สมัชชาแห่งชาติ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 12:23, 14 ธันวาคม 2552 โดย Panu (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''ผู้เรียบเรียง''' มาลินี คงรื่น '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทควา...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง มาลินี คงรื่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


ที่มาของสมัชชาแห่งชาติ

สมัชชาแห่งชาติมีขึ้นในประเทศไทยจำนวน 2 ครั้ง โดยมีที่มา วัตถุประสงค์ กระบวนการดำเนินงาน ดังนี้

ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2516 เป็นการแต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติจำนวน 2,347 คน เพื่อคัดเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา โดยเรียกกันทั่วไปว่า “สภาสนามม้า”

ครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549 เป็นการแต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติจำนวน 1,982 คน เพื่อคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

สมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. 2516

สมัชชาแห่งชาติครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2516[1] ภายหลังจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในยุคนั้นคือเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 หลังจากเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว ทำให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในยุครัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ลาออกจำนวนมากเหลือสมาชิกฯ เพียง 11 คน ต่อมาจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีได้ลาออกจากตำแหน่งตามเสียงเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามคำกราบบังคมทูลของนายทวี แรงคำ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

หลังจากนั้นในวันที่ 10 ธันวาคม 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ฯ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ขณะนั้นยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจและทรงมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางรากฐานแห่งการปกครองเสียก่อน และทรงมีพระราชดำริว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น ควรจะประกอบด้วยบุคคลผู้เป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ อาชีพ วิชาความรู้ ตลอดจนทรรศนะและแนวความคิดทางการเมืองให้มาก และกว้างขวางที่สุด

สมัชชาแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกหลากหลายอาชีพจำนวน 2,347 คน โดยให้สมาชิกสมัชชาแห่งชาติเลือกสมาชิกด้วยกันเองเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

หลังจากนั้นในวันที่ 16 ธันวาคม 2516 ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งและแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดใหม่ จำนวน 299 คน และในวันที่ 18 ธันวาคม 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติ ณ ราชตฤณมัยสมาคม (หรือสนามม้านางเลิ้ง) เพื่อให้สมัชชาแห่งชาติได้ดำเนินการต่อไปโดยมุ่งเน้นให้มีการร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลัก

การเปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติ

การประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2516 โดยมีพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นประธานในที่ประชุม พระยามานวราชเสวี และ นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นรองประธานที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติคนที่ 1 และคนที่ 2ตามลำดับ ในการประชุมครั้งนี้มีสมาชิกสมัชชาแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งถึง 2,347 คน ทำให้สถานที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับสมาชิกสมัชชาแห่งชาติทั้งหมดได้ จึงต้องใช้ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสถานที่จัดประชุมจึงเป็นที่มาของคำว่า “สภาสนามม้า” โดยที่ประชุมได้เลือกตัวแทนให้เหลือจำนวน 299 คน เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในหลายสาขาอาชีพ เช่น นักการเมือง ข้าราชการ แพทย์ นักหนังสือพิมพ์ นักการธนาคาร นายกสมาคมสามล้อเครื่อง เป็นต้น ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติดังกล่าวตามมติสมัชชาแห่งชาติเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2516 โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาตินี้ทำหน้าที่รัฐสภา

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ[2]

เพื่อให้เป็นไปตามมติมหาชนและให้เกิดความสงบเรียบร้อย รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ จึงได้แต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยกรรมการจำนวน 18 คน มีนายประกอบ หุตะสิงห์ เป็นประธานคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการชุดนี้ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 มาเป็นแนวทางในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้เวลาในการยกร่างเป็นเวลา 3 เดือน ต่อมาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญนี้ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาและลงมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2517 จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 โดยมีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 91 ตอนที่ 169 วันที่ 7 ตุลาคม 2517

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ประกอบด้วย 11 หมวด และบทเฉพาะกาล รวมทั้งสิ้น 238 มาตรา รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าเนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากสมัชชาแห่งชาติซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนชาวไทยนั้นเอง

สมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. 2549

หลังจากที่พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 นั้น และได้นำความกราบบังคมทูลเหตุที่ทำการยึดอำนาจ และประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 นั้น ก็โดยปรารถนาที่จะแก้ไขความเสื่อมศรัทธา ในการบริหารราชการแผ่นดิน ความไร้ประสิทธิภาพ ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ขณะเดียวกันก็เร่งดำเนินการให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากประชาชนในทุกขั้นตอน{3]

ต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 โดยบัญญัติให้มีสมัชชาแห่งชาติ ดังนี้ มาตรา 20 ได้กำหนดให้มีสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด อายุไม่ต่ำกว่า18 ปี มีจำนวนไม่เกิน 2,000 คน และมาตรา 22 บัญญัติให้สมัชชาแห่งชาติ มีหน้าที่คัดเลือกสมาชิกด้วยกันเอง เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อ ผู้สมควรได้รับการโปรดเกล้า แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 200 คน ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน นับแต่วันเปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติครั้งแรก และในมาตรา 23 บัญญัติว่าเมื่อได้รับบัญชีรายชื่อที่ได้รับการคัดเลือกจากสมัชชาแห่งชาติแล้ว ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติคัดเลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อดังกล่าวให้เหลือ 100 คน และนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ต่อไป

จากนั้นให้สภาร่างรัฐธรรมนูญแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่งตามมาตรา 25 ดังนี้ ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับการคัดเลือกตามมติของสภา จำนวน 25 คน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 คน ตามคำแนะนำของประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

การสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ

ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน) ได้มีประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกความมั่นคงแห่งชาติ ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เรื่องแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาเพื่อแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติลงวันที่ 19 ตุลาคม 2549 ซึ่งได้ประกาศ ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2549 และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเรียกโดยย่อว่า “กดส.” โดยมีพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุก เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการนี้ได้กำหนดบัญชีบุคคลโดยคำนึงถึงบุคคลในกลุ่มต่างๆ จากทุกภูมิภาคของประเทศอย่างเหมาะสมดังนี้

ประเภทที่ 1 ผู้แทนภาคเศรษฐกิจ-สังคม 767 คน ประเภทที่ 2 ผู้แทนภาครัฐ 318 คน ประเภทที่ 3 ผู้แทนภาคการเมืองและการปกครองท้องถิ่น 227 คน ประเภทที่ 4 ผู้แทนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 16 คน ประเภทที่ 5 ผู้ทรงคุณวุฒิ 302 คน ประเภทที่ 6 นิสิต นักศึกษา 140 คน ประเภทที่ 7 ผู้แทนสาขาอาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิ ในภาครัฐ 115 คน ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการที่คณะรัฐมนตรีสรรหา ประเภทที่ 8 ผู้แทนสาขาอาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิ ในภาครัฐ 115 คน ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ ที่ คมช. สรรหา 115 คน ประเภทที่ 9 ผู้แทนสาขาอาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ ที่เหลือจากการสรรหาตามข้อ 5 โดยให้แบ่งจำนวนที่เหลือ หรือใกล้เคียงที่สุดเป็นสองส่วนโดยให้คณะรัฐมนตรี และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นผู้สรรหาเพิ่มแต่ละส่วนจนครบ 2,000 คน

ทั้งนี้ได้จัดประเภทบุคคล 9 ประเภท โดยแบ่งเป็นบุคคล 4 กลุ่ม คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและ ภาควิชาการ

จากนั้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 คณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติได้ดำเนินการสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย สมาชิกสมัชชาแห่งชาติจำนวน 1,982 คน ดังนี้

ภาครัฐ จำนวน 574 คน ภาคเอกชน จำนวน 545 คน ภาคสังคม จำนวน 538 คน ภาควิชาการ จำนวน 325 คน

การเปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติ

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 21 กำหนดว่าในการประชุมสมัชชาแห่งชาติให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (คือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ) ทำหน้าที่ประธานสมัชชาแห่งชาติ และให้การประชุมสมัชชาแห่งชาติและวิธีการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่ผู้ทำหน้าที่ประธานสมัชชาแห่งชาติกำหนด ดังนั้นประธานสมัชชาแห่งชาติได้ออกประกาศ เรื่อง การประชุมสมัชชาแห่งชาติและวิธีการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549[4] จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เรียกประชุมสมัชชาแห่งชาติ เพื่อเลือกสมาชิกกันเองให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 200 คน ซึ่งการประชุมมีขึ้นระหว่างวันอาทิตย์ที่ 17 ถึงวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2549

ในวันที่ 17 ธันวาคม 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ประกอบพิธีเปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติ ณ อาคารชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หอประชุมกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร หลังเสร็จพิธี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับในเวลา 17.40 นาฬิกา จากนั้นมีการประชุมเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับการคัดเลือกสมาชิกสมัชชาแห่งชาติด้วยกันเอง เพื่อเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคม 2549 โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานสมัชชาแห่งชาติ และนายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสมัชชาแห่งชาติ จากนั้นปิดประชุมในเวลา 18.35 นาฬิกา

การคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ต่อมาในวันที่ 18 ธันวาคม 2549 เวลา 9.45 นาฬิกา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานสมัชชาแห่งชาติ ได้กล่าวเปิดประชุมและให้สมาชิกใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกสมาชิกด้วยกันเองเพื่อเป็นผู้สมควรเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 200 คน โดยสมาชิกแต่ละคนจะเลือกได้คนละไม่เกิน 3 ชื่อ ผลการสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้สมาชิกจำนวน 200 คน เมื่อดำเนินการเสร็จตามขั้นตอนแล้ว นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้แจ้งรายชื่อสมาชิกที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 200 คนไปที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จากนั้นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้ทำการคัดเลือกผู้สมควรเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเหลือเพียง 100 คน ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 100 คน ตามมาตรา 23 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 โดยมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ

การเลือกและแต่งตั้งประธานและรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ [5]

การประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1/2550 วันที่ 8 มกราคม 2550 มีการเลือกประธานและรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกนายนรนิติ เศรษฐบุตร เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนที่หนึ่ง และนายเดโช สวนานนท์ เป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนที่สอง จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2550 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 25 บัญญัติให้สภาร่างรัฐธรรมนูญแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับการคัดเลือกตามมติของสภาจำนวนยี่สิบห้าคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวนสิบคน ตามคำแนะนำของประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 3/2550 วันที่ 22 มกราคม 2550 ที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญได้แจ้งรายชื่อผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 35 คน จากนั้นที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีมติเลือก นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสัดส่วนคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือ คมช. เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้ว สภาร่างรัฐธรรมนูญยังมีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 12 คณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนในทุกภาคส่วน เช่น คณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนภาคกลาง, คณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนภาคเหนือ, คณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, คณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนภาคใต้, คณะกรรมาธิการวิสามัญประจำ 76 จังหวัด , คณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

สภาร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

ในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 40/2550 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 เพื่อให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช.... ทั้งฉบับโดยใช้วิธีการลงคะแนนแบบเปิดเผยโดยเรียกชื่อสมาชิกตามลำดับอักษร ผลการประชุมปรากฏว่าที่ประชุมได้ลงมติให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 98 เสียง จากจำนวนสมาชิก 100 คน ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงผ่านความเห็นชอบจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ

การประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

ที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญได้มีมติกำหนดให้วันที่ 31 กรกฎาคม 2550 เป็นวันเริ่มต้นนำร่างรัฐธรรมนูญออกเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน และกำหนดให้วันที่ 19 สิงหาคม 2550 ระหว่างเวลา 8.00 - 16.00 น.เป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รายงานผลการออกเสียงประชามติดังนี้ มีผู้มีสิทธิออกเสียง 45,092,955 คน มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง 25,978,954คน ผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงจำนวน 14,727,306 คน ไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียง จำนวน 10,747,441 คน ปรากฏว่าประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้บังคับ

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

วันที่ 24 สิงหาคม 2550 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช.... เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก วันที่ 24 สิงหาคม 2550 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ฉบับนี้ ประกอบด้วย 15 หมวด และบทเฉพาะกาล รวมทั้งสิ้น 309 มาตรา และในวันที่ 30 สิงหาคม 2550 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้จัดงานเลี้ยงฉลอง ณ อาคารใหม่สวนอัมพร เนื่องในโอกาสประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเพื่อเป็นการขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้

อ้างอิง


หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

คู่มือการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิก

สมัชชาแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2549.

เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ:

สำนักกรรมาธิการ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร , 2550.

สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย. กรุงเทพฯ:คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือรัฐธรรมนูญแห่ง

ราชอาณาจักรไทย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2548.

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมัชชาแห่งชาติ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ :

สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2550.

บรรณานุกรม

คณะกรรมการศึกษาประเด็นการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะที่ 2. ประมวลเหตุการณ์การจัดทำ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการ
สภาผู้แทนราษฎร, 2551. 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549.

ราชกิจจานุเบกษา , เล่ม 123 ตอนที่ 102 ก วันที่ 1 ตุลาคม 2549.

สถิติการใช้สิทธิออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ 19 สิงหาคม 2550 จำแนกตามรายภาค.

ใน http:// www.thprc.org/summary_of _ referendum 50 .htm เผยแพร่โดย ศูนย์ศึกษาวิจัย
การเมืองไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สืบค้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน
2552.

ดูเพิ่มเติม

ประกาศสมัชชาแห่งชาติ เรื่อง การประชุมสมัชชาแห่งชาติและวิธีการคัดเลือกสมาชิกสภาร่าง

รัฐธรรมนูญ. ใน http : www. parliament.go.th/parcy/sapa-db/ member-1 สืบค้นเมื่อ 
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2552. 

ประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็น

สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ . ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 117 ก วันที่ 17 พฤศจิกายน 
2549. 

ประวัติสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภา

ผู้แทนราษฎร, 2549.