เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 12:13, 23 กันยายน 2552 โดย Panu (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''ผู้เรียบเรียง''' นิพัทธ์ สระฉันทพงษ์ '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจ...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง นิพัทธ์ สระฉันทพงษ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


ชาตะ

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี มีนามเดิมว่า สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา เกิดที่บ้านหลังศาลเจ้าหัวเม็ด ตำบลสะพานหัน จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๑๙ ตรงกับวันจันทร์ เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ปีชวด เป็นบุตรคนที่ ๑๘ จากบุตร - ธิดา จำนวนพี่น้อง ๓๒ คน ของพระยาไชยสุรินทร์ (หม่อมหลวง เจียม เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงเกษตรและพระคลัง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่เป็นบุตรคนโตของมารดาชื่ออยู่ สืบสกุลจากพระยาราชภักดี (หม่อมราชวงศ์ ช้าง เทพหัสดิน) ผู้เป็นบุตรหม่อมเจ้าฉิมในพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ โอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอองค์น้อยในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ เมื่ออายุได้ ๘ ปี บิดาก็ถึงแก่อนิจกรรม ชีวิตของท่านจึงผกผันจากการเป็นครอบครัวคนชั้นสูง จากการเป็นบุตรเสนาบดี ฐานะครอบครัวตกต่ำลง ต้องมาช่วยมารดาทำสวน ค้าขายและหารายได้ทางเย็บปักถักร้อย คือ รับจ้างเย็บรังดุมตั้งแต่ยังเด็ก ความยากลำบากทำให้ท่านมีความอดทนไม่ท้อถอยและมีอุปนิสัยอ่อนโยน มัธยัสถ์ ซึ่งเป็นสิ่งเกื้อหนุนให้ท่านมีความเจริญรุ่งเรืองในการศึกษาและการทำงาน[๑]

การสมรส

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้สมรสกับท่านผู้หญิงถวิล (สาลักษณ์) และมีภริยาอีก ๔ คน โดยมีบุตร – ธิดา รวม ๒๐ คน ได้อบรมสั่งสอนให้บุตร – ธิดา ทุกคนให้มีความอดทนและมัธยัสถ์ สนับสนุนให้ทุกคนเรียนถึงชั้นสูงสุดเท่าที่มีความสามารถ และด้วยการมีส่วนผลักดันการศึกษาการช่างและได้สนับสนุนให้มีการเปิดสอนวิชาสถาปัตยกรรมขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[๒]

การศึกษา

พ.ศ. ๒๔๓๑

เมื่ออายุ ๑๒ ปี เข้าเรียนประโยคหนึ่งที่โรงเรียนบพิตรพิมุข โดยมีพระมหาหนอ หรือขุนอนุกิจวิธูร (น้อย จุลลิธูร) เป็นครูคนแรก

พ.ศ. ๒๔๓๒

เรียนจบประโยคสอง จากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

พ.ศ. ๒๔๓๕

จบประโยคมัธยมศึกษาชั้น ๕ ภาษาอังกฤษหลักสูตรหลวงโรงเรียนตัวอย่างสุนันทาลัย แล้วเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ตั้ง โดยเป็นนักเรียนรุ่นแรกเพียง ๓ คน สอบประกาศนียบัตรครูรุ่นแรกของกรมศึกษาธิการได้อันดับที่ ๑ เมื่ออายุ ๑๖ ปี แล้วทำหน้าที่เป็นนักเรียนสอนในกรมศึกษาธิการพ.ศ. ๒๔๓๙เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม จึงได้เป็นนักเรียนทุนหลวงกระทรวงธรรมการไปศึกษาวิชาครูต่อที่ประเทศอังกฤษ ณ วิทยาลัยฝึกหัดครูเบอโรโรด (Borough Road Collage) ณ เมืองไอส์ลเวิฟ ภายใต้การดูแลของเซอร์ โรเบิร์ต มอแรน จบแล้วได้เดินทางไปดูงานด้านการศึกษาที่ประเทศอินเดียและพม่าเป็นเวลา ๓ เดือน[๓]

อุปสมบท

พ.ศ. ๒๔๔๑

เมื่อจบการศึกษาและการดูงานได้กลับมาอุปสมบทในบวรพุทธศาสนา ๑ พรรษา โดยมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์[๔]


การรับราชการและงานพิเศษ

พ.ศ. ๒๔๓๗

เป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ พ.ศ. ๒๔๔๒

กลับเข้ารับราชการกระทรวงธรรมการเมื่อวันที่ ๙ มกราคม โดยเป็นครูสอนวิชาครูและคำนวณวิธีในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ก่อนเป็นพนักงานแต่งแบบเรียนประจำศาลาว่าการกรมศึกษาธิการ

พ.ศ. ๒๔๔๓

ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงไพศาลศิลปศาสตร์” รับหน้าที่เป็น ผู้ช่วยหัวหน้ากองตรวจกรมศึกษาธิการและทำหน้าที่สอนในขณะเดียวกัน

พ.ศ. ๒๔๔๔

จัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียนประเภทอายุไม่เกิน ๒๐ ปี เป็นครั้งแรกที่สนามหลวง โรงเรียนชนะเลิศจะได้รับโล่ไว้ครอบครองเป็นเวลาหนึ่งปี และจารึกชื่อบนโล่เป็นเกียรติประวัติ เรียกว่า “การแข่งขันฟุตบอลชิงโล่ของกระทรวงธรรมการ”

พ.ศ. ๒๔๔๕

เดินทางไปดูงานการศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีผู้ร่วมเดินทางในครั้งนั้นคือ ขุนอนุกิจวิทูร (สันทัด เทพหัสดิน) และพระชำนิบรรณาคม (อ่อน สาริบุตร) โดยใช้เวลาดูงาน ๗๒ วัน และในโอกาสนี้ ได้คอยเฝ้ารับเสด็จนิวัติประเทศสยามของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษแล้ว

พ.ศ. ๒๔๕๒

รับพระราชทานเป็นคุณพระไพศาลศิลปศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ ๕

พ.ศ. ๒๔๕๓

รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม (ร.ศ. ๑๒๙) เพื่อรับกระแสพระราชดำริเรื่องการวางแนวทางการจัดการศึกษาของชาติ และได้มีการจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โดยเปิดสอนเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๔๕๓ พ.ศ. ๒๔๕๓ – เป็นพระบิดาแห่งวงการฟุตบอลเมืองสยาม เนื่องจากเป็นยุคทองของฟุตบอลสยาม พ.ศ. ๒๔๖๘ โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีทรงให้การสนับสนุนทั้งในทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ มีการติดต่อ มร. เอ พี โคลบี้ และมร. อาร์ ดี เคร็ก ชาวอังกฤษให้มาช่วยสอนทักษะการเล่นฟุตบอลแก่ผู้เล่นชาวไทย ดังนั้น บริษัท ห้างร้าน และหน่วยงานราชการจะต้องมีทีมฟุตบอลอย่างน้อย ๑ ทีม ทำให้ราษฎรทั่วทั้งพระนคร และปริมณฑลนิยมเล่นฟุตบอลเพิ่มมากขึ้น และถือเป็นยุคทองของฟุตบอลสยาม[๕]

พ.ศ. ๒๔๕๔

รั้งตำแหน่งปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการและเป็น “พระยาธรรมศักดิ์มนตรี”

พ.ศ. ๒๔๕๗

รั้งตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม อีกตำแหน่งหนึ่ง รวมทั้งได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นใน “หนังสือพิมพ์ล้อมรั้ว พ.ศ. ๒๔๕๗” เสนอให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยโดยใช้ที่ดินระหว่างสนามม้ากับถนนพญาไทและถนนพญาไทถึงคลองสวนหลวง

พ.ศ. ๒๔๕๘

เป็นองคมนตรี[๖]

พ.ศ. ๒๔๕๙

ได้เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้รับพระราชทานยศเป็น “จางวางโท” และ “จางวางเอก” ในปีเดียวกัน

พ.ศ. ๒๔๖๐

ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เลื่อนจาก “พระยาธรรมศักดิ์มนตรีสรรพศึกษาวิธียุโรปการ” ขึ้นเป็น “เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีศรีสาสนวโรปกรสุนทรธรรมจริยา นุวาท” วันที่ ๓๑ ธันวาคม เมื่ออายุได้เพียง ๔๑ ปี[๗]

พ.ศ. ๒๔๖๐

เป็นผู้ริเริ่มการศึกษาด้านเกษตรกรรม โดยการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแห่งแรก ขึ้นที่บริเวณหอวังหรือบ้านสวนหลวง สระปทุม รวมทั้งได้จัดส่งนักเรียนทุนไปศึกษาเกษตรกรรมต่างประเทศ และได้กลับมาเป็น “สามเสือเกษตร” เป็นฉายาที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ใช้เรียกแทนบุคคลทั้ง ๓ คือ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ หลวงอิงคศรีกสิการ และพระช่วงเกษตรศิลปการ[๘]

พ.ศ. ๒๔๖๑

เป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้ได้มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์”[๙]

พ.ศ. ๒๔๖๔

รับพระบรมราชโองการทำจดหมายถึงมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ ให้มาช่วยปรับปรุงการศึกษาแพทย์ โดยมูลนิธิฯ ส่งนายแพทย์ ริชาร์ด เอม เพียร์ส ประธานกรรมการฝ่ายแพทยศาสตร์ศึกษาเข้ามาดูกิจการของการศึกษาแพทย์ในประเทศสยาม และได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลา นครินทร์ ทรงรับเป็นผู้แทนฝ่ายไทย และในปีเดียวกันนี้ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาฉบับแรกของประเทศ

พ.ศ. ๒๔๖๘

ได้เป็นผู้ประพันธ์ “เพลงกราวกีฬา” ในนาม “ครูเทพ” เพื่อจูงใจให้นักกีฬารู้จักการแพ้ชนะและรู้จักการให้อภัย ทั้งนี้สืบเนื่องจากการรณรงค์ให้มีการออกกำลังกายและการแข่งขันกีฬาในโรงเรียนทั่วประเทศ รวมทั้งการริเริ่มให้มีการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่รุนแรง

พ.ศ. ๒๔๗๕

ได้เป็นผู้แต่งเนื้อร้อง “เพลงชาติ” โดยใช้ทำนอง “เพลงมหาฤกษ์มหาชัย” เพื่อใช้เป็นเพลงประจำชาติชื่อ “เพลงชาติมหาชัย” อยู่ระยะหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๗๕

เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกในระบอบประชาธิปไตยระหว่างวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ – ๑ กันยายน ๒๔๗๕ และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการระหว่างวันที่ ๑ กันยายน – ๒๗ ธันวาคม ๒๔๗๕

พ.ศ. ๒๔๗๖

รัฐสภามีมติเลือกกลับไปเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๗๖ – ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๖

พ.ศ. ๒๔๗๗

ได้แต่งเพลง “คิดถึง” โดยบันทึกเสียงครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๙๔ โดยเฉลา ประสบศาสตร์ ซึ่งเป็นบทเพลงที่มีความไพเราะมากและยืนยงถึงปัจจุบัน โดยใช้ทำนองเพลง “ยิปซีแอร์” ของ Pablo de Sarasate (Sarasate : Gypsy Air , Op. ๒๐)

พ.ศ. ๒๔๗๗

ก่อตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย และโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแม่โจ้ เชียงใหม่ (ดำเนินการในระหว่างเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ พ.ศ.๒๔๗๖)[๑๐]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญรัชฎาภิเษก

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือก

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า

เครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น ๒ ว.ป.ร.

เครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญตรารัตนวราภรณ์

บั้นปลายชีวิต

หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้ถวายบังคมลาออกจากราชการในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ มาอยู่ที่บ้านพักตำบลนางเลิ้ง หลานหลวง ถนนนครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร และช่วยบุตรี คือ คุณไฉไล เทพหัสดิน ณ อยุธยา บุตรีซึ่งลาออกจากครูโรงเรียนราชินีและโรงเรียนวชิราวุธมาจัดตั้งขึ้นที่บ้านหลานหลวง เพื่อมาช่วยสอนในโรงเรียนสตรีจุลนาค โดยได้ช่วยสอนด้วยวิธีการใหม่ ๆ ที่ท่านพยายามเผยแพร่ ท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเขียนบทความ หนังสือและบทประพันธ์ต่างๆ รวมทั้งบทเพลง ปัจจุบันบ้านพักของท่านที่ถนนนครสวรรค์ดังกล่าว ซึ่งสร้างขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับพระที่นั่งอนันตสมาคม แม้จะมีขนาดเล็กและเรียบง่ายแต่ก็มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบยุโรปซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น จึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ โดยกรมศิลปากร เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๖ ที่บ้านพักถนนนครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร สิริรวมอายุได้ ๖๗ ปี ๑ เดือน[๑๑]

อ้างอิง


บรรณานุกรม

http://blog.eduzones.com/dena/4553, (เข้าข้อมูลเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๒).

http://www.praphansarn.com/new/c_writer/detail.asp?ID=240, (เข้าข้อมูลเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๒).

http://www.sat.or.th/museum/index.php?option=com_sportperson&id=20&task=view, (เข้าข้อมูลเมื่อ วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๒).

http : // th.wikipdia.org/wiki, (เข้าข้อมูลเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๒).

ดูเพิ่มเติม

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะอักษรศาสตร์. แนะนำครูภาษาไทย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ครูเทพ). วารสารภาษาและวรรณคดีไทย ๔, ๒ (สิงหาคม ๒๕๓๐) : หน้า ๙๖ – ๑๐๐.

ประเสริฐ ณ นคร, สามเสือเกษตร, http://www.ku.ac.th/aboutku/thai/3manku/3hero.htm

วิโรจน์ วงษ์ทน, น้ำใจนักกีฬากับเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี, เดอะโนว์เลจเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ ๒๕๕๐.

สงวน จันทร์ทะเล, ตำนานแม่โจ้ ตอนที่ ๑, http://www.maejo.net/MaejoStory/MaejoStory1.htm