ปราบคอรัปชั่น (พ.ศ. 2500)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 23:13, 9 มิถุนายน 2553 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''พรรคปราบคอรัปชั่น''' พรรคปราบคอรัปชั่นเป็นพรรคการเมือ...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

พรรคปราบคอรัปชั่น

พรรคปราบคอรัปชั่นเป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 โดยยื่นจดทะเบียนต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2500 ทะเบียนเลขที่ 3/2500 โดยมีหัวหน้าพรรคคือ นายอัมพร อำพันธ์พงษ์ เลขาธิการพรรคการเมือง 2 คน ได้แก่ นายชลอ ทิพย์ประเสริฐ และร้อยตรี สุวิทย์ กรรณหสูตร์


อุดมการณ์ของพรรคปราบคอรัปชั่น

อุดมคติของพรรคปราบคอรัปชั่นคือ เพื่อเอกราชและธำรงไว้ซึ่งประชาธิปไตยอันบริสุทธิ์การพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ สาธารณะ และประชาชน รัฐบาลต้องมาจากประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน พรรคปราบคอรัปชั่นจะเทอดทูนพระมหากษัตริย์อยู่เหนือสิ่งอื่นใด พรรคปราบคอรัปชั่นมีอุดมคติโดยตรงที่จะปราบปรามข้าราชการทุจริตกอบโยเงินทองของประชาชน และสร้างอำนาจบารมีความยิ่งใหญ่ให้แก่ตน โกงเงินคงคลังของประชาชนใช้จ่ายไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมขอปฏิญาณว่าจะพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมโดยเอาชีวิตเข้าแลก สู้จนเลือดหยดสุดท้าย

พรรคปราบคอรัปชั่นจะถือว่า สมาชิกของพรรคและประชาชนเป็นเสียภาษีให้รัฐบาล เป็นผู้เลี้ยงรัฐบาล ไม่ใช่รัฐบาลเลี้ยงประชาชน ประชาชนจะต้องสอดส่องการทุจริตตามกระทรวงทบวงกรมที่มีการทุจริตเกิดขึ้นโดยส่งหลักฐานมายังพรรค พรรคจะได้จัดการเสนอหลักฐานต่อนายกรัฐมนตรี และกรมตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อดำเนินการสอบสวนเป็นรายบุคคล และพรรคปราบคอรัปชั่นจัดกรรมการของพรรคไม่น้อยกว่า 2 นายไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย เพื่อนำผลปราบคอรัปชั่นมาชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ด้วยการออกแถลงการณ์แจ้งต่อหนังสือพิมพ์และประชาชนเป็นครั้งคราว หากพรรคนี้มีโอกาสเป็นรัฐบาล จะออกกฎหมายการโกงทุกชนิดลงโทษอย่างหนัก


นโยบายของพรรคปราบคอรัปชั่น

นโยบายด้านการต่างประเทศ การเศรษฐกิจ และการพาณิชย์ พรรคปราบคอรัปชั่นจะมีสัมพันธไมตรีโดยทั่วไป การค้าขายกับต่างประเทศจะเปิดการค้าอย่างเสรี ทั้งนี้จะมิให้ผิดจารีตขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของประเทศ

นโยบายด้านการอุตสาหกรรมและการคมนาคม เปิดการอุตสาหกรรมหนักเบาให้กว้างขวางทั้งทางบกและทางน้ำ มีแนวความคิดที่จะขุดคอคอดกระทางตอนใต้ของประเทศ เพื่อหาทางช่วยกรรมกรให้มีอาชีพอย่างมั่นคงในอนาคต ตลอดจนการขุดบ่อน้ำมันในประเทศ

นโยบายด้านการศึกษา พรรคปราบคอรัปชั่นจะสร้างมหาวิทยาลัยชนบทโดยให้สิทธิพิเศษแก่ประชาชนเท่ารัฐบาลไปดำเนินกิจการและช่วยเหลือในด้านรอนตามที่ควร

นโยบายด้านการคลัง จะยึดมั่นการลงทุนตามลำดับก่อนหลัง ตามความจำเป็นของประชาชน ยกฐานะการคลังเป็นสถาบันการบัญชีอย่างรัดกุม

นโยบายด้านการสาธารณสุข พรรคปราบคอรัปชั่นจะส่งเสริมการจัดสถานพยาบาล สุขาภิบาล สถานอนามัย และจะจัดบริการแก่ประชาชนให้ทั่วถึงตลอดจนอุปกรณ์เวชภัณฑ์ครบครัน

นโยบายด้านการเกษตร จะยึดมั่นการลงทุนตามลำดับก่อนหลัง ตามความจำเป็นของประชาชน จะยกฐานะการคลังเป็นสถาบันการบัญชีอย่างรัดกุม

นโยบายด้านการยุติธรรม พรรคปราบคอรัปชั่นจะส่งเสริมให้อำนาจตุลาการต้องเป็นอิสระโดยเด็ดขาด ให้พิจารณาด้วยความยุติธรรมตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด

นโยบายด้านการป้องกันประเทศ พรรคปราบคอรัปชั่นกำหนดให้ทหารและตำรวจ ข้าราชการฝ่ายปกครองมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาอธิปไตยของชาติ ห้ามมิให้ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง ทั้งนี้เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของทหารตำรวจ และข้าราชการฝ่ายปกครองมิให้ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองฝ่ายใด

นโยบายด้านศาสนา พรรคปราบคอรัปชั่นจะบำรุงศาสนาทุกศาสนาให้เสมอภาคกัน

นโยบายด้านสังคม พรรคปราบคอรัปชั่นจะดำเนินการสังคมมิให้มีการเหลื่อมล้ำต่ำสูง เช่น คนจนถูกแบ่งแยกและเหยียมหยาม จะดเนินการสังคมทุกชนิดให้เสมอภาคกัน

พรรคปราบคอรัปชั่น ได้ส่งผู้สมัครของพรรคลงแข่งขันรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคคอรัปชั่นไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว


ที่มา

ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 74 ตอนที่ 66 ลงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2500 หน้า 1900-1904

สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการเมืองของไทย: ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหาร สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531

เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์หลักสูตรชั้นปริญญาโท ภาค 2 ทางรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, การเมืองและพรรคการเมืองไทยนับแต่ยุคแรกถึงปัจจุบัน, พระนคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2511

ส่วนการทะเบียนและการเลือกตั้ง กรมมหาดไทย, รายงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของกระทรวงมหาดไทย เล่ม 1, พระนคร: โรงพิมพ์กระดาษไทย, 2500