องค์ประกอบและที่มาของการกำหนดองค์ประกอบของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

บทความนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยโดยผู้ืทรงคุณวุฒิ

ผู้เรียบเรียง วัชรา ไชยสาร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ พรรณราย ขันธกิจ


องค์ประกอบของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เนื่องจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นองค์กรการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ดังนั้น มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 กำหนดให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 99 คน ซึ่งได้รับเลือกจากบุคคลที่เป็นตัวแทนองค์กรของกลุ่มในภาคเศรษฐกิจ และกลุ่มในภาคสังคม ฐานทรัพยากร และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นกลุ่มตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543[1] ดังนี้

1. กลุ่มในภาคเศรษฐกิจ จำนวน 50 คน
ประกอบด้วยผู้แทนจากภาคการผลิตหลักของประเทศ ได้แก่
     1. การผลิตด้านการเกษตร จำนวน 16 คน
     2. การผลิตด้านการอุตสาหกรรม จำนวน 17 คน
     3. การผลิตด้านการบริการ จำนวน 17 คน
2. กลุ่มในภาคสังคม ฐานทรัพยากร และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 49 คน
      กลุ่มในภาคสังคม จำนวน 19 คน
     (1) การพัฒนาชุมชน จำนวน 2 คน
     (2) การสาธารณสุข จำนวน 2 คน
     (3) การศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรมและศาสนา จำนวน 4 คน
     (4) การพัฒนาและสงเคราะห์คนพิการ จำนวน 2 คน
     (5) การพัฒนาเด็ก เยาวชน สตรีและผู้สูงอายุ จำนวน 4 คน
     (6) การพัฒนาแรงงาน จำนวน 4 คน
     (7) การคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 1 คน
     กลุ่มในภาคฐานทรัพยากร จำนวน 16 คน
     (8) ฐานทรัพยากร เช่น ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ลุ่มน้ำทะเล อากาศ หรือความหลากหลายทางชีวภาพ จำนวน 10 คน
     (9) การพัฒนาระบบการเกษตร จำนวน 4 คน
     (10) การพัฒนาระบบการอุตสาหกรรม จำนวน 1 คน
     (11) การพัฒนาระบบการบริการ จำนวน 1 คน
     กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 14 คน

ทั้งนี้ การกำหนดจำนวนของสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้งในภาพรวม และในแต่ละกลุ่มนั้น ในการดำเนินการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ กฎหมายได้กำหนดให้ต้องคำนึงถึงการกระจายบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนไปตามภาค อาชีพ เพศ และขนาดของกิจการ[2] โดยในกลุ่มการผลิตด้านการเกษตรจะต้องให้ได้สมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากเกษตรกรรายย่อยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ในกลุ่มการผลิตด้านการอุตสาหกรรมต้องคำนึงถึงการกระจายบุคคล ซึ่งเป็นสมาชิกจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม และลูกจ้าง และในกลุ่มการผลิตด้านการบริการจะต้องให้ได้สมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากผู้ค้าอิสระหรือผู้ประกอบกิจการด้วยตนเองรายย่อยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม เพื่อกระจายสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ให้ครอบคลุมกลุ่มต่างๆ ในขนาดที่เหมาะสม อันจะก่อให้เกิดความหลากหลายทางความคิด คำนึงถึงประสิทธิภาพสูงสุด และไม่ใหญ่โตเกินไป.

ที่มา

พรรณราย ขันธกิจ. บทบาทและหน้าที่ขององค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า, 2548

พรรณราย ขันธกิจ. สารานุกรมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. นนทบุรี : สถาบัน พระปกเกล้า , 2552.

สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ : องค์กรสะท้อนปัญหา ... จากประชาสู่รัฐ. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน), 2552.


ดูเพิ่มเติม

www.nesac.go.th/

อ้างอิง

  1. พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 มาตรา 5.
  2. พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 มาตรา 6.