมื่อพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมือง

(1)กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

(2)กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ

(3)กระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือ

(4)กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 23 วรรคหนึ่ง (ห้ามมิให้พรรคการเมืองรับบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยโดยการเกิดเข้าเป็นสมาชิก หรือดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมือง หรือยอมให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง)มาตรา 52 (ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกผู้ใดรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด

เพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน)หรือมาตรา 53(ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกผู้ใดรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมืองหรือดำเนินกิจการในทางการเมืองจากบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ นิติบุคคลที่จดทะเบียนนอกราชอาณาจักรซึ่งมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินร้อยละยี่สิบห้า องค์การหรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผ้ไม่มีสัญชาติไทย หรือมีผู้จัดการ หรือกรรมการเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย)

การจัดตั้งและยุบพรรคการเมือง เป็นปรากฏการณ์ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องบัญญัติไว้