สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ผู้เรียบเรียง อารีรัตน์ วิชาช่าง
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับ เศรษฐกิจและสังคมตลอดจนพิจารณาให้ความเห็นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนอื่นตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศชาติให้รุ่งเรืองและเพื่อสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยมิใช่เป็นองค์กรเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด
ประวัติความเป็นมา
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 89 โดยให้มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่น ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติก่อนจะพิจารณาประกาศใช้ ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวเป็นไปเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประเทศ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมและ โปร่งใสเป็นสำคัญ[1]
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2542 รัฐบาลมอบให้คณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 20 ท่าน ที่เป็นตัวแทนบุคคลจากกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ อาทิ กลุ่มภูมิปัญญาชาวบ้าน สถาบันสันติศึกษา อาจารย์ มหาวิทยาลัย สภาทนายความ นักกฎหมายมหาชน กลุ่มผู้หญิงกับการเมือง รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต้นแบบขึ้น เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป และนำมาปรับปรุงให้เป็นพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาฯ ตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ในที่สุดพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม2543 และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2543 เป็นต้นมา ต่อมาเมื่อเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้ถูกยกเลิก แม้ว่าสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญที่ได้ถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม แต่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีกฎหมายรองรับอีกชั้นหนึ่ง คือ พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ดังนั้นสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจึงยังคงทำหน้าที่ต่อไป
เมื่อมีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 258[2]ได้บัญญัติให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ความว่าสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติต้องให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ความเห็นก่อนพิจารณาประกาศใช้ องค์ประกอบ ที่มา อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ให้มีสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
สำหรับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชุดที่ 1 (พ.ศ. 2544 – 2547) ผู้ดำรงตำแหน่งประธานคนแรก คือ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชุดที่ 2 (พ.ศ. 2548 – 2551) ผู้ดำรงตำแหน่งประธาน คือ นายโคทม อารียา แต่ปัจจุบัน-สิงหาคม 2552 ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่รักษาการจนกว่าสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
โครงสร้างสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ |
องค์ประกอบของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวน 99 คน ได้รับเลือกจากบุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มในภาคเศรษฐกิจ ภาคสังคม ฐานทรัพยากรและผู้ทรงคุณวุฒิ ตามจำนวนที่กำ หนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ประกอบด้วย
1. กลุ่มในภาคเศรษฐกิจ จำนวน 50 คน
1.1 การผลิตด้านการเกษตร เช่น การทำนา การทำไร่ การทำสวน การเลี้ยงสัตว์ การเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช และสัตว์การประมง การแปรรูปสินค้าเกษตรชุมชน หรืองานเกษตรกรรมอื่น ๆ จำนวน 16 คน
1.2 การผลิตด้านการอุตสาหกรรม เช่น การทำเหมือง รวมทั้งการระเบิด หรือย่อยหิน การผลิตอาหาร เครื่องดื่ม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง การผลิตไม้ เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ การผลิตเคมีภัณฑ์ ยา ผลิตภัณฑ์ ปิโตรเลียม ยางธรรมชาติ แก้ว ปูนซีเมนต์ เซรามิค วัสดุก่อสร้าง อัญมณี เครื่องประดับ โลหะ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ ยานยนต์ และอะไหล่ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ หรือการผลิต อุตสาหกรรมอื่น ๆ จำนวน 17 คน
1.3 การผลิตด้านการบริการ เช่น กิจการด้านการคมนาคม การขนส่ง การสื่อสาร การโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ การนำเข้า- ส่งออก การค้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมภายในประเทศ การท่องเที่ยว การบริการทางกฎหมาย การบริการทางบัญชี การบริการ ทางสถาปัตยกรรม การบริการทางวิศวกรรม การก่อสร้าง การกีฬา และนันทนาการ ศิลปินและนักประพันธ์ ข้าราชการ ธุรกิจร้านอาหาร สื่อมวลชนหรือการบริการอื่น ๆ จำนวน 17 คน
2. กลุ่มในภาคสังคม ฐานทรัพยากรและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 49 คน
กลุ่มในภาคสังคม จำนวน 19 คน
2.1 การพัฒนาชุมชน จำนวน 2 คน
2.2 การสาธารณสุข จำนวน 2 คน
2.3 การศึกษา ศิลปวัฒนธรรมและศาสนา จำนวน 4 คน
2.4 การพัฒนาและสงเคราะห์คนพิการ จำนวน 2 คน
2.5 การพัฒนาเด็ก เยาวชน สตรีและผู้สูงอายุ จำนวน 4 คน
2.6 การพัฒนาแรงงาน จำนวน 4 คน
2.7 การคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 1 คน
กลุ่มในภาคฐานทรัพยากร จำนวน 16 คน
2.8 ฐานทรัพยากร เช่น ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ลุ่มน้ำ ทะเล อากาศ หรือความหลากหลายทางชีวภาพ จำนวน 10 คน
2.9 การพัฒนาระบบการเกษตร จำนวน 4 คน
2.10 การพัฒนาระบบการอุตสาหกรรม จำนวน 1 คน
2.11 การพัฒนาระบบการบริการ จำนวน 1 คน
กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 14 คน[3]
อำนาจหน้าที่และบทบาทของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
อำนาจหน้าที่
นอกจากอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 258 แล้ว พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 บัญญัติให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่หลัก ดังนี้
1. ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่เกี่ยวกับกับเศรษฐกิจและสังคมเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่บัญญัติในหมวด 5ของรัฐธรรมนูญ
2. ให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่นที่มีกฎหมายกำหนดให้เสนอแผนนั้นต่อสภาที่ปรึกษาฯ ก่อนพิจารณาประกาศใช้
3. ให้คำปรึกษาหรือความเห็นในเรื่องใดๆ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรและขอรับฟังความคิดเห็น เพื่อประกอบการ พิจารณา กำหนดนโยบาย ในเรื่องนั้น ซึ่งอาจกระทบถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมเป็นส่วนรวม
4.พิจารณาศึกษาและจัดทำรายงานเป็นข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่เห็นสมควรกำหนดเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย ด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
5. มีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยสมาชิกหรือบุคคลใด เพื่อทำการศึกษาหรือดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งของสภาที่ปรึกษาฯ ทั้งนี้ความเห็นของสภาที่ปรึกษาฯ ที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต้องจัดทำเป็นรายงานแสดงความคิดเห็นของสมาชิกทุกฝ่ายที่เสนอความเห็นทั้งในทางสนับสนุนและคัดค้านพร้อมทั้งเหตุผล และข้อดีข้อเสีย หรือผลกระทบ ของแนวทางการดำเนินการ ตามความเห็นที่เสนอ และเปิดเผยให้ สาธารณะชนทราบ เมื่อคณะรัฐมนตรี พิจารณาข้อเสนอแนะแล้ว ให้รายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการ เสนอต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติและเปิดเผยเหตุผลให้สาธารณชนทราบด้วย
บทบาท
1. พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
2. เป็นเวทีสะท้อนปัญหาสาธารณะ ลดปัญหาความขัดแย้งในสังคม
3. พัฒนากระบวนการเรียนรู้ ส่งเสริมการรวมกลุ่มให้กับภาคประชาชน
4. กระตุ้นให้ประชาชนมีสำนึกร่วมรับผิดชอบต่อสังคม
5. เป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้การกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศของรัฐบาล ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
6. พัฒนากระบวนการเรียนรู้มุ่งสู่เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความสมดุลและยั่งยืน
ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
1.เป็นองค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากบุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มในภาคต่าง ๆ ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาฯ ต่อคณะรัฐมนตรี
2.เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอแนะความเห็นในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
3. เป็นกลไกช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในสังคม ยุติปัญหาด้วยการปรึกษาหารือร่วมกัน
4.ประชาชนได้รับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะ ทั้งจากสภาที่ปรึกษาฯ ที่ได้เสนอต่อคณะ รัฐมนตรีและผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่สภาที่ปรึกษา ฯ ได้ให้ความเห็นไป[4]
ผลการดำเนินงาน
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แถลงผลการดำเนินงานของสมาชิกฯ ชุดที่ 2 ที่ได้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยได้เสนอความเห็นให้กับรัฐบาลที่ผ่านมาทั้งหมด 140 เรื่อง ซึ่งมีประมาณ 90% ที่รัฐบาลเห็นด้วยกับข้อคิดเห็น แต่นำไปปฏิบัติและเป็นนโยบายของรัฐบาลทั้งหมดหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้เรื่องสำคัญๆ ที่ได้เสนอให้รัฐบาล อาทิ โครงการรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง ทิศทางระบบพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมกับประเทศไทย ยุทธศาสตร์การเตรียมตัวของประเทศไทย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะเวลา 10 ปี ข้างหน้า เป็นต้น นอกจากนี้ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมารัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังรับฟังความเห็นของสภาที่ปรึกษาอยู่มาก และมีการลดขั้นตอนให้มีความกระชับขึ้น เพื่อให้เรื่องที่เสนอไปได้รับทราบและพิจารณา[5]
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพราะเป็นองค์กรหลักในการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน การติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลให้สอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ดำรงรักษาและส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
อ้างอิง
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2540. หน้า 34.
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2540. หน้า 225.
- ↑ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. โครงสร้างองค์กร. [ออนไลน์] สืบค้นได้จากhttp://www2.nesac.go.th/nesac/th/about/faq.php?myMenu=1 วันที่ 24 กรกฎาคม 2552.
- ↑ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. คำถามที่ถามบ่อย. [ออนไลน์] สืบค้นได้จากhttp://www2.nesac.go.th/nesac/th/about/faq.php?myMenu=1 วันที่ 24 กรกฎาคม 2552.
- ↑ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. สป.สรุปผลงาน 3 ปี เสนอแนวทางรัฐ 140 เรื่อง. [ออนไลน์]NewsCenter.Thursday, May 14, 2009 16:14. สืบค้นเมื่อ วันที่ 24 กรกฎาคม 2552.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
ความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 1 (พ.ศ. 2544–2548). กรุงเทพฯ : สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2548.
โครงการศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำดัชนีชี้วัดและประเมินภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ : รายงานฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2550.
ประมวลข้อบังคับ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2549.
พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2547. กรุงเทพฯ : สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2548.
พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2544... พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , กรุงเทพฯ , 2549.
รายงานประจำปี 2550 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2550.
บรรณานุกรม
99 คำถามกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2547.
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. [ออนไลน์] http://www2.nesac.go.th/nesac/th/home/ สืบค้นเมื่อ วันที่ 24 กรกฎาคม 2552.
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2546.
ดูเพิ่มเติม
ทำเนียบสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พุทธศักราช 2548. กรุงเทพฯ : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2549.
พรรณราย ขันธกิจ และอภิญญา ดิสสะมาน. บทบาทและหน้าที่ขององค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า , 2548
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ องค์กรสะท้อนปัญหา....จากประชาสู่รัฐ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2550.
สรุปความเห็นสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช..... . กรุงเทพฯ : สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2550.