เงินไม่มา กาไม่เป็น

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:56, 8 กันยายน 2553 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''ผู้เรียบเรียง''' รศ.ดร.กมลชัย รัตนสกาววงศ์ ---- เงินไม่มา ก...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รศ.ดร.กมลชัย รัตนสกาววงศ์


เงินไม่มา กาไม่เป็น” เป็นคำพูดที่สะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้วประชาชนในท้องที่ชนบทนั้น มิได้ให้ความสนใจในการใช้สิทธิเลือกตั้งเท่าที่ควร ส่วนใหญ่มักจะ “นอนหลับทับสิทธิ” ถ้าไม่มีการนำเงินมาให้เพื่อจูงใจให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดหรือพรรคการเมืองใดแล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งดังกล่าวก็จะไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือไม่ไปกากบาทในบัตรเลือกตั้ง จึงพูดกันติดปากว่า “เงินไม่มา กาไม่เป็น”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ก็พยายามแก้ไขปัญหาเรื่อง “เงินไม่มา กาไม่เป็น” โดยกำหนดให้การใช้สิทธิเลือกตั้งเป็น “หน้าที่” มิใช่ “สิทธิ” ดังเช่นในอดีตด้วยเห็นว่าถ้าเป็น “สิทธิ” ของประชาชน ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะใช้ “สิทธิ” ของตนหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้ากำหนดให้เป็น “หน้าที่” แล้ว หากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ก็จะมีสภาพบังคับ (Sanction) ตามมา โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 68 ว่า “บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง บุคคลซึ่งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุผลอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ ...” และมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ได้บัญญัติรองรับไว้ว่า ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นย่อมเสียสิทธิรวม 8 ประการ นับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้นั้นไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจนถึงวันที่ผู้นั้นไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร ก็จะเสียสิทธิทำนองเดียวกัน รวม 6 ประการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545