สยามประเทศพรรคของทหารและข้าราชการพรรคเดียวปกครอง
พรรคสยามประเทศพรรคของทหารและข้าราชการพรรคเดียวปกครอง
หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชน์ได้เข้ารับนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ระหว่างนี้ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีก็มีแต่สภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างยาวนาน สุดท้ายจอมพลสฤษดิ์ป่วยและถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2506 จอมพลถนอม กิตติขจรได้เข้าเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่แทนที่จะรีบร่างให้เสร็จก็กลับปล่อยให้สภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งร่างมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ร่างรัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ.2511 จึงได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2511 รวมร่างรัฐธรรมนูญอยู่เกือบ 10 ปี
ตามมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2511 นี้อนุญาตให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น โดยบัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการรวมกันเป็นพรรคการเมืองเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองโดยวิถีทางประชาธิปไตย และไม่ขัดต่อระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญนี้ การจัดตั้งและการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ว่าด้วยพรรคการเมือง”
ต่อมาในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2511 ก็มีพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2511 ประกาศใช้การตั้งพรรคการเมืองก็กำหนดให้มีผู้ก่อตั้ง 15 คน และสมาชิกไม่น้อยกว่า 500 คน ตั้งเป็นพรรคการเมือง รัฐบาลจอมพลถนอม ได้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2512 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นชื่อพรรคสหประชาไทยลงเลือกตั้งด้วย
ในระหว่างนี้มีหลักฐานว่ามีการจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ พรรคสยามประเทศพรรคของทหารและข้าราชการพรรคเดียวปกครอง ขึ้นโดยดำเนินนโยบายทางการเมืองตามนัยที่ปรากฏในชื่อพรรคนั้นเอง ทว่าไม่ปรากฏว่าพรรคสยามประเทศพรรคของทหารและข้าราชการพรรคเดียวปกครองส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2512 หรือเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแต่อย่างใด
หลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้จอมพลถนอมได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่จากความยุ่งยากในการใช้อำนาจเพราะยังต้องพึ่งสภาในการร่างกฎหมาย และในเรื่องการงบประมาณ ในที่สุดจอมพลถนอมได้ทำการยึดอำนาจตนเองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 เพื่อยุบสภา ยกเลิกรัฐธรรมนูญและยุบพรรคการเมือง และเนื่องด้วยเหตุนี้จึงสันนิษฐานได้ว่าไม่ว่าพรรคสยามประเทศพรรคของทหารและข้าราชการพรรคเดียวปกครองจะดังดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอยู่หรือไม่ อย่างไรเสียก็ต้องหยุดลงนับแต่บัดนั้น
ที่มา
เชาวนะ ไตรมาศ. ข้อมูลพื้นฐาน 66 ปีประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ : สถาบันนโยบายศึกษา, 2542.
พรรคการเมืองไทย. http://www.weopenmind.com/board/index.php?topic=5929.msg47927