สังคมประชาชน (พ.ศ. 2543)
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคสังคมประชาชน
พรรคสังคมประชาชน เรียกโดยย่อว่า “พ.ส.ช.” เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “SOCIAL PEOPLE PARTY” เรียกโดยย่อว่า “S.P.P.” ขึ้นทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเลขที่ 24/2543 ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคสังคมประชาชน ตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ 96 หมู่ 6 ซอยสุขาภิบาล 5 ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี 12140[1]
เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของพรรค คือเป็นรูปมือจับกันสี่มือในกรอบฟันเฟือง โดยมีความหมายดังต่อไปนี้ [2]
ฟันเฟือง หมายถึง ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ
สี่มือจับกัน หมายถึง ประชาชนทั้งสี่ภาค
สีแดง หมายถึง ความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ยุติธรรม
สีฟ้าเข้ม หมายถึง สันติภาพและความเสมอภาค
ตรายางของพรรคดังเช่นสัญลักษณ์พรรคแต่มีสีเดียว
นโยบายของพรรคสังคมประชาชน [3]
1. นโยบายด้านการเมือง ดำเนินการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และจัดตั้งองค์กรอิสระทุกระดับเพื่อให้ความรู้และตรวจสอบการเลือกตั้ง
2. นโยบายด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตัวเองเป็นหลัก โดยไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ส่งเสริมการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรง ส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อมและอุตสาหกรรมครัวเรือน แปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนเป็นเจ้าของเพื่อประโยชน์ของประชาชน และส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ผู้ผลิต สหกรณ์ผู้บริโภคทุกท้องถิ่น
3. นโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
ด้านการศึกษา-ขยายการศึกษาภาคบังคับเป็น 12 ปี จัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนโดยเน้นวิชาชีพทางการเกษตร ช่างฝีมือ และอื่นๆตามความสามารถของแต่ละท้องถิ่น
ด้านสาธารณสุข-ประชาชนจะได้รับการดูแลรักษาพยาบาลจากรัฐอย่างเท่าเทียมกัน
ด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม-ปรับค่าแรงงานขั้นต่ำให้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและสภาพการทำงาน และผู้ใช้แรงงานต้องได้รับการประกันสังคมและสวัสดิการอย่างทั่วถึง
ด้านกิจการศาสนา-ส่งเสริมให้ประชาชนยึดตามหลักของศาสนาทุกศาสนา และป้องกันการนำเอาศาสนามาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือหมู่คณะ
ด้านสิ่งแวดล้อม-ประชาชนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
4. นโยบายทางด้านความมั่นคง สนับสนุนกองทัพให้มีคุณภาพและเข้มแข็ง ส่งเสริมสวัสดิการทหารอย่างดี และพัฒนาอาวุธให้มีประสิทธิภาพตลอดเวลา
5. นโยบายด้านต่างประเทศ ดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นอิสระ ลดการแทรกแซงจากต่างประเทศ และสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆทั่วโลกบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคเคารพอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดน
พรรคสังคมประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเลือกตั้ง และต่อมาพรรคสังคมประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่ 10/2544 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2544 ให้ยุบพรรคสังคมประชาชนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 65 วรรคสอง เนื่องจากไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ที่บัญญัติว่า “ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ห้าพันคนขึ้นไป ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคตมบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่นายทะเบียนประกาศกำหนด และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา” เมื่อพรรคการเมืองไม่สามารถกระทำได้ดังกล่าว ให้พรรคการเมืองนั้นเป็นอันยุบไปตามมาตรา 65 ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลา (16 พฤษภาคม 2544) พรรคสังคมประชาชนไม่สามารถดำเนินการให้มีสมาชิกพรรคและสาขาพรรคการเมืองได้ครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด โดยหัวหน้าพรรคสังคมประชาชนได้มีหนังสือชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญใจความว่า พรรคสังคมประชาชนไม่เข้าใจในการปฏิบัติ ประกอบกับมีปัญหาด้านการเงิน และมีความขัดแย้งระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรค อันนำไปสู่การลงมติให้ยุบพรรค จึงขอให้ยุบพรรคสังคมประชาชนได้[4]
มีรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคสังคมประชาชนเมื่อตั้งพรรคทั้งสิ้น 7 คน ดังนี้[5]
1. นายยงยุทธ เงินไพโรจน์ หัวหน้าพรรค
2. นายทอง แก้ววิเศษ รองหัวหน้าพรรค
3. นายอภิชาต บุญมาก เลขาธิการพรรค
4. นายประสงค์ วีระประดิษฐ์ รองเลขาธิการพรรค
5. นายจิตร ทองแต้ม เหรัญญิกพรรค
6. นายสมรักษ์ พรรณรงค์ โฆษกพรรค
7. นายลัด เสารี กรรมการบริหารพรรค
และต่อมานายอภิชาติ บุญมาก ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2544
นอกจากนี้กรรมการบริหารพรรค 4 นายไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินให้กับ กกต. มีความผิดตามมาตรา 42 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว.ที่ระบุให้กรรมการบริหารพรรคการเมือง และกรรมการสาขาพรรคการเมืองยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินภายใน 30 วันหลังเข้ารับตำแหน่ง และภายใน 30 วันหลังพ้นตำแหน่ง มิเช่นนั้นจะมีความตามมาตรา 34 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งมีโทษปรับ 1 แสนบาท และปรับเป็นรายวันอีกวันละ 500 บาท ซึ่งตามกฎหมายเลือกตั้งได้ระบุให้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนได้ [6]
อ้างอิง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 122 ง, วันที่ 30 พฤศจิกายน 2543, หน้า 16, 24 - 25.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 122 ง, วันที่ 30 พฤศจิกายน 2543, หน้า 24.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 122 ง, วันที่ 30 พฤศจิกายน 2543, หน้า 16-22.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 90 ง, 14 กันยายน 2544, หน้า 41. และราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 37 ก, วันที่ 25 เมษายน 2545, หน้า 31-33.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 122 ง, วันที่ 30 พฤศจิกายน 2543, หน้า 63-64.
- ↑ แนวหน้า, 13 เมษายน 2545.