สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย
สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย
ในสังคมใด ๆ ก็ตาม เมื่อรวมตัวกันเป็นนครรัฐขึ้นมา ส่วนใหญ่ก็สถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป หรือประเทศไหน ๆ ก็ตาม วิวัฒนาการต่อมาได้มีการแก่งแย่งชิงดีกัน หรือหาผู้เหมาะสมเป็นกษัตริย์ไม่ได้ก็เกิดการปกครองระบบต่าง ๆ ขึ้นในโลก โดยคนในชาติยอมรับกฎเกณฑ์นั้น ๆ ยอมรับในระบอบนั้น ๆ ตามความเหมาะสมขึ้นกับเอกลักษณ์ อุปนิสัย และความต้องการของคนในชาติ
สำหรับประเทศไทยนั้น สังคมของคนไทยเป็นสังคมที่นิยม เคารพ เทิดทูน สถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่โบราณกาล ทั้งนี้เพราะทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าคนไทยจะไปลงหลักปักฐานสร้างบ้านแปลงเมือง ณ ที่แห่งใดก็ตาม บ้านเมืองของคนไทยก็จะต้องมีพระมหากษัตริย์เสมอ แม้ในยามที่บ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสูญสลายไปก็ตาม เช่น ในยุคของการเสียกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น ประเทศไทยก็จะต้องมีคนดีกอบกู้บ้านเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ให้กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ เพื่อสืบสันติวงศ์ต่อไป
ในสังคมไทยนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญต่อวิถีชีวิต สังคม ขนมธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนการสืบทอดวัฒนธรรมไทย เป็นผลทำให้สังคมไทยมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีคุณลักษณะที่แตกต่างจากสถาบันกษัตริย์ของชาติอื่น โดยสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยนั้น ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความรัก เคารพ เทิดทูนอย่างสูงสุดของปวงชน ทั้งนี้เพราะคนไทยถือว่าพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนสมมุติเทพ และเป็นเสาหลักของสังคมไทย ความคิดที่มาจากลัทธิพราหมณ์ และฮินดู อันเป็นความเจริญของขอมทำให้ภาพลักษณ์ของกษัตริย์ตามความนับถือโบราณเหมือนเทพเจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่บนโลก และกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามมโนทัศน์ของพุทธและฮินดู ผสมผสานกันตั้งแต่สมัยสุโขทัย (พญาลิไท)เป็นต้นมา
ดังนั้นเมื่อเราจะศึกษาถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทยแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิวัฒนาการ ประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง การปกครอง โดยเริ่มตั้งแต่ยุคต้น ๆ ของประเทศไทย