พรรคกรรมกร
พรรคกรรมกร (2498)
พรรคกรรมกร จดทะเบียนต่อสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ทะเบียนเลขที่ 4/2498 ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2498 หัวหน้าพรรคคือ นายประกอบ โตลักษณ์ล้ำ เลขาธิการพรรคคือ นางใคล ชุณหะจันทน
พรรคกรรมกรมีนโยบายด้านต่าง ๆ คือ นโยบายด้นการส่งเสริมผู้ใช้แรงงาน พรรคกรรมกรจะมุ่งช่วยให้บรรดาผู้ใช้แรงงาน ได้รับผลประโยชน์แห่งแรงงานของตนด้วยความเป็นธรรม และดำเนินมาตรการด้านแรงงานเพื่อให้เกิดสังคมประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามแบบอารยประเทศ และร่วมมือส่งเสริมวงการเกษตร
นโยบายด้านการต่างประเทศ พรรคกรรมกรจะมุ่งส่งเสริมและผดุงสัมพันธภาพกับนานาประเทศ และวงการสังคมประชาธิปไตยทั่วโลก เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสรีภาพและสันติภาพของโลก โดยยึดหลักปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
นโยบายด้านเศรษฐกิจ พรรคกรรมกรจะมุ่งส่งเสริมการเศรษฐกิจและสังคมสงเคราะห์ เพื่ออำนวยความผาสุกแก่ประชาชน ส่งเสริมการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในประเทศ จัดระบบอาชีพให้ประชาชนมีงานทำโดยทั่วกัน และป้องกันการว่างงานของประชาชน ส่งเสริมการจัดตั้งสหบาลอาชีพให้เป็นปึกแผ่นทั่วประเทศ ตลอดจนส่งเสริมและขยายให้มีการสหกรณ์ทั่วประเทศ
นโยบายด้านการคลัง พรรคกรรมกรจะมุ่งจะรักษาเสถียรภาพทางการคลังให้เข้าสู่ดุลยภาพ โดยจัดงบประมาณให้เป็นไปในทางประหยัด เพื่อให้บังเกิดผลแก่ประชาชนมากที่สุด จัดระบบภาษีอากรให้เป็นธรรมต่อสังคม เพื่อยังความผาสุกแก่ประชาชน จะรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน
นโยบายด้านการศึกษา พรรคกรรมกรจะมุ่งส่งเสริมและยกระดับการศึกษาของประชาชนให้อยู่ในมาตรฐานเท่าเทียมกันกันทั่วประเทศ ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการศึกษา และขยายการศึกษาโดยทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้รับการศึกษาตามความสามารถและความต้องการ
นโยบายด้านการปกครอง พรรคกรรมกรจะกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ประชาชนให้มากที่สุด จะส่งเสริมความเจริญของท้องถิ่น และขยายการสาธารณสุขให้ทั่วถึง จะรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และให้การเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้หลักประกันโดยการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนในการประกอบอาชีพด้วยความเป็นธรรม
นโยบายด้านความเป็นเอกราช พรรคกรรมกรจะดำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกราชของชาติ โดยจะป้องกันและรักษาความเป็นเอกราชของชาติทุกกรณี และนโยบายด้านการศาล จะแยกอำนาจตุลาการออกจากอำนาจบริหารโดยเด็ดขาด เพื่อให้ศาลมีอิสระในการพิจารณาอรรถคดีตามตัวบทกฎหมาย
พรรคกรรมกร ถือเป็นหนึ่งในพรรคขนาดเล็กในจำนวนมาก ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 และพยายามเสนอนโยบายของต่อตนประชาชนในการส่งผู้สมัครของพรรคลงแข่งขันรับเลือกตั้ง แต่ผลการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ปรากฏว่าผู้สมัครจากบรรดาพรรคขนาดเล็กเหล่านี้ไม่ได้รับการเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว กล่าวคือ ในจำนวนพรรคการเมือง 20 กว่าพรรคนั้น มีเพียง 8 พรรคเท่านั้นที่สมาชิกของพรรคได้รับเลือกตั้ง ได้แก่ พรรคเสรีมนังคศิลา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคธรรมาธิปัตย์ พรรคเศรษฐกร พรรคชาตินิยม พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค พรรคอิสระ และไม่สังกัดพรรค
ที่มา
สมุทร สุรักขกะ, 26 การปฏิวัติไทยและรัฐประหาร สมัย 2489 ถึง 2507, พระนคร: โรงพิมพ์สื่อการพิมพ์, 2507
ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, การเมืองและพรรคการเมืองไทยนับแต่ยุคแรกถึงปัจจุบัน, พระนคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2511
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 72 ตอนที่ 86 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 หน้า 2685-2688
พรรคกรรมกร (2517)
พรรคกรรมกร เป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 มีนายณรงค์ ตั้งเติมทอง เป็นหัวหน้าพรรค และนายสันติ ยามินทร์ เป็นเลขาธิการพรรค และนายต้อย ตั้งสง่า เป็นที่ปรึกษาพรรค
พรรคกรรมกรมีแนวนโยบายค่อนไปทางสังคมนิยม นโยบายที่สำคัญของพรรคกรรมกร ได้แก่ การมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชนด้วยนโยบายส่งเสริมการเกษตร นโยบายรักษาพยาบาลฟรี นโยบายการให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง นโยบายสำรวจปฏิรูปแรงงาน นโยบายให้การศึกษาทุกคนฟรีถึง ม.ศ. 3 และอาชีวะขั้นต่ำด้วย รวมถึงทุ่มงบประมาณให้ 11,000 ล้านบาท ให้มหาวิทยาลัยมีทุกแห่งในจังหวัดต่าง ๆ นโนยายเปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินงานในกระทรวงศึกษาธิการ ไปสู่ระดับท้องถิ่น ระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน นโยบายปรับราคาข้าวสารขึ้นให้ถึงถังละหนึ่งร้อยบาท นโยบายจัดตั้งกระทรวงการค้าต่างประเทศ โดยให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดการผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลทางเกษตร และจัดตั้งธนาคารเพื่อการค้าผลิตผลการเกษตรโดยเฉพาะ นโยบายตัดลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม นโยบายปรับระดับรายได้ขั้นต่ำของประชาชนให้อย่างน้อยที่สุด 1,500 บาทต่อเดือน นโยบายด้านที่ดิน จะไม่ปฏิรูปที่ดิน แต่ดูที่ที่ไม่ทำประโยชน์ตาม ส.ค. 1 และ น.ส. 3 แล้วใช้มาตรการทางภาษี ไม่ต้องเอาป่าสงวนมาจัดสรร ให้คงสภาพป่าเอาไว้
ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 นายต้อย ตั้งสง่า ที่ปรึกษาพรรคกรรมกรได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับแนวนโยบายของพรรค ซึ่งมีการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวพาณิชย์และหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย โดยชี้ให้เห็นว่าพรรคกรรมกร มีแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญคือ “พยายามชักจูงคนที่มีเงินมาก ๆ ที่เก็บเอาไว้เฉย ๆ มาลงทุน โดยรัฐบาลเป็นผู้ประกันว่าจะไม่ขาดทุน อันนี้จะเป็นการส่งเสริมการเกษตรและอุตสาหกรรม สำหรับเรื่องน้ำมันแพงนี่แก้ไม่ได้ เพราะว่าเป็นสถานการณ์ของโลกซึ่งคุณไม่มีปัญญาไปแก้ คุณไปพูดกับอาหรับนี่มันยอมไหม ไม่ยอมใช่ไหมฮะ อะไรต่าง ๆ นี่ วัตถุดิบที่ขึ้นไปนี่คุณไม่มีทาง สิ่งนี้เราต้องใช้เป็นประจำวันอยู่แล้ว สิ่งที่จะแก้คือ ปรับระดับของคนในประเทศให้มีกำลังที่จะอยู่ได้” สำหรับแนวนโยบายด้านการบริหารราชการ นายต้อย ตั้งสง่า กล่าวว่า “เรื่องการบริหาร ระบบโครงสร้างของราชการของรัฐบาล มีปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคล ในนโยบายข้อหนึ่งได้เขียนได้ว่า จะปฏิรูประบบการปกครองแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพและให้สอดคล้องกับความต้องการของมวลชน แต่ปัญหาก็คือ ถ้าประชาชนไม่มีการศึกษาก็จะลำบาก แต่ถ้าเผื่อเราสามารถจะแก้ไขอันนี้ได้ อาจจะแก้ไขในระยะยาวหน่อย แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้น ผมเห็นว่ามันอยู่ที่ตัวบุคคล ตัวบุคคลที่เป็นข้าราชการ ข้าราชการนี่ผมว่าเฟ้อมากเกินไป เราอาจจะต้องหามาตรการอันหนึ่งที่จะทำให้ข้าราชการหลุดจากที่นี่แล้วไปไหน ไม่ใช่ลอยแพ อันนี้ต้องไปพิจารณากันในระดับอีกระดับหนึ่ง ถ้าเราได้เป็นรัฐบาล ผมคิดว่าเราหาทางช่วยเหลือเขาได้ แล้วเราจะเพิ่มกระทรวงแรงงานแทนที่จะเป็นกรมอย่างนี้ ผมว่าถ้าไม่มีอำนาจนาจอย่างนี้อย่าเป็นดีกว่า คือไม่มีอำนาจอะไรเลย แก้ไขอะไรก็ไม่ได้ กระทรวงแรงงานนี่จะมีอำนาจเกี่ยวกับแรงงานทั้งหมด จะต้องขึ้นกับกระทรวงนี้ รวมทั้งแรงงานทางเกษตรกรรม ทางกสิกรรม ทางอะไรต่ออะไร ทุกทาง คอยรวบรวมแรงงานทั้งหมดดูว่าคนไม่ว่างงาน แล้วก็ทุกคนถ้าเผื่อว่างงานแล้วจะมีกินมีใช้พอสมควร อันนี้มันก็มาจากประกันสังคมอีก แต่ว่าต้องขึ้นกับกระทรวงแรงงาน ต้องมีกฎหมายเยอะครับ แต่ว่ากฎกระทรวงเวลานี้ผมก็ว่าดีครับ ไม่ดีที่ตัวบุคคลเท่านั้น ถ้าเราให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้ เช่นในงบประมาณของจังหวัดที่ตัวเองอยู่ ผู้บริหารก็ไม่กล้าที่จะโกง”
สำหรับนโยบายด้านการศึกษาของพรรคกรรมกรนั้น ที่ปรึกษาพรรคชี้ว่า “การศึกษาจะให้ฟรีถึง ม.ศ. 3 คนจบป. 7 นี่เราอาจมีอาชีวะขั้นต่ำสำหรับเรียน 3 ปี จะเป็นช่างเชื่อมก็ช่างเชื่อมอย่างเดียวเลย งบประมาณส่วนใหญ่ก็มุ่งไปทางการศึกษา ถ้าเป็นรัฐบาลผมจะให้งบประมาณการศึกษา 11,000 ล้านบาท แทน 4,300 ล้านบาท นอกจากนี้จะให้มีมหาวิทยาลัยทุกแห่งในจังหวัดต่าง ๆ คนที่เกิดจังหวัดนั้นเรียนจังหวัดนั้น ไม่ควรจะเพ่นพ่านมาเรียนในกรุงเทพฯ การดำเนินงานภายในกระทรวงศึกษาฯ ควรจะเปลี่ยนแปลง เราจะกระจายอำนาจ อาจจะเป็นเทศบาลที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะว่าเราคิดถึงระดับตำบล การศึกษาระดับตำบล เราอาจจะขยายไปถึงหมู่บ้าน ถ้าสามารถทำได้ การรักษาพยายบาลนี่เป็นนโยบายของพรรคกรรมกรว่าเราจะให้เปล่า”
เมื่อกล่าวถึงนโยบายด้านสังคม นายต้อง ตั้งสง่า กล่าวว่า “ทางด้านประกันสังคม จะหางานให้ทำ แล้วก็เลี้ยงดูเมื่ออยู่ในวัยชรา 60 หรือ 65 อะไรนี่ เรื่องที่อยู่อาศัยอย่างแฟลตที่สร้างอยู่เวลานี้ ไม่ถูกเรื่อง เตี้ยไป ใช้ที่มาก แทนที่จะสร้างไป 10 ชั้นอย่างในสิงคโปร์ สิทธิเสรีภาพนี่ แม้กระทั่งว่ากันตั้งแต่ตำบลมาถึงอำเภอเลย อำเภอนี่สิทธิเสรีภาพก็ยังไม่มีขึ้นไป บางทีต้องไปนั่งคอยนอนคอย แล้วจะทำอะไรสักอย่างก็ลำบาก กฎหมายนี่มีเยอะที่จะแก้ อย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับสิทธิอะไรมากแล้ว ก็มีช่องว่างให้แกหลบเข้าไปนั่งตรงนั้น ความจริงแล้ว ถ้าเอาจริง ๆ ก็ต้องผิดหมด แต่ว่ากฎหมายมีช่องโหว่ จะว่าไปแล้วมันโยงไปถึงค่าครองชีพและรายไดของตำรวจ ส่วนการทำนิติกรรมของสตรีนี่ เราก็ดู ส่วนมากเขาบอกว่ายังไม่ควร เราก็ยังไม่ควร”
ส่วนแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินนั้น ที่ปรึกษาพรรคกรรมกรเสนอว่า “ที่ดินทำกิน ผมไม่ปฏิรูปหรอกครับ ให้ที่ดินจังหวัด อำเภอ สำรวจเลยไอ้ น.ส. 3 กับ ส.ค. 1 นี่ ใครที่ขอไปแล้ว 3 ปี ไม่ทำประโยชน์บอกรายงานมาภายใน 7 วัน ถ้าช้ากว่านั้นก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่แล้ว ที่ดินนั่นเป็นล้าน ๆ ไร่ครับ ที่คนจับจองไว้ 6,000 ไร่ 5,000 ล้านไร่ แล้วไม่ได้ทำอะไรเสียเปล่า ๆ ใครว่าไม่มีที่ดิน เอาไปเลยและจำกัดได้ว่าคนหนึ่งทำได้กี่ไร่ ถ้าเกินผมก็ยึด แต่ผมเก็บภาษี 10 เปอร์เซ็นต์ทุกปี หรืออาจจะเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ผมไม่รู้ ป่าสงวนไม่ต้องไปยุ่ง”
นอกจากนี้ ที่ปรึกษาพรรคกรรมกรยังมีแนวคิดในการตัดลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม โดยให้เหตุผลว่า “ผมมีข้อติกลาโหมคือ งบประมาณมากไป ทหารเกณฑ์มา 8 สัปดาห์แรกฝึกวินัย 8 สัปดาห์หลังฝึกอาวุธประจำการ 16 สัปดาห์แล้วก็ไปเป็นทหารรับใช้ เสียแรงงานครับ งบประมาณเกณฑ์ทหารครั้งหนึ่ง 3-4 ร้อยล้านบาท เสียผลผลิตเป็นเรื่องใหญ่ ทหาร 200,000 คน สมมุติคนหนึ่งทำนาได้ 25 ไร่ ไร่หนึ่งได้ 40 ถัง เสียข้าวไปแล้ว 2 ล้านเกวียน ถ้าเกวียนละ 3,000 บาท เมื่อประกันราคา 6,000 ล้านบาท ที่คุณจะเสียผลผลิตของชาติ เก็บเอาไว้ 2 ปี เสียผลผลิตจากคน 2 แสนนี่เป็นเงินหนึ่งหมื่นสองพันล้านบาท..ผมจะให้เป็นเพียง 4 เดือนพอแล้ว ระดมพวกนี้เข้ามาก็ควรจะเป็นเดือนตุลาคม คุณก็ดำนาเสร็จ พอหลังจากนั้นพฤศจิกา ธันวา มกรา คุณก็ออกไปแล้ว ไปเกี่ยวข้าวพอดี ผลผลิตคุณก็ไม่เสีย งบประมาณเกณฑ์ทหารก็ไม่เสย การประกันราคาข้าวควรจะมีโปรแกรมที่ถูกต้อง ทำแล้วต้องทำให้ตลอดรอดฝั่ง ถ้าข้าวถังละ 100 บาท ทั้งหมด 10 เกวียน ๆ หนึ่งเราประกัน 3,000 บาท ข้าวปลูกกินเอเวอเรจออกมาแล้วประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ก็เหลือเงิน 18,000 บาท ก็เดือนละ 1,500 ชาวนาอยู่ได้ไหม”
สำหรับนโยบายด้านการต่างประเทศนั้น นายต้อง ตั้งสง่า ที่ปรึกษาพรรคกรรมกร กล่าวว่า “เรื่องต่างประเทศนี่เราคบหมดทุกประเทศ ซีโต้ก็ปล่อยไปตามนั้น ภาคีอาเซียนนี่ไม่กระทบกระเทือนอะไรของประเทศ ก็ไม่เสียหายนี่ แก๊สกับน้ำมันนี่อยากทำเองเป็นของรัฐเอง รัฐวิสาหกิจนี่ควรให้เอกชนมีส่วนให้ประชาชนทำเอง เขาจะได้รับประโยชน์มากที่สุด” ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 พรรคกรรมกร ส่งผู้สมัคร 6 คน แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว
ที่มา
วสันต์ หงสกุล, 37 พรรคการเมือง ปัจจัยพิจารณาเปรียบเทียบ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ตะวันนา, 2518 ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ, พรรคการเมืองและปัญหาพรรคการเมืองไทย, กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2524 เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, การสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519