สุชน ชาลีเครือ
ผู้เรียบเรียง วัชราพร ยอดมิ่ง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
นายสุชน ชาลีเครือ เป็นนักการเมืองที่เริ่มต้นชีวิตจากครูประชาบาลคนหนึ่ง แล้วก้าวเข้าสู่ถนนทางการเมืองด้วยการเป็นแกนนำของครูในภาคอีสาน แต่ด้วยบุคลิกภาพที่นุ่มนวล ประนีประนอม ใจเย็น ทำให้เป็นที่รักใคร่ของบุคคลหลายฝ่าย และเป็นที่ยอมรับจนได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา
ประวัติ
นายสุชน ชาลีเครือ (1) เกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2495 เป็นคนจังหวัดชัยภูมิ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี การศึกษาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางเขน ปริญญาโท สาขาการบริหาร จาก The City University of New York สหรัฐอเมริกา และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เริ่มรับราชการเป็นครูประชาบาล โรงเรียนบ้านหนองโดน อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ โดยมีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำครูอีสานในการชุมนุมเรียกร้องสิทธิต่างๆ จนได้ชื่อว่าเป็น “คุณครูนักเคลื่อนไหว” ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2521-2522 ได้เป็นแกนนำเรียกร้องค่าครองชีพของครูทั่วประเทศ และในปี พ.ศ. 2523-2525 จึงได้เข้ามาช่วยงานด้านการศึกษาที่ทำเนียบรัฐบาลและเคยเป็นคณะกรรมการการประชุมแห่งชาติ และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่แวดวงทางการเมือง
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ (2)
- มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
- มหาวชิรมงกุฎ
บทบาททางการเมือง
นายสุชน ชาลีเครือ ได้เข้าสู่แวดวงทางการเมือง โดยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา 2 ครั้ง เริ่มจากปี พ.ศ. 2535-2539 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในฐานะตัวแทนสาขาอาชีพครู ในยุคของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) มีบทบาทในตำแหน่งคณะกรรมการประสานงานวุฒิสภา (วิปวุฒิฯ) ในฐานะมือประสานระหว่างวุฒิสภากับฝ่ายบริหาร และครั้งที่ 2 ในช่วงปี พ.ศ. 2539-2543 ในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภาด้วย
เมื่อปี พ.ศ. 2543(3) ได้ลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดชัยภูมิ โดยมีบทบาทในวุฒิสภาหลายบทบาท คือ ประธานกรรมาธิการการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขกฎหมายเศรษฐกิจ และคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ต่อมาในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2546 ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 แทนนายเฉลิม พรหมเลิศ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีแรงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากสมาชิกวุฒิสภาทุกฝ่าย เพราะความที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถประสานประโยชน์ให้กับสมาชิกวุฒิสภาทุกฝ่ายได้
ต่อมาเมื่อพลตรี มนูญกฤต รูปขจรได้ลาออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา จึงได้มีการเลือกตั้งประธานวุฒิสภาขึ้นในการประชุมวุฒิสภา(4) ครั้งที่ 5 สมัยสามัญทั่วไป วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 โดยมีผู้ได้รับการเสนอชื่อจำนวน 4 ท่าน คือ หมายเลข 1 นายสุชน ชาลีเครือ หมายเลข 2 นายพนัส ทัศนียานนท์ หมายเลข 3 พลเอกวิชา ศิริธรรม หมายเลข 4 พลตรีมนูญกฤต รูปขจร ซึ่งผลการลงคะแนนปรากฏว่า นายสุชน ชาลีเครือ 99 คะแนน นายพนัส ทัศนียานนท์ 22 คะแนน พลเอกวิชา ศิริธรรม 15 คะแนน และพลตรีมนูญกฤต รูปขจร 59 คะแนน งดออกเสียง 2 เสียง บัตรเสีย 1 บัตร รวมทั้งสิ้น 198 คะแนน นายสุชน ชาลีเครือ เป็นบุคคลที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดและมีคะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกฯ ที่มาประชุม จึงถือได้ว่านายสุชน ชาลีเครือ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา และได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2547 และดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2549 รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 2 ปี กับ 16 วัน
ในการนี้ นายสุชน ชาลีเครือ ได้แสดงวิสัยทัศน์ เนื่องในโอกาสที่ได้รับการเสนอชื่อจากสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกประธานวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่างตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2544 ข้อ 8 ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญทั่วไป) วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 สรุปได้ดังนี้(5)
“... อยากจะพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของวุฒิสภา เพื่อเสริมสร้างคุณภาพในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อที่จะให้งานของวุฒิสภามีประสิทธิภาพและก็มีความเดินไปข้างหน้า อย่างมีระบบตามกฎหมายที่ได้บัญญัติเอาไว้แต่อย่างไรก็ตาม กระผมมีความมุ่งมั่นที่จะทำในพันธกิจที่จำเป็นอยู่เพียง 5 ประการสั้นๆ เท่านั้น
ประการที่หนึ่ง ต้องการสร้างความสัมพันธ์ ความรัก ความสามัคคี ระหว่างมวลสมาชิกวุฒิสภาของเรา ให้เป็นวุฒิสมาชิกที่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายเป็นพวกให้เป็นมวลสมาชิกวุฒิสภา 200 คน
ประการที่สอง อยากจะส่งเสริมและพัฒนากระบวนการทำงานของวุฒิสภา โดยเฉพาะระบบกรรมาธิการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อจะได้ตรวจสอบอำนาจตรวจสอบหรือการที่จะทำงานวิจัยก็ดีหรืองานกรรมาธิการนั้นเป็นงานที่สำคัญ ในด้านนิติบัญญัตินะครับ อยากเน้นการทำงานตรงนี้
ประการที่สาม ผมยึดหลักแห่งคุณธรรมในการทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอยู่บนหลักการของความถูกต้อง และมีความเป็นธรรมทางการเมือง
ประการที่สี่ จะส่งเสริมการทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะจะต้องนำประสบการณ์ของท่านสมาชิกทุกท่านที่มาจากหลากหลายวิชาชีพจากอดีตก่อนมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งผสมผสานกับที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการทำงานร่วมกับ ข้าราชการในสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อที่จะให้งานนั้นประสบความสำเร็จเป็นผลงานที่ออกมาว่าเป็นความภูมิใจร่วมกัน
ประการสุดท้าย จะต้องมีรับผิดชอบโดยให้ความสำคัญในภาระหน้าที่หลัก คือ การประชุมวุฒิสภา การทำงานในฐานะสมาชิกวุฒิสภาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมต่อพี่น้อง ประชาชนและจะต้องทำงานในระบอบบูรณาการให้มีความโปร่งใส ชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้ ”
ผลงานที่สำคัญ
ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาของนายสุชน ชาลีเครือ อยู่ในช่วงของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งได้กำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำให้อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภามีมากกว่าวุฒิสภาเดิม โดยเพิ่มบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้แก่วุฒิสภา ได้แก่ อำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้ง ถอดถอนและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ วุฒิสภาจึงมีหน้าที่ที่สำคัญหลายด้าน ได้แก่ ด้านการกลั่นกรองกฎหมาย ด้านการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการแต่งตั้ง ถอดถอนและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ด้านกรรมาธิการ และด้านพิธีการ ประชาสัมพันธ์ ต่างประเทศและวิชาการ ซึ่งประธานวุฒิสภาจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำและผู้บริหารจัดการให้การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพ
การปฏิบัติหน้าที่ของนายสุชน ชาลีเครือ ในด้านการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของวุฒิสภา ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดขึ้นใหม่ ได้แก่ การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง และการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด ดังนี้
การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด(6) ซึ่งประธานวุฒิสภาจะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น
- การเลือกและการให้คำแนะนำตามรัฐธรรมนูญในตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คือ นายปราโมทย์ โชติมงคล
- การเลือกและการให้คำแนะนำตามรัฐธรรมนูญในตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ นายอภัย จันทนจุลกะ และนายนภดล เฮงเจริญ
- การเลือกและการให้คำแนะนำตามรัฐธรรมนูญในตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง คือ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ นายสมชัย จึงประเสริฐ นายประพันธ์ นัยโกวิท นายสุเมธ อุปนิสากร และนางสดศรี สัตยธรรม
- การเลือกและการให้คำแนะนำตามรัฐธรรมนูญในตำแหน่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คือ พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย นายชิดชัย พานิชพัฒน์ นายเชาว์ อรรถมานะ นายประดิษฐ์ ทรงฤกษ์ นายพินิต อารยะศิริ นายยงยุทธ กปิลกาญจน์ นายวิเชียร วิริยะประสิทธิ์ พล.ต.ท.ดร.วิเชียร สุกโชติรัตน์ และนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น
- การเลือกและการให้คำแนะนำตามรัฐธรรมนูญในตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คือ นายบุญรอด โบว์เสรีวงศ์ พลโทสมชาย วิรุฬหผล นายสำราญ ภูอนันตานนท์ และนายสิทธิพันธ ศรีเพ็ญ
- การให้ความเห็นชอบผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแทนคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา แต่เนื่องจากมีปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับสถานภาพในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ซึ่งปรากฏว่าการแต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยังมีผลอยู่ จึงสามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไป
- การให้ความเห็นชอบตุลาการศาลปกครองสูงสุด คือ นายเกษม คมสัตย์ธรรม นายวิชัย วิวิตเสวี นายชาญชัย แสวงศักดิ์ นายปรีชา ชวลิตธำรง นายวิชัย ชื่นชมพูนุท นายจรูญ อินทจาร นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ นายไพบูลย์ เสียงก้อง และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
นอกจากนี้ยังพิจารณาเลือกตั้ง แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ ให้ความเห็นชอบอีกหลายตำแหน่ง เช่นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการ กิจการการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นต้น
ในส่วนของเรื่องการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาของนายสุชน ชาลีเครือ นั้น ได้เกิดขึ้นหลายกรณี ยกตัวอย่างเช่น กรณีการดำเนินคดีแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกรณีขึ้นค่าตอบแทนให้กับตนเอง กรณีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนเข้าชื่อต่อประธานวุฒิสภา ตามมาตรา 304 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อถอดถอนบุคคลตามมาตรา 303 ออกจากตำแหน่ง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง จำนวน 5 คน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 13 คน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา จำนวน 2 คนและ พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นต้น
ปัจจุบัน
หลังจากพ้นจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา นายสุชน ชาลีเครือ ได้ห่างหายไปจากแวดวงทางการเมือง แม้จะมีการคาดหมายว่านายสุชน ชาลีเครือ จะเข้าสังกัดพรรคการเมืองของกลุ่มชินวัตร แต่สุดท้ายก็มีเพียง นางปาริชาติ ชาลีเครือ น้องสาวที่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามของพรรคไทยรักไทยเท่านั้น จนกระทั่งในยุคของรัฐบาลที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ปรากฏชื่อของนายสุชน ชาลีเครือ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นข้าราชการทางการเมือง หลังจากพ้นจากตำแหน่งแล้ว นายสุชน ชาลีเครือ ก็มีบทบาททางการเมืองบ้าง เช่น การให้สัมภาษณ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย และมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายเหตุการณ์ อาทิ การถวายฎีกาขอพระบารมีแก้วิกฤตเนื่องจากเหตุการณ์ 13 เมษายน 2552(7) การจัดสัมมนาจัดโดย ชมรมสมาชิกวุฒิสภา 2543-2549 ซึ่งนายสุชน ชาลีเครือ เป็นประธานชมรมสมาชิกวุฒิสภา 2543-2549 เรื่อง “แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 เพื่อใคร ? ประชาชนได้อะไร ?”(8) เรื่อง “ต้านรัฐประหาร เชิดชูประชาธิปไตย แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็นต้น
นายสุชน ชาลีเครือ ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนเมื่อ ปี 2547 ว่า “ประธานสุชิน” เนื่องจากบทบาทประธานวุฒิสภาที่ประนีประนอมกับรัฐบาล และประสานงานกับ พตท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลา 2 ปี การปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธานวุฒิสภา นายสุชน ชาลีเครือ ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถทั้งงานด้านพระราชพิธี งานด้านวิชาการ งานด้านต่างประเทศ งานด้านการประชุมสภา งานด้านกฎหมายและงานด้านอื่นๆ
อ้างอิง
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สรุปผลงาน 6 ปี ของวุฒิสภา (พ.ศ. 2543-2549) ด้านกรรมาธิการ กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2549.
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สรุปผลงาน 6 ปี ของวุฒิสภา (พ.ศ. 2543-2549) ด้านการกลั่นกรอง กฎหมาย. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2549.
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สรุปผลงาน 6 ปี ของวุฒิสภา (พ.ศ. 2543-2549) ด้านการควบคุมการ บริหารราชการแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2549.
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สรุปผลงาน 6 ปี ของวุฒิสภา (พ.ศ. 2543-2549) ด้านการแต่งตั้ง ถอดถอนและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2549.
บรรณานุกรม
สุชน ชาลีเครือ. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา http : //th.wikipedia.org/wiki/สุชน_ชาลีเครือ (3 กันยายน 2552). “สุชน-สล้างถวายฎีกา คมช.ข้องใจ”. มติชน 14 เมษายน 2552. หน้า1,13. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สรุปผลงาน 6 ปี ของวุฒิสภา (พ.ศ. 2543-2549) ด้านการแต่งตั้ง ถอด ถอนและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2549. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานประธานวุฒิสภา, สรุปผลงานประจำปี 2547 ของ ฯพณฯ นาย สุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2548. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักประชาสัมพันธ์, หนังสือที่ระลึกเนื่องในการถวายผ้าพระกฐิน พระราชทานของวุฒิสภา ประจำปี 2547 ณ วัดมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน 2547 เวลา 10.00 นาฬิกา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2547.
ดูเพิ่มเติม
- รายงานการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญทั่วไป) วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2547