การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22 วันที่ 6 มกราคม 2544
- ผู้เรียบเรียง ..... และ รองศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
- รายนามผู้ทรงคุณวุฒิ
รองศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร รองศาสตราจารย์ ดร. นิยม รัฐอมฤต ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ เครืองาม
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 เป็นการเลือกตังทั่วไปครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ภายหลังหลังจากที่รัฐบาลนาย ชวน หลีกภัย ได้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 แล้วเสร็จ จึงได้ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 แล้วกำหนดให้มีการเลือกทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544
ในฐานะที่การเลือกตั้งครั้งที่ 22 นี้ เป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ส่งผลให้กฎกติกาทางการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนของระบบการเลือกตั้ง มีการเปลี่ยนแปลงไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อน อาทิ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (Party lists) จำนวน 100 คน และสมาชิกมาจากระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (One man one vote) จำนวน 400 คน (มาตรา 98) นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญยังได้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) เป็นผู้ควบคุมและจัดให้มีการเลือกตั้ง
พรรคการเมืองที่ส่งผุ้สมัครรับเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครมากเป็นประวัติการณ์ถึง 43 พรรค โดยประกอบไปด้วย
(1) พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครทั้งในระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และ ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนทั้งหมด 9 พรรค ได้แก่ พรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ และพรรคชาติพัฒนา
(2) พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแต่เฉพาะระบบการเลือกแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 4 พรรค คือ พรรคเสรีธรรม พรรคราษฎร พรรคถิ่นไทย และพรรคกิจสังคม
(3) พรรคการเมืองที่ผู้สมัครได้รับเลือกตั้ง มีจำนวนทั้งหมด 9 พรรค คือ พรรคไทยรักไทยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติพัฒนา พรรคเสรีธรรม พรรคราษฎรพรรคกิจสังคม พรรคถิ่นไทย
(4) พรรคการเมืองที่ผู้สมัครไม่ได้รับเลือกตั้ง มีทั้งหมด 34 พรรค ได้แก่ พรรคประชากรไทย พรรคเกษตรมหาชน พรรคไทยมหารัฐ พรรคศรัทธาประชาชน พรรคชาวนาพัฒนาประเทศ พรรคพลังธรรม พรรคพลังเกษตรกร พรรครักสามัคคี พรรคไท พรรคก้าวหน้า พรรคแรงงานไทย พรรคชาติประชาธิปไตย พรรคสังคมใหม่ พรรคอำนาจประชาชน พรรคชาวไทย พรรคสันติภาพ พรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคเอกภาพ พรรคกสิกรไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเผ่าไท พรรคเกษตรก้าวหน้า พรรคชาวไร่ชาวนาไทย พรรคไทยธรรมาธิปไตย พรรคไทยมั่นคง พรรคชีวิตที่ดีกว่า พรรคพัฒนาสังคม พรรคไทยช่วยไทย พรรครวมสยาม พรรคประชาชน พรรคเกษตรเสรี พรรคพลังมหาชน พรรคสังคมไทย พรรคสหกรณ์ พรรคเกษตรกร พรรคพลังใหม่ พรรคแนวร่วมเกษตรกร พรรคพิทักษ์ไทย พรรคไทยสามัคคี พรรคชาติเกษตรกรไทย พรรคพลังไทย พรรคสังคมประชาไทย และพรรคชาติประชาไทย
จำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ได้รับการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งในครั้งนี้มีจำนวนผู้สมัครทั้งหมด 3,722 คน มีจำนวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด 940 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 2,782 คน
ประเภท | จำนวนผู้สมัคร | จำนวนผู้ได้รับการเลือกตั้ง |
---|---|---|
แบบบัญชีรายชื่อ | 940 | 100 |
แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง | 2,782 | 400 |
รวม | 3,722 | 500 |