สังคมนิยม (พ.ศ. 2499)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:54, 9 สิงหาคม 2553 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''ผู้เรียบเรียง''' นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ---- '''ผู้ทรงคุณวุฒิป...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พรรคสังคมนิยม

พรรคสังคมนิยมเป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 โดยยื่นจดทะเบียนต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2499 ทะเบียนเลขที่ 3/2499 โดยมีหัวหน้าพรรคคือ นายวิศิษฐ์ ศรีภัทรา เลขาธิการพรรคคือ นายว่อง ณ พัทลุง

อุดมการณ์ของพรรคสังคมนิยม

พรรคสังคมนิยมจะดำเนินนโยบายการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมีอุดมคตอย่างแน่นอนในอันที่จะธำรงและเทอดทูนไว้ซึ่งสิทธิผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ โดยจะส่งเสริมการศึกษาของชาติ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม กับจะดำเนินนโยบายต่างประเทศตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติซึ่งกันและกัน อีกทั้งจะยึดมั่นในหลักการอยู่ร่วมกันโดยสันติ

นโยบายของพรรคสังคมนิยม

นโยบายด้านเศรษฐกิจ พรรคสังคมนิยมจะส่งเสริมการประกอบอุตสาหกรรมในครอบครัวให้แพร่หลายยิ่งขึ้น รัฐบาลจะเข้าช่วยเหลือประชาชนให้ประกอบการอุตสาหกรรมเบาขึ้นภายในประเทศ จะจัดให้มีอุตสาหกรรมหนักขึ้นภายในประเทศ โดยจะใช้ทรัพยากรในประเทศให้เป็นประโยชน์ต่อการผลิตมากที่สุด จะเสริมสร้างการคมนาคมภายในและภายนอกประเทศ เพื่อสะดวกแก่การขนส่งสินค้าสู่ตลาด จะจัดหาตลาดต่างประเทศสำหรับสินค้าขาออกให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยไม่เลือกปฏิบัติ จะยึดมั่นในนโยบายการค้าต่างประเทศ โดยอาศัยหลักเสมอภาคเป็นมูลฐาน

นโยบายด้านการคลัง พรรคสังคมนิยมจะบริหารการคลังเพื่อให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประชาชนส่วนใหญ่ โดยจะจัดระบบภาษีอากรให้เห็นธรรมแก่สังคม ในการดำเนินการจัดทำงบประมาณของแผ่นดิน จะยึดมั่นในหลักการใช้จ่ายเงินเพื่อลงทุนในการผลิตตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง สำหรับการควบคุมการใช่จ่ายเงินของแผ่นดินนั้น พรรคสังคมนิยมจะได้แยกสถาบันการตรวจสอบบัญชีของรัฐออกเป็นองค์การอิสระ รับผิดชอบโดยตรงต่อรัฐสภาแห่งชาติ พรรคสังคมนิยมจะรักษาเสถียรภาพแห่งค่าของเงินตราให้มั่นคงและเหมาะสมแก่ภาวะเศรษฐกิจ และจะให้สถาบันการเงินของชาติ หรือธนาคารกลาง มีอำนาจเต็มในการดำเนินกิจการของตนเอง รับผิดชอบโดยตรงต่อรัฐสภาแห่งชาติ

นโยบายด้านการเกษตร พรรคสังคมนิยมจะเข้าช่วยให้เกษตรกรได้มีเครื่องมือเครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ในการผลิต เพื่อเพิ่มผลิตผลขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ จะส่งเสริมการสหกรณ์ให้แพร่หลาย เพื่อตัดพ่อค้าคนกลางในทางการเกษตร จะได้ทำการปฏิรูปที่ดินเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่โดยแท้จริง

นโยบายด้านสังคม พรรคสังคมนิยมจะถือว่าประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศควรจะได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพและหลักประกันการครองชีพอันแน่นอนจากรัฐด้วยความเป็นธรรมทั่วหน้ากันอย่างใกล้ชิด โดยจะจัดให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยโดยทั่วถึงกัน ซึ่งจะต้องช่วยเหลือคนยากจนก่อน จะจัดให้มีสถานที่พักฟื้นสำหรับคนป่วย คนชรา ให้เพียงพอแก่ความต้องการโดยกว้างขวางทั่วประเทศ จะจัดให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพของคนงาน รวมทั้งผู้ใช้แรงงานและผู้ใช้กำลังสมอง โดยจะวางหลักให้เหมาะที่สุด จะให้สิทธิแก่คนงานในอันที่จะตั้งสหบาลอาชีพ เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรม ไม่ว่าการกระทำนั้น ๆ จะกระทำต่อรัฐหรือนายจ้าง พรรคสังคมนิยมจะแก้ปัญหาคนว่างงาน โดยวางระบบอาชีพของประชาชนให้เหมาะสมกับภาวะภูมิอากาศ โดยจะได้ส่งเสริมและแก้ไขเกี่ยวกับแหล่งงาน เทคนิคของงาน ตลอดจนการอุดหนุนด้วยทุนทรัพย์จากรัฐ จะหาทางให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมในส่วนเกินของแรงงานที่เสียไปเพื่อช่วยเหลือบุคคลผู้ใช้แรงงานเป็นส่วนรวม และในกรณีที่มีการว่างงาน ชราภาพ ทุพพลภาพ หญิงหม้าย เด็กกำพร้า ตลอดจนการสงเคราะห์มารดาและทารก พรรคสังคมนิยมจะจัดให้มีหลักประกันอย่างแน่นอน

นโยบายด้านการศึกษา พรรคสังคมนิยมถือว่าการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญยิ่งที่รัฐจะต้องจัดโดยให้เปล่ามากที่สุด โดยมิต้องคำนึงถึงความแตกต่างหรือความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในตัวบุคคล โดยรัฐจะต้องจัดการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ให้เพียงพอและเหมาะสมแก่ความต้องการของประชาชน รัฐจะต้องสนับสนุนเยาวชนชองชาติให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพอย่างแท้จริง โดยจะต้องจัดการส่งเสริมให้มีโรงเรียนอาชีวศึกษาแพร่หลายยิ่งขึ้น รัฐจะต้องจัดให้มีสถานศึกษา ครูอาจารย์ ตลอดจนอุปกรณ์การศึกษา โดยเพียงพอและทั่วถึง สำหรับการศึกษาชั้นอุดมศึกษา รัฐควรเป็นเพียงผู้สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในสถานการศึกษานั้น ๆ ดำเนินการของตนเองโดยอิสระ

นโยบายด้านการศึกษา พรรคสังคมนิยมจะจัดให้มีสถานพยาบาล ยารักษาโรค ตลอดจนนายแพทย์และอุปกรณ์โดยทั่วไป โดยรัฐต้องรีบจัดหาให้เพียงพอแก่ความต้องการของประชาชน จะให้ประชาชนส่วนมาได้รับการรักษาโดยปราศจากการคิดมูลค่าเพิ่มเติมขึ้นให้มากที่สุด ทั้งจะได้กระจายให้กว้างขวางออกไปสู่ส่วนภูมิภาค พรรคสังคมนิยมจะควบคุมการดำเนินการสถานพยาบาล ยารักษาโรค ค่าตรวจรักษา ตลอดจนสถานตรวจโรคและโรงพยาบาลซึ่งเป็นของเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเป็นส่วนรวม

นโยบายด้านการต่างประเทศ พรรคสังคมนิยมจะดำเนินนโยบายการเมืองต่างประเทศโดยเคารพต่อเอกราชของชาติอื่น และยึดมั่นในหลักการอยู่ร่วมกันโดยสันติ จะส่งเสริมและสนับสนุนประชากรของดินแดนที่ยังไม่ได้ปกครองตนเอง ให้ได้รับการปกครองตนเองในที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามอุดมคติและหลักการแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ และจะสนับสนุนให้นานาชาติได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้องค์การสหประชาชาติมีลักษณะเป็นสากล และนำมาซึ่งสันติภาพถาวร อันเป็นยอดปรารถนาของชาวโลกร่วมกัน

นโยบายด้านการเมืองภายในประเทศ พรรคสังคมนิยมจะเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยยึดมั่นในหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จะส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกตั้งอย่างกว้างขวางเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จะรับฟังความคิดเห็นและการแสดงออกอันเป็นมติของประชาชนส่วนใหญ่เพื่อรักษาสิทธิผลประโยชน์ของประเทศชาติ

นโยบายด้านการปกครอง พรรคสังคมนิยม จะถือว่าประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศจะต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ทั้งในด้นสวัสดิภาพและความปลอดภัย จึงไว้วางนโยบายทางการปกครองโดยมุ่งกระจายอำนาจการปกครอง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และเร่งสร้างสรรค์ความเจริญในส่วนภูมิภาคอย่างกว้างขวาง โดยแก้ไขระบบการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้หมู่บ้านและตำบลได้รับการทำนุบำรุงทั่วถึงกัน จะจัดระบบตำรวจให้เป็นตำรวจของประชาชน และมีไว้เพื่อร่วมมือกับข้าราชการฝ่ายปกครองในอันที่จะรักษาความสงบภายใน จะดำเนินการปฏิบัติต่อกันแก่ผู้ต้องขังตามหลักการราชทัณฑ์ในแบบอย่างอารยประเทศ โดยปลูกฝังให้อาชญากรได้รับความรู้ในวิชาชีพและศีลธรรม เพื่อจะได้กลับตนเป็นพลเมืองดีเมื่อพ้นโทษ และจะพยายามส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างข้าราชการกับประชาชน โดยต่างก็เคารพต่อสิทธิและหน้าที่ซึ่งกันและกัน เพื่อร่วมกันรักษาผลประโยชน์ของชาติ พรรคสังคมนิยมจะแยกข้าราชการฝ่ายประจำออกจากข้าราชการฝ่ายการเมืองอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

นโยบายด้านการทหาร พรรคสังคมนิยมจะส่งเสริมให้ทหารต้องเป็นทหารของชาติ มีหน้าที่รักษาเอกราชและป้องกันอธิปไตย พรรคสังคมนิยมเห็นสมควรให้มีการจัดระบบทหารใหมีสมรรถภาพและตั้งอยู่ในระเบียบวินัยอันดี เพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารชั้นผู้น้อยจะต้องได้รับสวัสดิการรัฐเป็นพิเศษ

นโยบายด้านการยุติธรรม พรรคสังคมนิยมจะถือว่าอำนาจตุลาการเป็นอำนาจสูงสุดที่จะต้องธำรงซึ่งความยุติธรรม เพื่อประกันสวัสดิภาพและสิทธิเสรีภาพของมวลชนผู้บริสุทธิ์ พรรคสังคมถือว่าอำนาจของศาลในการพิจารณาอรรถคดีต้องเป็นไปโดยอิสระ

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2499 พรรคสังคมนิยม ได้ร่วมกับพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้แก่ พรรคเศรษฐกร พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค พรรคสังคมประชาธิปไตย และพรรคเสรีประชาธิปไตย จัดตั้งเป็น “แนวร่วมสังคมนิยม” เพื่อดำเนินการทางการเมืองร่วมกัน โดยแนวร่วมสังคมนิยมมีนายเทพ โชตินุชิต หัวหน้าพรรคเศรษฐกกร เป็นหัวหน้า สำหรับวัตถุประสงค์ของแนวร่วมสังคมนิยม คือ การมุ่งเสริมสร้างเอกราชให้สมบูรณ์ กำจัดลัทธิอาณานิคมทุกแบบ ให้ประชาชนได้มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ส่งเสริมให้มีสันติภาพถาวร และส่งเสริมมาตรฐานการครองชีพให้ดีขึ้น

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พรรคสังคมนิยมส่งผู้สมัครของพรรคลงแข่งขันรับการเลือกตั้ง แต่ผู้สมัครของพรรคสังคมนิยมไม่ได้รับการเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว

ที่มา

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 73 ตอนที่ 25 ลงวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2499 หน้า 1036-1045

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, กำเนิดพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2510

สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519