รักเมืองไทย (พ.ศ. 2549)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:54, 21 มิถุนายน 2553 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ''' รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐ...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรครักเมืองไทย

พรรครักเมืองไทย เขียนอักษรย่อภาษาไทยว่า “รมท” ใช้ภาษาอังกฤษว่า “RAKMUANGTHAI PARTY” ขึ้นทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเลขที่ 9/2549 ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2549 มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรครักเมืองไทย ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 111/173 หมู่ที่ 14 ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น 40000[1] ต่อมาได้เปลี่ยนที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคเป็นบ้านเลขที่ 172 หมู่ที่ 12 บ้านสันทางหลวง ตำบลจันจว้าใต้ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย[2]


เครื่องหมายพรรครักเมืองไทยมีคำอธิบายดังนี้ [3]

ธงชาติ หมายถึง สถาบันหลักคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่คนไทยทุกคนต้องรักษาและเทิดทูนเพื่อให้ประเทศชาติมั่นคง สามัคคีเป็นปึกแผ่นเดียวกัน

แผนที่ประเทศไทย หมายถึง ความเป็นเอกราชของชาติไทย

สีเหลืองวงกลม หมายถึง หลักคุณธรรมของศาสนาเพื่อเป็นเกราะคุ้มครองป้องกันคนไทยทั้งชาติไม่ให้เกิดอันตรายทั้งปวง


อุดมการณ์ของพรรค [4]

อุดมการณ์ของพรรค คือ ระบบความคิดที่พรรคควรยึดมั่น ยืดหยัด และศรัทธาตลอดไปคือ

1. การเมืองการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติ

2. การอยู่ร่วมกันแบบแบ่งปันความสุขซึ่งกันและกันตามอัตภาพ โดยไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ

3. ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความสามารถ มีความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคงในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม และส่งเสริมให้มีมาตรฐานของระบบการทำงานของเอกชนและในหน่วยของรัฐทุกหน่วยงาน

พรรครักเมืองไทยจะมุ่งเน้นความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านและต่างประเทศทั่วโลก โดยไม่เลือกการปกครองของสังคมที่แตกต่างกัน เพื่อประสานและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมือง ความมั่นคงและวัฒนธรรมทางสังคม โดยเน้นผลประโยชน์ของชาติโดยรวมเป็นหลัก


นโยบายของพรรครักเมืองไทย พ.ศ. 2549[5]

พรรครักเมืองไทย จะยึดมั่นในอุดมการณ์ของการบริหารพรรคที่อยู่ภายใต้กฎหมายของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะยึดผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นหลักในการบริหารประเทศ จึงได้กำหนดนโยบายของการบริหารไว้ 16 ด้าน คือ

1. นโยบายด้านการเมืองและการปกครอง เน้นการแก้ปัญหาหลักของชาติด้วยการเริ่มต้นขจัดระบบการเมืองให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยจะเน้นความสำคัญในการบริหารตามหลักของระบอบประชาธิปไตยที่จะตั้งพรรคการเมือง โดยการเมืองเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

2. นโยบายด้านเศรษฐกิจ ทบทวนและพัฒนาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ตรงกับสภาพความเป็นจริงโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงและแข่งขันเสรีที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและประเทศชาติ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา พัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจโดยใช้หลักการแข่งขันเสรี และกระจายความเจริญและเพิ่มงานสู่ชนบท

3. นโยบายด้านสังคมและวัฒนธรรม ป้องกันและแก้ไขปัญหาเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมในสังคมทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ ปลูกฝังจิตสำนึกและอุดมการณ์ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติ และส่งเสริมและสนับสนุนขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม

4. นโยบายด้านการเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมและแก้ไขระบบสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มสาขาอาชีพอื่นทุกรูปแบบให้มีประสิทธิภาพ ประกันการผลิตและราคาการผลิตของสหกรณ์อย่างเป็นระบบและเป็นธรรม และค้นคว้าพัฒนาเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ปลอดสารพิษ โดยการค้นคว้าด้านเทคโนโลยี

5. นโยบายด้านการศึกษา พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาของชาติ รวมถึงพัฒนาบุคลากรในสาขาที่ขาดแคลน และสนับสนุนให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคมและผู้พิการมีโอกาสเข้าศึกษาและฝึกอบรมวิชามากขึ้น

6. นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดแผนการใช้และพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าของชาติอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด และเร่งรัดป้องกันแก้ไขปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

7. นโยบายด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม แก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย ประกาศและคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับแรงงาน และสาขาอาชีพต่างๆให้ถูกต้องและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และสนับสนุนให้มีองค์กรของรัฐมาดำเนินการควบคุมดูแลการว่าจ้างอย่างใกล้ชิด

8. นโยบายด้านสตรี เด็ก เยาวชนและผู้ด้อยโอกาสในสังคม ปรับปรุง แก้ไขกฎหมาย เพื่อส่งเสริมใหญ่หญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกันและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี เพื่อให้สตรีมีสิทธิและเสรีภาพโดยสมบูรณ์ในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และสนับสนุนให้องค์กรของรัฐเพื่อที่จะดูแลเด็กอนาถาที่ถูกบิดา มารดาทอดทิ้ง

9. นโยบายด้านสาธารณสุขและสาธารณูปโภค สนับสนุนและส่งเสริมการให้บริการด้านสาธารณสุขและสาธารณูปโภคอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง และสนับสนุนให้อนามัย ตำบล และโรงพยาบาลทุกจังหวัดให้มีการบริการที่ดีและทั่วถึงเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่สมบูรณ์ และแข็งแรง

10. นโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม สนับสนุนให้การคุ้มครองผลผลิตที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยคนไทย ส่งเสริมอุตสาหกรรมการส่งออกขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนอุตสาหกรรมภายในครัวเรือนของชุมชนให้เป็นรูปธรรม และเร่งรัดการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและความจำเป็นพื้นฐาน ตลอดจนสาธารณูปโภคให้พอเพียงเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศและการร่วมลงทุนกับต่างประเทศ

11. นโยบายด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง พัฒนาพลังอำนาจของชาติให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพทุกด้านพร้อมที่จะเผชิญภัยคุกคามจากภายในและภายนอกประเทศทุกรูปแบบ และปรับปรุงขีดความสามารถของกองทัพให้มีประสิทธิภาพ

12. นโยบายด้านการต่างประเทศ ดำเนินนโยบายเป็นอิสระโดยยึดหลักการของผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติเป็นสำคัญ กระชับสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศทุกประเทศ และร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

13. นโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับต่างประเทศ และสนับสนุนให้หน่วยงานเอกชนสามารถนำเทคโนโลยีต่างๆที่คิดโดยคนไทยมาประยุกต์ เพื่อผลิตออกจำหน่ายสู่ตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ

14. นโยบายการต่อต้านยาเสพติดและโรคติดต่อที่รุนแรง ป้องกันและปราบปรามการผลิต การจำหน่าย การเสพยาเสพติดให้โทษอย่างเฉียบขาด และเพิ่มมาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างรุนแรงในกรณีที่สืบทราบได้ว่า มีส่วนพัวพันกับการผลิต การจำหน่ายและการเสพยาเสพติดให้โทษ

15. นโยบายด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ป้องกันระบบผูกขาดจากบริษัทเอกชนและสนับสนุนให้มีการค้าเสรี ยกเลิกสัมปทานที่เอาเปรียบประชาชนหรือผ่อนปรนลงมาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการบริการประชาชน และจัดสรรคลื่นวิทยุให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยรวม

6. นโยบายด้านการกีฬา ส่งเสริมและสนับสนุนการออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพของประชาชน และส่งเสริมการกีฬาและนักกีฬาของชาติให้มีขวัญ กำลังใจและความสามารถอย่างแท้จริงเพื่อเขาเหล่านั้นจะได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติต่อไป

พรรครักเมืองไทยเคยลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 จำนวนสามกลุ่มจังหวัด กลุ่มละ 10 คน ได้แก่ กลุ่มจังหวัดที่ 1 อันประกอบด้วย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย ตาก และกำแพงเพชร กลุ่มจังหวัดที่ 6 อันประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ และกลุ่มจังหวัดที่ 7 อันประกอบด้วยจังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสระบุรี แต่ไม่เคยชนะการเลือกตั้ง[6] จนกระทั่งมีประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ ๒๔/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ จึงประกาศให้พรรครักเมืองไทยสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตามมาตรา ๑๓๕ วรรคสาม ประกอบมาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง (๑) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ เนื่องจากพรรครักเมืองไทยไม่สามารถดำเนินการให้มีสมาชิกไม่น้อยกว่าห้าพันคน และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขาภายในหนึ่งปี จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคสังคมรักเมืองไทย[7]

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 73 ง, วันที่ 3 สิงหาคม 2549, หน้า 28, 42.
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 115 ง, วันที่ 27 ธันวาคม 2550, หน้า 122.
  3. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 73 ง, วันที่ 3 สิงหาคม 2549, หน้า 42.
  4. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 73 ง, วันที่ 3 สิงหาคม 2549, หน้า 43.
  5. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 73 ง, วันที่ 3 สิงหาคม 2549, หน้า 28-42.
  6. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 93 ก, วันที่ 18 ธันวาคม 2550, หน้า 47-50.
  7. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนที่ 46 ง, วันที่ 23 เมษายน 2552, หน้า 272.