ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ผู้เรียบเรียง พุทธชาติ ทองเอม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
สังคมของประเทศไทย พสกนิกรทั่วทั้งแผ่นดินมีความผูกพันทางจิตใจ มีความเคารพศรัทธาและจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นหาที่เปรียบมิได้ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาช้านาน นับตั้งแต่ชาวไทยได้สร้างบ้านแปงเมืองขึ้นมาเป็นราชอาณาจักรที่มีอำนาจเป็นปึกแผ่น ชาวไทยก็มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขคู่กับความเป็นชาติสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน และแม้กระทั่งต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันเป็นระบบ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้มีอำนาจอย่างสมบูรณ์เด็ดขาดแต่เพียงพระองค์เดียวในการปกครองประเทศ มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งประชาชนเข้ามามีสิทธิมีส่วนในการปกครองประเทศโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศนั้น รัฐธรรมนูญทุกฉบับทั้งในอดีตและฉบับปัจจุบันได้กำหนดพระราชอำนาจและพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญคือ ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้
อย่างไรก็ตาม พระราชกรณียกิจทางการเมืองจะต้องทรงปฏิบัติตามกฎหมายและจารีตประเพณี หรือธรรมเนียมการปฏิบัติ อาทิ ทรงตรากฎหมายตามที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ทรงแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ซึ่งการลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ เรื่องใดจะต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการด้วยเสมอ [๑] ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้อง จัดให้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการในกิจการซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงกระทำในฐานะประมุขของรัฐ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการนั้น ๆ ตามคำแนะนำและยินยอมของผู้รับสนองพระบรมราชโองการนั้นเอง และเมื่อเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองเกี่ยวกับราชการแผ่นดินที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการหรือทรงลงพระปรมาภิไธยนั้น ผู้รับสนอง พระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบและชี้แจงแสดงเหตุผลในการที่มีพระบรมราชโองการ เช่นว่านั้น [๒]
ความหมาย
คณิน บุญสุวรรณ ได้ให้ความหมาย “ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” ไว้ในหนังสือปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย (ฉบับสมบูรณ์) ว่า บุคคลที่รัฐธรรมนูญกำหนดบังคับให้ลงนามเพื่อแสดงความรับผิดชอบและรับทราบในการนำพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ไปดำเนินการให้เกิดประโยชน์สุขกับประชาชน ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งทรงใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงมีพระราชสถานะอยู่เหนือการเมือง ทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทั้งยังทรงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะฟ้องร้องมิได้อีกด้วย ดังนั้น ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของบ้านเมืองตามพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องมีบุคคลที่รัฐธรรมนูญกำหนดมารับสนองไปดำเนินการ และผลอันเกิดจากการดำเนินการตามพระบรมราชโองการเป็นประการใดย่อมเกิดแต่และเป็นความรับผิดชอบของผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้นเอง หาได้กระทบหรือระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทแต่ประการใดไม่ [๓]
ประมวล รุจนเสรี ได้ให้ความหมาย “ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” ไว้ในหนังสือเรื่องพระราชอำนาจว่า หมายถึง บุคคลที่ดำรงตำแหน่งให้เป็นผู้ถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการต้องรับผิดชอบในความถูกต้องของกระบวนการคิด พิจารณา หรือรูปแบบพิธี ในเรื่องที่ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลง พระปรมาภิไธยว่าถูกต้องตามกระบวนการนั้น ๆ แล้ว อาทิ กฎหมายต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากสภาแล้ว และรับผิดชอบต่อความถูกต้องของข้อความที่ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธย [๔]
ดังนั้น “ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” หมายถึง บุคคลที่ลงนามเพื่อแสดงความรับผิดชอบแทนพระมหากษัตริย์ ในเรื่องที่ได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการไปแล้วในฐานะของผู้ถวายคำแนะนำ
ประวัติความเป็นมาของการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในประเทศไทย
ในอดีตการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในประเทศไทยยังไม่เคยมีปรากฏ การตรากฎหมายแต่เดิมนั้นจะใช้ตราประทับ ดังเช่น ในกฎหมายตราสามดวงจะใช้ตราราชสีห์ คชสีห์และบัวแก้ว โดยพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยและไม่มีผู้ใดลงนามรับสนองพระบรม ราชโองการ การตรวจความถูกต้องใช้การตรวจตราประทับดังข้อความตอนท้ายของประกาศพระบรมราชปรารภกฎหมายตราสามดวงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า “...ครั้นชำระแล้วให้อาลักษณ์ชุบเส้นหมึกสามฉบับ ไว้ห้องเครื่องฉบับหนึ่ง ไว้หอหลวงฉบับหนึ่ง ไว้ ณ ศาลหลวงสำหรับลูกขุนฉบับหนึ่ง ปิดตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ บัวแก้ว ทุกเล่มเป็นสำคัญ ถ้าพระเกษม พระไกรสี เชิญพระสมุดพระราชกำหนดบทพระอัยการออกมาพิพากษาคดีใด ลูกขุนทั้งปวงไม่เห็นปิดตรา พระราชสีห์ พระคชสีห์ บัวแก้ว สามดวงนี้ไซร้ อย่าให้เชื่อฟังเอาเป็นอันขาดทีเดียว” ประเพณีที่ไม่มีการลงพระปรมาภิไธยและลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนี้ยึดถือกันเรื่อยมาจนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ [๕] ทำให้เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ พระราชทานให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้น ทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล จึงต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามหลัก The King can do no wrong
หลังจากนั้น การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการมาปรากฏในประกาศจัดระเบียบป้องกันอาณาจักร ซึ่งลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๗๕ โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ[๖] ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๗ บัญญัติว่า “การกระทำใด ๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ” [๗] แม้ในการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยก่อนคำปรารภและพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎรลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตอนท้ายของรัฐธรรมนูญ ธรรมเนียมการลงพระปรมาภิไธยและการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการก็ต้องปฏิบัติดังนี้มาจนถึงปัจจุบัน [๘]
ความสำคัญของการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการมีผลทำให้บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใช้บังคับได้ตามกฎหมาย หากไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว ตัวบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการนั้น ๆ ก็จะไม่มีผลเพราะมิได้ดำเนินการ [๙] ตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนในด้านตัวผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการซึ่งเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการที่ตนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้นเสมอ เพราะถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามคำแนะนำและยินยอมของบุคคลดังกล่าว ความรับผิดชอบดังกล่าวที่ว่านี้มี ๓ ประการ คือ [๑๐]
๑. รับผิดชอบในความถูกต้องของแบบพิธีหรือกระบวนการ โดยเรื่องที่จะขอให้ทรงลงพระปรมาภิไธยนั้นได้ผ่านแบบพิธีหรือกระบวนการมาโดยถูกต้องแล้ว เช่น กระบวนการตรากฎหมายต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากสภาแล้ว หรือกระบวนการสรรหาผู้หนึ่งผู้ใดให้มาดำรงตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใด เป็นต้น
๒. รับผิดชอบในข้อความ หรือข้อความในเอกสารที่ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธยนั้นถูกต้อง
๓. รับผิดชอบในสาระของข้อความ ซึ่งหมายความถึง การถวายคำแนะนำและยินยอมว่าจะทรงปฏิบัติอย่างไรในการบริหารราชการแผ่นดิน
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่าการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการมีความสำคัญเป็นอย่างมากตามจารีตประเพณีที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับทั้งในอดีตและฉบับปัจจุบันได้กำหนดพระราชอำนาจและพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ไว้ว่า ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ และผู้ใดจะละเมิดมิได้ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการในกิจการซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงกระทำในฐานะประมุขของรัฐ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการนั้น ๆ ตามคำแนะนำและยินยอมของผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ดังเช่นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่กำหนดเกี่ยวกับผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ไว้ในมาตรา ๑๙๕ ว่า [๑๑]
“บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้
บทกฎหมายที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วหรือถือเสมือนหนึ่งว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยพลัน”
จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตรา ๑๙๕ ชี้ให้เห็นถึงเรื่องที่จำเป็นต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ได้แก่ [๑๒]
๑. บรรดากฎหมายต่าง ๆ ที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา ได้แก่ รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ รวมทั้งที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหาร เช่น พระราชกำหนดและพระราชกฤษฎีกา เป็นต้น
๒. พระราชหัตถเลขา ได้แก่ เอกสารที่พระมหากษัตริย์มีไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
๓. พระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ อันเป็นราชการแผ่นดิน [๑๓] ได้แก่ คำสั่งของพระมหากษัตริย์ตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ ให้อำนาจไว้ เช่น พระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เป็นต้น
ทั้งนี้ ต้องเป็นบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา หรือพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินเท่านั้นที่ต้องมีการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ดังเช่น การประกาศใช้กฎหมายทุกฉบับรวมทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ไว้ด้วยข้อความว่าทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาเท่านั้น ส่วนพระราชหัตถเลขา หรือพระบรมราชโองการอื่นส่วนพระองค์ที่ไม่เกี่ยวกับราชการแผ่นดินซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยได้เองโดยไม่ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ อาทิ พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ พระบรมราชโองการสั่งข้าราชบริพาร ในราชสำนักที่ไม่ใช่ราชการแผ่นดิน พระบรมราชโองการเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้โดยเฉพาะว่าต้องมีการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เช่น การแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ที่สำคัญ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่จะต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการก็เพื่อเป็นการรับรองพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ว่าเป็นพระปรมาภิไธยอันแท้จริง และเพื่อให้พระมหากษัตริย์ไม่ต้องทรงรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงทำผิดไม่ได้นั่นเอง [๑๔]
ผู้มีหน้าที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ตามที่ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่ละเรื่อง แต่ละกรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด ดังเช่น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา ๑๙๕ กำหนดให้รัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน แต่มีข้อยกเว้นกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ได้แก่ ประธานรัฐสภาประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และประธานองคมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ดังนี้
๑. ฝ่ายบริหาร หมายถึง คณะบุคคลหรือตัวบุคคลซึ่งมีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย และรับผิดชอบในการบริหารและปกครองประเทศ ฝ่ายบริหารจะประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ที่เรียกว่าคณะรัฐมนตรีอันหมายถึงคณะบุคคลฝ่ายบริหารในระดับสูงสุดของรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ได้แก่ การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ [๑๕]
๒. ฝ่ายนิติบัญญัติ หมายถึง ตัวแทนของประชาชนที่ไปทำหน้าที่ออกกฎหมาย พิจารณางบประมาณของแผ่นดิน เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาของแผ่นดินและประเทศชาติ ฝ่ายนิติบัญญัติประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ได้แก่
๒.๑ การแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ให้นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ [๑๖]
๒.๒ การแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ [๑๗]
๓. อื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งตำแหน่งประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และตำแหน่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการปกครองประเทศ ได้แก่
๓.๑ การแต่งตั้งประธานศาลปกครองสูงสุด ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ [๑๘]
๓.๒ การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน และอัยการสูงสุด ให้ประธานวุฒิสภา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ [๑๙]
๓.๓ การแต่งตั้งประธานองคมนตรีหรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตำแหน่งการแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมกฏมนเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ให้ประธานรัฐสภา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ [๒๐]
๓.๔ การแต่งตั้งองคมนตรีอื่นหรือให้องคมนตรีอื่นพ้นจากตำแหน่ง ให้ประธานองคมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ [๒๑]
จากที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการมานั้นมีตัวอย่างกรณีของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ โดยทรงมีกระแสพระราชดำรัสในการพระราชทานรัฐธรรมนูญลงมาก่อนที่จะทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ โดยเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้นบางประการ อาทิ ตามมาตรา ๑๐๗ วรรคสองแห่งร่างรัฐธรรมนูญนี้ บัญญัติให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภานั้น ไม่ทรงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะประธานองคมนตรีเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย ตามความในมาตรา ๑๖ เป็นการขัดกับหลักที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง (ในระบอบประชาธิปไตย) ทั้งจะทำให้ประธานองคมนตรีอยู่ในสภาพเสมือนเป็นองค์กรทางการเมือง ซึ่งขัดกับมาตรา ๑๗ ด้วย อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาลงพระปรมาภิไธย และพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๑๗ และต่อมาอีก ๓ วัน คือ วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๑๗ สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภามีการประชุมครั้งที่ ๑ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้อ่านบันทึกพระราชกระแสเรื่องร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ ให้สมาชิกฯ ได้รับทราบ และต่อมารัฐบาลได้ดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช.... เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติรับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวในเวลาต่อมา จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ เป็นรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวในขณะนี้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานคำแนะนำเพื่อแก้ไข แต่มิได้ทรงใช้พระราชอำนาจในการยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว อาจเนื่องจากทรงเล็งเห็นสภาวการณ์ในขณะนั้นมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หากทรงใช้พระราชอำนาจในการยับยั้งจะทำให้กระบวนการประกาศใช้ล่าช้าออกไป อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาติได้ ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการประกาศใช้ไปก่อน แล้วจึงทรงแนะนำให้มีการแก้ไขเพิ่มในส่วนที่ไม่เหมาะสมในภายหลัง [๒๒]
ดังนั้น การที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นผู้มีหน้าที่ในการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น มีข้อควรพิจารณาดังนี้ คือ [๒๓]
๑. ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการนั้นๆ โดยตรง
๒. ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นเจ้าของเรื่องหรือเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะที่รู้เรื่องดังกล่าวดี
๓. ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะต้องไม่เป็นบุคคลที่ต้องรับผิดชอบในทางการเมืองหรืออาจพาดพึงถึงเบื้องพระยุคลบาท
อย่างไรก็ตาม การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่ารัฐมนตรีคนใดต้องเป็นผู้ลงนาม ดังนั้น ในทางกฎหมายรัฐมนตรีคนใดลงนามรับสนองพระบรมราชโองการก็มีผลสมบูรณ์ แต่ในธรรมเนียมปฏิบัติ ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ [๒๔]
อ้างอิง
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
คณะกรรมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐. ธ ทรงเป็นร่มฉัตรรัฐสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ๒๕๕๐.
จเร พันธุ์เปรื่อง. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐. รัฐสภาสาร ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๖, มิถุนายน ๒๕๔๒. ประมวล รุจนเสรี. พระราชอำนาจ. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., ๒๕๔๕.
พูนศักดิ์ วรรณพงษ์. พระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย, ๒๕๓๘.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สรรสาระรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๔๘.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์, ๒๕๕๐.
บรรณานุกรม
คณิน บุญสุวรรณ. ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๓.
________. ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย (ฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, ๒๕๔๘.
คลังปัญญาไทย. ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ. [ออนไลน์] สืบค้นจากhttp://www.panyathai.or.th/wiki/index.php วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๒๐ น.
ความสำนึกกับการปฏิบัติ. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://power.manager.co.th/86-102.html วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๓๐ น.
จเร พันธุ์เปรื่อง. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐. รัฐสภาสาร ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๖, มิถุนายน ๒๕๔๒.
นันทวัฒน์ บรมานันท์. การรับสนองพระบรมราชโองการ. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.pub-law.net/article/ac170844.html วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๐๐ น.
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. สารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก. (การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ). [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://guru.sanook.com/encyclopedia วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๒๐ น.
ประกาศจัดระเบียบป้องกันอาณาจักร. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๔๙ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๗๕, หน้า ๑๙๐-๑๙๔.
ประมวล รุจนเสรี. พระราชอำนาจ. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., ๒๕๔๕.
สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยตามรัฐธรรมนูญ. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.oursiam.net/index.php?module=content&submodule=view&category=1&id=197 วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๑.๓๐ น.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สรรสาระรัฐธรรมนูญ. กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๔๘.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์, ๒๕๕๐.
ดูเพิ่มเติม
คณิน บุญสุวรรณ. ปทานุกรมศัพท์รัฐสภาและการเมืองไทย (ฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, ๒๕๔๘.
ความสำนึกกับการปฏิบัติ. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://power.manager.co.th/86-102.html วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๓๐ น.
จเร พันธุ์เปรื่อง. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐. รัฐสภาสาร ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๖, มิถุนายน ๒๕๔๒.
นันทวัฒน์ บรมานันท์. การรับสนองพระบรมราชโองการ. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.pub-law.net/article/ac170844.html วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๐๐ น.
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ. สารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก. (การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ). [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://guru.sanook.com/encyclopedia วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๒๐ น.
ประมวล รุจนเสรี. พระราชอำนาจ. [ออนไลน์] สืบค้นจากเว็บไซด์คลังปัญญาไทย http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๑๒ น.
ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว : บทเรียนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999645.html วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๓๐ น.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐. กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์, ๒๕๕๐.