สถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคต่าง ๆ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 22:21, 3 เมษายน 2552 โดย Ekkachais (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: ยุคสุโขทัย ราวศตวรรษที่ ๑๘ จากหลักศิลาจารึกของขอมสมัย...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ยุคสุโขทัย

ราวศตวรรษที่ ๑๘ จากหลักศิลาจารึกของขอมสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ กล่าวว่า ชาวไทยอพยพปะปนกับชาวเขมร พ.ศ. ๑๗๖๓ ขุนศรีท้าวนำถม ผู้ก่อสร้างกรุงสุโขทัยและศรีสัชนาลัย โดยเรียกชื่อเมืองว่า “ศรีสัชนาลัยสุโขทัย” ในสมัยนั้นไทยอยู่ภายใต้อำนาจของขอมโดยมี “โขลญ” ตำแหน่งทหารของขอมมาปกครอง พ.ศ. ๑๗๖๓ อำนาจของขอมเริ่มเสื่อมลง โดยเริ่มถอนทหารที่ส่งไปปกครองอาณาจักรจามปาทางตะวันออกเพื่อมาควบคุมทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ย่อมเป็นหลักฐานว่าเขมรเริ่มหวั่นเกรงอำนาจไทย และใน พ.ศ. ๑๘๐๐ พ่อขุนผาเมือง โอรสของขุนศรีท้าวนำถมเจ้าเมืองราดได้คบคิดกับพ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง ได้รวมกำลังกันเข้าตีเมืองเชลียงและเมืองสุโขทัย และสถาปนาขึ้นเป็นอาณาจักรสุโขทัย นักวิชาการหลายฝ่ายมีความเห็นแตกต่างกันไป บ้างก็ว่าอพยพมาจากตอนใต้ของจีน บ้างก็ว่าคนไทยอยู่ที่นี่มานานแล้ว แต่อาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักรแห่งแรกของคนไทย ซึ่งปกครองโดยคนไทย ปัญหาการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย งานวิจัย บางคนเห็นว่า สุพรรณบุรี ลพบุรี เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช ก็มีความเจริญรุ่งเรืองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ประเภทที่ละเอียดอ่อนซับซ้อนคงต้องให้เป็นธุระของนักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญต่อไป การกล่าวถึงอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงเทพฯ นั้น เป็นการศึกษาพัฒนาการทางสังคมไทยที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เพื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของการพัฒนาจากยุคต้น ๆ จนถึงปัจจุบัน

ลักษณะการปกครอง

๑.การปกครองแบบพ่อปกครองลูก เป็นรูปแบบที่สะท้อนให้เห็นหลักการปกครองแบบครอบครัว โดยขยายบ้านเมืองแบบครอบครัวใหญ่ กษัตริย์เปรียบเสมือนพ่อของครอบครัวใหญ่ซึ่งเรียกว่า “พ่อขุน” พ่อจะให้ความเมตตาต่อลูกคือประชาชนให้มีความสุข ดังนั้นจึงมีความใกล้ชิดกันมากกว่าระบบกษัตริย์เป็นสมมุติเทพ แต่ทั้งนี้เพราะรัฐสุโขทัยยังคงเป็นรัฐเล็ก ๆ

๒.เสรีภาพ จากศิลาจารึก แสดงว่าสุโขทัยเป็นเมืองแห่งเสรีภาพ ใครใคร่ค้าค้า ด้วยหลักของเสรีภาพอาจจะถือว่าหลักศิลาจารึกนั้นเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยก็ได้

เขตการปกครอง

๑.เมืองลูกหลวง หรือเมืองหน้าด่าน ปกติจะมีอยู่สี่ทิศรอบราชธานี นอกจากนี้เป็นการแบ่งเมืองและตำแหน่งให้เชื้อพระวงศ์ เป็นการฝึกการปกครองและบริหารราชการแผ่นดิน เมืองลูกหลวงของสุโขทัย ได้แก่ เมืองศรีสัชนาลัย เมืองสองแคว เมืองนครภูม และเมืองสระหลวง

๒.เมืองท้าวพระยามหานคร เป็นเมืองที่อยู่ของริมนอก เจ้าเมืองเป็นราชวงศ์ของเจ้าเมืองเดิม มีอำนาจปกครองบริหารเกือบสมบูรณ์ แต่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจ และการบังคับบัญชาของสุโขทัย เช่น เมืองพระบาง เมืองเชียงทอง

๓.เมืองออกหรือเมืองขึ้น คือเมืองที่ยกทัพไปตีได้และอยู่ในอำนาจ เช่น นครศรีธรรมราช เวียงจันทร์ หงสาวดี (มอญ)


โครงสร้างทางสังคม

สมัยสุโขทัย ชนชั้นของสังคมแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ชนชั้นปกครอง และชนชั้นถูกปกครองชนชั้นปกครอง ได้แก่ กษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และทั้งรวมพระภิกษุสงฆ์ ชนชั้นถูกปกครอง ได้แก่ สามัญชน ไพร่ และทาส ในสังคมของสุโขทัยยังไม่ถึงระดับจัดตั้ง และยังไม่เป็นสถาบัน การพัฒนาทางสังคมยังต่ำอยู่

ในยุคของสุโขทัยนั้น การพัฒนาทางสังคมที่สำคัญ ๆ ได้แก่

๑.รูปแบบการปกครอง แบบพ่อลูกหรือพ่อขุน ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นของไทยแท้ ความคิดทำนองเดียวกันนี้เป็นรูปแบบที่ยังพูดถึงกันอยู่ในปัจจุบัน

๒.ลัทธิธรรมราชา คือ การใช้ธรรมและเมตตาธรรมเป็นฐาน

๓.มโนทัศน์ เรื่อง นครสวรรค์ เป็นอุดมการเพื่อจัดระเบียบสังคม และการปกครอง

๔.เสรีภาพของประชาชน คือ อิสระในการค้าขาย

๕.ความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างผู้ปกครอง และประชาชน

๖.ความเจริญทางอุตสาหกรรม เช่น ชามสังคโลก

๗.การประดิษฐ์อักษรไทย เป็นสื่อและบันทึกเหตุการณ์ รวมทั้งวรรณคดี

๘.การขยายอาณาเขต ใช้ความสัมพันธ์ทางครอบครัว เช่น การแต่งงาน

๙.การติดต่อค้าขาย และการต่างประเทศ เช่น จีน และช่างทำสังคโลก

๑๐.การศาสนา เช่น ติดต่อสงฆ์จากนครศรีธรรมราช และลังกา

อาณาจักรศรีอยุธยา

ในบรรดาอาณาจักรของชาวไทยในอดีต กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองที่สุด มรดกของอาณาจักรศรีอยุธยาในด้านสถาบันกษัตริย์ พุทธศาสนา ระบบความเชื่อ และวัฒนธรรม หลายอย่างยังคงยึดถือและใช้อยู่จนปัจจุบัน เพราะเป็นอาณาจักรที่ยืนยาวถึงสี่ศตวรรษ กรุงศรีอยุธยาสถาปนาเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๒ โดยพระรามาธิบดีที่ ๑ (๑๘๙๓ - ๑๙๑๒) อยุธยามีกษัตริย์ปกครองถึง ๓๐ พระองค์ (๕ ราชวงศ์) คือตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๒๓๑๐ ความหลากหลายทางความเจริญวัฒนธรรม ศิลปกรรม การเมือง การปกครอง การสร้างเมืองของกรุงศรีอยุธยาก็ไม่แตกต่างจากนครรัฐอื่น ๆ ภาระหน้าที่ของรัฐในยุคนั้นย่อมมีเหมือน ๆ กัน การเตรียมพลเพื่อการสงคราม ผลิตผลทางเกษตร และเศรษฐกิจ การเกณฑ์แรงงาน การใช้ทาส สมัยอยุธยา ความยุ่งยาก ซับซ้อนมีมากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของอาณาจักร การปกครองอาณาจักรที่ใหญ่ขึ้นจึงต้องปรับทั้งการบริหาร การปกครอง และอำนาจให้เป็นปึกแผ่น การคุมกำลังคน ซึ่งเป็นรากฐานของอำนาจ สถาบันที่สำคัญที่สุดของอยุธยา คือสถาบันพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจที่สมบูรณ์ เป็นเจ้าชีวิต เป็นเจ้าของแผ่นดิน จึงเป็นศูนย์กลางของสังคม การเมือง ซึ่งมีระบบศักดินากับระบบไพร่เป็นฐาน สังคมอยุธยานั้น ข้าราชการมียศตามลำดับดังนี้ เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน ทนาย ซึ่งยศมีไว้กำกับศักดินา และเป็นของเฉพาะตัวมิได้สืบทอดไปถึงลูกหลาน ชั้นของบุคคลในสังคมอยุธยามิได้กำหนดตายตัว ทุกคนเป็นข้าของแผ่นดินเสมอภาคกันหมด

กรุงธนบุรี

การเสียกรุงครั้งที่ ๒ นับว่าเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงทั้งด้านวัตถุ และจิตใจ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกู้เอกราช และสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีของไทยต่อไป สมัยกรุงธนบุรีนับว่าเป็นระยะที่เปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ย้ายที่ตั้งศูนย์การปกครองแทนที่จะอยู่ที่อยุธยาต่อไป พระองค์ต้องทำงานหนักและไม่สะดวกราบรื่นนัก ราษฎรเสียขวัญ พระราชกรณีกิจเฉพาะหน้า คือขับไล่ข้าศึก การเสริมสร้างพระราชอำนาจให้มั่นคง และมีหลายกลุ่มที่จะยกตนเป็นกษัตริย์ นอกจากปัญหาการเมืองแล้วยังเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สงคราม ข้าวยากหมากแพง ต้องตั้งโรงทานแจกจ่ายข้าวปลาอาหารเพื่อประทังความอดอยาก ยุคของพระองค์จึงเป็นยุค ๑๕ ปี ของการสงคราม และการต่อสู้ทุพภิกขภัยต่าง ๆ แต่พระองค์ก็ทรงรักษาชาติบ้านเมืองให้ผ่านพ้นไปด้วยดี

กรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงตัดสินใจที่จะสร้างอาณาจักรขึ้นใหม่ตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นความพยายามเนรมิตอาณาจักรเก่าขึ้นมาใหม่ สถาปัตยกรรมวัดต่าง ๆ ล้วนเลียนแบบจากอาณาจักรอยุธยา จึงเห็นได้ว่าผู้นำไทยยังคงอาลัยความรุ่งเรืองในอดีตและปักใจที่จะฟื้นความทรงจำเก่าขึ้นมา กฎหมายต่าง ๆ ที่สูญหายกระจัดกระจาย ก็มาเรียบเรียงใหม่ เช่น กฎหมายตราสามดวง ในด้านการปกครองและการบริหาร มีการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบบการบริหารที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ กรุงเทพฯ เป็นราชธานี และมีการขยายเขตการปกครองออกไปครอบคลุมพื้นที่รอบนอก มีการแบ่งหัวเมืองออกเป็น ๔ ประเภท ตามแบบอยุธยา ระบบราชการยังเป็นแบบอยุธยา ตำแหน่งขุนนาง ได้แก่ สมเด็จเจ้าพระยา เจ้าพระยา พระยา หลวง ขุน ตามลำดับ ด้านการจัดการทางสังคม มีการใช้ระบบศักดินาเป็นองค์ประกอบของระบบสังคม ด้านเศรษฐกิจก็ไม่ต่างจากอยุธยา แต่กรุงเทพอยู่ใกล้ทะเลกว่า การค้าโดยเฉพาะกับจีนเพิ่มปริมาณขึ้น ด้านการศาสนามีการชำระสะสางลัทธิความเชื่อ สังคยนาพระไตรปิฎก การสถาปนาอาณาจักรกรุงรัตนโกสินทร์โดยอาศัยกรุงศรีอยุธยาเป็นแม่แบบ ปัญหาบางอยางเคยรุมเร้าระบบเก่าก็พลอยติดมาด้วย ปัญหาการสืบราชสมบัติ ระบบอุปถัมภ์ ปัญหาที่ชัดที่สุด คือ ปัญหาสถาบัน วังหลวง วังหน้า การเมือง ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งมีผลมาจากระบบอุปถัมภ์ ผู้ที่จะกุมอำนาจต้องมีฐานสนับสนุน ที่กล่าวมานี้เป็นสถานการณ์ในยุคต้นรัตนโกสินทร์