การจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:25, 28 ธันวาคม 2552 โดย Ekkachais (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: การจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดย ศ.นพ.วันชัย วัฒน...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

การจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดย ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์

กฎหมายจะยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรมอยู่ที่ผู้ออกกฎหมาย ตัวอย่าง เช่น กฎหมายโบราณของภาคอีสานข้อหนึ่งระบุว่าหากผู้หญิงมีชู้ให้โบยสิบที หากผู้ชายมีชู้ให้เลิกแล้วต่อกัน กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนี้คือกฎหมายที่ออกโดยผู้ชาย เป็นธรรมดาที่ผู้ออกกฎหมายจะออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง เช่นเดียวกันกับกฎหมายภาษีมรดกซึ่งไม่สามารถออกมาได้เสียที เนื่องจากผู้ออกกฎหมายมีมรดกเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นบ่อยครั้งกฎหมายต่างๆจะไม่สามารถใช้ในการแก้ไขปัญหาได้ จึงต้องอาศัยกระบวนการอื่นที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา เช่น ประชาเสวนา เป็นต้น

กฎกติกาพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ความคาดหวังของแต่ละคนนั้นสอดคล้องตรงกัน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หมอที่ถูกฟ้องมากที่สุดคือหมอทำคลอด เนื่องจากหมอทำคลอดถูกคาดหวังว่าเข้าไปหนึ่งจะต้องมาสอง หากเข้าไปไม่ออกมาเลยก็จะเกิดความขัดแย้งและถูกฟ้องร้อง แต่หมอมะเร็งกลับเป็นตรงกันข้าม เนื่องจากผู้ป่วยไม่คาดหวังว่าจะหาย พอรักษาไม่หายก็เลยไม่โดยฟ้องเนื่องจากเป็นตามที่คาดไว้แล้ว

การฟังอย่างตั้งใจหรือการรับฟังกันอย่างแท้จริงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง ตลอดจนเป็นรากฐานของประชาธิปไตย โดยลักษณะท่าทางที่ทำให้ผู้พูดรับรู้ได้ว่าผู้ฟังกำลังฟังอย่างตั้งใจนั้นคือ 1) มองตาผู้พูดและมองตรงๆ 2) พยักหน้าเพื่อแสดงการรับรู้เป็นระยะ ส่งเสียง เออ ออ 3) ไม่พูดขณะฟัง เมื่อคนหนึ่งพูด ที่เหลือต้องฟัง

การฟังอย่างตั้งใจต้องเอาใจฟังด้วย เราจะเห็นได้ว่าการประท้วงในบางครั้งผู้ชุมนุมต้องหาคนมาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง “ได้ยิน” ต้องการให้ความต้องการของตนถูกรับฟัง (To be heard) โดยผู้ที่มีอำนาจหรือมีส่วนเกี่ยวข้องและเพิ่มอำนาจต่อรอง หากต่างฝ่ายต่างไม่ฟังกันก็จะเกิด

ปัญหา

สันติวิธีคือการทำให้มนุษย์เปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่ต้องมาด่าว่าหรือใช้ความรุนแรงต่อกัน มาตรการลงโทษทางสังคมเป็นวิธีการหนึ่งของสันติวิธี ตัวอย่างเช่น ในอดีต โรงพยาบาลในกรุงเทพฯบางแห่งนั้นปฏิเสธไม่ยอมรับผู้บาดเจ็บฉุกเฉินโดยอ้างว่าเตียงเต็ม จึงต้องส่งคนไข้ต่อไปเรื่อยๆก็ไม่มีใครยอมรับ แต่ภายหลังได้มีการแจ้งทางรายการวิทยุ และทางวิทยุก็ได้รายงานออกอากาศว่าโรงพยาบาลนั้นๆปฏิเสธไม่รับคนไข้ เมื่อสังคมได้รับทราบ โรงพยาบาลแห่งนั้นก็ถูกต่อว่า ซึ่งต่อมาก็ไม่มีโรงพยาบาลแห่งใดกล้าที่จะปฏิเสธคนไข้เช่นนี้อีก เป็นการใช้มาตรการทางสังคมมาเปลี่ยนพฤติกรรม กฎกติกาในชุมชนก็เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการทางสังคมเช่นกัน และมีความกำลังเทียบเท่าหรือมากกว่ากฎหมายเสียด้วยซ้ำไป

ณ ชายป่าแห่งหนึ่งมีวัวอยู่สองร้อยตัวกินหญ้าอย่างมีความสุข อยู่มาวันหนึ่งมีเสือสองตัว ตัวผู้และตัวเมียเข้ามาในป่าแห่งนั้น และตกกลางคืนก็คอยจับวัวไปกินทีละตัวๆ หากวัวมานั่งประชุมกัน แล้ววางแผนล่อเสือออกมา เข้าตีโอบ แล้วก็เตะเสือเข้าคนละที สุดท้ายเสือก็จะตาย แต่ถามว่าวัวมีปัญญาที่จะคิดไหม ไม่มี แล้วคนละ มีปัญญาที่จะคิดไหม แล้วเราจะยอมให้เสือกินทีละตัวหรือไม่

การเจรจาไกล่เกลี่ย คือ การที่ทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจมาเจรจาระหว่างกันเพื่อตัดสินใจร่วมกัน โดยที่ต่างฝ่ายต่างต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อรับฟังความต้องการที่แท้จริงของอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่การเกลี้ยกล่อมให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมตามความต้องการของตนเอง การเจรจาคือคำตอบของความขัดแย้งทุกเรื่อง

ความขัดแย้งในปัจจุบันเกิดขึ้นส่วนหนึ่งเนื่องจากไม่มีเวทีที่จะให้ประชาชนมานั่งพูดจากัน การทำประชาพิจารณ์กลับส่งผลให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น เนื่องจากเป็นเวทีแห่งการโต้เถียงกัน (Debate) ซึ่งมุ่งที่จะเอาชนะคะคานกัน มาชี้หน้าด่ากัน ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตนเองมีคำตอบที่ถูก และพยายามที่จะพิสูจน์ว่าอีกฝ่ายเป็นฝ่ายผิด ดังนั้น เวทีใดๆก็ตามไม่ควรจะเป็นการโต้เถียงกัน แต่ควรใช้เวทีประชาเสวนา (Citizen Dialogue) ซึ่งมุ่งเน้นการฟังกันและกันอย่างตั้งใจ เชิญชวนให้ชาวบ้านเข้ามาร่วมกันคิดถึงประเด็นต่างๆที่เป็นที่สนใจของชุมชน ดังนั้น ทั้งผู้ประกอบการและชาวบ้านจะต้องหันหน้ามานั่งพูดคุยกัน ไม่เผชิญหน้ากัน ร่วมคิดร่วมแก้ปัญหากัน หากมีการพูดคุยกันตลอดนั้นจะไม่ต้องมาทำประชาพิจารณ์กันเลย

ประชาเสวนามีกติกาพื้นฐานคือ ปฏิบัติต่อกันและกันด้วยความเคารพ เอาหูมาตั้งใจฟังกันและกัน โดยคนหนึ่งพูด ที่เหลือต้องฟัง การสานเสวนา เป็นกระบวนการที่ให้ทุกภาคส่วนมานั่งพูดคุยรับฟังเพื่อหาทางออก แต่ไม่ได้มาเพื่อเอาชนะกัน โดยอาศัยเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งคือการฟังอย่างตั้งใจ

การจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี มี สามหลัก คือ หลักใช้อำนาจ หลักใช้สิทธิ หลักใช้จุดสนใจหรือความต้องการ

หลักใช้อำนาจ คือการใช้การบังคับ ความเป็นเจ้าของร่วมกันจะต่ำ ผลลัพธ์คือการแพ้ชนะ หลักใช้สิทธิ คือการใช้การฟ้องร้อง และต้องรู้กฎหมาย ผลลัพธ์คือการแพ้และชนะ หลักใช้จุดสนใจ คือ การค้นหาความต้องการของทั้งสองฝ่าย ผลลัพธ์คือการชนะชนะ

กระบวนการลงประชามติมิใช่กระบวนการที่ดีเนื่องจากเป็นกระบวนการที่สร้างความแตกแยก เพราะมีทางเลือกให้เพียงสองทาง ซึ่งทำให้ต้องเกิดผู้แพ้และผู้ชนะไปโดยปริยาย ตัวอย่างเช่น การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญทำให้ประเทศไทยแบ่งแยกออกเป็นสองสีทันที ดังนั้น กระบวนการที่ดีที่สุดคือกระบวนการที่ทำให้ทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะด้วยกันทั้งสิ้น

ประชาธิปไตยคืออะไร? เผด็จการคืออะไร? ผู้นำที่มีหัวใจประชาธิปไตยคือผู้นำที่รับฟังเสียงของประชาชน และประชาชนกล้าที่จะพูด มิใช่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งแต่ไม่ฟังเสียงของประชาชน กล่าวคือ การเลือกตั้งมิใช่ประเด็นสำคัญ หากแต่การรับฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริงต่างหากที่เป็นเครื่องชี้ถึงความเป็นประชาธิปไตย ตามที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติด้วยเหตุผลที่ทางคณะราษฎร์ไม่ “ฟัง” เสียงอันแท้จริงของประชาชน

การจะแก้ไขความขัดแย้งได้ต้องเข้าใจคำว่าจุดยืนกับจุดสนใจเสียก่อน จุดยืน คือ สิ่งที่เขาทะเลาะกัน หรือสิ่งที่เราเห็นๆกันมาเป็นประเด็นปัญหาที่หยิบยกขึ้นมาพูดกัน ซึ่งหากมัวแต่เถียงกันที่จุดยืน กล่าวคือเรานำคำตอบมาเป็นโจทย์ เช่น ฝ่ายหนึ่งจะให้สร้างเขื่อน อีกฝ่ายก็บอกว่าไม่ให้สร้าง ปัญหาก็จะไม่มีวันแก้ไขได้ ในขณะที่จุดสนใจ คือ ความจำเป็น ความห่วงกังวล หรือความกลัวที่อยู่เบื้องหลังจุดยืน หากจะเจรจากันสำเร็จ ทั้งสองฝ่ายจะต้องเข้าใจจุดสนใจของกันและกัน ซึ่งการที่จะเข้าใจกันได้ ทุกฝ่ายจะต้องหันหน้าเข้ามาคุยกัน ความขัดแย้งใดๆก็ตามจะต้องมาจบที่การเจรจาเสมอ

เราต้องฟังความต้องการของชาวบ้าน ลงไปที่จุดสนใจของชาวบ้าน เช่นกรณีความขัดแย้งเรื่องท่อก๊าซที่จะนะ ลานหอยเสียบ เมื่อลงไปฟังชาวบ้าน สิ่งที่ชาวบ้านให้ความสำคัญ เหตุผลของชาวบ้านคือ ห่วงหอยเสียบว่าจะหายไปหากฝังท่อใต้พื้นดิน อีกเหตุผลหนึ่งคือ ชาวบ้านภาคใต้มีการเลี้ยงนกเขา ซึ่งหากมีควันขึ้นมาก็จะกระทบต่อนกเขา ทำให้นกเขาไม่ขัน สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลส่วนหนึ่งของชาวบ้านที่ไม่ต้องการท่อก๊าซ ซึ่งได้มาจากการลงไปรับฟังปัญหาพูดคุยกับชาวบ้าน

เกมดุ๊กดิ๊ก (ประมาณ 15 นาที)

แจกกระดาษเปล่าให้ผู้เข้าอบรมคนละหนึ่งแผ่น แล้วบอกโจทย์ให้ผู้เข้าอบรมวาดรูปตามไปตามแต่จินตนาการของแต่ละคน เมื่อวาดมาเสร็จจะเอามาให้ทั้งชั้นได้ดู แล้วพูดคุยกัน เสร็จกิจกรรมก็จะติดรูปเหล่านี้อยู่รอบๆห้อง

คำบอก คือตากลม – จมูกบาน – หน้ากลม – ปากหนา – หูตั้ง – ลำตัวโค้ง – ขาสั้น – เล็บยาว – หางเป็นพวง - ขนตั้ง

ให้ตั้งชื่อลงไปด้วยว่าตัวนี้ชื่ออะไร สิ่งที่ได้จากกิจกรรม เมื่อเราได้รับทราบข้อมูลมา เรามักจะตีความสารนั้นจากความคิด จินตนาการ ประสบการณ์ ความเชื่อ ความเคยชินของส่วนตัวเราเอง รูปดุ๊กดิ๊กของแต่ละคนจะแตกต่างกันเนื่องมาจากการข้อความที่สื่อสารจากผู้ที่บอกไม่มีรายละเอียดชัดเจน ขาดความชัดเจน เมื่อไม่มีรายละเอียดชัดเจน แต่ละคนก็จะให้รายละเอียดตามแต่ความคิดของตน บางครั้งการสั่งการใดๆหากไม่มีรายละเอียดชัดเจน ผู้ปฏิบัติหรือผู้รับข้อความก็ปฏิบัติตามได้ยากและไม่เป็นไปในทางเดียวกัน อีกทั้งยังอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาได้อีก

เกมส่งข่าวบอกต่อ (ประมาณ 15 นาที)

หาอาสาสมัครอออกมา 20 ท่าน แบ่งออกเป็นสองแถว แถวละ 10 ท่าน มีฟลิบชาร์ทอยู่สองตัว ทีมงานบอกข้อความให้แก่คนที่หนึ่งของแถว โดยมีกติกาคือทีมใดทำช้าจะถูกทำโทษ โดยคนที่หนึ่งจะกระซิบบอกข้อความต่อกันไป ห้ามเขียนห้ามจด จนกระทั่งคนสุดท้ายของแถวให้ไปเขียนข้อความที่ได้ฟังมาที่กระดานหน้าห้อง เทียบกันทั้งสองประโยคว่าแตกต่างกันอย่างไร “ยายแมวปิดประตูตีแมงไปโดนตาปู่แล้วไปส่งบ้านแพรว”

สิ่งที่ได้จากกิจกรรม

การส่งต่อข้อมูล การเล่าเรื่องต่อมันบิดเบือนโดยไม่ตั้งใจ ดังนั้น เมื่อเราได้รับข่าวสารหรือข้อมูลใด จะต้องฟังหูไว้หูด้วย อย่าด่วนสรุป ต้องฟังความให้ครบรอบด้านก่อน

เวลาที่จำกัดทำให้การถ่ายทอดทำความเข้าใจนั้นไม่ได้ชัดเจน จะเห็นได้ว่าการทำความเข้าใจกันต้องใช้เวลา และต้องพูดคุยกันหลายๆครั้ง การพูดคุยกันเพียงครั้งเดียวในเวลาที่จำกัดนั้นยากที่จะสร้างความเข้าใจให้ตรงกันได้

การสื่อสารในเวลาจำกัด การส่งข้อมูลที่ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้

“ความขัดแย้งในสังคมไทย” โดย ครูบาสุทธินันทน์ ปรัญชพฤกษ์ ปราชญ์ชาวบ้าน วัฒนธรรมประเพณีเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงเราได้ให้อยู่กันอย่างพี่อย่างน้อง แต่ปัจจุบันนี้คนอีสานต้องทิ้งถิ่นไปหมดแล้ว เหลือแต่คนเฒ่าคนแก่

ปัจจุบันคนไทยก็แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย มีค่ายมีกลุ่มมีพรรคมีพวก เริ่มคุยกันไม่รู้เรื่อง ซึ่งเกิดจากกิเลสอันเป็นความอยากของแต่ละคน ทำให้ต้องมีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง อันเป็นวินัยทางสังคม คอยอบรมบ่มนิสัยให้คิดถูกทำถูก มีอะไรก็ปรึกษาหารือกัน

ระบบคิดแบบตะวันตกคิดแต่เรื่องความสะดวกสบายและใช้เงินเป็นตัวตั้ง ส่วนระบบคิดของฝั่งตะวันออก ใช้ความพอดีเป็นที่ตั้ง ทั้งสองแนวคิดเป็นสงครามความคิดที่เดินคู่กันมา มาตอนนี้ดูเหมือนว่าทางตะวันออกจะแพ้ทางตะวันตก แล้วเอาความสะดวกสบายเป็นที่ตั้ง ต้องขายข้าวเป็นเกวียนๆเพื่อไปแลกโทรศัพท์มือถือเล็กๆทั้งที่จริงๆแล้วราคาไม่เท่าไหร่ เราต้องหาเงินสี่สิบกว่าบาทเพื่อไปแลกเขาเพียงบาทเดียว

ความขัดแย้งมีมาตั้งแต่สมัยพระพุทธศาสนา จะเห็นได้จากพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ที่ทางญาติมีการแย่งน้ำกัน ความขัดแย้งจึงไม่ได้หายไปไหนและอยู่คู่กับตัวมนุษย์ทุกคน ทางออกคือจะทำอย่างไรให้ความขัดแย้งอยู่คู่กับเราโดยปกติ ไม่ใช่เรื่องเป็นเรื่องตาย ตรงจุดนี้วัฒนธรรมไทย เช่น ความเป็นผู้อาวุโส ความเป็นพี่เป็นน้อง สามารถเข้ามาแก้ไขได้ หากจะเลือกผู้นำ ถ้าเลือกผู้อาวุโส ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ก็จะไม่มีการทะเลาะกัน ทุกวันนี้เราอยู่ในสังคมที่เริ่มผิดปกติในทุกๆอย่าง หลายกรณีต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อตัดสินกัน ทำอย่างไรให้สังคมอยู่ในจุดที่ปรองดองกันได้

เหมืองโปแตซกระทบกับเราอย่างไร ผู้ประกอบการ ราชการ นักวิชาการ นักการเมือง นักกฎหมาย ชาวบ้าน ต่างก็มีมุมมองคนละอย่าง เราต้องมองเป็นประเด็นเดียวกันจึงจะคุยกันได้ แร่โปแตซเป็นทองก้อนหนึ่ง ไม่ได้เป็นสมบัติของใคร เป็นสมบัติของชาติ แล้วทุกฝ่ายจะบริหารหรือทำอย่างไรให้ทองก้อนนี้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายมากที่สุด คือจะต้องมีจุดโฟกัสร่วมกันก่อนแล้วจะคุยกันง่ายขึ้น อีกทั้งสามารถทำให้เรื่องเหมืองแร่นี้เป็นโอกาสในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชน

ผู้นำชุมชนต้อง ๑) ชัดในวิธีคิด ทิศทางที่จะเดิน มีความเข้มแข็ง ไม่เห็นแก่ตัวเงินเล็กๆน้อยๆ มีความบริสุทธิ์ใจ ๒) ต้องศึกษาให้เข้าใจว่ารู้เรื่องเหมืองแร่โปแตซมากน้อยเพียงใด โดยอาจหาที่ปรึกษาทางวิชาการในด้านโปแตซ การจะดำเนินการใดๆต้องใช้ความรู้เป็นตัวนำ เสียงจะดังขึ้นเยอะ และ ๓) ต้องเสนอมุมมองของตนให้ฝ่ายต่างๆได้เข้าใจ ซึ่งจริงๆแล้วผู้ประกอบการนั้นก็ไม่ผิดหรอก แต่ต้องพบกันที่จุดพอดี อย่ามาเอาเปรียบกัน

การพูดคุยเจรจาใดๆ ขอให้อย่าค้านกันสุดโต่ง ต้องใช้ข้อเท็จจริง ข้อมูล เหตุผล และความปรารถนาดีเป็นตัวตั้ง ไม่มีอะไรที่ขาวหรือดำอย่างสุดโต่ง การสู้แบบตาต่อตาฟันต่อฟันไม่มีประโยชน์อะไร อาจจะมีฝ่ายที่ชนะแต่สุดท้ายปัญหาก็ไม่เคยจบ คาราคาซังอยู่ตลอด ไม่มีใครได้อะไรที่เป็นประโยชน์ แต่กลับได้ความไม่ชอบหน้ากัน และมีเรื่องสืบเนื่องต่างๆตามมาเต็มไปหมด


สรุปโครงการส่งเสริมและสร้างความตระหนักด้านการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เวทีประชาเสวนา เรื่อง “แนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนอย่างยั่งยืน” วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ณ สุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา

“การจัดประชาเสวนา” โดย อ.ศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์

เรามาอยู่ร่วมกันที่นี่เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วยกระบวนการพูดคุยที่ไม่เป็นทางการ แม้แต่การนั่งก็เป็นลักษณะโค้งๆแบบนี้ก็เพื่อให้ทุกท่านรู้สึกสบายใจและผ่อนคลาย

ทำไมเราต้องมาคุยกันเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนที่พึงปรารถนา ทั้งนี้ เพื่อหาความถูกต้อง และลดความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีป่าไม้ ท่าทราย นาเกลือ โปแตซ โดยมีจุดหมายให้สังคมเกิดสันติสุข ซึ่งการที่จะเกิดสันติสุขขึ้นได้นั้น สังคมจะต้องมีความยุติธรรมด้วย

ความยุติธรรมคือการทำสิ่งต่างๆให้ถูกต้อง ซึ่งมีหลายแนวคิด ๑) การแก้แค้น ๒) การชดใช้/ค่าตอบแทน ๓) การซ่อมแซม ปรับปรุงแก้ไข ๔) สมานฉันท์หรือฟื้นคืนดี การเยียวยา ซึ่งความยุติธรรมสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือ ความยุติธรรมทางกฎหมาย และความยุติธรรมทางสังคม


กิจกรรม Four Dots

ขออาสาสมัคร 4 ท่าน สองคนเขียนกระดาน อีกสองคนยืนเล่นสี่จุด ถามผู้เล่นว่าแต่ละจุดนั้นมีสีอะไรบ้าง เพื่อ

ให้สองคนยืนอยู่คนละด้านของจุด แล้วถามแต่ละคนว่าจุดแต่ละจุดเป็นสีอะไรบ้าง? (เพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกคนเห็นข้อเท็จจริงตรงกันว่าจุดแต่ละจุดเป็นสีอะไรบ้าง) สีอะไรอยู่ใกล้สุด? สีอะไรไกลสุด? สีอะไรอยู่ทางซ้าย? สีอะไรอยู่ทางขวา?

“คำตอบออกมาไม่ตรงกัน แสดงว่าต้องมีฝ่ายใดพูดเท็จ?”

“จะแก้ปัญหาอย่างไรดี คำตอบถึงจะได้ตรงกัน” (ให้ทั้งชั้นลองจัดตำแหน่งของคนสองคนนี้ดูว่าจะต้องยืนอย่างไร จุดไหน จึงจะได้คำตอบที่ตรงกัน)

จัดยืนใหม่แล้วลองถามอีกที แล้วคำตอบจะได้ตรงกัน

หากยืนอยู่คนละมุม แต่ละคนก็จะมีมุมมองในเรื่องเดียวกันแตกต่างกัน แต่หากทั้งสองคนยืนอยู่มุมเดียวกันก็จะได้มุมมองที่ตรงกันหรือคล้ายกัน

หากคนเรามีความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ก็จะเกิดความไว้วางใจกัน แต่หากเราแบ่งพวกเขาพวกเรา หรือพวกมัน ความขัดแย้งก็อาจจะเกิดขึ้นได้

ความไว้วางใจสามารถแบ่งได้เป็นสองประเภท คือ 1) ความไว้วางใจที่อิงอยู่กับความเป็นพวกเดียวกัน และ 2)ความไว้วางใจที่อิงอยู่กับการคิดคำนวณ (Calculated based trust) ในแง่ที่ว่าทั้งสองฝ่ายไม่รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน แต่ใช้หลักประกันเป็นเครื่องมือในการสร้างความไว้วางใจแทน

แม้การมีส่วนร่วมของประชาชนอาจจะทำให้เราเริ่มต้นกิจกรรมกันได้ช้ากว่าการไม่เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม แต่ในท้ายที่สุดแล้ว การดำเนินการใดๆที่ประชาชนมีส่วนร่วมจะสามารถเป็นไปได้อย่างราบรื่นกว่า

เป้าหมายของการสานเสวนาไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การตัดสินใจ แต่เน้นให้ทุกคนมีความเข้าใจกันและกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สะท้อนความคิดเห็นของแต่ละคนที่ร่วมอยู่ในกลุ่ม การจัดทำประชาเสวนานั้น จะต้องมีการเตรียมข้อมูลและทางเลือกหลายทางให้แก่ผู้เข้าร่วม พร้อมทั้งนำเสนอทางเลือกหลายทางพร้อมข้อดีข้อเสีย และการพูดคุยกันจะต้องเป็นลักษณะของการเสวนามิใช่การถกเถียงกัน

การเลือกระหว่าง “ดี” ของคนสองคนหรือกลุ่มสองกลุ่ม เราจะจัดการอย่างไร? ทางออกก็คือนอกจากจะต้องใช้เหตุผลมาพูดคุยกันแล้ว บางครั้งก็ยังไม่พอ เรายังจะต้องใช้ความรักความเข้าใจเสริมเข้าไปกับเหตุและผลด้วยน่าจะดีกว่า เพื่อหาจุดที่ลงตัวว่าทั้งสองฝ่ายจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

ความแตกต่างระหว่างเอกฉันท์ – เสียงส่วนใหญ่ – ฉันทามติ เอกฉันท์นั้น คือการที่ทุกคนออกคะแนนเสียงเห็นด้วยตรงกันหมด ในขณะที่กระบวนการในการหาฉันทามติจะไม่ใช้การยกมือออกคะแนนเสียง เนื่องจากการออกคะแนนเสียงนั้นจะทำให้มีผู้แพ้ผู้ชนะไปโดยปริยาย ซึ่งจะก่อให้เกิดความแตกแยกในที่สุด ทั้งนี้ ฉันทามติยังประกอบไปด้วยเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อยอยู่ แต่เสียงส่วนใหญ่ตรงนี้จะไม่ได้มาจากการยกมือ และขณะเดียวกันก็จะให้ความสำคัญกับเสียงส่วนน้อย ไม่ละเลยความคิดเห็นและความรู้สึกของเสียงส่วนน้อย ตลอดจนเน้นตอบคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ทั้งสองส่วนสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ

จุดประกาย “การจัดการทรัพยากรโดยชุมชนอย่างยั่งยืน” โดย ผศ.จิตศักดิ์ พุฒจร ชุมชนจำนวนมากที่เข้มแข็งขึ้นมาได้ก็เนื่องจากต้องประสบกับปัญหาต่างๆ จึงทำให้ต้องเข้ามาริเริ่มแก้ไขปัญหาของตนเอง

บางครั้งเรามักจะคาดหวังให้ผู้อื่นเป็นอย่างที่เราคิด อยากให้ผู้ประกอบการเป็นแบบนี้ อยากให้ชาวบ้านเป็นแบบนั้น อยากให้ทางการทำอย่างนี้อย่างนั้น แต่หลายๆครั้งแม้แต่เราเองก็ยังบังคับให้ตัวเองทำหรือเป็นอย่างที่ตัวเองคิดหรือคาดหวังไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงควรที่ตระหนักถึงประเด็นนี้ด้วยเวลาที่ผู้อื่นไม่ได้ทำหรือไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวัง

ปัญหาบางประการในชุมชนนั้นเป็นเชิงซ้อน บางปัญหาเราอาจมองไม่เห็นในขณะที่ผู้อื่นนั้นมองเห็น ดังนั้น เราจะต้องมานั่งค่อยๆคุยกัน มาชี้ชวนกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน หากต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำก็จะแก้ปัญหาได้ลำบาก สิ่งสำคัญอยู่ที่วิธีคิดว่าเราต้องหันหน้ามาคุยกัน แล้วมาหาคำตอบร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายในชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ คนในท้องถิ่นจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติจะต้องดำรงอยู่ต่อไปได้ และการพัฒนาต่างๆจะต้องมีความต่อเนื่อง ทั้งนี้ การพัฒนาต่างๆจะต้องมีความสมดุลระหว่างความต้องการของภาคอุตสาหกรรมกับความต้องการของท้องถิ่น โดยผ่านการพูดคุยกันก่อนที่จะเกิดปัญหาระหว่างกัน มิใช่ว่าปล่อยให้ปัญหาเรื้อรัง เผชิญหน้ากันจนกระทั่งแตกหักกันไปข้าง

การทำความเข้าใจให้คนกลุ่มต่างๆอ่อนโยนมากขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ เริ่มจากตัวแทนกลุ่มเล็กๆก่อน แล้วมาทำความเข้าใจกันอีก เป็นระดับขั้นไป กว่าที่ทุกฝ่ายจะพร้อมนั้นอาจต้องใช้เวลากว่า 5-6 เดือน