ก้าวหน้า (พ.ศ. 2541)
พรรคก้าวหน้า (พ.ศ. 2541)
หลังจากได้ถูกยุบเลิกไปตามคำสั่งของศาลฎีกา ที่ 1757-1759/2532 [1] ในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2532 พรรคก้าวหน้าได้ขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอีกครั้ง ในทะเบียนพรรคการเมือง เลขที่ 2/2541 ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 14 โดยใช้ชื่อพรรคในภาษาไทยว่า “พรรคก้าวหน้า” ใช้อักษรย่อว่า (ก.น.) เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “PROGRESSIVE PARTY” และใช้อักษรย่อ (P.S.P.) มีสำนักงานใหญ่พรรคตั้งอยู่ ณ เลขที่ 2539 ชั้น 3 อาคารอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว ซอย 81-83 ถนนลาดพร้าว แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร [2]
พรรคก้าวหน้า พ.ศ. 2541 ใช้เครื่องหมายพรรคการเมืองเดียวกับพรรคก้าวหน้า พ.ศ. 2526 คือเป็นภาพวงกลมบรรจุอักษรชื่อพรรคภาษาไทย และภาษาอังกฤษ มีคำขวัญว่า “โดยประชาชน เพื่อคนรุ่นใหม่” ภายในบรรจุภาพพานรัฐธรรมนูญและธรรมจักรอยู่ ภาพในพื้นที่สี่เหลี่ยมมุมตัดสีน้ำเงิน โดยสื่อความหมายดังนี้ [3]
(1) พื้นที่สี่เหลี่ยมมุมตัดสีน้ำเงิน หมายถึง ประเทศไทยทั้งสีภาคใหญ่ ๆ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพื้นที่การเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม มีประชาชนอยู่รวมกันเป็นปึกแผ่น มีความสัมพันธ์ติดต่อกันด้วยศิลปวัฒนธรรม ประชาชนเหล่านี้เป็นผู้ปกป้องคุ้มครอง และเป็นผู้เสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
(2) ถัดจากพื้นที่สี่เหลี่ยมเป็นวงกลมสีขาว หมายถึง ประเทศไทยมีสถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์อันบริสุทธิ์ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
(3) ภายในวงกลมสีขาวตัวหนังสือสีแดงเขียนข้อความด้วยอักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ข้อความว่า “พรรคก้าวหน้า” อยู่ด้านบน โดยรอบวงกลมทั้งสอง เขียนว่า “โดยประชาชน เพื่อคนรุ่นใหม่” และตัวอักษรภาษาอังกฤษเขียนว่า “PROGRESSIVE PARTY” หมายความว่า พรรคก้าวหน้าเป็นพรรคการเองที่จัดตั้งขึ้นโดยประชาชน สร้างผลงานและความสำเร็จต่าง ๆ เพื่อคนรุ่นใหม่ และตกทองไปสู่อนุชนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
(4) ภาพพานรัฐธรรมนูญสีน้ำเงินภายในซี่ธรรมจักร 12 ซี่ สีเหลือง หมายถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะอำนวยความสุขและความเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า
นโยบายพรรคก้าวหน้า พ.ศ. 2541[4]
นโยบายทางด้านการเมืองและการบริหาร
1. เทิดทูนและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อส่งเสริมสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ทรงฐานะอยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง
2. ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อกระจายอำนาจการบริหารและการปกครองตนเองไปสู่ท้องถิ่น
3. ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตย โดยจะจัดร่างรัฐธรรมนูญตามอุดมคติของพรรค เพื่อขอความเห็นชอบจากปวงชน
4. ปฏิรูประบบราชการเสียใหม่ เพื่อให้เป็นกลไกการบริหารงาน ที่มีประสิทธิภาพและสามารถทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
5. ป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อป้องกันการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ
6. ปรับปรุงโครงสร้างของกรมตำรวจ เพื่อให้การคุ้มครองป้องกันชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
7. การปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยจะแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น
นโยบายทางเศรษฐกิจ
1. ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจให้เป็นระบบเปิดเพื่อส่งเสริมการค้าโดยเสรีอย่างแท้จริงขจัดการผูกขาดตัดตอน
2. ส่งเสริมการประกอบอาชีพโดยจะส่งเสริมและดำเนินการอย่างจริงจังแก่อาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพของพลเมืองส่วนใหญ่
3. ส่งเสริมเรื่องที่ดินทำกินของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองอย่างเพียงพอในการประกอบการเกษตร
4. ปรับปรุงระบบสหกรณ์ เพื่อพัฒนาการสหกรณ์ให้เป็นสถาบันหลัก ในการพัฒนาเศรษฐกิจ
5. ส่งเสริมการพาณิชย์ ให้มีบทบาทในการเสริมสร้างพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศให้มากยิ่งขึ้น
6. ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรในท้องถิ่นและอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมการเกษตรในประเทศไทย
7. ส่งเสริมการธนาคาร เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการระดมเงินทุนภายในประเทศควบคู่กันไป
8. ปรับปรุงระบบภาษีให้มีประสิทธิภาพต่อการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง
9. ให้การคุ้มครองระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
10. ส่งเสริมการคมนาคมและการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อให้มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับสภาพของแต่ละท้องถิ่นให้เกิดความสะดวกปลอดภัยรวดเร็วและราคาถูก
11. ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อเพิ่มเงินตราต่างประเทศ และเพิ่มรายได้แก่ประชาชนในท้องที่แหล่งท่องเที่ยว
12. พัฒนาการพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อรักษาและคุ้มครองพลังงานของชาติ ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาตินานที่สุด
13. แก้ไขและป้องกันความเสียเปรียบดุลการค้าของประเทศไทย
14. ส่งเสริมและพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ทั้งนายจ้างและผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นธรรม
นโยบายทางสังคม
1. สร้างความเป็นธรรมทางสังคมขึ้นให้จงได้ เพื่อความสงบสุขของประชาชน และความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ
2. รักษาความสงบเรียบร้อย โดยพรรคก้าวหน้าจะถือว่าการก่ออาชญากรรมแก่ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินเป็นภัยร้ายแรงอย่างยิ่งของประชาชนและต่อความมั่นคงของชาติ
3. ส่งเสริมระบบประกันสังคม เพื่อสร้างความมั่นใจในชีวิตบั้นปลายและความอบอุ่นในการดำรงชีวิตให้แก่ปวงชนซึ่งถือว่าทุกคนที่เกิดมาได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติก่อนถึงวัยชราพอ เพียงแล้วสมควรได้รับการตอบแทนจากรัฐตามส่วนที่เขาได้บำเพ็ญประโยชน์มาแบ่งออกเป็นภาครัฐบาลและภาคเอกชน
4. ดำเนินการสร้างงานเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทุกคนมีงานทำ ทั้งในเมืองและชนบท
5. ธำรงรักษาและส่งเสริมศีลธรรมวัฒนธรรมและค่านิยมที่ดีงาม โดยจะเน้นหนักให้วัฒนธรรมโน้มนำสังคม มีศีลธรรมเป็นเครื่องจรรโลงชีวิตประจำวันและงานในหน้าที่
6. ทางด้านศาสนานั้น พรรคก้าวหน้าจะส่งเสริมให้มีการเผยแพร่หลักธรรมอันสำคัญของศาสนาเพื่อพัฒนาจิตใจของประชาชนให้มีศีลธรรมอันดี
7. ส่งเสริมเยาวชนให้คนไทยเป็นพลเมืองดีของชาติเป็นประชากรที่มีคุณภาพและสนับสนุนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
8. เร่งรัดดำเนินการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ เพื่อกำจัดยาเสพติดให้โทษ ซึ่งบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศให้เบาบางลงจนหมดในที่สุด
9. พรรคก้าวหน้าจะเน้นหนักด้านการป้องกันโรคภัยเป็นหลัก ส่วนการตรวจสอบรักษาเป็นรองเมื่อจำเป็น
10. เร่งขจัดปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เพื่อกำจัดมลภาวะจากอุตสาหกรรมการขนส่งและพาณิชยกรรมให้หมดไป
11. สร้างความเป็นเลิศในคุณภาพการศึกษาและเพื่อให้สามารถผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพและจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศสืบไป
12. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนเป็นนักเรียน นักศึกษาได้มีบทบาทในการสร้างสรรค์สังคม และประเทศชาติให้มากยิ่งขึ้น
13. ส่งเสริมระบบการศึกษานอกโรงเรียน เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนที่ไม่สามารถที่ศึกษาในระดับสูงขึ้นได้มีโอกาสเพิ่มความรู้ความสามารถและทักษะในการประกอบอาชีพ
14. ส่งเสริมกิจการลูกเสือของชาติ เพื่อให้กิจการลูกเสือได้เป็นหลักประจำใจประชาชนให้ระลึกถึงการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น และประเทศชาติก่อนตน
นโยบายความมั่นคงปลอดภัยของชาติ
1. พรรคถือว่าองค์การสหประชาชาติเป็นองค์การหลักในการประกันความมั่นคงและรักษาสันภาพของโลก พรรคจะเคารพและปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัดและร่วมขัดขวางเมื่อประเทศหนึ่งประเทศใดละเมิดกฎบัตรนั้น
2. พรรคยึดถือนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศโดยไม่คำนึงถึงลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจ จะเคารพในเอาราชอธิปไตยบูรณภาพแห่งดินแดนและเกียรติภูมิของทุกชาติ
3. พรรคถือว่าความสามารถในการป้องกันตนเองเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาล พรรคจะสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนากองทัพของชาติให้เข้มแข็งในทุกวิถีทาง
4. พรรคถือว่ากำลังตำรวจเป็นหน่วยสำคัญในการป้องกันและให้ความปลอดภัย ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนากิจการตำรวจให้เข้มแข็งโดยจำเป็นต้องมีการให้ความสนับสนุนช่วยเหลือกองตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรอย่างจริงจัง
5. ส่งเสริมกองทัพเพื่อความมั่นคง เพื่อให้กองทัพเป็นกำลังพลที่มีคุณค่ายิ่งในการร่วมกับฝ่ายพลเรือนในการพัฒนาประเทศไทยในยามสงบ
พรรคก้าวหน้ามีคณะกรรมการบริหารพรรคเมื่อแจ้งจดทะเบียนในปี 2541 จำนวนทั้งสิ้น 19 คน โดยมีตำแหน่งสำคัญดังต่อไปนี้ [5]
1. นายสุวัฒน์ ยมจินดา หัวหน้าพรรค
2. นายอิทธิ โรจน์วรพร รองหัวหน้าพรรค
3. นายชูเชิด ฉิมคล้าย รองหัวหน้าพรรค
4. นายสมบูรณ์ หะระชัน รองหัวหน้าพรรค
5. นายนิรันดร์ วีระธำรง รองหัวหน้าพรรค
6. นายพูนทรัพย์ บุญทอง เลขาธิการพรรค
7. นายมนโชติ ประสาวะเท รองเลขาธิการพรรค
8. นายสุวิทย์ ธนาปกิจ รองเลขาธิการพรรค
ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคก้าวหน้าประจำปี ครั้งที่ 2/2542 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2542 ได้มีมติให้แก้ไขข้อบังคับพรรคก้าวหน้า พ.ศ. 2541 เพื่อเปลี่ยนที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคก้าวหน้าจากที่ตั้งเดิม เป็น เลขที่ 3950 อาคารบางกะปิเซ็นเตอร์ ถนนลาดพร้าว ซอย 150 แขวงบางกะปิ เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร [6] จากนั้นพรรคก้าวหน้าได้ขอแก้ไขที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรค เป็นเลขที่ 3950/2-3 ถนนลาดพร้าว ซอยลาดพร้าว 150 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240 เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2543 ทั้งนี้เพื่อให้ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง [7]
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2541 นายพูนทรัพย์ บุญทอง เลขาธิการพรรค นายศุภชัย สาปไตยบรมรัฐ เหรัญญิกพรรค และนายนิรันดร์ วีระธำรง รองหัวหน้าพรรค ได้ลาออกจากตำแหน่ง ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคจึงได้มีมติเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคแทนตำแหน่งที่ว่างลง โดยเลือกตั้งให้ พลอากาศเอกวีระ ศรีประเสริฐ เป็นเลขาธิการพรรค นายไพรัช ศรีมาชัย เป็นเหรัญญิก และนาวาอากาศเอกกฤตนัย ศรีภักดี เป็นรองหัวหน้าพรรค และมีมติเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเพิ่มเติม อีกจำนวน 14 คน [8] อย่างไรก็ตามในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2541 ก็ได้มีกรรมการบริหารพรรคจำนวน 20 คนลาออกจากตำแหน่งอีก โดยกรรมการบริหารพรรคที่มีตำแหน่งสำคัญลาออกในครั้งนี้ด้วยจำนวน 6 คน ดังนี้ [9]
1. พลอากาศเอกวีระ ศรีประเสริฐ ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค
2. นาวาอากาศเอกกฤตนัย ศรีภักดี ลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค
3. นายมนโชติ ประสาวะเท ลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค
4. นายชูเชิด ฉิมคล้าย ลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค
5. นายสมบูรณ์ หะระซัน ลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค
6. นายสุวิทย์ ธนาปกิจ ลาออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค
พรรคก้าวหน้าจึงได้จัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 เพื่อเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเพิ่มเติมจำนวน 8 คน โดยมีตำแหน่งสำคัญ คือ นายศุภชัย นิติกร เป็นรองหัวหน้าพรรค, นายรัฐพล คันชิต เป็นรองเลขาธิการพรรค และนางสาวนิชดา สุวรรณธาดา เป็นรองเลขาธิการพรรค [10] ทำให้พรรคก้าวหน้ามีกรรมการบริหารพรรครวมทั้งสิ้น 21 คน
เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2542 ที่ประชุมใหญ่พรรคก้าวหน้า ได้มีมติให้เปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค จำนวน 13 คน โดยมีตำแหน่งสำคัญ ดังนี้ [11]
1. นายวิเศษ ก่ำพงษ์ไทย เป็นรองหัวหน้าพรรค
2. นายดาบตำรวจสุเทพ สมหา เป็นรองหัวหน้าพรรค
3. นายรุ่งอรุณ บุญกล้า เป็นเลขาธิการพรรค
4. นายฐิติพงศ์ โตเอี่ยม เป็นรองหัวหน้าพรรค
5. นายเกษม กุลธำรง เป็นรองหัวหน้าพรรค
6. นางสุมิตรา สมานประธาน เป็นรองเลขาธิการ
จากนั้น ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2542 นายไพรัช ศรีมาชัย ได้ลาออกจากตำแหน่งเหรัญญิกพรรค [12] ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคก้าวหน้า ครั้งที่ 1 ประจำปี 2542 จึงได้มีมติเลือกตั้งให้ นายตรีภพ สุชิน เป็นเหรัญญิกพรรค แทนตำแหน่งที่ว่างลง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม [13]
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ได้มีกรรมการบริหารพรรคก้าวหน้าลาออกจากตำแหน่งอีก 3 คน คือ นายรุ่งอรุณ บุญกล้า ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค, นางกฤษณา ถมยาลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค และนางสาวปริศตา ชัยสิทธิ์ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค [14]ทำให้พรรคก้าวหน้าต้องจัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2542 เพื่อเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเพิ่มเติมเพื่อแทนตำแหน่งที่ว่างลง กล่าวคือ นายกรพิสุทธิ์ บุญพรหม เป็นเลขาธิการพรรค, นายพันธุ์เทพ ถิ่นร่มเมือง เป็นกรรมการบริหารพรรค และนายสุพจน์ ฉัตรคำ เป็นกรรมการบริหารพรรค [15] ต่อมานายอำภาสมบัติ ปั้นเจริญ ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค และนายกรพิสุทธิ์ บุญพรหม ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและตำแหน่งเลขาธิการพรรค เมื่อวันที่ 19 และ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 ตามลำดับ จากนั้นที่ประชุมพรรคจึงได้แต่งตั้งนายไพรัช ศรีมาชัย เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการพรรค เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2542 [16] นอกจากนั้นในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2542 นางสาวนันทวัน บำรุงกลาง ก็ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและกรรมการบริหารพรรคอีกคน [17] ทำให้พรรคก้าวหน้าคงมีกรรมการบริหารพรรคทั้งสิ้น 28 คน
พรรคก้าวหน้าได้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคอีกครั้ง เมื่อนายรัฐพล คันชิต รองเลขาธิการพรรค ได้ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2543 ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไปด้วย [18] รวมถึง นายนพคุณ อุตมา ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2543 อีกด้วย [19]<
จากนั้นในปีพ.ศ. 2544 ที่ประชุมใหญ่สามัญพรรคก้าวหน้า ครั้งที่ 1/2544 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2544 ได้มีมติเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 11 คน โดยมีตำแหน่งสำคัญดังนี้ ref>ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 50 ง, วันที่ 1 มิถุนายน 2544, หน้า 82-83.</ref>
1. นายสุวัฒน์ ยมจินดา หัวหน้าพรรค
2. นายฐิติพงศ์ โตเอี่ยม รองหัวหน้าพรรค
3. นายศุภชัย นิติการ รองหัวหน้าพรรค
4. นายดาบตำรวจสุเทพ สมหา รองหัวหน้าพรรค
5. นายธเนศ ธัญญลักษณ์ รองหัวหน้าพรรค
6. นายไพรัช ศรีมาชัย เลขาธิการพรรค
7. นางเบญจวรรณ ธัญญลักษณ์ รองเลขาธิการพรรค
อย่างไรก็ตาม นายตรีภพ สุชิน เหรัญญิกพรรค ได้ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและตำแหน่งเหรัญญิกพรรค เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 [20] โดยที่ประชุมพรรคคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวหน้า ครั้งที่ 2/2546 ได้แต่งตั้งให้นายไพรัช ศรีมาชัย เลขาธิการพรรค ทำหน้าที่รักษาการตำแหน่งเหรัญญิกพรรค เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 [21] ต่อมา เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 นายสุธชา (สุวัฒน์) ยมจินดา ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรค เป็นผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคก้าวหน้าพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ตามข้อบังคับพรรคก้าวหน้า พ.ศ. 2541 ข้อ 29 (9) [22] ที่ระบุไว้ว่า “กรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งเมื่อ....(9) เมื่อหัวหน้าพรรคลาออกให้ถือว่าความเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคสิ้นสุดลงทั้งคณะ....” [23]
อนึ่งพรรคก้าวหน้าได้เคยร่วมกิจกรรมทางการเมือง โดยส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544 โดยแบ่งเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ (Party List) จำนวน 5 คน (หมายเลขพรรคคือ หมายเลข 20) และแบบแบ่งเขตจำนวน 3 คน แต่ไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลย แม้ว่าพรรคก้าวหน้าจะได้รับคะแนนเลือกตั้งในแบบบัญชีรายชื่อถึง 31,427 คะแนนเสียง ก็ตาม เนื่องจากจำนวนคะแนนเสียงดังกล่าวคิดเป็นเพียง ร้อยละ 0.11 ซึ่งไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ (ร้อยละ 5) ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 พรรคก้าวหน้าจึงไม่ได้รับการจัดสรรที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร[24]
พรรคก้าวหน้าได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในฐานะพรรคการเมืองมาเป็นระยะเวลาราว 6 ปี จึงได้ถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2547 ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2547 ให้ยุบพรรคก้าวหน้า เนื่องจากพรรคก้าวหน้าได้ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง โดยจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินในรอบปี พ.ศ. 2545 และ 2546 ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง กล่าวคือ พรรคก้าวหน้าไม่ได้มอบเงินสนับสนุนดังกล่าวให้แก่สาขาพรรค เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสาธารณูปโภค และค่าไปรษณียากร หรือค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ดังนั้นจึงถือว่าพรรคก้าวหน้าไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 เป็นเหตุให้ต้องถูกยุบพรรคตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง (5) ของพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน [25]
อ้างอิง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 65, วันที่ 25 เมษายน 2532, หน้า 161.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 70 ง, วันที่ 1 กันยายน 2541, หน้า 192, 223-225.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 70 ง, วันที่ 1 กันยายน 2541, หน้า 224-225.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 70 ง, วันที่ 1 กันยายน 2541, หน้า 192- 223.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 70 ง, วันที่ 1 กันยายน 2541, หน้า 271.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 70 ง, วันที่ 2 กันยายน 2542, หน้า 98-99.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 101 ง, วันที่ 4 ตุลาคม 243, หน้า 10.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 106 ง, วันที่ 6 พฤศจิกายน 2541, หน้า 70-71.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 114 ง, วันที่ 27 พฤศจิกายน 2541, หน้า 75-76. , ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 122 ง, วันที่ 14 ธันวาคม 2541, หน้า 21-22. และ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 127 ง, วันที่ 21 ธันวาคม 2541, หน้า 86-87.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนพิเศษ 114 ง, วันที่ 27 พฤศจิกายน 2541, หน้า 75-76.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 15 ง, วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542, หน้า 143-144.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 28 ง, วันที่ 21 เมษายน 2542, หน้า 67.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 39 ง, วันที่ 18 พฤษภาคม 2542, หน้า 99.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 66 ง, วันที่ 19 สิงหาคม 2542, หน้า 77-78.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 70 ง, วันที่ 22 กันยายน 2542, หน้า 106-107.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 4 ง, วันที่ 14 มกราคม 2543, หน้า 11-12.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 13 ง, วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2543, หน้า 54-55.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 25 ง, วันที่ 20 มีนาคม 2543, หน้า 111.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 96 ง, วันที่ 20 กันยายน 2543, หน้า 29.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอนพิเศษ 28 ง, วันที่ 3 มีนาคม 2546, หน้า 40.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอนพิเศษ 28 ง, วันที่ 3 มีนาคม 2546, หน้า 41
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเษศ 33 ง, วันที่ 22 มีนาคม 2547, หน้า 103.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 70 ง, วันที่ 1 กันยายน 2541, หน้า 236-237.1
- ↑ สยามจดหมายเหตุ บันทึกข่าวสารและเหตุการณ์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 49 (30 พ.ย.-6 ธ.ค. 2543), หน้า 1359., สยามจดหมายเหตุ บันทึกข่าวสารและเหตุการณ์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 5 (1-7 กุมภาพันธ์ 2544), หน้า 115. และ ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า, www.thaipoliticsgovernment.org/wiki/.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 120 ง, วันที่ 22 ตุลาคม 2547, หน้า 36.