สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยภายใต้ความเปลี่ยนแปลง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 22:26, 3 เมษายน 2552 โดย Ekkachais (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยภายใต้ความเปลี่ยนแปลง สถาบันห...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยภายใต้ความเปลี่ยนแปลง

สถาบันหรือระบบการปกครองระบบกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบธรรมิกราชาหรือเทวราชาเป็นระบบที่สืบทอกมาจากยุคสมัยโบราณ ความคิดหลักมูลที่รองรับหรือสนับสนุนระบบนี้ก็คือพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรเป็นองค์อธิปัตย์ (Sovereign) ทรงมีอำนาจปกครองสูงสุดเหนือดินแดนและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในบ้านเมือง ตรงกันข้ามระบอบประชาธิปไตยเป็นกระแสความคิดใหม่ที่ตั้งอยู่บนความคิดหลักมูลที่ค้านและแย้งกันโดยตรงกล่าวคือ ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Popular Sovereignty) รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจึงมีระบบและกระบวนการที่จะเป็นตัวแทน(Representation) มีความโปร่งใส ตลอดจนพร้อมที่จะรับการตรวจสอบและสนองตอบต่อเจตนารมณ์ของปวงชนผู้เป็นอธิปัตย์ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในระบบการเมืองส่วนใหญ่ บางครั้งจึงมักจะเป็นไปในรูปของการยุติระบบกษัตริย์และเปลี่ยนไปเป็นระบบสาธารณรัฐ (Republic) ระบบกษัตริย์เป็นระบบการปกครองดั้งเดิม มีความเป็นมาที่ยาวนานทั้งในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก เช่น เพลโต ปรัชญาเมธีตะวันตกผู้โด่งดัง ก็เคยเสนอคุณสมบัติของพระมหากษัตริย์ในอุดมคติไว้ว่า กษัตริย์ที่น่าจะทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบที่สุด น่าจะเป็นกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถเป็นเลิศ หรือเป็นปรัชญาเมธีเสียเองที่เรียกกันว่า "ราชาปราชญ์"(Philosopher king) เช่น ระบบกษัตริย์ในโลกตะวันออกโบราณ

พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในส่วนที่สัมพันธ์กับราชการของรัฐบาล โดยเฉพาะในแง่พฤตินัยนั้นจะมีอยู่ในลักษณะใด วอลเตอร์ เบชอท (Walter Bagehot) นักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวอังกฤษ ให้อรรถาธิบายในหนังสือเรื่อง English Constitution ถึงลักษณะของบทบาทหรือสิทธิของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ในส่วนสัมพันธ์กับรัฐบาลไว้ ๓ ประการ คือ (Walter Bagehot, 1988:14)

๑. การพระราชทานคำปรึกษาหารือ

๒. การสนับสนุนหรือให้กำลังใจ

๓. การตักเตือน

พิจารณาในแง่ของการบริหารราชการแผ่นดิน บทบาทดังกล่าวมีลักษณะเป็นเชิงสนับสนุนหรือเชิงรับ (passive) มิได้เป็นบทบาทเชิงหลักหรือเชิงรุก (active) พระราชดำริที่พระราชทานต่อรัฐบาล หรือในการบริหารราชการแผ่นดินตามทฤษฎีที่เบชอทได้ให้อรรถาธิบายไว้ มีฐานะเป็นการพระราชทานคำปรึกษาหารือ (Consultative) มิได้เป็นพระบรมราชโองการ รัฐบาลหรือระบบราชการมีโอกาสจะใช้วิจารณญาณ (Discretionary Authority) ในอันที่จะรับสนองพระราชดำริ การจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง การศึกษาวิจัยเพิ่มเติม หรือการปรับเปลี่ยนสาระของโครงการก็ได้

บทปริทัศน์ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ทั้งโดยทั่วไป และในบริบทสังคมไทยที่ผ่านมามีความมุ่งหมายจะใช้เป็นพื้นฐานบ่งชี้บทบาทของพระมหากษัตริย์ในบริบทสังคมไทยทั้งสมัยก่อนและสมัยนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นกรอบความคิดในการวิเคราะห์ ประเมินและประมาณคุณค่าของโครงการพัฒนาของพระองค์ท่าน จากทัศนภาพและเกณฑ์(Criteria) ที่เป็นสากลและเป็นภาวะวิสัย (Objective)

กล่าวโดยสรุป พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีพระราชอำนาจในทางทฤษฎีเป็นล้นพ้น แต่ในทางปฏิบัติราชการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในยามสงบมักจะอยู่ในกรอบของทศพิธราชธรรมตามราชประเพณี ยิ่งกว่านั้นก็ยังจำกัดอยู่เฉพาะกิจกรรมไม่กี่ด้านดังพิจารณามาแล้วข้างต้น ระบบราชการมีโครงสร้างและองค์ประกอบไม่สลับซับซ้อนและข้อสำคัญก็คือมีลักษณะเป็นระบบอุปถัมภ์ (Patrimonial) ไม่แยกแยะบทบาทและความสัมพันธ์ส่วนตัวออกอย่างชัดเจน ส่วนในระบอบประชาธิปไตยนั้น พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญมีบทบาทอันจำกัดดังกล่าวข้างต้น งานสาธารณะหรือราชการส่วนใหญ่ตกเป็นของระบบราชการ ระบบราชการสมัยใหม่มักจะมีการจัดระเบียบเสียใหม่เป็นองค์กรที่มีโครงสร้างและหน้าที่ชัดเจน การปฏิบัติราชการมีลักษณะเป็นทางการในระดับสูง มีการแบ่งส่วนราชการหลากหลายลำดับขั้นการบังคับบัญชาซับซ้อนหลายระดับ

การพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

แนวความคิดว่าด้วยพระราชกรณียกิจ

ในระบบการปกครองประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (Constitution Monarchy) ในขณะที่หน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดและบริหารนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน ตกเป็นของคณะรัฐบาลที่ก่อตั้งและทำหน้าที่ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ก็ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะองค์พระประมุขของประเทศ ในที่นี้อาจจะจำแนกกรอบความคิด (Conceptual Scheme) โดยสังเขปได้ว่า

๑.บทบาทของประมุขของประเทศที่กำหนดไว้อย่างเจาะจง

๒.ส่วนของกรณียกิจที่องค์พระประมุข ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการบนพื้นฐานของพระราชวินิจฉัย (Discretion) และสมัครพระราชหฤทัย (Voluntary) มิใช่เพราะมีบทกฎหมายกำหนดไว้เป็นหน้าที่ (Compulsory)

สำหรับบทบาทของพระมหากษัตริย์ในส่วนที่สอง ซึ่งอาจจะเป็นกิจกรรมตามพระราชดำริใด ๆ เพื่อประโยชน์ของราษฎรในประเทศ เพื่อมนุษยธรรม หรือเพื่อมนุษยชาติทั้งมวลก็ตาม ก็อาจจะใช้กรอบความคิดในแง่ของระดับการจัดตั้งองค์กรแล้วใช้จำแนกความแตกต่างย่อยลงไปได้อีกเป็น

ก.กิจกรรมที่ริเริ่มขึ้นและดำเนินการโดยมีการจัดตั้งองค์กรและจัดหาทรัพยากรสนับสนุนอย่างเป็นสถาบัน (Institutionalized) ข.กิจกรรมที่ทรงพระราชดำริริเริ่มขึ้น หรือลงมือดำเนินการชั่วคราวในรูปโครงการ อาจมีการกำหนดอายุโครงการไว้ แล้วส่งมอบให้หน่วยงาน สถาบัน หรือชุมชนที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป