งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน
ผู้เรียบเรียง อัญชลี จวงจันทร์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
งบประมาณแผ่นดิน หมายถึง แผนเกี่ยวกับการใช้จ่ายของรัฐบาลและจัดหารายรับให้เพียงพอกับการใช้จ่ายในรอบระยะเวลาหนึ่ง โดยปกติมีระยะเวลา ๑ ปี ดังนั้น จึงเรียกว่า งบประมาณแผ่นดินประจำปี ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ ๑ ตุลาคมของทุกปีไปจนถึงวันที่ ๓๐ กันยายนของปีถัดไป สำนักงบประมาณแผ่นดินเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำงบประมาณแผ่นดินและนำเสนอเพื่อพิจารณา เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงตราออกมาเป็นพระราชบัญญัติงบประมารรายจ่ายประจำปี เพื่อใช้บังคับต่อไป
การจัดทำงบประมาณแผ่นดินเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้รัฐบาลมีการวางแผนที่จะดำเนินการไว้ล่วงหน้า และรายจ่ายของรัฐบาลเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์รวม การวางแผนการใช้จ่ายและการหารายได้จะทำให้สามารถคาดคะเนสภาพเศรษฐกิจในปีต่อไปได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้รัฐบาลบริการการคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในขอบเขตของงบประมาณที่จัดทำขึ้น
ความหมายและความสำคัญ
งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน คือ เงินของแผ่นดินที่กฎหมายอนุญาตให้รัฐบาลนำไปใช้จ่ายในการบริหารราชการแผ่นดิน และรวมทั้งที่องค์กรอื่น ๆ ของรัฐนำไปใช้จ่ายตามอำนาจหน้าที่และภารกิจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินนี้ ได้มาจากภาษีอากรของประชาชน โดยผ่านความเห็นชอบหรือขออนุญาตจากตัวแทนของประชาชนคือรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาผู้แทนราษฎรก่อน ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติการใช้งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ เรียกว่า พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ
งบประมาณรายจ่ายเป็นจำนวนเงินที่อนุญาตให้จ่ายหรือให้ก่อหนี้ผูกพันได้ ตามวัตถุประสงค์และภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ มาตรา ๔ กำหนดหลักการของงบประมาณแผ่นดิน และการจัดทำงบประมาณแผ่นดินไว้ดังนี้
๑. งบประมาณรายจ่ายเป็นอำนาจการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของรัฐบาลที่รัฐสภาได้อนุญาตให้ไว้ในรูปของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งให้รัฐบาลกระทำได้ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรืออนุญาตไว้เท่านั้น
๒. การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีจะกระทำได้เฉพาะภายในงบประมาณนั้น ๆ เมื่อล่วงพ้นปีงบประมาณไปแล้วจะไม่ถือเป็นการจ่ายเงินในระบบงบประมาณแผ่นดิน กล่าวคือ ต้องนำส่งคืนคลัง เว้นแต่จะได้ดำเนินการโดยวิธีการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ว่าด้วยการเงิน การคลังและงบประมาณ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐[1] หมวด ๘ ว่าด้วยการเงินการคลังและงบประมาณยังได้กำหนดบทบัญญัติว่าด้วยงบประมาณมีอยู่ ๔ ลักษณะ คือ งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณในเหตุจำเป็นที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบ งบกลาง และเงินนอกงบประมาณ ซึ่งกำหนดในมาตรา ๑๖๖ – ๑๗๐ โดยสรุปดังนี้
๑. มาตรา ๑๖๖ งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน
๒. มาตรา ๑๖๗ ว่าด้วยเรื่องร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณจะต้องมีเอกสารประกอบ ซึ่งต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับประมาณการรายรับ กำหนดวัตถุประสงค์กิจกรรม แผนงานและโครงการในแต่ละรายจ่ายงบประมาณ แสดงฐานะทางการคลังของประเทศเกี่ยวกับภาพรวมจากการใช้จ่ายและการจัดหารายได้ เป็นต้น
หากรายจ่ายใดไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐได้โดยตรง ให้จัดไว้ในรายการรายจ่ายงบกลาง โดยต้องแสดงเหตุผลและความจำเป็นในการกำหนดงบประมาณรายจ่ายงบกลางนั้นด้วย
งบกลางนี้เป็นงบประมาณที่กำหนดขึ้นเพื่อความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ก็มีหลักเรื่องงบกลางนี้เช่นกัน แต่เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้จ่ายงบกลางอย่างไม่มีวินัย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงได้บัญญัติให้ต้องแสดงเหตุผลและความจำเป็นในการกำหนดงบประมาณรายจ่ายงบกลางนั้นไว้ด้วย
๓. มาตรา ๑๖๘ สภาผู้แทนราษฎรจะต้องวิเคราะห์และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน ๑๐๕ วัน นับจากวันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร ถ้าไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาถือว่าเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร ถ้าไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาถือว่าเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้นและให้เสนอต่อวุฒิสภาภิจารณาภายในยี่สิบวันนับจากวันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึง หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น นายกรัฐมนตรีจะต้องนำทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป
๔. มาตรา ๑๖๙ รายจ่ายแผ่นดิน โดยปกติจะทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ต่อไป หรือในกรณีที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือการรบ ซึ่งอาจทำให้รัฐไม่สามารถใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้สำหรับราชการหรือรัฐวิสาหกิจไปใช้ในกิจการที่แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้
๕. มาตรา ๑๗๐ เงินรายได้ของหน่วยงานของรัฐใดที่ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินให้หน่วยงานของรัฐนั้นทำรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินดังกล่าว เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อสิ้นปีงบประมาณทุกปี และให้คณะรัฐมนตรีทำรายงานเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป การใช้จ่ายเงินรายได้ดังกล่าวตั้งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังตามหมวดนี้ด้วย
จากที่กล่าวมาข้างต้น เงินที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณ กล่าวคือ เป็นเงินรายได้ของหน่วยงานที่ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน หรือที่เรียกว่า “เงินนอกงบประมาณ” การทำรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินดังกล่าว จะเป็นการป้องกันไม่ให้นำเงินไปใช้อย่างไม่มีวินัย หรือเพื่อหวังผลทางการเมือง เป็นต้น ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า “งบประมาณรายจ่าย” เป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่ว่าด้วยการกำหนดเงินแผ่นดินที่ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนของประชาชนอนุญาตให้ฝ่ายบริหารนำไปใช้จ่ายในแต่ละปีงบประมาณ ภายใต้ขอบเขตเงื่อนไขและวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินแผ่นดินตามงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น และหมายรวมถึงการตั้งเงินรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังของปีงบประมาณก่อนด้วย การกำหนดงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปีจะมีกฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณเป็นข้อบังคับ กฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณในที่นี้ หมายรวมถึง ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย
กฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ เป็นกฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นเพื่อกำหนดจำนวนเงินอย่างสูงที่อนุญาตให้รัฐบาลจ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันได้ภายในระยะเวลา ๑ ปี นับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคมของปีหนึ่งถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ของปีถัดไป เป็นกฎหมายที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณงบกลางงบประมาณรายจ่ายของกระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐว่าแต่ละแห่งจะได้งบประมาณเป็นจำนวนเงินเท่าใด และนำไปใช้ในเรื่องใด โครงการใด เป็นต้น
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ (รวมฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๒, ๓, ๔, ๕, ๖)
ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ (แก้ไขเพิ่มเติม) กำหนดในมาตรา ๕ ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัติและให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ทั้งนี้ตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับสำนักนายกรัฐมนตรี หรือกระทรวงการคลังแล้วแต่กรณี
งบประมาณของส่วนราชการ
งบประมาณของส่วนราชการ ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ (รวมฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๒, ๓, ๔, ๕, ๖) กำหนดไว้ว่า ให้หัวหน้าส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่งบประมาณ มีหน้าที่เกี่ยวกับงบประมาณของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจนั้น (มาตรา ๑๒) และให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดของส่วนราชการมีหน้าที่รับผิดชอบในการยื่นงบประมาณประจำปีของส่วนราชการต่อผู้อำนวยการภายในเวลากำหนด (มาตรา ๑๓) นอกจากนั้น ในการโอนงบประมาณรายจ่ายกำหนดไว้ให้ส่วนราชการตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จะโอนหรือนำไปใช้สำหรับส่วนราชการอื่นมิได้เว้นแต่ (๑) มีพระราชบัญญัติให้โอนหรือนำไปใช้ได้ (๒) ในกรณีที่มีพระราชกฤษฎีการวมหรือโอนส่วนราชการเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะมีผลเป็นการจัดตั้งส่วนราชการขึ้นใหม่หรือไม่ก็ตามให้โอนงบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการที่ถูกโอน หรือรวมเข้าด้วยกันเป็นของส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่รับโอนหรือรวมเข้าด้วยกัน หรือส่วนราชการแล้วแต่กรณี ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (มาตรา ๑๘) สำหรับส่วนราชการตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พระราชบัญญัติโอนเงินงบประมาณรายจ่ายหรือพระราชกฤษฎีกา จะโอนหรือนำไปใช้ในรายการอื่นมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการ แต่ผู้อำนวยการจะอนุญาตมิได้ในกรณีที่เป็นผลให้เพิ่มเติมรายจ่ายประเภทเงินราชการลับหรือเป็นงานหรือโครงการใหม่เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (มาตรา ๑๙)
การควบคุมงบประมาณ ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๕ (รวมฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) กำหนดไว้ดังนี้
ให้รัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมงบประมาณเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย (มาตรา ๒๑) และกำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจเรียกให้ส่วนราชการเสนอ ข้อเท็จจริงตามที่เห็นสมควร และให้มีอำนาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสรรพสมุด บัญชี เอกสาร และหลักฐานต่าง ๆ ของส่วนราชการ นอกจากนั้นในกรณีมีความจำเป็นและเร่งด่วน (มาตรา ๒๒) และให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจอนุมัติให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมก่อนได้รับเงินประจำงวดหรืออนุมัติให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมได้ (มาตรา ๒๓ วรรค ๓) นอกจากนั้น เงินที่ส่วนราชการได้รับเป็นกรรมสิทธิ์ไม่ว่าจะได้รับตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับ หรือได้รับชำระตามอำนาจหน้าที่หรือสัญญาหรือได้รับจากการให้ใช้ทรัพย์สินหรือเก็บดอกผลจากทรัพย์สินของราชการ ให้ส่วนราชการที่ได้รับเงินนั้นนำส่งคลังตามระเบียบหรือข้อบังคับที่รัฐมนตรีกำหนด เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ในส่วนของเงินที่มีผู้มอบให้โดยมีวัตถุประสงค์ให้ส่วนราชการใช้จ่ายในกิจการของส่วนราชการ ให้ส่วนราชการจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันภายในวงเงินที่ได้รับนั้นได้ โดยไม่ต้องนำส่งคลัง เช่นเดียวกับเงินที่ได้รับตามโครงการช่วยเหลือหรือร่วมมือกับรัฐบาลต่างประเทศ องค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลไม่ว่าจะเป็นเงินให้กู้หรือให้เปล่า ที่ไม่ต้องนำส่งคลังก็ได้ (มาตรา ๒๔)
ลักษณะของงบประมาณ กำหนดไว้ในมาตรา ๘, ๙ และมาตรา ๙ ทวิ โดยกำหนดไว้ว่า งบประมาณประจำปีที่เสนอต่อรัฐสภานั้น โดยปกติจะประกอบด้วย คำแถลงประกอบงบประมาณแสดงฐานะและนโยบายการคลังและการเงิน สาระสำคัญของงบประมาณและความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง รายรับรายจ่ายเปรียบเทียบ คำอธิบายเกี่ยวกับประมาณการรายรับ คำชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง รายงานการรับจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้เพื่อช่วยราชการ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นต้น (มาตรา ๘)
การเสนองบประมาณ ถ้าประมาณการรายรับประเภทรายได้ตามอำนาจกฎหมายที่มีอยู่แล้วเป็นจำนวนต่ำกว่างบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้งให้แถลงวิธีหาเงินส่วนที่ขาดดุลย์ต่อรัฐสภา แต่ถ้าเป็นจำนวนสูงกว่าก็ให้แถลงวีที่จะจัดการแก่ส่วนที่เกินดุลย์นั้นในทางที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง (มาตรา ๙) และเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมใช้บังคับแล้ว หรือเมื่อมีกรณีที่ต้องใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ล่วงแล้วไปพลางก่อน ถ้ารายจ่ายสูงกว่ารายได้ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินได้ตามความจำเป็น แต่ในการกู้เงินในปีหนึ่ง ๆ ต้องไม่เกินร้อยละยี่สิบของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ล่วงแล้วมา และร้อยละแปดสิบของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนต้นเงินกู้ (มาตรา ๙ ทวิ)
หลักเกณฑ์และกระบวนการในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้กำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
๑.การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน ๑๐๕ วัน นับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร ถ้าไม่เสร็จภายในกำหนด โดยมีวาระการพิจารณา ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ เป็นวาระพิจารณาหลักการ : ในการรับหรือไม่รับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยมีรายละเอียดการใช้จ่ายต่าง ๆ ตามเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เสนอแนบมาด้วย ดดยถ้าวาระที่พิจารณาแล้วไม่รับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ เป็นอันตกไป เมื่อพิจารณาแล้วรับหลักการก็จะนำเข้าสู่วาระที่สอง
วาระที่ ๒ ขั้นกรรมาธิการ : สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแปรญัตติเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการมิได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายได้ แต่ต้องมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพัน ดังนี้
๑) เงินส่งใช้ต้นเงินกู้
๒) ดอกเบี้ยเงินกู้
๓) เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย
วาระที่ ๓ เป็นวาระพิจารณารับร่างพระราชบัญญัติทั้งฉบับ : เมื่อการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีในวาระสองผ่านไปแล้ว ในการพิจารณาในวาระที่ ๓ จะเป็นการพิจารณารับหรือไม่รับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งฉบับ เมื่อพิจารณาแล้วไม่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเป็นอันตกไป หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบรับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป
๒.การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของวุฒิสภา
๑) วุฒิสภาต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน ๒๐ วันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณนั้นมาถึงวุฒิสภา โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ มิได้ ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวถือว่าวุฒิสภาให้ความเห็นชอบในทางปฏิบัติ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ในวาระที่ ๑ แล้ว วุฒิสภาจะตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นพิจารณาไปพร้อม ๆ กับสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งร่างพระราชบัญญัติงบประมาณนั้นมายังวุฒิสภา ประธานวุฒิสภาจะส่งร่างพระราชบัญญัติงบประมาณนั้นให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน ๑๕ วัน (ดูข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ข้อ ๑๕๔ – ๑๕๕)
๒) การพิจารณาของวุฒิสภามี ๒ กรณี คือ เห็นชอบและไม่เห็นชอบ เมื่อวุฒิสภาพิจารณาแล้วไม่ให้ความเห็ฯชอบ สภาผู้แทนราษฎรอาจยกร่างพระราชบัญญัติขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที และเมื่อสภาผู้แทนราษฎรยืนยันร่างเดิมด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
ร่างพระราชบัญญัติที่วุฒิสภาพิจารณาแล้วให้ความเห็นชอบ นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน ๒๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณจากรัฐสภา เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้เป็นกฎหมาย
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน เปรียบเสมือนแผนการใช้จ่ายของรัฐบาล และจัดหารายรับให้เพียงพอกับการใช้จ่าย ดังนั้น การจัดทำงบประมาณแผ่นดินจึงเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นเพื่อให้รัฐบาลมีการวางแผนที่จะดำเนินการไว้ล่วงหน้า ในการนำงบประมาณมาบริหารประเทศ รวมทั้งเป็นแนวทางในการวางแผนการใช้จ่ายของหน่วยงานต่าง ๆ และยังช่วยให้รัฐบาลสามารถดำเนินการในการใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริหารประเทศ
ขั้นตอนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี
๑.คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการเตรียมการจัดทำงบประมาณ และการปรับปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ
๒.ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจร่วมกับสำนักงบประมาณจัดทำข้อเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณเบื้องต้น ประกอบด้วย รายจ่ายขั้นต่ำที่จำเป็น รายจ่ายตามข้อผูกพัน ภารกิจขั้นพื้นฐาน และภารกิจยุทธศาสตร์ต่อเนื่อง โดยนำฐานข้อมูลงบประมาณในขั้นตอนการทบทวนงบประมาณมาประกอบการพิจารณา
๓.ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐเตรียมการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ ๔ ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปีตามแนวทางที่กำหนด
๔.คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการบริหารราชการแผ่นดิน
๕.ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ จัดทำแผนปฏิบัติราชการ ๔ ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปีให้สอดคล้องกับแผนบริหารราชการแผ่นดิน เสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบ
๖.กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ประชุมร่วมกันเพื่อทบทวนประมาณการรายได้และพิจารณากำหนดวงเงินรายจ่าย และโครงสร้างงบประมาณประจำปีงบประมาณและงบประมาณการล่วงหน้า ๓ ปี
๗.สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทบทวนและจัดทำข้อเสนอเป้าหมายและยุทธศาสตร์ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่สอดคล้องกับแผนบริหารราชการแผ่นดิน
๘.สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทบทวนและจัดทำข้อเสนอเป้าหมาย และยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่สอดคล้องกับแผนบริหารราชการแผ่นดิน
๙.คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบายงบประมาณ วงเงิน โครงสร้าง งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ ที่สอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดินและวงเงินรายจ่ายขั้นต่ำที่จำเป็นและรายจ่ายตามข้อผูกพัน
๑๐.รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ/รัฐมนตรีมอบนโยบายให้กระทรวงส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐจัดทำเป้าหมายและยุทธศาสตร์กระทรวงที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดสรรฯ ตามที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
๑๑.ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐจัดทำรายละเอียดวงเงินและคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการประจำปี และจัดทำประมาณการรายได้ประจำปีเสนอรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและส่งสำนักงบประมาณ
๑๒.สำนักงบประมาณพิจารณาและจัดทำรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี
๑๓.คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พร้อมหลักเกณฑ์การปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายประจำปี
รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีเจ้าสังกัด มอบนโยบายให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและส่งสำนักงบประมาณ
๑๔.สำนักงบประมาณพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี
๑๕.คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายประจำปี
๑๖.สำนักงบประมาณจัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเอกสารงบประมาณ
๑๗.คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร
๑๘.สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่ ๑, ๒, ๓
๑๙.วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ
๒๐.นายกรัฐมนตรี นำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
อ้างอิง
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐”. สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ, ๒๕๕๑, หน้า ๑๓๘ – ๑๔๔.
บรรณานุกรม
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, (๒๕๕๑) “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐”. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร : กองการพิมพ์.
ราชกิจจานุเบกษา, (๒๕๕๑) “พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒”. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๕ ตอนที่ ๑๐๙ ก ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๑
คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี, (๒๕๕๒) “ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒”. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี. (๒๕๕๑) “๔๙ ปี สำนักงบประมาณ”. สำนักงบประมาณ กรุงเทพฯ.
สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี. (๒๕๕๒) “๕๐ ปี สำนักงบประมาณ”. สำนักงบประมาณ กรุงเทพฯ.
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
พูลศรี อยู่แพทย์. “การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎร”. เอกสารวิชาการกรณีศึกษาส่วนบุคคล รัฐสภา, กรุงเทพฯ, ๒๕๔๗.
สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี. “เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ ๔ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒”.
สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี. “๕๐ ปี สำนักงบประมาณ”. สำนักงบประมาณ, กรุงเทพฯ ๒๕๕๒.
วัชรี สินธวานุวัตน์. “การประเมินข้อสังเกตการพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำวุฒิสภา”. เอกสารวิชาการ กรณีศึกษาส่วนบุคคล รัฐสภา, กรุงเทพฯ, ๒๕๔๗.