หัวหน้าพรรค
ผู้เรียบเรียง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
หัวหน้าพรรคการเมือง
หัวหน้าพรรคการเมือง คือ บุคคลที่มีตำแหน่งสำคัญในพรรคการเมือง โดยทำหน้าที่ตามกฎหมายและข้อบังคับของพรรคการเมืองนั้นๆ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองดำเนินการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง (มาตรา 28)
หัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นกลไกพรรคในระดับบน เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานของพรรคในทุกด้านตั้งแต่ระดับชาติหรือส่วนกลาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมืองเกือบทั้งหมดไปถึงระดับท้องถิ่นหรือสาขาพรรค ทั้งนี้ในทางปฎิบัติแล้วหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับผู้นำพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาลและหากสำเร็จก็จะมีบทบาทในการคัดสรรบุคคลในพรรคเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง จึงกล่าวได้ว่าผู้นำพรรคการเมือง โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ถือเป็นผู้ควบคุมกลไกการทำงานของพรรค ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ตลอดจนในบางครั้งยังเป็นแหล่งทุนสำคัญของพรรคด้วย
หน้าที่ของหัวหน้าพรรคการเมือง
หน้าที่ของหัวหน้าพรรคการเมือง ตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 โดยส่วนใหญ่อยู่ในฐานะกรรมการบริหารพรรคการเมือง แต่ทั้งนี้ได้มีการระบุถึงหน้าที่ของหัวหน้าพรรคการเมืองไว้ ดังนี้
(1) ยื่นจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียน โดยต้องยื่นพร้อมกับนโยบายพรรคการเมือง ข้อบังคับพรรคการเมือง บัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สินของพรรคการเมือง หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่เป็นที่ทำการพรรคการเมืองซึ่งต้องอยู่ในราชอาณาจักร และสำเนารายงานการประชุมตั้งพรรคการเมือง (มาตรา 12)
(2) เป็นผู้แทนของพรรคการเมืองในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก (มาตรา 17)
(3) จัดทำทะเบียนสมาชิกให้ตรงตามความเป็นจริง และแจ้งจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงพร้อมด้วยรายชื่ออาชีพ และที่อยู่ของสมาชิก ต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ตลอดจนแจ้งจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงพร้อมด้วยรายชื่ออาชีพและที่อยู่ของสมาชิกดังกล่าว ตามวิธีการที่นายทะเบียนกำหนด ให้นายทะเบียนทราบภายในวันที่ 7 ของทุกสามเดือน และให้สรุปยอดจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงทั้งหมดในรอบปีให้นายทะเบียนทราบภายในเดือนมกราคมของทุกปี(มาตรา 19)
(4) ในกรณีที่พรรคการเมืองใดจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง หัวหน้าพรรคการเมืองมีหน้าที่ทำหนังสือแจ้งการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนภายใน 15 วันนับแต่วันที่จัดตั้งสาขา พรรคการเมืองนั้น (มาตรา 34)
(5) ทำหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรคการเมือง ข้อบังคับพรรคการเมืองหรือชื่อ อาชีพ ที่อยู่ และลายมือชื่อของกรรมการบริหารพรรคการเมืองต่อนายทะเบียน ภายใน 30 วันที่ได้มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้พิจารณาแก้ไขรายละเอียดดังกล่าว (มาตรา 41)
(6)จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาให้ถูกต้องตามความเป็นจริงตามวิธีการที่นายทะเบียนกำหนด และแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในเดือนมีนาคมของทุกปี เพื่อประกาศให้สาธารณชนทราบ (มาตรา 42)
(7) เสนองบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรองแล้วต่อที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติภายในเดือนเมษายนของทุกปี โดยแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า และปิดประกาศไว้ ณ ที่ตั้งสำนักงานของพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 15 วัน (มาตรา 47)
(8)จัดให้มีบัญชีแสดงรายรับจากการบริจาค ซึ่งต้องระบุ ชื่อ ที่อยู่ จำนวนเงิน และรายการทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ของผู้บริจาคทุกราย วัน เดือน ปี ที่รับบริจาค และสำเนาหลักฐานการรับบริจาค ( มาตรา 62)
(9) ในกรณีที่การควบรวมพรรคการเมืองเป็นการรวมกันเพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ ให้พรรคการเมืองที่จะรวมกันขอความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคการเมือง เมื่อที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคการเมืองเห็นชอบให้รวมกันแล้ว ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวนพรรคการเมืองละ 10 คน ประชุมร่วมกัน เพื่อดำเนินการกำหนดนโยบายและข้อบังคับพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ เมื่อได้ดำเนินการแล้ว ให้ดำเนินการจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างสมาชิกของทุกพรรคการเมืองที่จะรวมกัน โดย ต้องแจ้งให้สมาชิกของพรรคการเมืองที่จะรวมกันทราบก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 7 วันเพื่อประชุมตั้งพรรคการเมืองและให้ดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งพรรคการเมือง (มาตรา 101 ) นอกจากนี้แล้ว หน้าที่ของหัวหน้าพรรคการเมืองยังถูกกำหนดด้วยข้อบังคับของพรรคการเมือง ดังตัวอย่างของพรรคการเมืองไทย ต่อไปนี้
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (1)เป็นหัวหน้ารับผิดชอบการบริหารงานของพรรค ตามกฎหมายและข้อบังคับพรรค (1) เป็นผู้แทนของพรรคในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก
(2) เป็นผู้แทนของพรรคในการดำเนินกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้ หัวหน้าพรรคจะมอบหมายเป็นหนังสือให้กรรมการบริหารคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้ (2) กำกับดูแลการบริหารงานพรรคให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับ
(3) แต่งตั้งผู้อำนวยการพรรคและรองผู้อำนวยการพรรค โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรค (3) บริหารงานพรรคตามที่ที่ประชุมใหญ่หรือคณะกรรมการบริหารมอบหมาย
(4) แต่งตั้งคณะกรรมการหรือบุคคลให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วรายงานให้คณะกรรมการบริหารพรรคทราบ (4) สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับงานของพรรค
(5) มอบอำนาจในการอนุมัติหรืออนุญาตให้กรรมการบริหารพรรคคนใดคนหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่งทำการแทนได้ (5) แต่งตั้งและถอดถอนที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค
(6) อำนาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายอื่น ๆ หรือในข้อบังคับพรรค (6) แต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่พรรค
(7) จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมาให้ถูกต้องตามความเป็นจริงตามวิธีการที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนดและแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบภายในเดือนมีนาคมของทุกปี (7) แต่งตั้งคณะทำงานหรือบุคคลใดให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งรวมทั้งถอดถอนคณะทำงานหรือบุคคล
(8) เรียกประชุมคณะกรรมการบริหาร
(9) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายหรือข้อบังคับกำหนดหรือตามที่คณะกรรมการบริหารเห็นสมควรกำหนดเพื่อการนี้ หัวหน้าพรรคจะมอบหมายเป็นหนังสือให้ผู้ดำเนินงานพรรค หรือสมาชิกที่เป็นคณะผู้บริหารคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้
การตรวจสอบและควบคุมหัวหน้าพรรคการเมือง
(1) การจัดทำทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง
ถ้าหัวหน้าพรรคการเมืองไม่แจ้งจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงพร้อมด้วยรายชื่ออาชีพ และที่อยู่ของสมาชิก ให้นายทะเบียนทราบภายในวันที่เจ็ดของทุกสามเดือน หรือไม่สรุปยอดจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงทั้งหมดในรอบปีให้นายทะเบียนทราบภายในเดือนมกราคมของทุกปี นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งภายในระยะเวลาที่กำหนด (มาตรา 19)
(2) การฝ่าฝืนนโยบายพรรคการเมืองหรือข้อบังคับพรรคการเมือง
นายทะเบียนมีอำนาจเตือนเป็นหนังสือให้หัวหน้าพรรคการเมือง ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำนั้นภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด ถ้าคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ปฏิบัติตามคำเตือน ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำดังกล่าว หรือให้หัวหน้าพรรคการเมืองออกจากตำแหน่งได้ และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ออกจากตำแหน่ง ผู้นั้นไม่มีสิทธิเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอีกเว้นแต่จะพ้นกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง (มาตรา 31)
(3) การถอดถอนหัวหน้าพรรคการเมือง
สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ หรือไม่น้อยกว่า 10,000 คน แล้วแต่จำนวนใดจะน้อยกว่ากัน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนหัวหน้าพรรคการเมือง ออกจากตำแหน่งได้ โดยให้จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคการเมืองภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำร้องขอไปถึงพรรคการเมืองมติให้ถอดถอนต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนผู้ที่เข้าประชุมใหญ่วิสามัญ โดยให้ลงคะแนนลับ
ในกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดถูกถอดถอน ให้ที่ประชุมใหญ่ดำเนินการเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งนั้น การดำเนินการตามมาตรานี้ให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในวาระการดำรงตำแหน่งของหัวหน้าพรรคการเมือง แต่ในกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การถอดถอนผู้นั้น ตามหลักเกณฑ์นี้ไม่ได้ (มาตรา 32)
(4) การแสดงบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
หัวหน้าพรรคการเมืองต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะพร้อมสำเนาหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน ตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ภายใน 30 วันนับแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง และภายใน 30 วันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ ถูกยุบหรือนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี รวมทั้งสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมาให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงต่อนายทะเบียน ทั้งนี้ในกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมืองได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมายอื่นแล้ว อาจส่งสำเนาบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นไว้ตามกฎหมายอื่นนั้นต่อนายทะเบียนแทนก็ได้ (มาตรา 49)
(5) การรับเงินบริจาคพรรคการเมือง
-ห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ซึ่งเป็นการบริจาคโดยไม่ปรากฏชื่อผู้บริจาคหรือที่บริจาคให้ตนเป็นส่วนตัว (มาตรา 56)
- ห้ามมิให้หัวหน้าพรรคการเมืองรับบริจาคจากบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเกินกว่า 10,000,000 บาทต่อปี (มาตรา 59)
- เมื่อมีการบริจาคแก่พรรคการเมือง ให้หัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งเป็นผู้ที่รับบริจาค ต้องจัดทำบันทึกการรับบริจาคไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งบันทึกการรับบริจาคของพรรคการเมืองพร้อมเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ รวมทั้งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้แก่พรรคการเมือง เพื่อนำส่งเข้าบัญชีแสดงรายรับจากการบริจาคของพรรคการเมืองไว้ก่อนภายใน 7 นับแต่วันที่ได้รับบริจาค
เมื่อพรรคการเมืองได้รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากการบริจาคแล้ว ให้ลงรายการการรับบริจาคในบัญชีแสดงรายรับจากการบริจาคของพรรคการเมืองให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่รายการนั้นเกิดขึ้น และให้จัดส่งใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการรับบริจาคให้แก่ ผู้บริจาคภายใน 7 วันนับแต่วันที่ออกใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับบริจาค ในกรณีที่มีการบริจาคให้แก่พรรคการเมือง ให้หัวหน้าพรรคการเมืองจัดทำประกาศบัญชี
รายชื่อผู้บริจาค และจำนวนเงิน รายการทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ที่
ได้รับบริจาคในแต่ละสัปดาห์ ให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงให้แล้วเสร็จภายในวันทำการวันแรกของสัปดาห์ถัดมา แล้วปิดประกาศไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมืองเป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 15 วัน และจัดส่งประกาศดังกล่าวให้นายทะเบียนทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่ประกาศ (มาตรา 60)
-ในกรณีการบริจาคเป็นเงินสด ให้หัวหน้าพรรคการเมืองนำไปฝากไว้ในบัญชีธนาคารพาณิชย์ ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับการบริจาคแล้วออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้บริจาคไว้เป็นหลักฐานภายในวันที่ได้รับบันทึกการบริจาค ในกรณีการบริจาคเงินเป็นตั๋วแลกเงินหรือเช็คขีดคร่อม ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและเหรัญญิกพรรคการเมืองนำส่งเข้าบัญชีเงินฝาก เมื่อตั๋วแลกเงินหรือเช็คขีดคร่อมไม่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน ให้พรรคการเมืองออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้บริจาคไว้เป็นหลักฐานภายในวันที่ที่มีรายการนั้นเกิดขึ้น (มาตรา 63)
-ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเปิดบัญชีกับธนาคารพาณิชย์โดยระบุชื่อเจ้าของบัญชีในนามของพรรคการเมืองนั้น และให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งหมายเลขบัญชีของบัญชีเงินฝากและจำนวนเงินที่เปิดบัญชีของทุกบัญชีพร้อมทั้งส่งสำเนาบัญชีเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์รับรองแก่นายทะเบียนภายใน 7 วันนับแต่วันที่เปิดบัญชีดังกล่าว (มาตรา 64)
- ในกรณีที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ เลิก หรือยุบ ตามบทบัญญัติในหมวดนี้เว้นแต่กรณีมีการควบรวมพรรคการเมือง ให้หัวหน้าพรรคการเมืองส่งบัญชีและงบดุลรวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมืองภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ เลิก หรือยุบ และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน ถ้าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินชำระบัญชีไม่เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ขอขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 6 เดือน และให้หัวหน้าพรรคการเมืองยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ แต่จะไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพ เลิก หรือยุบ ได้ (มาตรา 96)
การกำหนดบทลงโทษหัวหน้าพรรคการเมือง
โทษทางอาญา
- ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดฝ่าฝืนไม่ควบคุมหรือมิได้ยับยั้งให้สมาชิกหรือผู้ซึ่งพรรคการเมืองส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งไม่กระทำการ อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ หรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 105)
- หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดจัดทำทะเบียนสมาชิกอันเป็นเท็จ โดยไม่จัดทำทะเบียนสมาชิกให้ตรงตามความเป็นจริงเก็บรักษาไว้ ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมือง และพร้อมที่จะให้นายทะเบียนหรือผู้ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายตรวจสอบได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 106)
- หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะพร้อมสำเนาหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินในวันที่เข้ารับตำแหน่งวันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือถูกยุบ หรือวันที่พ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี รวมทั้งสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา ในวันยื่นให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงต่อนายทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง ภายใน30วันนับแต่วันที่สภาผู้แทน ราษฎรสิ้นอายุ หรือถูกยุบหรือภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 112)
-หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใด ฝ่าฝืนรับบริจาคจากบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเกินกว่าจำนวน 10,000,000,000 บาทต่อปี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 115)
-หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนรับบริจาคเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 40,000บาท – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี (มาตรา 116)
-ในกรณีที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ เลิก หรือยุบ และหัวหน้าพรรคการเมืองไม่ดำเนินการส่งบัญชีและงบดุลรวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมืองภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ เลิก หรือยุบ และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(มาตรา 121)
โทษทางปกครอง
- หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใด ไม่แจ้งจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงพร้อมด้วยรายชื่ออาชีพ และที่อยู่ของสมาชิก ตามวิธีการที่นายทะเบียนกำหนด ให้นายทะเบียนทราบภายในวันที่เจ็ด ของทุกสามเดือน และให้สรุปยอดจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงทั้งหมดในรอบปีให้นายทะเบียนทราบภายในเดือนมกราคมของทุกปี หรือไม่รายงานการใช้จ่ายเงิน และการลงรายละเอียดของรายการค่าใช้จ่าย ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดต้องชำระค่าปรับทางปกครองไม่เกิน 50,000 บาท (มาตรา 123)
- หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใด
(1)ไม่ส่งรายงานหรือเอกสารเกี่ยวกับการที่พรรคการเมืองมีมติให้สมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพตามข้อบังคับพรรคการเมืองเพราะกระทำผิดวินัยหรือจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง หรือมีเหตุร้ายแรงอื่นไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร (ถ้าสมาชิกผู้นั้นดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย) และนายทะเบียนภายใน 7 วันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติให้สมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพ
(2)ไม่ส่งหนังสือแจ้งการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนภายใน 15 วันนับแต่วันที่จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองนั้น
(3)ไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายพรรคการเมือง ข้อบังคับพรรคการเมืองหรือรายการชื่อ อาชีพ ที่อยู่ และลายมือชื่อของกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่จดแจ้งไว้กับนายทะเบียน
(4) ไม่ส่งงบการเงินซึ่งที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติแล้วต่อนายทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติพร้อมทั้งสำเนาบัญชีต้องชำระค่าปรับทางปกครองไม่เกิน 50,000 บาทและต้องชำระค่าปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
ทั้งนี้หากหัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำเตือนของนายทะเบียนเพื่อให้ดำเนินการดังกล่าว ต้องชำระค่าปรับทางปกครองไม่เกิน 100,000 บาท และต้องชำระค่าปรับอีกไม่เกินวันละ 1,000 บาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง (มาตรา 124)
-หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนซึ่งสั่งให้มีการเรียกประชุมใหญ่พรรคการเมืองเป็นครั้งแรกภายใน 60 วัน หรือไม่จัดให้มีบัญชีแสดงรายรับจากการบริจาค ไม่เปิดบัญชีกับธนาคารพาณิชย์โดยระบุชื่อเจ้าของบัญชีในนามของพรรคการเมืองนั้น และ หมายเลขบัญชีของบัญชีเงินฝากและจำนวนเงินที่เปิดบัญชีของทุกบัญชีพร้อมทั้งส่งสำเนาบัญชีเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์รับรองแก่นายทะเบียนภายใน 7 วันนับแต่วันที่เปิดบัญชีดังกล่าว รวมทั้งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการดำเนินการตามมาตรการและวิธีการควบคุมการได้รับการบริจาคของพรรคการเมืองต้องชำระค่าปรับทางปกครองไม่เกิน 100,000 บาท (มาตรา 127)
- หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใด ไม่นำเงินบริจาคที่เป็นเงินสด หรือเงินบริจาคที่เป็นตั๋วแลกเงินหรือเช็คขีดคร่อมซึ่งไม่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินนำไปฝากไว้ในบัญชีธนาคารพาณิชย์ ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับการบริจาคแล้วออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้บริจาคไว้เป็นหลักฐานภายในวันที่ได้รับบันทึกการบริจาคหรือวันที่ที่มีรายการนั้นเกิดขึ้น หรือดำเนินใช้จ่ายเงิน หรือจำหน่ายทรัพย์สินของพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ต้องชำระค่าปรับทางปกครองเท่ากับหรือไม่เกินสองเท่าของจำนวนเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับบริจาค (มาตรา 128)
- ในกรณีที่พรรคการเมืองใดได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ไปแล้วและไม่จัดทำแผนการดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองในแต่ละปี ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด หรือในกรณีที่ ภายหลังปรากฏว่ามีเหตุที่พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ต้องเลิก หรือยุบพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองนั้นต้องคืนเงินสนับสนุนแก่กองทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด หากต่อมาได้รับคำเตือนจากนายทะเบียนแล้วยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำเตือนนั้น ต้องชำระค่าปรับทางปกครองไม่เกินสองเท่าของเงินสนับสนุนและดอกเบี้ยตามกฎหมายที่ต้องคืนให้แก่กองทุน (มาตรา 130) ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นร่วมรับผิดชอบชดใช้เงินคืนแก่กองทุนอย่างลูกหนี้ร่วม (มาตรา 86)
หัวหน้าพรรคการเมือง กับ ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินบทบาททางการเมืองของ
พรรคการเมืองไทย
ในฐานะที่เป็นชนชั้นนำของพรรคการเมือง ทั้งในแง่ของการกำหนดทิศทางของพรรคและการเป็นผู้จัดหาหรือเป็นแหล่งทุนสำคัญของพรรค ส่วนใหญ่หัวหน้าพรรคมักเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคการเมืองโดยการชักชวนหรือร่วมมือกับเครือข่ายความสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ เช่น เครือญาติ เพื่อน เป็นต้น ทั้งนี้จากประวัติศาสตร์พรรคการเมืองไทยที่ผ่านมา เมื่อคนเหล่านี้มีบทบาทในการตัดสินใจเกือบทุกเรื่องเกี่ยวกับพรรค จนมีพฤติกรรมไปในลักษณะเป็น “เจ้าของพรรค” ทำให้มีข้อจำกัดหลายด้านในการดำเนินบทบาทของพรรค และยิ่งชนชั้นนำของพรรคมีแนวความคิดที่มุ่งเอาชนะเลือกตั้งเพื่อหาทางเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลเป็นหลัก ไม่สนใจในการขยายแนวคิดทางการเมืองและนโยบายพรรคออกไปสู่กลุ่มคนในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อหาทางสร้างรากฐานของพรรคให้เข้มแข็ง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือ การแข่งขันในการเลือกตั้งของชนชั้นนำในแต่ละพรรคทั้งหลายที่จะต้องเอาชนะให้ได้ ทั้งในแง่ของการละเมิดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีงามของสังคม และเมื่อมีโอกาสเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็มักดำเนินบทบาทไปในทางแสวงหา หรือ รักษาผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ทั้งในด้านการเข้าไปมีตำแหน่งทางการเมืองและการหาทางเอาชนะการเลือกตั้งในครั้งต่อไป เพื่อกลับเข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองต่อไปอีก รวมทั้งผลประโยชน์อื่นที่เกิดมาจากการมีตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว
อย่างไรก็ดี บทบาทเหล่านี้มีส่วนโดยตรงต่อการเกิดปัญหาความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ ทั้งความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำในพรรคเดียวกัน ระหว่างสองพรรคขึ้นไป และระหว่างชนชั้นนำของพรรคกับบุคคลหรือกลุ่มผลประโยชน์อื่นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้นำทหารและข้าราชการจนในที่สุดก็นำไปสู่รัฐประหาร และการหมดบทบาทของพรรคการเมือง
ตัวอย่างหัวหน้าพรรคการเมืองไทย
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
นายควง อภัยวงศ์ พ.ศ. 2489-2511
ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช พ.ศ. 2511-2522
พ.อ.ถนัด คอมันตร์ พ.ศ. 2522-2525
นายพิชัย รัตตกุล พ.ศ. 2525-2534
นายชวน หลีกภัย พ.ศ. 2534-2546
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน พ.ศ. 2546-2548
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พ.ศ. 2548-ปัจจุบัน
หัวหน้าพรรคชาติไทย
พลตรีประมาณ อดิเรกสาร พ.ศ. 2517 - 2529
พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ พ.ศ. 2529-2534
พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ พ.ศ. 2534-2535
พลตำรวจเอกประมาณ อดิเรกสาร พ.ศ. 2535-2537
นายบรรหาร ศิลปอาชา พ.ศ. 2537 - 2551
ที่มา
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550
ทวี สุรฤทธิกุล และ เสนีย์ คำสุข,”หน่วยที่ 7 โครงสร้างและกลไกของพรรคการเมืองไทยในปัจจุบัน” ในเอกสารการสอนชุดวิชา สถาบันและกระบวนการทางการเมืองไทย หน่วยที่ 1-8.สาขาวิชา รัฐศาสตร์ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2548 หน้า 505-506.
เวปไซต์ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย.“พรรคชาติไทย” http://politicalbase.in.th
เวปไซต์พรรคพลังประชาชน http://www.ptp.or.th/about/rule06.aspx
เวปไซต์พรรคประชาธิปัตย http://www.democrat.or.th/rule/rule_4.htm และ http://www.democrat.or.th/history.htm