เบี้ยประชุม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง จันทมร สีหาบุญลี

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เบี้ยประชุม เป็นเงินค่าตอบแทนเพิ่มที่บุคคลได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่พิเศษ นอกจากงานประจำที่ปฏิบัติอยู่แล้ว ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่พิเศษนั้นเป็นการทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติตามแต่บทบาทหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้ง หรือได้รับการแต่งตั้งตามบัญญัติแห่งกฎหมาย จะโดยตำแหน่งบทบาทหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติของสมาชิกรัฐสภาในฐานะกรรมาธิการ หรือโดยตำแหน่งหน้าที่บุคลากรภาครัฐหรือภาคเอกชน หรือ ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกัน ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วย เลขานุการ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แล้วแต่กรณี ให้มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน หรือรายครั้ง และอัตราเบี้ยประชุมจำนวนเท่าใด ทั้งนี้ตามแต่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ผู้ได้รับการแต่งตั้งนั้น เกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่เป็นการเฉพาะแล้วแต่กรณี

ความหมายของเบี้ยประชุม

เบี้ยประชุม ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นคำนาม หมายถึง เงินค่าตอบแทนที่ให้แก่กรรมการ เป็นต้น ที่เข้าร่วมประชุม

เบี้ยประชุม ตามความหมายของพระราชกฤษฎีกา เบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. ๒๕๔๓ หมายถึง ค่าตอบแทนที่ทางราชการจ่ายให้แก่กรรมการและอนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายและมาประชุม

ประเภทของเบี้ยประชุม

ตามกฎหมายได้แบ่งประเภทเบี้ยประชุมออกเป็น ๒ ประเภทคือ

๑.เบี้ยประชุมเป็นรายเดือน คือ เบี้ยประชุมที่จ่ายเป็นรายเดือนให้กับคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย และมีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบสูง ปฏิบัติงานในด้านการกำหนดนโยบายอันมีผลกระทบต่อการบริหาร เศรษฐกิจ หรือสังคมในภาพรวมของประเทศ ตามรายชื่อคณะกรรมการและอัตราเบี้ยประชุมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๑ เบี้ยประชุมเป็นรายเดือนจะจ่ายให้เฉพาะเดือนที่มีการประชุมและกรรมการที่เข้าร่วมประชุมเท่านั้น

๒.เบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง คือ เบี้ยประชุมที่จ่ายเป็นรายครั้งสำหรับคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งและมีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะต้องประชุมกันตามเนื้อหาและความสำคัญของภารกิจที่คณะกรรมการชุดนั้นรับผิดชอบ โดยเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งนี้จะจ่ายให้กับคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุมเป็นครั้ง ๆ เท่านั้น อัตราเบี้ยประชุมเป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม

ผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม หมายถึง บุคคลหรือคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีสถานะตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๕ ดังนี้

คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยประกาศพระบรมราชโองการ หรือโดยประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัดซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

กรรมการ หมายความว่า กรรมการในคณะกรรมการ แต่ไม่รวมถึงกรรมการซึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนอย่างอื่นในหน้าที่นั้น ๆ โดยเฉพาะ

คณะอนุกรรมการ หมายความว่า คณะอนุกรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยประกาศพระบรมราชโองการ หรือโดยประธานรัฐสภา รัฐมนตรีเจ้าสังกัด ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการ

อนุกรรมการ หมายความว่า อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการ แต่ไม่รวมถึงอนุกรรมการซึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนอย่างอื่นในหน้าที่นั้น ๆ โดยเฉพาะ

ที่ปรึกษาคณะกรรมการ หมายถึง ที่ปรึกษาซึ่งได้รับแต่งตั้งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือโดยประกาศพระบรมราชโองการให้เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ

ตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. ๒๕๔๗ มีกรณียกเว้นตาม มาตรา ๔ สำหรับกรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือโดยประกาศพระบรมราชโองการ และบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือประกาศบรมราชโองการนั้นกำหนดเบี้ยประชุมหรือผลประโยชน์ตอบแทนของบุคคลดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะแล้ว

การเบิกจ่ายเบี้ยประชุม

การเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เบิกจ่ายเงินลดหลั่นกันไปตามแต่สถานะที่ได้รับการแต่งตั้ง และตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุม พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๙ ประธานกรรมการหรือประธานอนุกรรมการที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ให้ได้รับเบี้ยประชุมเพิ่มขึ้นอีกครึ่งหนึ่งในสี่ของอัตราเบี้ยประชุมที่กำหนด ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือประธานอนุกรรมการไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ให้ผู้ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้รับเบี้ยประชุมในอัตราเดียวกับประธานกรรมการหรือประธานอนุกรรมการที่ข้างต้น

ส่วนรองประธานกรรมการหรือรองประธานอนุกรรมการได้ที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ให้ได้รับเบี้ยประชุมเพิ่มขึ้นอีกครึ่งหนึ่งในแปดของอัตราเบี้ยประชุมที่กรรมการหรืออนุกรรมการมีสิทธิได้รับ

กรรมการหรืออนุกรรมการคณะหนึ่งที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประขุมเป็นรายครั้ง ให้ได้รับเบี้ยประชุมสำหรับการประชุมนั้น เพียงครึ่งเดียว ส่วนที่ปรึกษาให้ได้รับเบี้ยประชุมเช่นเดียวกับกรรมการหรืออนุกรรมการแล้วแต่กรณี

สำหรับผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ได้เป็นเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการมีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมอัตราเดียวกันกับกรรมการหรืออนุกรรมการแล้วแต่กรณี โดยเลขานุการมีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเพียงคนเดียว ส่วนผู้ช่วยเลขานุการรับเบี้ยประชุมได้ไม่เกินสองคน

นอกจากนี้ผู้มีอำนาจอนุมัติการเบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุม ได้แก่ หัวหน้าส่วนราชการ และผู้มีสิทธิเบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุม ได้แก่ กรรมการ อนุกรรมการ และที่ปรึกษา ที่ได้รับการแต่งตั้งและมาประชุม ในกรณีผู้ได้รับการแต่งตั้งไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้จะต้องแต่งตั้งผู้แทนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจึงจะเบิกค่าเบี้ยประชุมได้


อัตราการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมรายครั้ง

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดรายชื่อคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน และอัตราเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน และเป็นรายครั้งสำหรับกรรมการ อนุกรรมการ แลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. ๒๕๔๗ ดังนี้

ประเภท อัตราไม่เกิน (บาท : คน : ครั้ง)
ประธานกรรมการให้ได้รับเบี้ยประชุมตามมาตรา ๙ ๑,๕๐๐
กรรมการในคณะกรรมการตามมาตรา ๖ (๒) ๑,๒๐๐
เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการตามมาตรา ๖ ๑,๒๐๐
ประธานอนุกรรมการให้ได้รับเบี้ยประชุมตามมาตรา ๙ ๑,๐๐๐
อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๗ (๒) ๘๐๐
เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๗ ๘๐๐


หลักฐานการเบิกจ่ายเบี้ยประชุม ประกอบด้วย

๑.เรื่องเดิมการขออนุมัติจัดการประชุมและอนุมัติงบประมาณค่าเบี้ยประชุม

๒.คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการหรืออนุกรรมการ

๓.รายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมพร้อมลายเซ็นต์

๔.รายงานการประชุม

๕.ใบสำคัญรับเงิน

- ชื่อ สกุล และที่อยู่ของผู้รับเงิน

- วัน เดือน ปี ที่รับเงิน

- รายละเอียดการเบิกจ่ายเงิน

- จำนวนเงิน (ตัวเลขและตัวหนังสือ)

- ลายเซ็นต์ชื่อผู้รับเงิน

เบี้ยประชุมของสมาชิกรัฐสภา

สมาชิกรัฐสภาเป็นอีกกลุ่มบุคคลหนึ่งที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ หรือได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ หรืออนุกรรมการจากผู้มีอำนาจที่มีสมาชิกรัฐสภานั้นสังกัดอยู่ โดยนัยแห่งบทบาทอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับวงงานรัฐสภา ให้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งเฉพาะครั้งที่มาประชุมเท่านั้น และมีสิทธิรับเบี้ยประชุมได้เพียงครั้งเดียว เว้นแต่กรณีที่มีการประชุมอื่นด้วยในวันเดียวกัน ให้ได้รับเบี้ยประชุมในวันนั้นได้ไม่เกินสองครั้ง

ตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๗

อัตราการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมของสมาชิกรัฐสภาในฐานะกรรมาธิการหรืออนุกรรมาธิการ ดังนี้

ประเภท อัตราไม่เกิน บาท/คน/ครั้ง
กรรมาธิการตามมาตรา ๗ ๑,๐๐๐
อนุกรรมาธิการตามมาตรา ๗/๑ ๕๐๐

การรับเบี้ยประชุมในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการของสมาชิกรัฐสภา ประธานกรรมาธิการ และกรรมาธิการให้ได้รับเบี้ยประชุมจำนวนเท่ากัน ส่วนประธานอนุกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการให้ได้รับเบี้ยประชุมจำนวนเท่ากัน

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

ประกาศ/ระเบียบ/ข้อบังคับ

- ข้อบังคับว่าด้วยการลา การจ่ายเงินประจำตำแหน่ง และค่าพาหนะเดินทางของสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร กับเบี้ยประชุมของกรรมาธิการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๕

- ข้อบังคับว่าด้วยการลา การจ่ายเงินประจำตำแหน่ง และค่าพาหนะเดินทางของสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร กับเบี้ยประชุมของกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๔๙๕

- ข้อบังคับสภาผู้แทนว่าด้วยการลา การจ่ายเงินประจำตำแหน่ง และค่าพาหนะเดินทางของสมาชิกสภาผู้แทน กับเบี้ยประชุมของกรรมาธิการสภาผู้แทน (ฉะบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๑

- ข้อบังคับวุฒิสภาว่าด้วยการลา การจ่ายเงินประจำตำแหน่ง และค่าพาหนะเดินทางของสมาชิกวุฒิสภา กับเบี้ยประชุมของกรรมาธิการ (ฉะบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๑

- ข้อบังคับพฤฒสภาว่าด้วยการลา การจ่ายเงินประจำตำแหน่ง และค่าพาหนะเดินทางของสมาชิกพฤฒสภา และเบี้ยประชุมของกรรมาธิการพฤฒสภา พ.ศ. ๒๔๙๐

- ข้อบังคับสภาผู้แทนว่าด้วยการลา การจ่ายเงินประจำตำแหน่ง และค่าพาหนะเดินทางของสมาชิกสภาผู้แทน กับเบี้ยประชุมของกรรมาธิการสภาผู้แทน พ.ศ. ๒๔๙๐

- ข้อบังคับสภาว่าด้วยการลา การลดเงินเดือน ค่าพาหนะเดินทางของสมาชิกสภา และเบี้ยประชุมของกัมมาธิการสภาผู้แทนราสดร (ฉบับที่ ๕) พุทธศักราช ๒๔๘๖

- ข้อบังคับสภาว่าด้วยการลา การลดเงินเดือน ค่าพาหนะเดินทางของสมาชิกสภา และเบี้ยประชุมของกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๔๘๕

- ข้อบังคับแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับว่าด้วยการลา การลดเงินเดือน ค่าพาหนะเดินทางของสมาชิกสภา และเบี้ยประชุมของกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร

พระราชบัญญัติ

- พระราชบัญญัติเงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๕๑๘

- พระราชบัญญัติเงินประจำตำแหน่ง เงินค่ารับรองค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเบี้ยประชุมของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๕๑๑

- พระราชบัญญัติเงินประจำตำแหน่ง และค่าพาหนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับเบี้ยประชุมของกรรมาธิการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๐

- พระราชบัญญัติเงินประจำตำแหน่ง และค่าพาหนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับเบี้ยประชุมของกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๔๙๕

- พระราชบัญญัติเงินประจำตำแหน่ง และค่าพาหนะของสมาชิกวุฒิสภา และสภาผู้แทน กับเบี้ยประชุมของกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๔๙๐

- พระราชบัญญัติเงินประจำตำแหน่ง และค่าพาหนะของสมาชิกพฤฒสภา และสภาผู้แทน กับเบี้ยประชุมของกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๔๙๐

พระราชกฤษฎีกา

- พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐

- พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๗

- พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. ๒๕๔๗

- พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๒

- พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๑

- พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๗

- พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเบี้ยประชุมของกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๕๓๔

- พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๓

- พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. ๒๕๒๓

- พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเบี้ยประชุมของกรรมาธิการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๑

- พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเบี้ยประชุมของกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๕๒๐

- พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙

- พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. ๒๕๑๙

- พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเบี้ยประชุมของกรรมาธิการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๑๗

- พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งของสมาชิกสภานิติบัญญัติ และเบี้ยประชุมของกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๕๑๖

- พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและเบี้ยประชุมของกรรมาธิการ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๘

- พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเบี้ยประชุมของกรรมาธิการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๕

- พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. ๒๕๐๔

- พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเบี้ยประชุมของกรรมาธิการ พ.ศ. ๒๕๐๒

- พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๕

- พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๔๙๔

- พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. ๒๔๙๑

- พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมกัมการ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๖

- พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเบิกจ่ายเบี้ยปะชุมกรรมการ พุทธศักราช ๒๔๘๐


บรรณานุกรม

สมฤทธิ์ แก้วอาจ (๒๕๒๙). “บทความ เรื่อง เงินประจำตำแหน่งและผลตอบแทนของสมาชิกรัฐสภา และคณะกรรมาธิการ”. ปีที่ ๓๔ ฉบับที่ ๗ เดือน ก.ค. ๒๕๒๙ หน้า ๗๔ – ๗๗.

“พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. ๒๕๔๗”. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๗๘ ก ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ หน้า ๑

“พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐”. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๖๙ ก ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๐ หน้า ๑๕

“พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๗”. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๖๗ ก ลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๗ หน้า ๑

“พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๔๘”. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๘ ก ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๘ หน้า ๑

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดรายชื่อคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน และอัตราเบี้ยประชุมเป็นรายเดือน และเป็นรายครั้งสำหรับกรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ พ.ศ. ๒๕๔๑ ลงวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๑