จับสลาก

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:58, 17 กันยายน 2552 โดย Panu (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''ผู้เรียบเรียง''' สุริยา ฆ้องเสนาะ '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบท...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง สุริยา ฆ้องเสนาะ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ ฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ จากนั้นมาจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว ทั้งสิ้น ๑๘ ฉบับ ทั้งนี้ สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีรัฐสภาประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ และมีข้อบังคับการประชุมสภาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการให้การประชุมสภาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อนึ่ง การจับสลากเป็นสาระหนึ่งที่สำคัญที่ถูกบัญญัติไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมสภามาโดยตลอด

ความหมายและความสำคัญ

การจับสลากเป็นกลไกและวิธีการอย่างหนึ่งซึ่งมีการใช้กันมาตั้งแต่อดีต เพื่อแก้ไขหรือตัดสินชี้ขาดประเด็นปัญหาในกรณีหาข้อสรุปและชี้ขาดไม่ได้ และในการดำเนินงานทางการเมือง การจับสลากก็ถูกนำมาใช้ในบางเรื่องและปรากฏอยู่ในกำหมายสำคัญหลายฉบับ อาทิ รัฐธรรมนูญกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง แม้แต่ข้อบังคับการประชุม โดยมีสาระสำคัญต่อไปนี้

สาระสำคัญเกี่ยวกับคำว่าจับสลากที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ

กรณีให้สมาชิกวุฒิสภาออกจากตำแหน่งโดยวิธีการจับสลากตามรัฐธรรมนูญ มีดังต่อไปนี้

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑

- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙

มาตรา ๒๖ สมาชิกแห่งพฤฒสภา มีกำหนดเวลาคราวละหกปี เฉพาะในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสามปี ให้มีการเปลี่ยนสมาชิกกึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก แต่ผู้ที่ออกไปมีสิทธิได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีก

ถ้าตำแหน่งสมาชิกว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้รัฐสภาเลือกบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามความในมาตรา ๒๕ เข้าเป็นสมาชิกแทนตามวิธีการที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา สมาชิกที่เข้ามาแทนนั้นย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน(๑)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒

มาตรา ๘๓ สมาชิกภาพแห่งสมาชิกวุฒิสภามีกำหนดเวลาคราวละหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเฉพาะในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสามปีให้มีการเปลี่ยนสมาชิกเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก

พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะเลือกและแต่งตั้งผู้ที่ออกตามวาระเป็นสมาชิกอีกได้(๒

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑

มาตรา ๗๙ สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภามีวาระคราวละหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง

ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสามปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกเป็นครั้งแรก ให้มีการจับสลากเพื่อให้สมาชิกพ้นจากตำแหน่งเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด และให้ถือว่าการสิ้นสุดแห่งสมาชิกภาพโดยการจับสลากเป็นการออกตามวาระด้วย

พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะแต่งตั้งผู้ที่ออกตามวาระ เป็นสมาชิกอีกได้(๓)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗

มาตรา ๑๐๘ สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภามีกำหนดเวลาคราวละหกปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเฉพาะในวาระเริ่มแรก เมื่อครบกำหนดสามปี ให้สมาชิกออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก(๔)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑

มาตรา ๘๕ สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภามีกำหนดเวลาคราวละหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ในวาระเริ่มแรกเมื่อครบสองปีให้สมาชิกออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดโดยวิธีจับสลาก และเมื่อครบสี่ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ให้สมาชิกวุฒิสภาในจำนวนที่เหลือจากการจับสลากออกเมื่อครบสองปีแรก ออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนหนึ่งในสองของจำนวนดังกล่าวโดยวิธีจับสลาก หากจำนวนที่คำนวณได้มีเศษให้ปัดเศษทิ้ง และให้ถือว่าการสิ้นสุดแห่งสมาชิกภาพโดยการจับสลากเป็นการออกตามวาระด้วย

พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะแต่งตั้งผู้ที่ออกตามวาระเป็นสมาชิกอีกก็ได้(๕)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔

มาตรา ๙๕ สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภามีกำหนดเวลาคราวละหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง เมื่อครบกำหนดสามปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งครั้งแรกตามมาตรานี้ ให้สมาชิกวุฒิสภาจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดตามมาตรา ๙๔ วรรคสองออกจากตำแหน่งโดยวิธีจับสลาก และให้ถือว่าการสิ้นสุดแห่งสมาชิกภาพโดยการจับสลากเป็นการออกตามวาระ และพระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งสมาชิกเท่าจำนวนที่ต้องออกไปเข้าแทนที่ เมื่อครบหกปีสมาชิกส่วนที่เหลือจากการจับสลากต้องพ้นจากตำแหน่ง และจะมีการแต่งตั้งสมาชิกจำนวนเท่าที่ต้องออกไปเข้ามาแทนที่ต่อไปทุกสามปี

พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะทรงแต่งตั้งผู้ที่ออกตามวาระเป็นสมาชิกอีกได้(๖)

จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ได้กล่าวมานั้น การออกจากตำแหน่งตามวาระโดยวิธีการจับสลากของสมาชิกวุฒิสภา มีข้อสรุปดังต่อไปนี้

๑. ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา มาจากการแต่งตั้ง มักจะมีการจับสลากออกเพื่อเป็นการหมุนเวียน

๒. อายุของวุฒิสภามักจะกำหนดไว้ ๖ ปี ซึ่งเมื่อวาระการดำรงตำแหน่งยาวนานกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงต้องบัญญัติให้มีการจับสลากออกหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

๓. จับสลากออกตามวาระสามารถได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาใหม่ได้

สาระสำคัญคำว่าจับสลากที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง

กรณีที่มีผู้สมัครได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลากเพื่อให้ได้ผู้ได้รับเลือกตั้ง เช่น

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน พ.ศ.๒๕๑๑

มาตรา ๖๑ ในเขตเลือกตั้งซึ่งมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนได้หนึ่งคน ผู้สมัครผู้ใดได้คะแนนมากที่สุด ให้ผู้สมัครนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ในกรณีที่คะแนนมากที่สุดเท่ากัน ให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนเท่ากันจับสลากกันว่าผู้ใดได้รับเลือกตั้งหรือไม่

ในเขตเลือกตั้งซึ่งมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนได้มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนมากตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง

ภายในบังคับแห่งวรรคสอง ในกรณีที่มีผู้สมัครหลายคนได้คะแนนเท่ากันจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถเรียงลำดับผู้ได้รับเลือกตั้งตามจำนวน ก็ให้ผู้ที่ได้คะแนนเท่ากันนั้นจับสลากเพื่อให้ได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งครบจำนวนที่เขตเลือกตั้งนั้นมีการเลือกตั้งได้

การจับสลากตามความในมาตรานี้ ให้กระทำต่อหน้าผู้ว่าราชการจังหวัดตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง(๗)

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๒

มาตรา ๗๗ ในเขตเลือกตั้งซึ่งมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้หนึ่งคน ผู้สมัครของพรรคการเมืองใดได้คะแนนมากที่สุด ให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ในกรณีที่คะแนนมากที่สุดเท่ากันให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้ได้คะแนนเท่ากันจับสลากกันว่าผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง

ในเขตเลือกตั้งซึ่งมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองซึ่งได้คะแนนมากตามลำดับลงมาตามจำนวนที่จะพึงมีการเลือกตั้งได้ เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง

ในกรณีที่มีผู้สมัครของพรรคการเมืองหลายคนได้คะแนนเท่ากัน จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถเรียงลำดับผู้ได้รับเลือกตั้งได้ตามวรรคสอง ให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนเท่ากันนั้นจับสลากเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งครบจำนวนตามที่เขตเลือกตั้งนั้นจะพึงมีการเลือกตั้งได้(๘)

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๕๐

มาตรา ๘๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๘๘ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง แต่ในเขตเลือกตั้งที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุดเรียงตามลำดับลงมาในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งตามจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น

ในกรณีที่มีผู้สมัครได้คะแนนเลือกตั้งเท่ากันอันเป็นเหตุให้ไม่สามารถเรียงลำดับผู้ที่ได้รับเลือกตั้งได้ตามวรรคหนึ่งให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนเลือกตั้งเท่ากันจับสลากเพื่อให้ได้รับเลือกตั้ง ครบจำนวนที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น ซึ่งต้องกระทำต่อหน้าที่คณะกรรมาธิการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งนั้นตามวิธีการที่คณะกรรมาการการเลือกตั้งกำหนด

จากกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งดังกล่าว ได้กล่าวถึงกรณีที่มีผู้สมัครได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเท่ากันอันเป็นเหตุให้ไม่สามารถเรียงลำดับผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่ากันจับสลากเพื่อให้ได้ผู้ได้รับเลือกตั้ง(๙)

สาระสำคัญคำว่าจับสลากที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง

กรณีที่ชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง ซ้ำหรือพ้องหรือคล้ายคลึงกัน เช่น

พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๒๔

มาตรา ๑๒ ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าชื่อพรรคการเมืองหรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองของคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองตามที่ปรากฏในหนังสือเชิญชวนซ้ำหรือพ้องหรือมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับชื่อพรรคการเมืองหรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองของคณะผู้เริ่มจัดตั้งของพรรคการเมืองอื่นที่ได้แจ้งไว้ในวันเดียวกัน ให้นายทะเบียนดำเนินการต่อไปนี้

(๑) มีหนังสือบอกกล่าวไปยังคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อให้ทำความตกลงกันว่าคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองคณะใดจะเป็นผู้มีสิทธิใช้ชื่อพรรคการเมืองหรือ ภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองนั้น เมื่อได้ตกลงกันเป็นประการใดแล้ว ให้นายทะเบียนรับแจ้งตามที่ได้ตกลงกัน การตกลงกันดังกล่าวให้กระทำให้เสร็จสิ้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ บอกกล่าว

(๒) ในกรณีที่คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องยืนยันไม่ยอมตกลงกันหรือเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวใน (๑) แล้วยังตกลงกันไม่ได้ ให้นายทะเบียนพิจาณารับแจ้งจากคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองที่เห็นว่ามีสิทธิที่จะใช้ชื่อหรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองนั้นดีกว่า โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

(ก) คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองคณะใดมีจำนวนผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองซึ่งเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุดในนามของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองตามหลักฐานใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยใช้ชื่อหรือใช้ภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองนั้นมากกว่า คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองคณะนั้นย่อมมีสิทธิดีกว่า

(ข) ในกรณีที่จำนวนผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองตาม (ก) มีจำนวนเท่ากัน คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองคณะใดมีจำนวนผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองซึ่งเคยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุดในนามของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองตามหลักฐานใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยใช้ชื่อหรือใช้ภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองนั้นมากกว่า คณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองคณะนั้นย่อมมีสิทธิดีกว่า

(ค) ในกรณีที่จำนวนผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองตาม (ข) มีจำนวนเท่ากันให้นายทะเบียนดำเนินการจับสลากเพื่อให้ได้ผู้มีสิทธิใช้ชื่อพรรคการเมืองหรือภาพเครื่องหมาย พรรคการเมืองโดยเปิดเผย

ให้นายทะเบียนบอกกล่าวการรับแจ้งตาม (๒) เป็นหนังสือไปยังคณะผู้เริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับแจ้ง(๑๐)

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐

มาตรา ๑๕ ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่าชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองตามที่ปรากฏในเอกสารการจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง ซ้ำ หรือพ้อง หรือมีลักษณะคล้ายคลึงกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองซึ่งผู้จดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นได้ยื่นจดแจ้งไว้ในวันและเวลาเดียวกัน ให้นายทะเบียนดำเนินการดังต่อไปนี้

(๑) แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ยื่นจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อให้ทำความตกลงกันว่าผู้จดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองคณะใดจะเป็นผู้มีสิทธิใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองนั้น เมื่อได้ตกลงกันเป็นประการใดแล้ว และไม่เป็นการซ้ำหรือพ้องหรือมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองตามที่ได้ตกลงกัน การตกลงกันดังกล่าวให้กระทำให้เสร็จสิ้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายทะเบียน

(๒) ในกรณีที่ผู้ยื่นจดแจ้งการตั้งพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องยืนยันไม่ยอมตกลงกัน หรือเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม (๑) แล้ว ยังตกลงกันไม่ได้ ให้นายทะเบียนดำเนินการจับสลากโดยเปิดเผยเพื่อให้ได้ผู้มีสิทธิใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองนั้น และให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งรับการจดแจ้งจากผู้ยื่นจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองตามผลของการจับสลากนั้น

ให้นายทะเบียนแจ้งผลการดำเนินการตาม (๒) เป็นหนังสือไปยังผู้ยื่นจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ทราบผลตาม (๒)

จากกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง ซ้ำหรือพ้อง หรือคล้ายคลึงกัน ใช้วิธีจับสลากโดยเปิดเผยเพื่อให้ได้ผู้มีสิทธิใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือเครื่องหมายของพรรคการเมืองนั้น(๑๑)

สาระสำคัญคำว่าจับสลากที่ปรากฏอยู่ในข้อบังคับการประชุม

กรณีการเลือกประธานสภาโดยวิธีการจับสลากตามข้อบังคับการประชุมของสภาเช่น

ข้อบังคับการประชุมสภาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา พ.ศ. ๒๕๑๗

ข้อ ๔ ในการเลือกประธานสภา สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้หนึ่งชื่อ การเสนอนั้นต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าห้าคน

ถ้ามีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือก ถ้ามีการเสนอชื่อหลายชื่อ ก็ให้มีการลงคะแนนเลือกโดยการเขียนชื่อบนแผ่นกระดาษที่เจ้าหน้าที่ได้จัดให้ ใส่ลงในภาชนะที่จัดไว้เพื่อการนั้น ในการออกเสียงลงคะแนน ให้เรียกชื่อสมาชิกตามลำดับอักษรชื่อให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคนในการตรวจนับคะแนน ให้ประธานของที่ประชุมเชิญสมาชิกไม่น้อยกว่าห้าคนเป็นผู้ตรวจนับ ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้าได้คะแนนสูงสุดเท่กันหลายชื่อ ให้เลือกใหม่เฉพาะชื่อที่ได้คะแนนเท่ากัน แต่ถ้าคะแนนสูงสุดเท่ากันอีก ก็ให้ใช้วิธีจับสลาก

ให้ประธานประกาศชื่อผู้ได้รับเลือกต่อที่ประชุม(๑๒)

ข้อบังคับการประชุมของวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๑๘

ข้อ ๔ ในการเลือกประธานสภา สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อได้หนึ่งชื่อ การเสนอนั้นต้องมีสมาชิกรับรอบไม่น้อยกว่าห้าคน

ถ้ามีการเสนอชื่อผู้ใดเดียวชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือก ถ้ามีการเสนอชื่อหลายชื่อ ก็ให้มีการลงคะแนนเลือกโดยการเขียนชื่อบนแผ่นกระดาษที่เจ้าหน้าที่จัดให้ ใส่ลงในภาชนะที่จัดไว้เพื่อการนั้น ในการออกเสียงลงคะแนน ให้เรียกชื่อสมาชิกตามลำดับอักษรชื่อให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคนในการตรวจนับคะแนน ให้ประธานของที่ประชุมเชิญสมาชิกไม่น้อยกว่าห้าคนเป็นผู้ตรวจนับ ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้าได้คะแนนสูงสุดเท่ากันหลายชื่อ ให้เลือกใหม่เฉพาะชื่อที่ได้คะแนนเท่ากัน แต่ถ้าคะแนนสูงสุดเท่ากันอีก ก็ให้ใช้วิธีจับสลาก

ให้ประธานประกาศชื่อผู้ได้รับเลือกต่อที่ประชุม(๑๓)

ข้อบังคับการประชุมของวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๒๗

ข้อ ๕ ในการเลือกประธานสภา สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้หนึ่งชื่อ การเสนอนั้นต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าห้าคน

ถ้ามีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือก ถ้ามีการเสนอชื่อหลายชื่อก็ให้มีการลงคะแนนเลือกโดยการเขียนชื่อบนแผ่นกระดาษใส่ซองที่เจ้าหน้าที่จัดให้ใส่ลงในภาชนะที่จัดไว้เพื่อการนั้น ในการออกเสียงลงคะแนน ให้เรียกสมาชิกตามลำดับอักษรชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน ในการตรวจนับคะแนน ให้ประธานของที่ประชุมเชิญสมาชิกไม่น้อยกว่าห้าคนเป็นผู้ตรวจนับ ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้าได้คะแนนสูงสุดเท่ากันหลายชื่อ ให้เลือกใหม่เฉพาะชื่อที่ได้คะแนนเท่ากัน แต่ถ้าคะแนนสูงสุดเท่ากันอีก ก็ให้ใช้วิธีจับสลาก

ให้ประธานประกาศชื่อผู้ได้รับเลือกต่อที่ประชุม

ข้อบังคับการประชุมดังที่กล่าวมาได้กำหนดไว้เหมือน ๆ กันว่า ในการเลือกประธานสภานั้น หลังจากที่ออกเสียงโดยวิธีการเรียกชื่อตามลำดับอักษรแล้ว ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้าได้คะแนนสูงสุดเท่ากันหลายชื่อให้เลือกใหม่ เฉพาะชื่อที่ได้คะแนนเท่ากัน แต่ถ้าคะแนนสูงสุดเท่ากันอีก ก็ให้ใช้วิธีการจับสลาก

ทั้งนี้ การเลือกประธานสภาโดยวิธีจับสลากในกรณีที่มีคะแนนเท่ากันนั้น ในปัจจุบันไม่ได้บัญญัติวิธีนี้ในข้อบังคับการประชุมแล้ว แต่ใช้การเลือกโดยให้ออกเสียงและลงคะแนนเป็นการลับ กรณีมีการเสนอชื่อหลายคนแทน(๑๔)

สรุป

การจับสลากในอดีตตามข้อบังคับการประชุมเป็นวิธีการดำเนินงานแบบหนึ่งตามระบวนการทางรัฐสภาซึ่งเป็นวิธีการตัดสินในการเลือกประธานสภาในกรณีผู้ได้รับเลือกได้คะแนนสูงสุดเท่ากันซึ่งเป็นการตัดสินอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งปัจจุบันนี้ข้อบังคับการประชุมมิได้มีการจับสลากแล้ว ส่วนการจับสลากกรณีที่ชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง ซ้ำหรือพ้อง หรือคล้ายคลึงกัน ตามกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น เจตนารมณ์เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาจากรณีที่พรรคการเองไม่สามารถตกลงกันได้ หรือพ้นระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ ส่วนกรณีที่มีผู้สมัครได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเท่ากันตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งก็ให้ใช้วิธีการจับสลากเพื่อให้ได้ผู้รับเลือกตั้งเจตนารมณ์เพื่อต้องการตัดสินชี้ขาด และส่วนกรณีการออกจากตำแหน่งโดยวิธีจับสลากของสมาชิกวุฒิสภานั้น เจตนารมณ์เพื่อต้องการให้สมาชิกวุฒิสภาไม่ให้อยู่ในตำแหน่งนาน และเพื่อให้เกิดการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเพื่อได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถหลายด้านเข้ามากลั่นกรองกฎหมาย อันจะยังประโยชน์เกิดแก่ประเทศชาติต่อไป

อ้างอิง


หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

ศาสตราจารย์ ไพโรจน์ ชัยนาม. รัฐธรรมนูญบทกฎหมายและเอกสารสำคัญในทางการเมือง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519

สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา. รวมข้อบังคับการประชุมสภา. กรุงเทพฯ  : สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา, 2519

บรรณานุกรม

คณิน บุญสุวรรณ. ภาษาการเมืองในระบบรัฐสภา. กรุงเทพฯ : โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2533

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สรรสารรัฐธรรมนูญไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์, 2548