พัฒนาสังคม (พ.ศ. 2543)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:35, 21 มิถุนายน 2553 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ''' รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐ...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคพัฒนาสังคม

พรรคพัฒนาสังคม เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “SOCIAL DEVELOPMENT PARTY” ขึ้นทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเลขที่ 17/2543 ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2543[1]

โดยมีเครื่องหมายเป็นภาพสี่เหลี่ยมพื้นสีขาวภายในเป็นพานรัฐธรรมนูญรองรับธงชาติไทย ใต้พานรัฐธรรมนูญมีชื่อพรรคภาษาไทยและภาษาอังกฤษปรากฏลักษณะและคำอธิบายดังต่อไปนี้[2]

1. รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นสีขาว หมายถึง ประเทศไทยทั้งสี่ภาคที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนรวมกันเป็นปึกแผ่น มั่นคง วัฒนาถาวร ร่มเย็นด้วยศิลปวัฒนธรรม เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชนทุกหมู่เหล่า

2. ภายในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเป็นรูปธงชาติไทย หมายถึง สัญลักษณ์ของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

3. ภายใต้ธงชาติไทยเป็นรูปพานรัฐธรรมนูญสีเหลืองทอง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองเชิดชูการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายในการปกครองประเทศ

4. ภายใต้พานรัฐธรรมนูญ มีตัวอักษรสีน้ำเงินเขียนเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีข้อความว่า “พรรคพัฒนาสังคม (SOCIAL DEVELOPMENT PARTY)” หมายความว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต พัฒนาต่อไปไม่หยุดยั้ง ทัดเทียมนานาอารยประเทศ

ตรายางเครื่องหมายสำหรับประทับรับรองเอกสารของพรรคเป็นเครื่องหมายย่อในลักษณะเดียวกัน หากแต่ใช้สีเดียว[3]

ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคพัฒนาสังคม ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 28/100 หมู่บ้านร่มเย็น ถนนฟ้าคราม หมู่ที่ 5 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130[4]


นโยบายพรรคพัฒนาสังคม พ.ศ. 2543[5]

พรรคพัฒนาสังคม ได้กำหนดแนวนโยบายเพื่อเป็นข้อปฏิบัติและวิธีการดำเนินการตามนโยบายขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยต่อไป

1. นโยบายปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ พรรคจะยกย่องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์รวมความสามัคคีของชนในชาติ จะทำการใดๆก็ตามที่จะให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงคู่กับประเทศไทยตลอดไป และจะน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมนำกระแสพระราชดำรัสมาเป็นแนวปฏิบัติการดำรงชีวิต

2. นโยบายด้านการเมือง การปกครอง และด้านสังคม เสริมสร้างการเรียนรู้ของประชาชนเพื่อสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แก้กฎหมายบางฉบับที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย กระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ปฏิรูประบบราชการจากผู้ควบคุมเป็นผู้อำนวยความสะดวก และป้องกันความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยทุกระดับ

3. นโยบายด้านเศรษฐกิจ ใช้นโยบายระดมทุนจากภายในและทรัพยากรภายในประเทศ ประสานกับการพยายามลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น คัดค้านการสร้างหนี้ ออกกฎหมายควบคุมการผูกขาดของต่างประเทศหรือบรรษัทข้ามชาติ สนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า และปรับปรุงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้องค์กรประชาชนทุกสาขาอาชีพต่างๆร่วมเสนอ

4. นโยบายด้านระบบราชการและด้านการป้องกันประเทศ ให้ข้าราชการประจำได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ปรับปรุงการบริหารงบประมาณแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาข้าราชการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังพลหลักและพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง

5. นโยบายด้านการศึกษาและด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ขยายการศึกษาภาคบังคับให้สูงขึ้นโดยสอดคล้องกับความเจริญทางเศรษฐกิจ ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน สนับสนุนผู้ด้อยโอกาสให้มีโอกาสด้านการศึกษาจากรัฐอย่างทั่วถึง และมุ่งค้นคว้าเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและการแปรเปลี่ยนมาใช้ใหม่ รวมทั้งเทคโนโลยีชาวบ้านที่มีขนาดเล็กและเหมาะสมกับประเทศกำลังพัฒนา

6. นโยบายด้านสาธารณสุขและด้านการกีฬา ปรับปรุงการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ จัดตั้งแพทย์แผนโบราณของเอเชียขึ้นในประเทศไทย และส่งเสริมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพของประชาชน โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

7. นโยบายด้านศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมและสนับสนุนขนบธรรมเนียมประเพณี เอกลักษณ์ และวัฒนธรรมอันดีของชาติ ส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้าน และพัฒนาชนกลุ่มน้อยทุกชนชาติ โดยเฉพาะชาวเขาโดยเคารพความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม

8. นโยบายด้านต่างประเทศ ทบทวนและแก้ไขบรรดาสนธิสัญญาและข้อตกลงต่างๆที่ทำไว้กับต่างประเทศให้สอดคล้องกับปัจจุบันให้ถูกต้องเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และกระชับสัมพันธไมตรีอันดีกับต่างประเทศทุกประเทศในโลก

9. นโยบายด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม แก้ไขกฎหมายและคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมทั้งปวงที่เกี่ยวกับแรงงาน ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มสหภาพสมาคมและชมรมที่เป็นประชาธิปไตย ขยายการจ้างงานภาครัฐและเอกชน เพิ่มความมั่นคงและหลักประกันในการทำงานแก่ผู้ใช้แรงงาน และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กเยาวชน และผู้ด้อยโอกาสไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม

10. นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดแผนการใช้ทรัพยากรและพิทักษ์ทรัพยากร ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ที่เสื่อมโทรม ยกระดับเทคโนโลยีให้ทันสมัย พึ่งตนเองได้ และให้ประชาชนช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

11. นโยบายด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรมีที่ดินของตนเองอย่างมั่นคง ปลดเปลื้องภาวะหนี้สินเกษตรกร ส่งเสริมและแก้ไขปรับปรุงระบบสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มสาขาอาชีพทุกรูปแบบ ส่งเสริมระบบการเกษตรแบบครบวงจรพึ่งตนเองได้ และสร้างเครือข่ายการผลิตที่เชื่อมเกษตรกรรมเข้ากับอุตสาหกรรมแบบครบวงจรเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง

12. นโยบายการปกครองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เกี่ยวกับหลักการในการจับ ค้น คุมขัง ปล่อยชั่วคราว และสอบสวนผู้ต้องหาให้สอดคล้องและรองรับหลักการตามรัฐธรรมนูญ

พรรคพัฒนาสังคมเคยมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 โดยยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ส่งผู้สมัครจำนวน 1 คน โดยได้หมายเลข 26[6] และเคยแถลงนโยบายของพรรคที่โทรทัศน์ช่อง 3 วันที่ 2 มกราคม 2544 เวลา 8.00 น.[7]

จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่ 18/2544 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2544 ให้ยุบพรรคพัฒนาสังคมตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 65 วรรคสอง เนื่องจากไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ที่บัญญัติว่า ต้องจัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมา (พ.ศ. 2543) ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ตามวิธีการที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนด และแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2544 เพื่อประกาศให้สาธารณชนทราบ ซึ่งเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดแล้ว พรรคพัฒนาสังคมไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามพรบ.ดังกล่าว ซึ่งหัวหน้าพรรคพัฒนาสังคมส่งคำชี้แจงลงวันที่ 18 มิถุนายน 2544 โต้แย้งว่า พรรคพัฒนาสังคมได้จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคพัฒนาสังคมในรอบปี 2543 ที่ผ่านมาถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง ตามวิธีการที่นายทะเบียนกำหนด จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่านายทะเบียนพรรคการเมืองไม่เคยได้รับเอกสารเรื่องรายงานการดำเนินกิจการของพรรคพัฒนาสังคมตามที่ผู้ร้องอ้างส่งศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าข้ออ้างของพรรคพัฒนาสังคมไม่มีน้ำหนัก จึงมีมติให้ยุบพรรคพัฒนาสังคม [8]

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 106 ง, วันที่ 13 ตุลาคม 2543, หน้า 68, 86.
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 106 ง, วันที่ 13 ตุลาคม 2543, หน้า 86-87.
  3. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 106 ง, วันที่ 13 ตุลาคม 2543, หน้า 86-87.
  4. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 106 ง, วันที่ 13 ตุลาคม 2543, หน้า 87.
  5. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 106 ง, วันที่ 13 ตุลาคม 2543, หน้า 68-86.
  6. เดลินิวส์, 20 พฤศจิกายน 2543.
  7. เดลินิวส์, 2 มกราคม 2544.
  8. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 70 ก, 24 กรกฎาคม 2545, หน้า 87-92. และราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 22 ง, 14 มีนาคม 2545, หน้า 25.