รายงานการประชุมสภา

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:07, 5 มกราคม 2553 โดย Panu (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''ผู้เรียบเรียง''' ปรียวรรณ สุวรรณสูนย์ '''ผู้ทรงคุณวุฒิประ...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ปรียวรรณ สุวรรณสูนย์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


รัฐสภา เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยกำหนดให้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญคือ 1) อำนาจหน้าที่ในการตรากฎหมาย ซึ่งการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมายเป็นกรอบในการดำเนินการ จึงจำเป็นต้องตราขึ้นมาตามเจตนารมณ์ของประชาชน เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาที่จะแสดงออก และให้ความยินยอมในการนำกฎหมายนั้น ๆ ออกใช้บังคับ 2) อำนาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน คือ การสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรีหรือฝ่ายบริหารด้วยวิธีการที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ 3) อำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบในเรื่องที่สำคัญ ๆ และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศชาติในกรณีต่าง ๆ

เพื่อให้การทำหน้าที่ของรัฐสภาเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การประชุมสภาจึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยให้การทำหน้าที่ของรัฐสภาได้สมบูรณ์เพื่อเป็นการปรึกษาหารือเรื่องต่าง ๆ จนนำไปการออกกฎหมาย แสดงความเห็นต่อการบริหารประเทศของรัฐบาล เป็นต้น ภายหลังการประชุมสภาแล้วจำเป็นต้องจัดทำรายงานการประชุมสภาไว้เป็นหลักฐาน เพื่อเป็นการบันทึกเจตนารมณ์ของการประชุม โดยเป็นการบันทึกทุกคำพูด/เหตุการณ์ที่มีขึ้นในที่ประชุมสภา

รายงานการประชุมและขั้นตอนการจัดทำรายงานการประชุมสภา

รายงานการประชุมสภา หมายถึง รายงานการประชุมของสภาที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อันได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น โดยต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมของแต่ละสภาเป็นคราว ๆ ไป กล่าวคือ เริ่มต้นด้วยการจดรายงานการประชุม บันทึกการออกเสียงลงคะแนน จัดทำรายงานการประชุม จัดทำสำเนา รายงานการประชุมวางไว้เพื่อให้สมาชิกตรวจดู แก้ไขเพิ่มเติมรายงานการประชุม รับรองรายงานการประชุม และประธานสภาลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน[1] ซึ่งรายงานการประชุมสภานั้น ในการประชุมรัฐสภาได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 เช่นเดียวกับรายงานการประชุมวุฒิสภา ส่วนรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา

รายงานการประชุมรัฐสภา

เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ได้มีการจัดทำข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ดังนั้น ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา จึงได้นำข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 มาใช้แทนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 137 กำหนดว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้ใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาในระหว่างที่ยังไม่มีข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยอนุโลมไปพลางก่อน[2]

สำหรับการจัดทำรายงานการประชุมรัฐสภานั้น ทางสำนักรายงานการประชุมและชวเลข สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน แล้วจึงส่งรายงานการประชุมรัฐสภา ให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในฐานะเลขาธิการรัฐสภาเป็นผู้ตรวจสอบรายงานการประชุมนั้น ๆ และลงนามท้ายเล่มว่าเป็นผู้จัดทำรายงานการประชุมรัฐสภา จากนั้นกลุ่มงานรายงานการประชุมจะทำหนังสือกับประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาพิจารณานำรายงานการประชุมรัฐสภาเข้าบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุม หากประธานรัฐสภาอนุญาตจะทำหนังสือถึงสำนักการประชุมเพื่อให้บรรจุระเบียบวาระรายงานการประชุมนั้น ๆ เพื่อเป็นการรับรองรายงานการประชุมรัฐสภาในคราวประชุมต่อไป ซึ่งก่อนที่จะเสนอให้สภารับรองให้ทำสำเนาจำนวน 3 ชุด วางไว้ไม่น้อยกว่า 7 วัน ณ บริเวณสภา เพื่อให้สมาชิกตรวจดูได้ ตามข้อ 26 ของข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551

ส่วนการจัดทำรายงานการประชุมลับนั้น สำนักรายงานการประชุมและชวเลข สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะทำให้แล้วเสร็จเป็นรายงานภายใน 15 วัน แล้วนำส่งให้คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และเสนอความเห็นเพื่อให้สภามีมติว่าจะเปิดเผยหรือไม่ ตามข้อ 30 ของข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 แล้วจึงทำหนังสือให้ประธานรัฐสภาพิจารณา เพื่อดำเนินการให้สภาร่วมพิจารณาในคราวประชุมรัฐสภาต่อไปว่า รายงานการประชุมลับนั้นเห็นควรเปิดเผยหรือไม่ ต่อไป

รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551[3] ข้อ 10 (4) กำหนดว่า เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่ดังต่อไปนี้ (4) จัดทำรายงานการประชุม และบันทึกการออกเสียงลงคะแนน

ข้อ 26 กำหนดว่า รายงานการประชุมเมื่อคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรตรวจแล้ว ก่อนที่จะเสนอให้สภารับรอง ให้ทำสำเนาวางไว้ไม้น้อยกว่าเจ็ดวัน ณ บริเวณสภาเพื่อให้สมาชิกตรวจดูได้

รายงานการประชุมทุกครั้งจะต้องมีรายชื่อสมาชิกที่มาประชุม ที่ลาการประชุม ที่ขาดการประชุม และบันทึกการออกเสียงลงคะแนนแต่ละเรื่อง

สมาชิกมีสิทธิขอแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการประชุมดังกล่าว ให้ตรงตามที่เป็นจริง โดยยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ถ้าคณะกรรมาธิการไม่ยอมแก้ไขเพิ่มเติมให้ตามที่ขอ สมาชิกผู้นั้นมีสิทธิที่จะยืนยันคำขอแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อขอให้สภาวินิจฉัย

ข้อ 27 กำหนดว่า รายงานการประชุมครั้งใด เมื่อได้วางสำเนาไว้เพื่อให้สมาชิกตรวจดูแล้ว ถ้ามีการแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังโดยคณะกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมเอง หรือโดยสมาชิกขอแก้ไขเพิ่มเติมในคราวที่สภาพิจารณารับรองรายงานการประชุมนั้น คณะกรรมาธิการจะต้องแถลงต่อที่ประชุมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว

ข้อ 28 กำหนดว่า เมื่อสภาได้รับรองรายงานการประชุมครั้งใดแล้ว ให้ประธานสภาลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน

รายงานการประชุมที่ได้รับรองแล้ว แต่ประธานสภายังมิได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานหรือรายงานการประชุมที่ยังมิได้มีการรับรอง เพราะเหตุที่อายุของสภาสิ้นสุดลง ให้เลขาธิการบันทึกเหตุนั้นไว้ และเป็นผู้รับรองความถูกต้องของรายงานการประชุมนั้น

รายงานการประชุมวุฒิสภา

ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551[4] ข้อ 12 (4) กำหนดว่า เลขาธิการวุฒิสภา มีหน้าที่ดังต่อไปนี้ (4) ควบคุมการทำรายงานการประชุมทั้งปวง

ข้อ 27 กำหนดว่า รายงานการประชุมวุฒิสภา เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจกาวุฒิสภาตรวจแล้ว ก่อนที่จะเสนอให้วุฒิสภารับรอง ให้ทำสำเนาวางไว้สามฉบับ ณ ที่ซึ่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ประกาศกำหนดไว้ไม่น้อยกว่าสามวัน เพื่อให้สมาชิกตรวจดูได้

รายงานการประชุมวุฒิสภาทุกครั้งจะต้องมีรายชื่อสมาชิกที่มาประชุม ที่ลาการประชุม ที่ขาดประชุม และบันทึกการออกเสียงลงคะแนนแต่ละเรื่อง

สมาชิกมีสิทธิขอแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการประชุมวุฒิสภาดังกล่าว ให้ตรงตามที่เป็นจริง โดยยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานคณะกรรมาธิกาวิสามัญกิจการวุฒิสภา ถ้าคณะกรรมาธิการดังกล่าวไม่ยอมแก้ไขเพิ่มเติมให้ตามที่ขอ สมาชิกผู้นั้นมีสิทธิที่จะยืนยันคำขอแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อขอให้วุฒิสภาวินิจฉัย

ข้อ 28 กำหนดว่า ในการตรวจรายงานการประชุมวุฒิสภาครั้งใด ถ้ามีผู้ใดกล่าวถ้อยคำหรือข้อความใด ๆ และได้มีการถอนหรือถูกสั่งให้ถอนถ้อยคำหรือข้อความนั้นแล้ว ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาพิจารณาว่าสมควรจะตัดห้อยคำหรือข้อความดังกล่าวออกหรือไม่ ถ้าเห็นสมควรให้ตัดออกให้บันทึกว่า “มีการถอนคำพูด” หรือ “ถูกสั่งให้ถอนคำพูด” แล้วแต่กรณีไว้ในรายงานการประชุมวุฒิสภาครั้งนั้น ส่วนถ้อยคำหรือข้อความที่ตัดออกให้บันทึกไว้ในรายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาด้วย

ข้อ 29 กำหนดว่า รายงานการประชุมวุฒิสภาครั้งใด เมื่อได้วางสำเนาไว้เพื่อให้สมาชิกตรวจดูแล้ว ถ้ามีการแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลัง โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมเอง หรือโดยสมาชิกขอให้แก้ไขเพิ่มเติมก็ตาม ในคราวที่วุฒิสภาพิจารณารับรองรายงานการประชุมนั้น คณะกรรมาธิการดังกล่าวจะต้องแถลงต่อที่ประชุมวุฒิสภาถึงการแกไขเพิ่มเติมนั้น

ข้อ 30 กำหนดว่า เมื่อวุฒิสภาได้รับรองรายงานการประชุมวุฒิสภาครั้งใดแล้ว ให้ประธานวุฒิสภาลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน

ในกรณีที่มีเหตุทำให้ประธานวุฒิสภาไม่อาจลงลายมือชื่อรับรองรายงานการประชุมวุฒิสภาได้ ให้เลขาธิการวุฒิสภาบันทึกเหตุนั้นไว้ และเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของรายงานการประชุมนั้นแทน

รายงานการประชุมลับ

รายงานการประชุมลับ[5] หมายถึง รายงานการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งได้ทำการประชุมเป็นการลับ รายงานการประชุมลับดังกล่าวนี้ สภาจะมีมติให้จดรายงานก็ได้ หรือไม่ให้จดรายงานก็ได้ และถึงแม้จะมีการจดรายงานการประชุมลับ สภาจะมีมติให้เปิดเผยก็ได้หรือไม่ให้เปิดเผยก็ได้ ทั้งนี้ การเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยส่วนหนึ่งจะขึ้นกับความเห็นของคณะกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุมด้วย

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551[6] ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 29 ว่า สภาอาจมีมติไม่ให้จดรายงานการประชุมลับครั้งใดทั้งหมด หรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้ แต่ให้มีบันทึกเหตุการณ์ไว้

	และข้อ 30 กำหนดว่า การเปิดเผยรายงานการประชุมลับ ให้คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและเสนอความเห็นเพื่อให้สภามีมติว่าจะเปิดเผยหรือไม่

อีกทั้งข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551[7] ก็ได้กำหนดไว้ในลักษณะเดียวกันด้วย โดยในข้อ 31 กำหนดว่า วุฒิสภาอาจมีมติมิให้จดรายงานการประชุมลับครั้งใดทั้งหมด หรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้ แต่ให้มีบันทึกพฤติการณ์ไว้

	และข้อ 32 กำหนดว่า การเปิดเผยรายงานการประชุมลับ ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภาพิจารณาและเสนอความเห็นเพื่อให้วุฒิสภามีมติว่าจะเปิดเผยหรือไม่

นอกจากนี้ ในการจัดพิมพ์รายงานการประชุมนั้น ได้กำหนดว่า ให้ทั้งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการวุฒิสภาเป็นผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุมนั้น ๆ ทั้งนี้ นอกจากรายงานการประชุมลับที่สภามีมติไม่ให้เปิดเผย

หลักเกณฑ์การจัดทำรายงานการประชุมสภา

การจัดทำรายงานการประชุมสภาให้ถูกต้องตามการอภิปรายที่เกิดขึ้นจริงของผู้อภิปรายแต่ละท่าน โดยต้องพยายามรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องตามหลักภาษาไทยและไวยากรณ์ ดังนี้[8]

1. เกี่ยวกับคำทั่วไป ถ้าเป็นข้อความทั่วไปใช้หลักเกณฑ์ตัวสะกด การันต์ โดยถือตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับล่าสุด พจนานุกรมฉบับมติชน ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและประกาศราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง การเขียนชื่อจังหวัด เขต อำเภอ หากเป็นศัพท์เฉพาะทาง ได้แก่ ศัพท์นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และชื่อธาตุให้ถือตามศัพท์นิติศาสตร์ ศัพท์รัฐศาสตร์ ศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศฉบับราชบัณฑิตยสถาน และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การบัญญัติชื่อธาตุและ เรื่อง ศัพท์บัญญัติชื่อแร่ ส่วนตัวย่อและคำย่อให้ถือตามหลักเกณฑ์การเขียนคำย่อที่ราชบัณฑิตยสถานกำหนดไว้ หรือการใส่อนุมาตราของกฎหมายให้ใส่เครื่องหมายวงเล็บเมื่อผู้อภิปรายกล่าวถึงอนุมาตราของกฎหมาย ไม่ว่าผู้อภิปรายจะกล่าวคำว่า “วงเล็บ” หรือคำว่า “อนุมาตรา” หรือ “อนุ” ก็ตาม สำหรับชื่อหรือคำต่าง ๆ ที่ผู้อภิปรายกล่าวแบบคำย่อ ให้ถอดความเป็นไปตามข้อความที่ผู้อภิปรายพูดทุกประการ โดยไม่ใช้เครื่องหมาย ไปยาลน้อย (ฯ) ในรายงานการประชุม

2. เกี่ยวกับจำนวน จำนวนที่เขียนเป็นตัวเลข ให้ใช้เป็นเลขไทยทั้งหมด หากเป็นจำนวนที่แสดงลำดับที่หรือแสดงลำดับให้เขียนเป็นตัวเลข ถ้าจำนวนอยู่หลังนามหรือหลังลักษณะนาม หรือไม่มีลักษณะนามรองรับ รวมทั้งจำนวนที่พิจารณารูปประโยคแล้วถือเป็น “สำนวน” ให้เขียนเป็นตัวหนังสือ ตลอดจนจำนวนที่เป็นข้อความในกฎหมายหรือกฎ ให้เขียนเป็นตัวหนังสือ ส่วนจำนวนตั้งแต่หลักแสนขึ้นไปให้ใช้เป็นตัวเลขปนกับตัวหนังสือ

3. เกี่ยวกับชื่อบุคคล การพิมพ์ชื่อบุคคล โดยเฉพาะบุคคลที่มียศ ฐานันดรศักดิ์ ราชทินนาม ให้ถือตามประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศ หรือคำสั่งแต่งตั้ง ส่วนการพิมพ์ชื่อบุคคลที่มีตำแหน่งทางวิชาการ ให้ใช้ตามความประสงค์ของผู้อภิปราย โดยถือตามบัญชีรายชื่อสมาชิกที่ใช้ลงชื่อก่อนเข้าประชุมสภา หากผู้อภิปรายเรียกขานชื่อบุคคลในระหว่างการประชุมไม่ถูกต้องตามยศ ฐานันดรศักดิ์ ราชทินนาม หรือตำแหน่งทางวิชาการ ที่เป็นจริงให้คงไว้ตามที่ผู้อภิปรายกล่าว

4. เกี่ยวกับการทับศัพท์คำภาษาต่างประเทศ ให้ทับศัพท์ภาษาต่างประเทศเป็นตัวอักษรไทย โดยถือตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับพิมพ์ล่าสุด พจนานุกรมฉบับมติชน รวมถึงศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้ ฉบับราชบัณฑิตยสภาน และให้วงเล็บคำภาษาต่างประเทศนั้น ๆ ไว้หลังอักษรไทยที่ใช้ทับศัพท์ด้วย โดยการวงเล็บคำภาษาต่างประเทศนั้นให้ใส่ไว้เฉพาะการพูดคำนั้นเป็นครั้งแรกในการประชุมครั้งนั้นเท่านั้น ส่วนการเรียกชื่อธาตุต่าง ๆ ให้ทับศัพท์ตามการกล่าวของผู้อภิปราย โดยตัวย่อของธาตุที่ตัวเลขห้อยท้ายให้ใช้เป็นเลขอารบิค

รายงานการประชุมสภานับเป็นบันทึกเกี่ยวกับรายละเอียดคำอภิปราย และการดำเนินการประชุมแต่ละคราวไป ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารที่ทรงคุณค่ายิ่งอย่างหนึ่ง เพราะถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยอีกด้วย

อ้างอิง

  1. คณิน บุญสุวรรณ. “ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย”. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2548, หน้า 794–795.
  2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550.
  3. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. “ข้อบังคับการประชุม”. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2551, หน้า 12–13.
  4. เรื่องเดียวกัน หน้า 86–87.
  5. คณิน บุญสุวรรณ. เรื่องเดิม หน้า 793.
  6. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2546) เรื่องเดิม หน้า 13.
  7. เรื่องเดียวกัน. หน้า 87–88.
  8. สำนักรายงานการประชุมและชวเลข. “หลักเกณฑ์และรูปแบบการจัดทำรายงานการประชุมสภา และคณะกรรมารธิการ”. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550, หน้า 1–10.

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

คณิน บุญสุวรรณ, (2548) “ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย”. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2528) “ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2528”. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2534) “ข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2534”. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2546) “ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2544”. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2546) “ข้อบังคับการประชุมสภาเปรียบเทียบ 2476 – 2517”. กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุด สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2551) “ข้อบังคับการประชุม”. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

สำนักรายงานการประชุมและชวเลข, (2550). “หลักเกณฑ์และรูปแบบการจัดทำรายงานการประชุมสภา และคณะกรรมาธิการ”. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

บรรณานุกรม

คณิน บุญสุวรรณ, (2548) “ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย”. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2546) “ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2544”. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2551) “ข้อบังคับการประชุม”. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (2550) “หลักเกณฑ์และรูปแบบการจัดทำรายงานการประชุมสภา และคณะกรรมาธิการ”. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.