นักการเมืองถิ่นจังหวัดเลย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:58, 16 กันยายน 2552 โดย Rapeephan (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: ไชยวุฒิ มนตรีรักษ์, 2551. '''นักการเมืองถิ่นจังหวัดเลย'''. กรุง...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ไชยวุฒิ มนตรีรักษ์, 2551. นักการเมืองถิ่นจังหวัดเลย. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า. (เลขหมู่หนังสือห้องสมุดสถาบันพระปกเกล้า สป-JQ1749.ก795ช94)


บทคัดย่อ


การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลย ระหว่าง พ.ศ. 2476 ถึง พ.ศ. 2548 เพื่อศึกษาเครือข่ายทางการเมืองและความสัมพันธ์ของนักการเมืองกับประชาชนในแต่ละช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง เพื่อศึกษารูปแบบการหาเสียง วิธีการสร้างคะแนนนิยมและเพื่อศึกษาบทบาทของกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มที่ไม่เป็นทางการอื่นๆ ที่มีส่วนสนับสนุนนักการเมือง โดยการใช้เทคนิควิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาวิเคราะห์เอกสาร การสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้างและการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง โดยการค้นหาข้อมูลจากบุคคลผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) ซึ่งคัดเลือกบุคคลผู้ให้ข้อมูลสำคัญอย่างเจาะจงและตรวจสอบความถูกต้องด้วยวิธีการตรวจสอบสามเส้าด้านวิธีการรวบรวมข้อมูล (Methodology Triangulation) นำข้อมูลมาวิเคราะห์แบบอุปนัย (Analytic Induction) และวิเคราะห์โดยการจัดจำแนกชนิดข้อมูล (Typological Analysis) ตามแนวคิดการจัดจำแนกของลอฟแลนด์ (Lofland)

ผลการศึกษาพบว่า นับตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 ถึง การเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเลยทั้งสิ้น 25 คน เป็นชาย 21 คน คิดเป็นร้อยละ 84 ในขณะที่เป็นหญิง 4 คน คิดเป็นร้อยละ 16 อาชีพก่อนเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมอง ส่วนใหญ่มีอาชีพธุรกิจ รองลงมาได้แก่ รับราชการ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยาวนานมากที่สุดคือ นายทศพล สังขทรัพย์ จำนวน 9 สมัย ระยะเวลา 18 ปี 3 เดือน 25 วัน ในขณะที่ผู้ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดคือ นายบัวพัน ไชยแสง 1 สมัย ระยะเวลา 6 เดือน 18 วัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ย้ายพรรคมากที่สุดคือ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข จำนวน 4 พรรค มีภูมิลำเนาโดยการเกิดในจังหวัดเลย 12 คน คิดเป็นร้อยละ 48

เครือข่ายทางการเมืองที่ให้การสนับสนุนนักการเมือง และความสัมพันธ์ของนักการเมืองกับระชาชานในช่วงการเลือกตั้งระหว่าง พ.ศ. 2476 ถึง พ.ศ. 2500 ส่วนใหญ่เป็นความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ทั้งในแบบเครือญาติตระกูล และเครือญาติเกื้อกูล การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 เป็นยุคแรกที่นักธุรกิจเข้ามาสู่การเมืองระดับชาติ โดยมีความสัมพันธ์เครือข่ายธุรกิจระหว่างจังหวัด ได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มธุรกิจค้าไม้ และสมาชิกสภาจังหวัดเลยที่มาจากภาคตะวันออก เริ่มมีการใช้เงินซื้อเสียง การใช้อิทธิพลข่มขู่หัวคะแนน และการสร้างระบบอุปถัมภ์กับหัวคะแนน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งช่วงปี พ.ศ. 2531 ถึง พ.ศ. 2535 เป็นช่วงการเมืองสองสภา โดยนักการเมืองถิ่นส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมทางการเมืองเชิงอุดมการณ์ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเป็นแบบธนกิจการเมือง (Political Finance) การเลือกตั้งหลักจากปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา นักการเมืองถิ่นกลุ่มคุณภาพยึดอุดมการณ์ประชาธิปไตย พ่ายแพ้การเลือกตั้ง และไม่ได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกเลย ในขณะที่นักการเมืองกลุ่มธนกิจการเมืองเข้ามามีบทบาท และประสบความสำเร็จทางการเมืองทุกเขตเลือกตั้ง ในส่วนการจัดตั้งเครือข่ายทางการเมืองไม่ปรากฏขั้วการเมืองแข่งขันทางการเมืองที่เด่นชัด แม้การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2538 จะมีกลุ่มที่มีความเข้มแข็งทางการเมืองอยู่ 3 ตระกูล คือ ตระกูลแสงเจริญทัศน์ ตระกูลเร่งสมบูรณ์สุข และตระกูลทิมสุวรรณ โดยทุกตระกูลมีอาชีพธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและการสัมปทานแร่ธาตุ แต่ได้จัดแบ่งขอบเขตพื้นที่ทางการเมืองอย่างประนีประนอม อิงประโยชน์ทางธุรกิจและจัดสรรอำนาจทางการเมืองอย่างลงตัว ทำให้ยังคงมีบทบาท มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างต่อเนื่องจนถึง พ.ศ. 2548 ทำให้ไม่เกิดสภาพการแข่งขันในตลาดการเมืองอย่างแท้จริง

รูปแบบการหาเสียง และวิธีการสร้างคะแนนนิยมของนักการเมืองถิ่นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2476 ถึง พ.ศ. 2500 ใช้การเดินหาเสียงกับประชาชนในหมู่บ้าน มีใบปลิว โปสเตอร์หาเสียง ฉายภาพยนตร์ มีจัดเลี้ยงสุราอาหาร แจกสิ่งของหลายประเภท เช่น น้ำปลา ปลาทูเค็ม ปลาร้า ไม่ขีดไฟ น้ำตาล รองเท้า บางคนมีการปราศรัยโดยชูนโยบายการพัฒนาพื้นที่ให้เจริญ และชูภาพลักษณ์หัวหน้าพรรคหรือหัวหน้ากลุ่มการเมือง มีการปล่อยข่าวลือโจมตีว่าร้ายคู่แข่งขันทางการเมือง การเลือกตั้งจากปี พ.ศ. 2518 เริ่มมีการใช้เงินซื้อเสียง การจัดเลี้ยง และการจัดตั้งระบบเครือข่ายหัวคะแนนในพื้นที่ ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นนักธุรกิจปราศรัยหาเสียงน้อย การสร้างคะแนนนิยมจะอาศัยการจ่ายเงิน และอุปถัมภ์หัวคะแนนการเลือกตั้งนับจากปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา มีการนำรูปแบบการบริหารจัดการเชิงธุรกิจมาใช้ในการสร้างฐานคะแนนเสียงการเมือง ควบคู่กับการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดเลย เพื่อควบคุมและใช้ประโยชน์จากกลไกราชการ ในขณะเดียวกันนักการเมืองจะอยู่ในการควบคุมการช่วยเหลือของหัวหน้ากลุ่ม (มุ้ง) การเมืองเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางอำนาจการเมือง และรองรับการกระจายผลประโยชน์

บทบาทของกลุ่มผลประโยชน์กับการเมืองก่อนปี พ.ศ. 2500 ไม่ปรากฏเด่นชัด เริ่มมีบทบาทและมีความสัมพันธ์กันนักการเมืองถิ่นอย่างเด่นชัดนับจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512 คือ กลุ่มสัมปทานป่าไม้ และกลุ่มค้าส่งค้าปลีก ต่อจากนั้นเป็นกลุ่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเริ่มเข้าสู่การเมืองในปี พ.ศ. 2529 ในบางเขตเลือกตั้ง และกลุ่มธุรกิจสัมปทานแร่ และรับเหมาก่อสร้าง เข้ายึดพื้นที่ทาการเมืองจังหวัดเลย ทุกเขตเลือกตั้งมาตั้งแต่การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2539 ถึง พ.ศ. 2548 และมีเครือข่ายธุรกิจรับเหมาระหว่างจังหวัด ส่วนกลุ่มที่ไม่เป็นทางการที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือนักการเมืองถิ่นได้แก่ กลุ่ม อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) กลุ่มสตรี เครือข่ายกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้เงินค่าตอบแทน และระบบอุปถัมภ์ทางการเงินเป็นเครื่องมือหลัก ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จทางการเมืองแตกต่างกันตามช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2476 ถึง พ.ศ. 2522 ปัจจัยสถานภาพบุคคลเป็นสิ่งสำคัญที่สุด รองลงมาเป็นวิธีการหาเสียงจากปี พ.ศ. 2522 ถึง พ.ศ. 2535 เป็นปัจจัยสถานภาพบุคล และการจัดตั้งเครือข่ายหัวคะแนนโดยใช้เงินตอบแทน นับจากปี พ.ศ. 2535 ถึง พ.ศ. 2548 ระบบอุปถัมภ์ และเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่นำไปสู่ความสำเร็จทางการเมือง ส่วนปัจจัยที่นำไปสู่ความไม่สำเร็จทางการเมืองของนักการเมืองถิ่นจังหวัดเลย จะเกิดจากข้อจำกัดด้านความสามารถเชิงเศรษฐกิจวิธีการบริหารจัดการหัวคะแนน ข่าวลือ และพฤติกรรมของนักการเมือง ทั้งในระหว่างการดำรงตำแหน่ง และไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง