เครือข่ายชาวนา (พ.ศ. 2549)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

พรรคเครือข่ายชาวนา

พรรคเครือข่ายชาวนา (The Farmer Network of Thailand Party) หรือตัวย่อว่า “พนท.” จดทะเบียนพรรคการเมืองในวันที่ 20 มิถุนายน 2549 โดยมีนายประเดิม ดำรงเจริญ เป็นหัวหน้าพรรค และมีนายธนะพงษ์ เสรีวรรลภ เป็นเลขาธิการพรรค

พรรคเครือข่ายชาวนา ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มชาวนาและกลุ่มเกษตรกรขนาดเล็กในชนบท ซึ่งเริ่มต้นรวมตัวกันในนาม “เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย” ซึ่งมีสมาชิกรวมทั้งสิ้นกว่า 8 แสนคน และสมาชิกกว่า 6 แสนคนอยู่ในภาคกลาง [1]โดยที่ผ่านมาเครือข่ายมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาของเกษตรกรยากจน โดยเฉพาะปัญหาหนี้สิน ปัญหาเกษตรกรโดนฟ้องไล่ยึดที่ดินทำกิน ซึ่งนำมาสู่ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรในสังคมไทย นั่นคือ ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน (ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินสำหรับเกษตรกรในภาคเหนือนำมาสู่การบุกยึดที่ดินรกร้างว่างเปล่าของนายทุนในนามของ เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ ในปี 2544 และ 2545) [2]

สำหรับการรวมตัวเป็นพรรคนั้น ประเดิม ดำรงเจริญ หัวหน้าพรรคชี้ว่า ลำพังเพียงการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาและเกษตรกรแบบเป็นเครือข่ายนั้นไม่เพียงพอในการต่อสู้ต่อรองกับรัฐบาลอีกต่อไป อันเนื่องมาจากรัฐบาลไม่ค่อยให้ความสนใจปัญหาเกษตรกรมากนัก ดังนั้น “ถ้าเราเข้าไปมีส่วนในอำนาจรัฐเอง มันจะง่ายกว่าไหมที่จะเรียกร้องผลประโยชน์ของเรา ซึ่งเป็นชนชั้นที่ถูกกดขี่ คือเรามองว่าเรื่องปัญหาของพี่น้องเกษตรกรไทยที่ต้องเจอมาทั้งในเรื่องหนี้สิน เรื่องราคาผลผลิต ทั้งหมดมันเป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างทางสังคมทำให้เราได้รับความเดือดร้อน นี่ไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล ไม่ใช่เรื่องของความขี้เกียจ ขยัน ถ้าเราจะพูดถึงการแก้ปัญหา ในเรื่องของโครงสร้างต้องได้รับการแก้ไขด้วย นั่นหมายถึงตัวนโยบายรัฐต้องออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เราด้วย” [3]

ส่วนรูปแบบการทำงานของพรรคนั้น มุ่งเน้นที่การเชื่อมโยงกับเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยที่มีอยู่เดิม โดยให้เครือข่ายฯเป็นฐานในการระดมมวลชนให้กับพรรค เช่นเดียวกับพรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศยุโรปที่มีสหภาพแรงงานเป็นฐานในการระดมทรัพยากรและระดมมวลชนให้กับพรรค แหล่งเงินทุนของพรรคมาจากการเก็บเงินจากสมาชิกเดือนละ 20 บาท ปีละ 240 บาท โดยไม่มีการรับบริจาคจากแหล่งทุนอื่นๆ

ในการร่างรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2550 นั้น พรรคมีข้อเสนอหลายข้อที่สำคัญต่อ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หนึ่งในนั้นก็คือ การเสนอให้ลดเงื่อนไขด้านวุฒิการศึกษาของผู้สมัครรับเลือกตั้งลง โดยไม่จำเป็นที่ผู้สมัครจะต้องมีวุฒิการศึกษาปริญญาตรี อันเนื่องมาจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ส่งผลให้เกษตรกรและผู้ใช้แรงงานภาคเกษตรโดยทั่วไปไม่สามารถมีตัวแทนของกลุ่มหรือชนชั้นตนเองลงสมัครรับเลือกตั้งได้ และยังเสนอให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานภาคการเกษตร เพื่อให้ “มีมาตรฐานเท่าเทียมกับกฏหมายคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากปัจจุบันแรงงานภาคการเกษตรมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำมาก เป็นภาคแรงงานที่มีสัดส่วนสูงแต่ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครองช่วยเหลือเขาเลย” [4]

ข้อเสนอหลักของพรรคในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 คือ การพัฒนาการเกษตรแบบเป็นระบบที่ครอบคลุมทั้งประเทศ โดย “ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อผลิตอาหารปลอดสารพิษ อาหารที่ปลอดภัย โดยคนทุกชนชั้นในสังคมสามารถเข้าถึงได้ รูปธรรมก็คือ เราต้องทำการพัฒนาการเกษตรแบบเป็นระบบที่ครอบคลุมทั้งประเทศ เอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิต ส่วนในเรื่องของอุตสาหกรรม การทำการเกษตร กับอุตสาหกรรมต้องเป็นสัดส่วน เพราะถ้าในพื้นที่การเกษตรที่อุตสาหกรรมเข้าไปตั้งแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ อีก 80 เปอร์เซ็นต์จะไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ผมไม่เห็นด้วยกับการตั้งโรงงานในบริเวณที่ควรจะเป็นสถานที่เพาะปลูก เช่น ในเขตอยุธยา แปดริ้ว เพราะดินบริเวณนี้มันเหมาะแก่การเกษตร” [5] มากไปกว่านั้น พรรคยังเสนอให้ยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนชลประทาน ซึ่งส่งผลร้ายต่อสภาพแวดล้อมและการทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างเขื่อนส่งผลโดยตรงต่อการทำลายป่าไม้ ซึ่งในที่สุดแล้วจะส่งผลให้ระบบนิเวศวิทยาเปลี่ยนแปลงไป ปัญหารูปธรรมที่เกษตรกรต้องประสบจากการสร้างเขื่อนก็คือ สภาพฝนแล้ง ทำการเพาะปลูกไม่ได้ตามฤดูกาล เป็นต้น ซึ่งถือเป็นปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งของเกษตรกรยากจนในประเทศไทย รวมไปถึงยังเสนอให้ “ยกเลิกเก็บค่าพรีเมี่ยมข้าว ถือเป็นเงินกินเปล่าที่ชาวนาต้องจ่ายในการส่งสินค้าไปต่างประเทศ รวมถึงความไม่เป็นธรรมหลายอย่าง อาทิ การนำสินค้าประเภททุนเข้ามาทำกิจการในภาคอุตสาหกรรมได้รับการยกเว้นการเก็บภาษี แต่ปัจจัยทุนในการเกษตร เช่น ปุ๋ย กลับเก็บภาษีเต็มที่ อย่างนี้ไม่เป็นธรรม” [6]

แม้ว่าจากผลของการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคจะไม่ได้ที่นั่งในรัฐสภา แต่หากพิจารณาผลการทำงานเผยแพร่นโยบายและความนิยมในตัวพรรคผ่านคะแนนของการเลือกตั้งแบบกลุ่มเขตจังหวัด (หรือระบบปาร์ตี้ลิสต์แบบเดิม) ในการลงสมัคร 4 กลุ่มจังหวัด จากทั้งหมด 8 กลุ่มจังหวัด คะแนนจากกลุ่มจังหวัดที่ 1 (แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร) มีจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมดประมาณ 3 ล้านเศษ พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทยได้รับคะแนนเสียง 50,238 คะแนน กลุ่มจังหวัดที่ 5 (นครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด) พรรคได้คะแนนทั้งสิ้น 42,774 คะแนน กลุ่มจังหวัดที่ 7 (กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา สระบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง) ได้คะแนนทั้งสิ้น 53,907 คะแนน และกลุ่มจังหวัดที่ 8 (สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) พรรคได้คะแนนทั้งสิ้น 33,729 คะแนน [7]

อ้างอิง

  1. http://news.mjob.in.th/politic/cat3/news9733/ (เข้าดูวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552)
  2. ดูเพิ่มเติมบทบาทของ เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) ใน วิเชิด ทวีกุล, พลวัตการเมืองภาคประชาชน: กรณีศึกษาการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ พ.ศ. 2530-2547 (เชียงใหม่: โครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ มูลนิธิชุมชนไท, 2548)
  3. http://www.prachatai.com/05web/th/home/9737 (เข้าดูวันที่ 2 มีนาคม 2552)
  4. http://www.prachatai.com/05web/th/home/9737 (เข้าดูวันที่ 2 มีนาคม 2552)
  5. http://www.prachatai.com/05web/th/home/9737 (เข้าดูวันที่ 2 มีนาคม 2552)
  6. http://news.mjob.in.th/politic/cat3/news9733/ (เข้าดูวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552)
  7. กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เลี้ยวซ้าย, “ผลเลือกตั้งพรรคเครือข่ายชาวนาฯ : บทเรียนการก่อตั้งพรรคการเมืองภาคประชาชน” ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=10969&Key=HilightNews (เข้าดูวันที่ 2 มีนาคม 2552)