ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ผู้เรียบเรียง ศุภพรรัตน์ สุขพุ่ม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ที่สมาชิกในสังกัดของพรรคมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีหน้าที่สำคัญคือ เป็นผู้นำในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และควบคุมให้ฝ่ายบริหารดำเนินการบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยเรียกพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่นี้ว่า กลุ่มฝ่ายค้าน หรือพรรคฝ่ายค้าน และหากมีกลุ่มฝ่ายค้านประกอบด้วยหลายพรรคการเมือง ก็เรียกว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งนับเป็นกลไกสำคัญในการถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
ความหมาย
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (Leader of the Opposition) เป็นตำแหน่งสำคัญที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้นจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ที่สมาชิกในสังกัดของพรรคมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองที่สมาชิกในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีอยู่นั้นจะต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร [๑] และหากไม่มีพรรคการเมืองใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึงหนึ่งในห้า ก็ให้เลือกหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ใช้วิธีการจับสลากตัดสิน [๒]
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา
ตามประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทย ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทน ราษฎรถูกบัญญัติครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ โดยกำหนดว่า “ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมือง ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภา เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”
ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ก็ได้บัญญัติไว้ในทำนองเดียวกัน ต่อมาเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๓๔ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้มีแนวคิดว่า หากกำหนดคุณสมบัติของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไว้ว่า ต้องเป็นหัวหน้าพรรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเพียงอย่างเดียว หากในอนาคตไม่มีพรรคฝ่ายค้านที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด อาจเป็นเหตุให้ช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พุทธศักราช ๒๕๓๘ จึงได้บัญญัติแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาว่า “ในกรณีที่ไม่มีพรรคการเมืองใดในสภาผู้แทนราษฎรมีลักษณะดังกล่าวข้างต้น คือ มีเสียงสนับสนุนไม่ถึงหนึ่งในห้า ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่เสียงสนับสนุนเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก” ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ก็ได้บัญญัติไว้ในทำนองเดียวกัน
รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับที่ผ่านมา บัญญัติเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ไว้ดังนี้
๑. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ [๓]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติให้มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยบัญญัติในมาตรา ๑๒๖ ดังนี้
“มาตรา ๑๒๖ ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา ๑๘๔ แล้ว พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมือง ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภา เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติดังกล่าวในวรรคหนึ่ง และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๓๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีเช่นนี้ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง”
๒. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ [๔]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ บัญญัติเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรในมาตรา ๑๐๕ ดังนี้
“มาตรา ๑๐๕ ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติดังกล่าวในวรรคหนึ่งและให้นำบทบัญญัติมาตรา 109 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีเช่นนี้พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง”
๓. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ [๕]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ บัญญัติเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรในมาตรา ๑๑๖ ดังนี้
“มาตรา ๑๑๖ ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมือง ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรในขณะแต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติดังกล่าว ในวรรคหนึ่ง และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๒๐ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีเช่นนี้ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง”
๔. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พุทธศักราช ๒๕๓๘ [๖]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พุทธศักราช ๒๕๓๘ ได้บัญญัติแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาว่า ถ้าไม่มีพรรคการเมืองใดมีลักษณะดังกล่าวข้างต้น คือ มีเสียงสนับสนุนไม่ถึงหนึ่งในห้า ก็ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ที่มีเสียงมากที่สุด เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยบัญญัติเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรในมาตรา ๑๒๒ ดังนี้
“มาตรา ๑๒๒ ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรในขณะแต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่ไม่มีพรรคการเมืองใดในสภาผู้แทนราษฎรมีลักษณะที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนข้างมาก จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่เสียงสนับสนุนเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติดังกล่าวในวรรคหนึ่ง และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๒๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีเช่นนี้ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง”
๕. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ [๗]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ บัญญัติเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรในมาตรา ๑๒๐ ดังนี้
“มาตรา ๑๒๐ ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรในขณะแต่งตั้ง เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่ไม่มีพรรคการเมืองใดในสภาผู้แทนราษฎรมีลักษณะที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนข้างมาก จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัด มิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่เสียงสนับสนุนเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติดังกล่าวในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีเช่นนี้ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง”
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ [๘]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๑๐ ได้บัญญัติเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้ [๘]
“มาตรา ๑๑๐ ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะ ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรในสังกัดของพรรคตนมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรในขณะแต่งตั้ง เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่ไม่มีพรรคการเมืองใดในสภาผู้แทนราษฎรมีลักษณะที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนข้างมาก จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัด มิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่เสียงสนับสนุนเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติดังกล่าวในวรรคหนึ่ง วรรคสอง และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๒๔ วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีเช่นนี้ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จะมีการปรับเปลี่ยนบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านมีเอกภาพและมีความเข้มแข็ง โดยมีหลักการเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ [๙] ที่เปิดโอกาสให้กรณีที่พรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีเสียงสนับสนุนไม่ถึงหนึ่งในห้า ก็ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้ก็ตาม แต่ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๒) ยังไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนข้างมาก จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัด มิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่หัวหน้าพรรคไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่มีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้
ค่าตอบแทน
สำหรับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ตามพระราชบัญญัติเงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๑ [๑๐] กำหนดให้ผู้นำฝ่ายค้าน ได้รับเงินประจำตำแหน่งกับเงินค่ารับรองเท่ากับรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานวุฒิสภา คือ สามหมื่นหกพันบาท
ผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ตามประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทย มีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๗ ท่าน ดังนี้
๑.หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์
ดำรงตำแหน่งเมื่อ ๒๒ มีนาคม ๒๕๑๘ - ๑๒ มกราคม ๒๕๑๙
๒. พลตำรวจเอก ประมาณ อดิเรกสาร พรรคชาติไทย
ดำรงตำแหน่งเมื่อ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๒๖ - ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๕ - ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๗
๓. พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ พรรคความหวังใหม่
ดำรงตำแหน่งเมื่อ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๕ - ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๕ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ - ๒ มิถุนายน ๒๕๔๑ ๒ กันยายน ๒๕๔๑ - ๒๗ เมษายน ๒๕๔๒ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๒ - ๓๐ เมษายน ๒๕๔๓
๔. นายบรรหาร ศิลปอาชา พรรคชาติไทย
ดำรงตำแหน่งเมื่อ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๗ - ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๘
๔. นายชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์
ดำรงตำแหน่งเมื่อ ๔ สิงหาคม ๒๕๓๘ - ๒๗ กันยายน ๒๕๓๙ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๙ - ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๔ - ๓ พฤษภาคม ๒๕๔๖
๕.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน พรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งเมื่อ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๖ - ๕ มกราคม ๒๕๔๘
๖. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ ดำรงตำแหน่งเมื่อ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๘ – ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑-๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๑
อ้างอิง
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม สภาร่างรัฐธรรมนูญ. (๒๕๕๐). เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
คณิน บุญสุวรรณ. (๒๕๒๐). ศัพท์รัฐสภา. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์.
คณิน บุญสุวรรณ. (๒๕๔๘). ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.
เดโช สวนานนท์. (๒๕๓๗). พจนานุกรมศัพท์การเมือง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หน้าต่าง สู่โลกกว้าง.
นรนิติ เศรษฐบุตร, บรรณาธิการ. (๒๕๔๗). สารานุกรมการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
พระราชบัญญัติเงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๑. ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ ตอนที่ ๑๘๑ เล่ม ๑๐๕, วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๑, หน้า ๗๗-๘๓.
บรรณานุกรม
คณะกรรมาธิการวิสามัญบันทึกเจตนารมณ์ จดหมายเหตุ และตรวจรายงานการประชุม สภาร่างรัฐธรรมนูญ. (๒๕๕๐). เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
คณิน บุญสุวรรณ. (๒๕๒๐). ศัพท์รัฐสภา. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์.
คณิน บุญสุวรรณ. (๒๕๓๓). ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ โอเดียนสโตร์.
เดโช สวนานนท์. (๒๕๓๗). พจนานุกรมศัพท์การเมือง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หน้าต่าง สู่โลกกว้าง.
นรนิติ เศรษฐบุตร, บรรณาธิการ. (๒๕๔๗). สารานุกรมการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
พระราชบัญญัติเงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๑. ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ ตอนที่ ๑๘๑ เล่ม ๑๐๕, วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๑.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗. ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๑๖๙ เล่ม ๙๑. วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๗.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑. ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๑๔๖ (ฉบับพิเศษ) เล่ม ๙๕. วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔. ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๒๑๖ เล่ม ๑๐๘. วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พุทธศักราช ๒๕๓๘. ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๗ ก เล่ม ๑๑๒. วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๘.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐. ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๕๕ ก เล่ม ๑๑๔. วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐.
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐. ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๔๗ ก เล่ม ๑๒๔. วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐.